Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยโดย “ใบเกิด” : ตอนที่ ๑ - การจดทะเบียนการเกิด


การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยโดย “ใบเกิด” โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บันทึกเพื่อให้ข้อมูลแก่โครงการพัฒนาแผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ โดยทุนสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒

ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒  อ.แหววได้ไปงานประชุมภายใต้โครงการพัฒนาแผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ โดยทุนสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ซึ่ง อ.แหววเรียกว่า “พี่กฤต” ได้เสนอว่า “ใบเกิด” ย่อมจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติประการหนึ่งที่รัฐไทยทำได้ ก็คือ การออก “ใบเกิด” ให้แก่บุตรคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย ซึ่ง อ.แหวว เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้อย่างยิ่ง และได้อภิปรายลงรายละเอียดของปัญหาของการไม่มี “ใบเกิด” หรือ “ใบเกิด” ผิดพลาด คราวนี้ พี่กฤตของ อ.แหวว เลยขอให้ อ.แหวว ช่วยเขียนสรุปสิ่งที่พูดให้หน่อย  อันนี้ สบายมาก อ.แหววก็เลยมาเขียนสรุปไว้ในโกทูโนค่ะ ท่านอื่นจะได้มาช่วยเพิ่มเติมข้อสรุปของ อ.แหวว ได้ไงคะ คงต้องเขียนกันหลายตอนทีเดียว เพราะเวลาที่มีไม่ยาวพอที่จะเขียนจนจบ ความจริง อ.กฤตให้เขียนสั้นๆ แต่เราอยากเขียนยาวๆ ทำเกินสั่งไหมคะเนี่ย

---------------------

การจดทะเบียนการเกิดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่กฎหมายไทยยอมรับ

---------------------

เรื่องของใบเกิด ก็คือ เรื่องที่มาจากแนวคิดของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด ดังนั้น จึงต้องมาเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้ก่อนค่ะ

“การจดทะเบียนการเกิด” คืออะไร ?  เป็นการกระทำของใคร ?

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐเจ้าของดินแดนต้องยอมรับจดทะเบียนการเกิดให้แก่มนุษย์ทุกคนที่เกิดบนดินแดนของตน ทั้งนี้ เพราะการจดทะเบียนการเกิดที่ไม่เกิดขึ้นหรือผิดพลาดสำหรับมนุษย์คนใดคนหนึ่งอาจนำมาซึ่งสภาวะไร้รัฐหรือไร้สัญชาติแก่มนุษย์คนนั้น และการจดทะเบียนการเกิดที่สมบูรณ์และถูกต้องย่อมทำให้มนุษย์ที่เกิดได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง และได้รับการยอมรับในสถานะคนสัญชาติของรัฐที่ตนมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริง ตกเป็นคนมีรัฐและมีสัญชาติ

การจดทะเบียนการเกิดจึงเป็นกลไกทางกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มนุษย์ตกเป็นคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ และเป็นการกระทำของรัฐ

เพื่อที่จะปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด  ทุกรัฐบนโลกจึงต้องพากันออกเอกสารเพื่อรับรองการเกิดให้มนุษย์ที่เกิดบนดินแดนของตน หรือเป็นบุตรของราษฎรของตน ประเทศไทยก็มีระบบกฎหมายภายในของไทยที่รองรับกฎหมายระหว่างประเทศมาตั้งแต่เริ่มสถาปนารัฐสมัยใหม่บนแผ่นดินไทย[1] ดังนั้น เรื่องของการรับรองการเกิดจึงเป็นสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยยอมรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้งโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการของรัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องในฝ่ายบริหารของรัฐที่ไม่บรรลุที่จะทำความเข้าใจในหลักการและเหตุผลของการจดทะเบียนการเกิดให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยทั้งที่ต้องทำหน้าที่รับรองการเกิดในสถานะของผู้ทำคลอดและต้องทำหน้าที่รับรองการเกิดในสถานะนายทะเบียนบุคคลของรัฐ[2]

---------------------

ขั้นตอนการจดทะเบียนการเกิดภายใต้กฎหมายไทย[3]

---------------------

ขอให้ตระหนักว่า โดยกฎหมายไทย การจดทะเบียนการเกิด (Birth Registration) ย่อมหมายถึงกระบวนการบันทึกโดยรัฐ ๓ ขั้นตอน[4] กล่าวคือ

ขั้นตอนแรก ก็คือ การบันทึกโดยผู้ทำคลอดในเอกสารรับรองข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิด ซึ่งกฎหมายไทยเรียกเอกสารอันเป็นผลของการบันทึกนี้ว่า “หนังสือรับรองการเกิด”[5] จะเห็นว่า ในกรณีนี้ เป็นเพียงการรับรองการคลอด (Delivery Certification) ผู้ทำคลอดต้องระบุว่า คนเกิดที่เป็นผลจากการทำคลอดเป็นใคร ? บิดาและมารดาเป็นใคร ? เกิดเมื่อไหร่ ? ที่ไหน ? เพศอะไร ? การกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายของคนเกิดจึงมิใช่หน้าที่ของผู้ทำคลอด ผู้ทำคลอดมีหน้าที่ “สำรวจ” ว่า บิดาและมารดาของคนเกิดมีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นอย่างไรเท่านั้น ซึ่งผลของการสำรวจอาจจะเป็นว่า บุพการีไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน ผู้ทำคลอดไม่มีหน้าที่ต้องรู้ว่า บุพการีเป็นคนเข้าเมืองถูกหรือผิด ผู้ทำคลอดมีหน้าที่ตามกฎหมายไทยที่จะทำคลอดให้มนุษย์?เกิดปลอดภัยและบันทึกการคลอดเพื่อที่รัฐเจ้าของดินแดนที่คลอดจะได้ทราบว่า คนเกิดมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐอื่นใดอีกบ้าง นอกจากรัฐไทย การบันทึกการคลอดไม่มีผลโดยตรงในเรื่องการได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐใดๆ เลย แม้การบันทึกว่า เกิดในประเทศไทย ก็ไม่ทำให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ต้องมีข้อเท็จจริงอื่นประกอบ

ขั้นตอนที่สอง ก็คือ การบันทึกโดยนายทะเบียนราษฎรของรัฐในเอกสารรับรองจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐเจ้าของทะเบียนและคนเกิด ซึ่งกฎหมายไทยเรียกเอกสารอันเป็นผลของการบันทึกนี้ว่า “สูติบัตร”[6] บ้างในบางกรณี หรือว่า “หนังสือรับรองการเกิด”[7] บ้างในบางกรณี จะเห็นว่า ในกรณีนี้ เป็นการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติในขณะที่เกิดในมุมมองของรัฐเจ้าของทะเบียน ในส่วนของรัฐไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎรจะต้องกำหนดว่า คนเกิดมีสถานะเป็นคนสัญชาติของตนหรือคนต่างด้าว ทั้งนี้ เพราะเอกสารเพื่อรับรองการเกิดให้แก่คนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวต่างกัน และหากเป็นคนต่างด้าว นายทะเบียนราษฎร ก็จะต้องพิจารณาว่า คนต่างด้าวนั้นมีสิทธิในสูติบัตรประเภทใด

ขั้นตอนที่สาม ก็คือ การบันทึกโดยนายทะเบียนราษฎรของรัฐ ในทะเบียนบุคคลของรัฐ ซึ่งตามกฎหมายไทย อาจจะเป็นใน  “ทะเบียนบ้าน” หรือใน “ทะเบียนประวัติ” ก็ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามสิทธิอาศัยของบุคคลในประเทศไทย ในกรณีนี้ เป็นการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองและการอาศัยอยู่ในขณะที่เกิดในมุมมองของรัฐเจ้าของทะเบียน จะเห็นว่า โดยกฎหมายไทย นายทะเบียนราษฎรจะต้องสำรวจให้ได้ว่า คนเกิดมีฐานะการอาศัยอยู่ตามกฎหมายไทยในลักษณะใด ? ฐานะการอยู่ในประเทศไทยบางลักษณะนำไปสู่สิทธิที่จะถูกบันทึกในทะเบียนบ้าน อันได้แก่ ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓ และบางลักษณะอาจนำไปสู่สิทธิที่จะถูกบันทึกในทะเบียนประวัติ  อันได้แก่ ท.ร.๓๘/๑ หรือ ท.ร.๓๘ ก เท่านั้น และบางลักษณะอาจไม่นำไปสู่สิทธิที่จะถูกบันทึกในระบบทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเลย มีเพียงสิทธิในการรับรองการเกิดอันนำไปสู่เอกสารตามกฎหมายไทยที่อาจนำไปใช้ในประเทศเจ้าของสัญชาติของบุพการีต่างด้าวของคนเกิดเท่านั้น



[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, พ.ศ.๒๔๙๙ : รัฐไทยเริ่มต้นระบบการจดทะเบียนการเกิดทั่วไปสำหรับมนุษย์ในสังคมไทย, บทความเพื่อรายงานการตรวจสอบสถานการณ์เรื่องการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติในประเทศไทย, เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=342&d_id=341

http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/56490

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สิทธิในทะเบียนการเกิดของมนุษย์ในประเทศไทย  : ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน, บทความเพื่องานเสวนาทางวิชาการซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๔๙, เสนอเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙, ใน : รวมบทความงานวิชาการประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙  ครั้งที่ ๒,  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๙, หน้า ๒๘๐ - ๓๒๕

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=339&d_id=338

http://www.archanwell.org/office/download.php?id=440&file=411.pdf&fol=1

[3] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, การจดทะเบียนการเกิดหมายความว่าอย่างไร ??? ...ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจนายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยรับแจ้งการเกิดของมนุษย์ทุกคนที่เกิดในรัฐไทยจริงหรือ ??, เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒

http://learners.in.th/blog/human-right-and-archanwell/257821

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, การจดทะเบียนการเกิดหมายความว่าอย่างไร ??? ...ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจนายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยรับแจ้งการเกิดของมนุษย์ทุกคนที่เกิดในรัฐไทยจริงหรือ ??, เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒

http://learners.in.th/blog/human-right-and-archanwell/257821

[5] มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ บัญญัติว่า “เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๑”

[6] มาตรา ๒๐  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า

เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/๑ หรือมาตรา ๑๙/๓ ทั้งกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งโดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้

สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยให้ระบุสถานการณ์เกิดไว้ด้วย”

[7] มาตรา ๒๐/๑  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

-------------------------

การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยโดย ใบเกิด

: ตอนที่ ๒ – ผลของการมีและการไม่มีใบเกิด

http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/261196

 

หมายเลขบันทึก: 261193เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ.แหวว ครับความอยากอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเด็กต่างด้าวที่คลอดจากหมอตำแยที่เป็นชาวพม่า ในจังหวัดระนอง

ผมยังไม่เคยรับทราบมาเลยว่ามีผู้ใหญ่บ้านไหน ออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่พวกเขา และหากย้อนกลับไปหลายปีว่าเกิดในบ้านยิ่งยากใหญ่

ฟังแล้วเหนื่อยใจครับ พักหลัง ๆ ผมก็เลยแนะนำไปว่า ไม่ว่าคุณจะมีเงินไปโรงพยาบาลหรือไม่ คุณก็ต้องไป อย่าเกิดในบ้านเลย เพราะหาหลักฐานยากมากว่าลูกคุณเกิดในบ้าน

เคยเห็นเหมือนกันค่ะ แต่กว่าจะได้มาลำบากมาก แต่ที่สำคัญ บิดามารดาก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญค่ะ

มีกรณีที่ตามกัน ก็คือ กรณีน้องเบลล์

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=310&d_id=309

ทราบว่า คุณแม่ยังไม่มาจัดการเพิ่มชื่อน้องใน ท.ร.๑๔ เลย

เอกสารเกี่ยวกับการเกิด นับแต่ใบรับรองการคลอด ไปจนถึงสูติบัตร ควรเป็น เรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องเห็นความสำคัญอ่ะค่ะ

ไม่เฉพาะคนเป็นพ่อหรือแม่

คนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ควรตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเองด้วย

คิดว่าเข้าใจ mood คุณชาติชาย..

แต่เรื่องแบบนี้ คลอดที่ไหน คงกำหนดไ้ด้ระดับหนึ่ง

แต่การทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่ควรทำอะค่ะ

งานเขียนอาจารย์น่าศึกษามากเลยครับ

อาจารย์ครับกรณีเป็นคนต่างด้าวถ้าต้องการได้สัญชาติไทยได้ด้วยวิธีใดบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท