ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 2


คนรุ่นเก่า ๆ ที่จะต้องจากไปดังใบไม้แก่ ที่นับวันจะร่วงโรยและหลุดจากต้นหล่นลงดินและจะต้องมีใบไม้อ่อนที่ผลัดใบมาแทนที่ เพื่อรักษาชีวิตของต้นไม้เอาไว้ให้ได้

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 2)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

ผมเป็นเพียงคน ๆ หนึ่ง ที่เดินทางบนถนนแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นมานาน และได้รับประสบการณ์ตรงมาตลอดชีวิต อยากบอกว่า โดดเดี่ยว เหงา และไม่มั่นใจว่า จะเอาอยู่หรือไม่ ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปจนใกล้ที่จะถึง 60 ปี แล้วก็ตาม แต่ยังไม่เคยได้ยินคำยืนยันอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรมว่า พบแล้ว วิธีการที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ สนใจศิลปวัฒนธรรมของไทยเรา และกล้าที่จะแสดงออกอย่างเต็มใจสมภาคภูมิ

         

          ผมได้ให้คำแนะนำจูงใจเยาวชนที่ผมรับหน้าที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ตั้งแต่ผมเริ่มเข้ารับราชการมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลานานกว่า 39 ปี ผมใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีส่งสาระความรู้ถึงผู้เรียน โดยการตั้งเป้าหมาย (จุดประสงค์ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง หรือตัวชี้วัด) เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะพื้นบ้าน การแสดงพื้นเมืองมาโดยตลอด แต่สิ่งที่ได้รับคือ เยาวชนหรือนักเรียนในที่ผมสอนให้ความสนใจไม่ถึง 10% ผมประมาณว่า น่าจะมี 1-5% เท่านั้นที่มีความสนใจจริง ๆ

          

          เวลาที่ผมทำงานด้านนี้กับเด็ก ๆ ที่เป็นผู้เรียนในวิชาศิลปะ ไม่ว่าจะใช้ชื่อวิชาว่า วาดเขียน วิชาขับร้อง ต่อมาเรียกชื่อใหม่ว่า ทัศนศิลป์ ดนตรี-นาฏศิลป์ จนมาถึงหลักสูตรในยุคปัจจุบันเรียกชื่อเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ว่า ศิลปะ แถมด้วยการเรียนรู้แบบผสมผสาน เรียกว่า บูรณาการวิชาอื่น ๆ เข้าไปก็ยังคงเงียบเหงา ดูนิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหวมากนัก คนที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน พอที่จะคาดเดาได้ว่า อีกไม่นานน่าที่จะมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นของไทย ๆ เริ่มที่จะจางหาย หรือสูญหายไป โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมด้านการแดงเพลงพื้นบ้าน ข้อสังเกตนี้มาจากข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม ได้แก่

1.     เยาวชนให้ความสนใจลดลง หรือน้อยลงไปทุกที มีเพียง 1-5% ที่สนใจจริง ๆ

2.     เยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม เป็นเพียงการเข้ามาชั่วระยะหนึ่งแล้วก็เลิกไป

3.     เยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน มีเป้าหมายไม่ยาวไกล

4.     เยาวชนที่เข้ามาสัมผัสศิลปะการแสดงพื้นบ้านได้ระยะหนึ่งถูกเพื่อนชักจูงออกไป

5.     เยาวชนมีความอ่อนไหวต่อจิตใจที่จะรับในสิ่งใหม่ ๆ โดยลืมความตั้งใจเดิม

         

จากปี พ.ศ. 2523-2552 เป็นเวลา 29 ปี ที่ผมรับราชการอยู่ที่นี่เป็นโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 1500-1900 คน (โดยประมาณ) มีนักเรียนเข้ามาสมัครอยู่ในชุมนุมศิลปะการแสดงท้องถิ่นเพียง 14-29 คน (บางปีมีน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ) ในขณะที่ผมเป็นครู แต่เป็นนักแสดงเพลงพื้นบ้านต่อเนื่องมานาน เพราะว่า ผมฝึกหัดเพลง และเล่นเพลงเพลงพื้นบ้านมากับนักเพลงรุ่นครูตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 รวมทั้งผมยืนอยู่บนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้าน ยืนอยู่หน้าห้องเรียนรู้ ยืนร้องเพลงพื้นบ้านอยู่หลังสะแตนด์ (มีดอกไม้ มีไมโครโฟน) ผมร้องเพลงแหล่ ขับเสภา เพลงเต้นกำ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ฯลฯ ขอบคุณวิทยากรในห้องประชุมอบรม สัมมนา มาแล้วนับพันครั้ง เมื่อผมนำเอาความรู้ ความสามารถมาขยายผลถึงผู้เรียน จาก ปี พ.ศ. 2525-2534 (10 ปีเศษ) ไม่มีนักเรียนให้ความสนใจเลยสักคนเดียว จนมาถึงปี พ.ศ. 2535-2552 เป็นเวลา 18 ปี ที่พอมีนักเรียนเข้ามารับรู้และฝึกการแสดงจนรับงานเป็นอาชีพได้ ทำให้ผมมองเห็นว่า งานอย่างนี้ทำยากมาก และการพัฒนาในภาพรวมไปสู่ความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า จะมีคนรุ่นใหม่ ๆ อีกสักกี่คนที่เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนแบบจริงจัง เกาะติด ฝังแน่น ยอมอดทนอยู่กับความเหน็ดเหนื่อยอย่างที่ผมได้ทำมานาน จนผมไม่เคยนึกเลยว่าเป็นภาระที่จะต้องแบกเอาไว้

 มิใช่ผมจะเป็นห่วงว่า เพลงพื้นบ้านบางอย่างหรือหลายอย่าง จะต้องสูญสิ้นไป แต่มีปัญหายอดฮิต เป็นคำถามที่สื่อมวลชนและผู้คนให้ความสนใจมากจริง ๆ กับคำถามที่ว่า เด็ก ๆ ที่โรงเรียนของอาจารย์ มีมากไหม ครับ ที่หันมาสนใจเพลงอีแซว หรือเพลงพื้นบ้านที่อาจารย์ทำอยู่ ผมตอบไปว่า มีน้อยครับ อยากตอบว่า มีน้อยมาก เพราะว่า เด็กที่จะหันมาสนใจเพลงพื้นบ้านได้นั้นมีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่ครูเพลงจะต้องเอาชนะใจพวกเขาเหล่านั้นให้ได้ จึงจะสามารถรวบรวมเยาวชนเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ เด็ก ๆ จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกมองว่า มีความสำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมความเจริญงอกงามที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแทนคนรุ่นเก่า ๆ ที่จะต้องจากไปดังใบไม้แก่ ที่นับวันจะร่วงโรยและหลุดจากต้นหล่นลงดินและจะต้องมีใบไม้อ่อนที่ผลัดใบมาแทนที่ เพื่อรักษาชีวิตของต้นไม้เอาไว้ให้ได้

ท่านคิดว่า ยังมีวิธีการใด ๆ บ้าง ที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นเอาไว้ให้จงได้

 

(ติดตามตอนที่ 3  ทำอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 260603เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดดครับคุณชำเลือง

"ถ้าคนรุ่นเก่าไม่บันทึกเรื่องราวในอดีต คนรุ่นใหม่ขาดการใส่ใจค้นค้วา กาลเวลาทำลายเรื่องราวแต่หนหลังอย่างน่าเสียดาย"

มีความสุขในการทำงานนะคะ

สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากให้เด็กๆเค้าสัมผัส ซึมซับ อนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านที่งดงามนี้  ให้คงอยู่ตลอดไปค่ะ

ทุกๆฝ่ายคงต้องช่วยกันปลูกฝัง รณรงค์ให้มากๆ

ขอบคุณในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่นะคะ

ชอบฟังเพลงอีแซวค่ะ เหมือน Rap แบบไทยๆ ค่ะ สนุกค่ะ และงามในทางภาษาค่ะ ส่วนคนร้องก็ต้องมีไหวพริบดีด้วยค่ะ

หากนำมาประยุกต์อาจจะทำให้เพลงอีแซวเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้นไหมค่ะ :)

ส่งเสริมในโรงเรียน ในครอบครัว หมู่บ้านค่ะ ผู้ใหญ่ทุกคนช่วยกันค่ะ แล้วเด็กๆจะเห็นคุณค่าค่ะ

  • สวัสดีครับ
  • ถ้าในโรงเรียนต้องเริ่มที่ครู
  • ทั่วไปต้องผู้ใหญ่เป็นแบบอย่าง
  • ชื่นชมในภารกิจที่ท่านทำอยู่
  • เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและยิ่งใหญ่
  • เป็นกำลังใจให้มีพลังสังสรรค์สิ่งดีๆให้บ้านเมืองเรา  ครับ

เพลงอีแซว เป็นอัตลักษณ์หรือตัวตน และภูมิปัญญาของคนไทยดั้งเดิมนะคะ เป็นวัฒนธรรมที่ควรจะรักษาไว้  และมีผู้สืบต่อๆกันไป
ดิฉันเอง ถึงจะไม่ค่อยมีโอกาสฟัวเพลงอีแซวนัก  เพราะผู้คน แต่ละกลุ่มก็ต่างมีวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของตนเอง  แต่ดิฉัน ก็เห็นด้วยและสนับสนุนเป็นอย่างมาก ในการที่หาทางทำให้เพลงอีแซว อยู่คู่ประเทศไทยต่อไปค่ะ

เป็นกำลังใจให้ค่ะ ดิฉันทำเรื่องเพลงพื้นบ้านอยู่เช่นเดียวกัน สมาชิกที่

เอาจริงเอาจังสืบทอดได้ไม่เกิน 50 คน แต่โชคดีที่ผู้บริหารระดับเขต

พื้นที่ ท่านเอาจริงเอาจังกำหนดเป็นนโยบายให้นักเรียนทุกคนในเขตพื้นที่

แสดงพื้นบ้านให้ได้ มีการประเมินกันจริงจัง ดิฉันเลยพอมองเห็นทางขึ้นบ้าง

ที่โรงเรียนก็ใช้เด็ก 50 คนนี้เป็นแกนนำค่ะ กีฬาสีก็บรรจุไว้ให้มีการแข่งขัน

ร้องเพลงพื้นบ้านบนอัฒจันทร์เชียร์ บังคับ ม. 6 ทำโครงงานเผยแพร่

ขยายผล ทำกันหลายทางค่ะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดำรงอยู่ได้

เมื่อเดือนมีนาคม ดิฉันพาเด็กชุมนุมไปแลกเปลี่ยนกับอาจารย์พิสูจน์มาแล้วค่ะ

เพลงอีแซวยอดเยี่ยมมาก

ตั้งแต่มาสัมผัสgotoknowได้เห็นการร้องอีแซวชอบมากเลยและก็ยังไม่หายไปช่วงเวลาที่อาจารย์ยังอยู่....นั่งดูหนังตู้เป็นเรื่องราวของดนตรีแจ๊ส(ก็ชอบเหมือนอีแซวของเรา)มีอยู่ตอนหนึ่งของหนังนี้มีแบคกราวให้เห็นเป็นรูปวัดพระแก้วฟังดูดนตรีแจ๊สที่เขาเล่นว่ามันคุ้นหูแต่ยังฟังไม่ออกเพราะมันเป็นแจ๊สฟังๆอยู่สักพักถึงบางอ้ออ๋อฝรั่งเล่นเพลงรำวงเป็นแจ๊ส..ยอมรับว่าก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับฟังไม่ได้ว่ารำวงแบบแจ๊สจะรกหูแต่อย่างไร

เรื่องความสคัญของท้องถิ่น ก็ควรจะให้พ่อแม่สอนลูก โดยพาลูกไปเรียนรู้ไปเที่ยวบริเวณท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ พ่อแม่เล่าเรื่องดีเกี่ยวกับท้องถิ่นให้ลูกฟัง

ครูก็ช่วยเผยแพร่โดยการสอนด้วยค่ะ

ตอบความเห็นที่ 1 คุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-หน้าตา...งั้น ๆ

  • กาลเวลาทำลายเรื่องราวแต่หนหลังอย่างน่าเสียดาย
  • เป็นความเห็นของท่านที่ผมตรึงใจมาก ครับ ด้วยเหตุนี้
  • ผมจึงนำเอาประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา 58 ปี เล่าผ่านบล็อกนี้

ตอบความเห็นที่ 2 คุณสายธาร

  • ดอกไม้สวย ๆ ให้ความสดชื่นเช่นเคย ครับ
  • สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากให้เด็ก ๆ ได้สัมผัส ซึมซับศิลปะพื้นบ้านที่งดงามนี้
  • เป็นความรู้สึกที่ประทับใจ ผมขอนำเอาไปถ่ายทอดต่อยังลูกศิษย์ในวงเพลงของผม นะครับ

ตอบความเห็นที่ 3 ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

  • ชอบฟังเพลงอีแซวค่ะ เหมือน Rap แบบไทยๆ ค่ะ สนุกค่ะ และงามในทางภาษาค่ะ ส่วนคนร้องก็ต้องมีไหวพริบดีด้วยค่ะ หากนำมาประยุกต์อาจจะทำให้เพลงอีแซวเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้นไหมค่ะ

  • ท่าน คือผู้รู้ สิ่งที่ท่านแสดงความเห็น เป็นหลักของความจริงในวันนี้ ศิลปะการแสดง รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีอาจต้องปรับบ้าง เพื่อให้ร่วมยุคกับปัจจุบันจึงจะไปด้วยกันได้

ตอบความเห็นที่ 4 คุณน้อยหน่า

  • ผู้ใหญ่ทุกคนช่วยกันค่ะ แล้วเด็กๆจะเห็นคุณค่าค่ะ
  • ใช่เลย หากไม่มีผู้ใหญ่คอยช่วยชี้แนะแนวทาง เด็กรุ่นใหม่คงไม่มีกรอบที่จะเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตในอนาคต หรือไปได้ก็ไม่แข็งแรง
  • ผมจบการศึกษาทางด้านศิลปะ และเทคโนโลยี แต่ผมก็สนใจเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็ก (ไม่เชยหรือล้าสมัยเลย ครับ)
  • เชื่อโบราณเอาไว้บ้างก็ดี

ตอบความเห็นที่ 5 คุณเบดูอิน

  • ถ้าในโรงเรียนต้องเริ่มที่ครู ทั่วไปต้องผู้ใหญ่เป็นแบบอย่าง
  • ผมเห็นด้วยกับท่าน ครู พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีความสำคัญต่อการชี้ช่องทางที่ถูกต้องเหมาะสมให้เด็กแบบอย่าง

ไปชมที่สุพรรณมาคะ..ชื่นชมเด็กๆที่มีความตั้งใจในการนำเสนอ..

น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กหันมาสนใจศิลปะท้องถิ่นได้ดีทีเดียวนะคะ

ตอบความเห็นที่ 6 คุณศักดิ์พงษ์ หอมหวล

  • ขอบคุณ ครับ ที่ท่านให้กำลังใจและท่านเป็นผู้หนึ่งที่เห็นคุณค่าในสิ่งนี้ว่ายิ่งใหญ่
  • ผมขอสัญญาว่าจะสร้างสรรค์งานภูมิปัญญาท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านไปตลอดชีวิต ครับ

ตอบความเห็นที่ 7 คุณ Sasinand

  • ขอบคุณพี่มาก ครับ ไม่ได้คุยกันเสียนาน
  • "ดิฉัน ก็เห็นด้วยและสนับสนุนเป็นอย่างมาก ในการที่หาทางทำให้เพลงอีแซว อยู่คู่ประเทศไทยต่อไปค่ะ"
  • ผมก็เห็นด้วยกับข้อความด้านบนนี้ เช่นเดียวกัน และอยากให้ศิลปะพื้นบ้านทุกหัวระแหงของแผ่นดินไทยยังคงอยู่ เท่าที่จะต่อลมหายใจได้

ตอบความเห็นที่ 8 คุณนิชรา พรมประไพ (ม่วย)

  • ขอบคุณคนกำแพงเพชรมาก ครับ ทีเข้ามาเยี่ยม
  • ยินดีกับคุณครูมากครับ ที่เดินทางสายเดียวกัน คนทำเพลงพื้นบ้านของท้องถิ่น ขอให้คุณครูเดินหน้าต่อไป
  • ผมอาจจะแตกต่างจากครูคนอื่นที่ผมเป็นนักแสดงและรับงานแสดงและฝังแน่นอยู่กับงานด้านนี้มาตลอดชีวิต ผมจึงหวงแหนและเสียดาย ถ้าเพลงพื้นบ้านที่ยังเหลือต้องสูญหายไปต่อหน้า โดยไม่มีการฉุดรั้ง หรือกอบกู้เอาไว้

ตอบความเห็นที่ 9 คุณยายธิ

  • ตกลงคุณยายชอบฟังเพลงอีแซว หรือดนตรีแจ๊ส (ล้อเล่น)
  • ในจังหวัดสุพรรณฯ มีครูที่ทำงานด้านนี้กันหลายคน มีอยู่ทั่วทุกอำเภอ แต่อาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน และมีที่มาที่แตกต่างกัน
  • และอาจจะมีระยะทางในการเดินต่อไปข้างหน้ายาว-สั้นไม่เท่ากัน รวมทั้งภาพที่จะมองเห็นได้บนเวทีการแสดงในสถานที่ทั่วไปด้วย
  • ไม่รบกวนเวลาดูหนังของยาย แต่ว่าอย่าลืมดูเพลงอีแซวด้วยนะ

ตอบความเห็นที่ 10 คุณ Berqer0123

  • "ควรจะให้พ่อแม่สอนลูก โดยพาลูกไปเรียนรู้ไปเที่ยวบริเวณท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ พ่อแม่เล่าเรื่องดีเกี่ยวกับท้องถิ่นให้ลูกฟัง"
  • ผมเห็นด้วยกับท่าน ครับ รวมทั้งครูก็ต้องจัดการเรียนรู้ให้เด็กด้วย เพราะเรื่องของท้องถิ่นมีความสำคัญมาก

ตอบความเห็นที่ 11 หนุ่มลุ่มน้ำปิง

  • "สาธุ โลกาภิวัฒน์ นั่นเอง"     

  • ครับ วันนี้โลกไร้พรมแดน ไม่อาจที่จะขีดกั้นได้ วัฒนธรรมนำเข้าและส่งออกถูกแลกเปลี่ยนจนจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

  • เพียงแต่ว่า เราจะทำอย่างไร แยกเอาจุดเด่น ๆ ออกมาเพื่อที่จะแสดงความเป็นเจ้าของแผ่นดินในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้บ้าง           

 

 

ตอบความเห็นที่ 17 Add

  • "ชื่นชมเด็กๆที่มีความตั้งใจในการนำเสนอ..น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กหันมาสนใจศิลปะท้องถิ่นได้ดีทีเดียวนะคะ"
  • ผมเห็นด้วยกับท่าน เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถที่จะทำนายอนาคตของสิ่งที่เด็ก ๆ กำลังกระทำอยู่ได้ว่า มีความมั่นคงถาวรแค่ไหน แต่ก็ยังดีที่แกได้มีโอกาสสัมผัสในสิ่งเหล่านี้บ้าง
  • ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านนี้อย่างจริงจัง และรับงานแสดงอาชีพ มีผู้ว่าจ้างไปแสดงในงานต่าง ๆ ทั่วไปทุกสถานที่และทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากครับ

       

       

       

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท