ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

โคลงกำสรวลศรีปราชญ์


วรรณคดีไทย

โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ 

โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ เป็น โคลงนิราศสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็น โคลงที่โด่งดัง และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง นับแต่โบราณกาลมา ถือได้ว่าเป็นต้นแบบ ของนิราศคำโคลงเรื่องอื่นๆ ที่มีผู้แต่งเลียนแบบในภายหลัง แต่เดิมเชื่อกันว่าผู้แต่งโคลงกำสรวลนี้คือศรีปราชญ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งคร่ำครวญถึงคนรัก เมื่อคราวถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช ความเชื่อนี้น่าจะมีมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ดังมีโคลงบทหนึ่งในนิราศนรินทร์กล่าวไว้ว่า

       กำสรวลศรีปราชญ์พร้อ

เพรงกาล

จากจุฬาลักษณ์ลาญ

สวาทแล้ว

ทวาทศมาสสาร

สามเทวษ ถวิลแ

ยกทัดกลางเกศแก้ว

กึ่งร้อนทรวงเรียม

และเมื่อพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษณ์)แต่งตำนานศรีปราชญ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่มีมาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นว่า มีกวีที่ชื่อ "ศรีปราชญ์" ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรพระโหราธิบดี ในวัยเด็กมีปฏิภาณดี สามารถต่อโคลงถวายได้ บิดาจึงถวายตัวเป็นข้าราชบริพาร เมื่อรับราชการก็สามารถว่าโคลงสดโต้ตอบกับคนอื่นๆได้ทันที แต่ต่อมาไปแต่งโคลงโต้กับพระสนมเข้า จึงถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาถูกเจ้าเมืองฯสั่งประหารชีวิตจึงเขียนโคลงแช่งไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทราบกันโดยทั่วไป และเชื่อกันว่าศรีปราชญ์ผู้นี้นี่เองที่เป็นผู้แต่ง "กำสรวลศรีปราชญ์" และ "อนิรุทธ์คำฉันท์"ด้วย

แต่นักวรรณคดีในรุ่นหลังๆมีความเห็นต่างออกไปว่า ศรีปราชญ์ในตำนานที่รู้จักกันดีนี้ไม่ใช่ผู้แต่งกำสรวลศรีปราชญ์ เหตุผลมีดังนี้

๑.ภาษาในโคลงกำสรวลเป็นภาษาเก่าแก่เกินสมัยพระนารายณ์ เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่าใกล้เคียงกับ ลิลิตยวนพ่าย ที่แต่งในสมัยพระบรมไตรโลกนาถมากกว่า

๒.ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่กล่าวถึงในโคลง เป็นตำแหน่งสนมเอกของพระเจ้าแผ่นดิน แม้ศรีปราชญ์ในตำนานจะกล่าวว่ามีชู้กับพระสนม แต่ไม่น่าจะกล้าเอ่ยชื่อตรงๆในบทประพันธ์ที่ตนแต่ง ทั้งการรำพันถึงก็เป็นไปอย่างเปิดเผยเหมือนสามีภรรยามากกว่า อีกทั้งในโคลงก็ใช้ราชาศัพท์หลายคำ บ่งบอกว่าผู้แต่งน่าจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

๓.การเดินทางในโคลงไม่เหมือนการถูกเนรเทศ ตอนลงเรือมีโคลงกล่าวว่า

       สรเหนาะนิราษน้อง

ลงเรือ

สาวส่งงเลวงเต็ม

ฝ่งงเฝ้า

สระเหนาะพี่หลยวเหลือ

อกส่งง

สารด่งงข้าส่งเจ้า

ส่งงตน

จะเห็นได้ว่ามีผู้หญิงมาส่งผู้แต่งมากมาย ทั้งยังสามารถเรียกมาสั่งความได้ ไม่เหมือนคนต้องโทษเนรเทศ น่าจะเป็นคนใหญ่คนโตมากกว่า

๔.ในการพรรณนาเส้นทางที่ขบวนเรือแล่นผ่าน เรือมิได้แล่นผ่านคลองลัดที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อย กับ คลองบางกอกใหญ่ ซึ่งขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๕ ในสมัยพระชัยราชา ถ้าการเดินทางเกิดขึ้นในสมัยพระนารายณ์จริงก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางอ้อมเช่นนี้

๕.ทรงผมที่บรรยายในโคลงเป็นผมยาวเกล้าเป็นมวยซึ่งเป็นทรงผมของสตรีในสมัยอยุธยาตอนต้น ต่างกับสมัยพระนารายณ์ที่ไว้ผมสั้น

โดยสรุปมีหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่าโคลงกำสรวญนี้แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ผู้แต่งเป็นคนละคนกับศรีปราชญ์ในตำนาน

ลักษณะคำประพันธ์เป็นโคลงดั้นบาทกุญชร มีร่ายดั้นนำ โคลงตกหล่นไปมากตามกาลเวลา ในที่นี้ได้คัดลอกมาจากฉบับของกรมศิลปากร ซึ่ง ธนิต อยู่โพธิ์ ได้ชำระไว้ และได้พิมพ์ตามหนังสือต้นแบบที่ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๑๓ ซึ่งใช้อักขรวิธีแบบโบราณ ผู้สร้างเวบไม่กล้าเปลี่ยนเป็นอักขรวิธีแบบปัจจุบัน ด้วยเกรงว่าจะทำให้ผิดเพี้ยนไป และแม้บางคำที่สงสัยว่าต้นฉบับจะพิมพ์ผิด แต่ก็คงไว้เช่นนั้น

คำที่มี ํ อยู่ข้างบนเท่ากับเป็นสระโ-ะ และมี-มสกด เช่น พํรหม อ่านว่า พรหม,ชํ อ่านว่า ชม

คำที่มีตัวสกดสองตัวข้างหลัง ให้อ่านเป็นสระ-ะ สกดด้วยตัวนั้น เช่น ต้งง อ่านว่า ตั้ง,น้นน อ่านว่า นั้น

ตัว ย เท่ากับสระเ-ีย เช่น จยร อ่านว่า เจียร

ส่วนที่โคลงขาดหายไปได้แทนด้วยเครื่องหมาย *

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 260576เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 04:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แค่อยากรู้ว่าใครเป็นคนแต่งโคลงกำสรวลหาเป็น10รอบแล้ว จะมีอะไรส่งครูเนี้ย

เราแค่อยากรู้ว่าใครเป็นผู้แต่งโครงกำสรวลเท่านั้น เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่แบบี้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท