"ปัญญา" กับ "ความเชื่อ" ในเรื่อง "การเมืองไทย" ... (หนุ่มเมืองจันท์)


บทความหนึ่งของหนุ่มเมืองจันท์ที่รวบรวมไว้ใน "จุดหมายที่ปลายเท้า" ฟาสฟู้ดธุรกิจเล่มล่าสุด ... มีมุมมองของเรื่อง "ความเชื่อ" และ "การใช้ปัญญา" ในการใช้วิจารณญาณในเรื่องของความเชื่อทางการเมืองของบ้านเรา

อ่านแล้วถูกใจ ... จึงขอนำมาเสนอในบันทึก ดังนี้

 

 

ปัญญา

 

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความปั่นป่วนในบ้านเมือง

คนที่มีอาชีพ "นักข่าว" อย่างผมจะขายดี

โทรศัพท์ที่เคยแต่ "โทร.ออก" หาแหล่งข่าว กลับเปลี่ยนมาเป็นกด "รับสาย" ตลอดทั้งวัน

ตอนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ครั้งหนึ่ง

๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ก็อีกครั้งหนึ่ง

เบากว่าเดิมเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับ "ฮอต"

จนต้องบอกเพื่อนสนิทบางคนที่โทร.มาเข้าคิว "รอสาย" แบบน่าหมั่นไส้

"ขอโทษนะวันนี้ต้องรอคิวหน่อย"

คุยเรื่อง "การเมือง" วันนี้ไม่เหมือน "การเมือง" ตอน ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

เพราะทุกคนเลือกฝ่ายกันเรียบร้อยแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ผมยังบริสุทธิ์ไร้เดียงสาอยู่ เวลาใครโทร.มาถามก็จะตอบข้อมูลที่ได้รับ

แต่พูดยังไม่ทันจบ

รุ่นพี่ที่โทร.มาสวนกลับทันที

"ไม่จริงหรอก..." จากนั้นก็เถียงแบบยาวเหยียด

ครับ ตอนหลังผมจึงสรุปได้ว่า คนที่โทร.มาเขาไม่ได้ต้องการ "ข้อมูล"

แต่ต้องการเสียงสนับสนุน

วันที่ ๗ ตุลาคม ที่เกิดเหตุรุนแรงทั้งที่หน้ารัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาล คนที่โทร.มายังเพียงแค่สอบถามเหตุการณ์

แต่พอหลังจากนั้นเสียงที่โทร.มาจะเปลี่ยนเป็นถามเรื่อง "ความจริง"

เขาอยากรู้ "ความจริง" ว่าใครทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิต

ครับ เข้าอีหรอบเดิม

คือ แต่ละคนมี "ความเชื่อ" อยู่แล้ว

โทร.มาเพื่อต้องการเสียงสนับสนุน

บางคนก็เห็นว่า "ตำรวจ" สลายม็อบรุนแรง

บางคนก็เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ พกระเบิดมาเอง

บางคนก็เชื่อว่า "มือที่ ๓"

แต่ที่เหมือนกันก็คือ คนไหนเชื่อแบบไหนก็จะยกเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของตนเอง

และปฏิเสธข้อเท็จจริงในมุมอื่นแบบเด็ดขาด

วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ผมได้ "ตรัสรู้" ถึง "สัจธรรม" ข้อหนึ่ง

เมื่อมีคนโทรศัพท์มาถามถึง "ความจริง"

เราควรถามก่อนว่า เขาคิดว่าอย่างไร

และเมื่อรู้ทิศทางลม

คำตอบถึง "ความจริง" ที่ดีที่สุดก็คือ "ครับ"

ครับ และ ครับ

 

ในชีวิตจริงเราเผชิญกับเรื่องแบบนี้เป็นประจำ

เรามักจะ "เชื่อ" เร็วเกินไป

ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเรื่องที่เรามักมี "เชื้อไฟ" สะสมไว้อยู่แล้ว

อย่างเช่น ถ้าเราไม่พอใจใครเป็นการส่วนตัว

ถ้าคนคนนั้นเดินชนเรา

เราก็มักสรุปว่าไอ้คนนี้แกล้งเรา

ไม่ได้เปิดช่องเลยว่าเขาอาจไม่ตั้งใจก็ได้

ในพฤติกรรมเดียวกัน ถ้าคนที่เดินชนเราเป็นคนที่เรารู้สึกดีด้วย

เรามักสรุปทันทีว่า คนนี้ไม่ได้ตั้งใจแกล้ง

แค่บังเอิญเท่านั้นเอง

ทั้งที่คนนี้อาจแกล้งเราก็ได้

เมืองไทยวันนี้เป็นโลกแห่งการแบ่งสี

ถ้าไม่เห็นด้วยกับ "คนเสื้อเหลือง" ก็ต้องเป็น "คนเสื้อแดง"

ถ้าไม่เห็นด้วยกับ "คนเสื้อแดง" ก็ต้องเป็น "คนเสื้อเหลือง"

ไม่มีพื้นที่ตรงกลางให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับ "คนเสื้อเหลือง"ในบางเรื่อง

และไม่เห็นด้วยกับ "คนเสื้อแดง" อีกหลายเรื่อง

ทำไม "คนเสื้อเหลือง" จึงมองเห็นแต่ "ข้อเสีย" ของ "ทักษิณ ชินวัตร"

เหมือน "ทักษิณ" เป็น "ปีศาจร้าย"

คล้ายกับ "คอมมิวนิสต์" เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน

เช่นเดียวกับ "คนเสื้อแดง" ที่มอง "สนธิ ลิ้มทองกุล" และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเลวร้ายไปเสียทุกเรื่อง

ไม่เคยเห็น "ข้อดี" ของ "สนธิ" เลย

ไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า จริงหรือที่มนุษย์คนหนึ่งไม่ว่าจะชื่อ "ทักษิณ" หรือ "สนธิ" จะเลวร้ายไปหมดเสียทุกเรื่อง

ไม่มี "ข้อดี" แม้แต่นิดเดียว

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเชื่อเลยว่าจะมีมนุษย์คนใดในโลกจะเลวหมดหรือดีหมดทุกเรื่อง

เหมือนผู้ร้ายหรือนางเอกในละคร

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องมี "ข้อดี" และ "ข้อเสีย"

ไม่มีใครขาวไปทั้งหมด และไม่มีใครดำไปทั้งตัว

ถ้ายอมรับใน "ความจริง" ข้อนี้

โลกที่เรามองเห็นก็จะงดงามขึ้นทันที

 

"วิโนพาภเว" ศิษย์เอกของ "มหาตมะคานธี" เคยบอกว่า "คุณความดี คือ ประตู ส่วนความเลวร้าย คือ กำแพง"

เราจะเข้าบ้านใคร ก็ต้องเข้าทาง "ประตู"

ไม่ใช่เอาหัวชน "กำแพง"

การมองคนจะต้องเริ่มต้นที่ "ประตู" ไม่ใช่ "กำแพง"

ถ้าเรามองคนในแง่ดี พยายามค้นหาความดีของคนอื่นจะทำให้จิตใจของเราเป็นสุข

แต่ถ้าเราพยายามเพ่งหาแต่ความไม่ดีของคนอื่น ก็คือ การนำพาความทุกข์ใจมาให้เรา

ครับ การค้นหา "ความจริง" เราต้องเข้าทาง "ประตู"

ไม่ใช่ "กำแพง"

 

มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งในหนังสือ "ชวนมวนชื่น" ของพระอาจารย์พรหม

พระอาจารย์พรหม เป็นชาวอังกฤษ ลูกศิษย์หลวงปู่ชา ตอนนี้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโพธิญาณที่ออสเตรเลีย

เรื่องนี้มีชื่อว่า "ปัญญา"

ช่วงนั้นน่าจะเป็นตอนที่ข่าว "ยันตระ" กำลังเป็นที่ฮือฮา

เย็นวันหนึ่งที่วัด พระอาจารย์พรหมเทศน์ต่อหน้าสานุศิษย์ประมาณ ๓๐๐ คน

ท่านบอกว่า วันนั้นท่านรวบรวมความกล้าที่จะสารภาพความจริงเรื่องหนึ่ง

"อาตมามีเรื่องจะสารภาพ มันไม่ง่ายนักหรอกที่จะพูดถึง"

พระอาจารย์พรหมรีรอพักหนึ่งก่อนจะพูดต่อ

"เมื่อหลายปีก่อน อาตมาใช้เวลาช่วงที่มีความสุขที่สุดในชีวิต..."

หยุดชะงักอีกครั้ง

"อาตมาใช้เวลาช่วงที่มีความสุขที่สุดในชีวิต...ในอ้อมแขนที่อุ่นด้วยไอรักของภรรยาชายอื่น เราโอบกอดกัน เราลูบไล้กัน เราจูบกัน"

พระอาจารย์พรหมกล่าวจบพร้อมคอตก และตาก้มต่ำ มองพรมเบื้องล่าง

ท่านได้ยินเสียงตระหนกตกใจจากญาติโยม บางคนเอามือปิดปากด้วยความช็อค

มีเสียงกระซิบดังออกมาว่า "โอ๊ย...ท่านอาจารย์พรหมก็เอากับเขาด้วยเรอะ"

ท่านปล่อยให้ความสับสนดำเนินไปครู่หนึ่ง ก่อนจะเล่าต่อ

"ผู้หญิงคนนั้น คือ แม่ของอาตมาเอง และเหตุเกิดเมื่ออาตมายังเป็นเด็กอยู่"

ญาติโยมทั้งหมดหัวเราะดังลั่น

"นี่ เรื่องจริงนะ" ท่านพูดเสียงดัง

"เธอเป็นเมียของชายอื่น คือ พ่อของอาตมาเอง เรากอดกันจริง จูบกันจริง และเป็นช่วงที่อาตมามีความสุขที่สุดในชีวิตจริง"

เมื่อทุกคนปาดน้ำตาและหยุดหัวเราะ พระอาจารย์พรหมจึงชี้ประเด็นว่า ทุกคนได้ตัดสินท่านอย่างผิดพลาดไปแล้ว แม้จะได้ฟังเรื่องราวจากปากท่านเอง

ทั้งที่ข้อมูลทุกอย่างก็เป็นความจริง

แต่ทุกคนก็ยังสามารถกระโดดไปสู่บทสรุปที่ผิดพลาดได้

ท่านบอกว่า "โชคดีที่ครั้งนี้ท่านตั้งใจล้อเล่น จึงสามารถชี้ให้เห็นถึง ความคิดเห็นที่ผิดของพวกเขาได้"

"กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราไม่ได้โชคดีเช่นนี้ และได้ด่วนสรุปจากหลักฐานที่ดูเหมือนว่าแน่นอนนัก เพื่อที่จะได้พบว่ามันผิด ผิดมหันต์และให้ผลร้ายเสียด้วย"

การตัดสินเปรี้ยงลงไปอย่างรวดเร็วว่า "สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิดหมด"

"ไม่ใช่ ปัญญา"

 

...........................................................................................................................

ไม่ใกล้ ไม่ไกล ที่เราได้พบเจอความเชื่อของบุคคลลักษณะดังกล่าว

หากเชื่อไม่เหมือนกัน ก็ไล่ไปอยู่อีกฝ่าย แต่หากอยู่อีกฝ่าย ก็ต่อว่าไม่ฉลาด แต่ถ้าเขาอยู่ข้างใด ก็เสียดสีว่า ต้องรู้จักเลือกข้าง ... แล้วตกลงประเทศไทยเป็นของใครคนเดียวหนอ

ดังนั้น ความเชื่อเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาวิเคราะห์และพิจารณาให้เห็นถึงแก่นสารความเป็นไปในความเชื่อนั้น ด้วยเหตุและผล

ทุกอย่างย่อมมีที่มาและที่ไป ... มีเหตุ มีเกิด มีดับ เป็นไปตามกรรม

โปรดตริตรองจิตตนดูสักครั้งไหมครับ

 

"อย่าตัดสินความถูกความผิดใคร ถ้ายังไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาถึงแก่นของเหตุผล"

ขอบคุณครับ :)

 

...........................................................................................................................

แหล่งอ้างอิง

หนุ่มเมืองจันท์.  จุดหมายที่ปลายเท้า.  พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๒.

 

หมายเลขบันทึก: 259751เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

 

เรียนอ.เสือ

วันนี้โชคดีอีกแล้ว

โดนใจจริงๆๆ โอ๊ย โอ๊ย ขอยืมน้องเอกมาเอ่ย อิอิ

อ่านแล้วไม่มีอะไรจะคุยต่อค่ะ

นอกจาก สาธุ และร่วมอนุโมทนาบุญกุศล

อันเกิดจากการให้ปัญญาแก่ผู้อื่น

ขอบคุณค่ะ

ขอบพระคุณครับ คุณ krutoi :) ...

ยินดีนัก ๆ ครับ

ผมเองก็ "รีบ" ตัดสินพระอาจารย์พรหม พร้อมๆ กับที่ญาติโยมของท่านคิด

เราพลาดไปแล้วจริงๆ นิ

:)

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn

  • มาเติมปัญญาและรอยยิ้ม
  • อาจารย์สบายดีนะคะ
  • แวบ ๆ   ...ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ  คุณพิทักษ์ ที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ :)

ขอบคุณครับ คุณพยาบาล สีตะวัน ที่แวะมาให้คิดถึง :)

ชอบลีลาการสอนของพระอาจารย์พรหมจริงๆ ครับ เป็นการสอนที่ลึกซึ้ง หลอกล่อญาตโยมซะน้ำตาซึม แล้วก็หักมุมด้วยเสียงหัวเราะ แล้วก็ชี้ให้เห็นธรรมะตบท้ายอีก สุดยอดจริงๆ ครับ

ชวนมวนชื่นจริงๆ

น่าจะเหมือนที่ ซูซาน บอย บอกว่า

กรุณาอย่าตัดสินหนังสือจากเพียงแค่ปกของมัน

...

เอ๊ะๆ ตกใจ ๆ

มาอ่านเล่มนึง

แต่กลับไปเม้นท์อีกเล่มนึง

ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ

ยินดีที่อาจารย์ ซวง ณ ชุมแสง แวะมาเยี่ยมเยือนครับ

ชื่นชมหลายเล่ม แต่จุดหมายเดียวกัน ครับ :)

สวัสดีครับอาจารย์ คนธรรมดา ย่อมคิดแบบธรรมดา และตัดสินความตามที่หูได้ยิน ตาได้เห็น เป็นธรรมดา การฟัง การคิด การเชื่ออย่างมีวิจารณญาณจึงจำเป็นในคิดวิเคราะครับ

"การคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีวิจารณญาณ" จึงจำเป็นมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ครับ ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า :)

ขอบพระคุณครับ

บันทึกนี้ของอาจารย์ ทำให้ผมเข้าใจคำว่า ร่องอารมณ์ ชุดความรู้ มากขึ้น เราชอบติดกับ กับ ร่องอารมณ์ ชุดความรู้ เดิมของเรานะครับ

ขอบพระคุณครับ อาจารย์หมอ เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี :) ...

เพิ่งอ่านจบครับเล่มนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท