วิจัยชีวิตรักของกุ้งและปู



          เป็นเรื่องของสัตว์ที่เราเรียกว่ากุ้งและปูนะครับ   ไม่ใช่ชีวิตรักของคุณกุ้งกับน้องปูที่เป็นคน   นักวิจัยท่านนี้เป็นนักวิจัยระดับเมธีวิจัยอาวุโส สกว.    และคราวนี้ได้ทุนที่มีเกียรติสูงขึ้นไปอีก คือทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น    ชื่อโครงการของท่านคือ “การศึกษาคุณลักษณะและความสัมพันธ์ของฮอร์โมนที่ควบคุมการการหลั่ง กับฮอร์โมนที่กระตุ้นต่อมสืบพันธุ์ และฟีโรโมนเพศสัมพันธ์ของกุ้งและปู   กับการประยุกต์ใช้ในระบบเพาะเลี้ยง”  


          นักวิจัยท่านนี้คือ ศ. ดร. ประเสริฐ โศภณ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  scpso(at)mahidol.ac.th


          เอามาเล่าเป็นตัวอย่างของวิธีทำงานวิจัย/ตั้งโจทย์วิจัย ที่ลงลึก หรือเป็นโจทย์วิจัยพื้นฐาน   และในขณะเดียวกันก็นำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วย    แต่มีเงื่อนไขคือ นักวิจัยที่จะทำงานวิจัยแบบนี้ได้ต้องเป็นนักวิจัยชั้นเซียน  ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำมามาก  มีความรู้พื้นฐานดี   ในด้านการเรียนต้องจบปริญญาเอกละการฝึกหลังปริญญาเอกที่เรียกว่า postdoc   และต้องเลือกเรียน/ฝึก กับนักวิจัยชั้นยอด    ไม่ใช่เลือกอาจารย์ที่ใจดี รับง่าย เรียนง่าย จบง่าย  


          โครงการแบบนี้ทำวิจัยคนเดียว สาขาวิชาเดียว ไม่มีวันสำเร็จ นะครับ   ต้องทำเป็นทีม มีนักวิจัยจากหลายสาขาวิชา    และต้องมีนักศึกษาระดับปริญญาเอกมาเป็นกำลังสำคัญด้วย    นักศึกษาระดับปริญญาเอกมีความสำคัญ ๒ อย่าง    คือเป็นคนถามคำถามแปลกๆ แบบคนที่ยังไม่คิดแบบแผ่นเสียงตกร่อง (นี่คือจุดอ่อนของคนแก่หรือผู้อาวุโส)   กับเป็นแรงงานสำคัญในการลงมือทำ


          โครงการนี้มีนักวิจัยถึง ๒๐ คน จากหลายสถาบัน   และมีที่ปรึกษาอีก ๗ คน จากหลายสถาบัน เช่นกัน


          โครงการวิจัยแบบนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่โครงการเดี่ยว แต่เป็น “ชุดโครงการ”   ที่ทีมวิจัยจะต้องร่วมกันคิดโจทย์    ดังนั้นนักวิจัยระดับนี้ต้องไม่ใช่แค่เก่งวิชาการ ต้องเก่งทีมด้วย    หรือเก่งคนด้วย   อย่าง ศ. ดร. ประเสริฐ นี้ ร้องเพลงเก่งด้วย   


          คนไทยเราเก่งนะครับ เรื่องเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนี่เราเป็นหนึ่งไม่รองใคร    สัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติร่อยหรอเราก็หาทางเพาะเลี้ยงจนได้    เข้าใจว่าผู้มีส่วนพัฒนาเทคนิคมีทั้งเกษตรกรรายย่อย  นักวิชาการประมง  บริษัทเอกชน  และนักวิชาการแนวลึก อย่าง ศ. ประเสริฐ นี่แหละ   แต่กลุ่มหลังมีน้อยคน


          จะเห็นว่า เราสามารถนำกิจการท้องถิ่นมาตั้งโจทย์วิจัยแนวลึกได้มากมายหลากหลาย   ถ้านักวิจัยคนนั้นมีความรู้และการฝึกฝนมามากพอ มีความริเริ่มสร้างสรรค์มากพอ   รู้จักตั้งคำถามที่ลึกและเชื่อมโยง  และมีความสามารถทางเทคนิควิชาการที่จะตอบคำถามยากๆ นั้นได้ 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ เม.ย. ๕๒

หมายเลขบันทึก: 259571เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท