พุทธวิธีในการสอน


หลักการสอนของพระพุทธเจ้า

 

ข้อสรุปพระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่ควรสังเกต

          - ทรงสอนสิ่งที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

          - ทรงรู้เข้าใจสิ่งที่สอนอย่างถ่องแท้สมบูรณ์

          - ทรงสอนด้วยเมตตา มุ่งประโยชน์แก่ผู้รับคำสอนเป็นที่ตั้งไม่หวังผลตอบแทน

          - ทรงทำได้จริงอย่างที่สอน เป็นตัวอย่างที่ดี

          - ทรงมีบุคลิกภาพโน้มน้าวจิตใจให้เข้าใกล้ชิดสนิทสนม และพึงพอใจได้ความสุข

          - ทรงมีหลักการสอน และวิธีสอนยอดเยี่ยม

 

หลักทั่วไปในการสอน

            เกี่ยวกับเนื้อหา หรือเรื่องที่สอน

          - สอนจากสิ่งที่รู้เห็นเข้าใจง่าย หรือรู้เห็นเข้าใจอยู่แล้ว ไปหาสิ่งที่เห็นเข้าใจได้ยาก หรือยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ

          - สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึก ยากลงไปตามลำดับขั้น และความต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป อย่างที่เรียกว่า สอนเป็นอนุปุพพิกถา..

          - ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ ก็สอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียน ได้ดู ได้เห็น ได้ฟังเอง อย่างที่เรียกว่าประสบการณ์ตรง

          - สอนตรงเนื้อหา ตรงเรื่อง คุมอยู่ในเรื่อง มีจุด ไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่องโดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องในเนื้อหา

          - สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ อย่างที่เรียกว่า สนิทานํ

          - สอนเท่าที่จำเป็นพอดี สำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่าผู้สอนมีความรู้มาก

          - สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้ และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง อย่างพุทธพจน์ที่ว่า พระองค์ทรงมีพระเมตตา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย จึงตรัสพระวาจาตามหลัก 6 ประการคือ

          - คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

          - คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

          - คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส

          - คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

          - คำพูดที่จริง ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

          - คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส

          - ลักษณะของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ คือ ทรงเป็นกาลวาที สัจจวาที ภูตวาที อัตถวาที ธรรมวาที วินัยวาที

 

เกี่ยวกับตัวผู้เรียน

          - รู้ คำนึงถึง และสอนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล...

          - ปรับวิธีสอนผ่อนให้เหมาะกับบุคคล แม้สอนเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล อาจใช้ต่างวิธี

          - นอกจากคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ หรือญาณ ที่บาลี เรียกว่า ปริปากะ ของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นรายๆ ไปด้วย

          - สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจน แม่นยำและได้ผลจริง เช่น ทรงสอนพระจูฬปันถกผู้โง่เขลาด้วยการให้นำผ้าขาวไปลูบคลำ...

          - การสอนดำเนินไปในรูปที่ให้รู้สึกว่าผู้เรียน กับผู้สอนมีบทบาทร่วมกัน ในการแสวงความจริง ให้มีการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบเสรี หลักนี้เป็นข้อสำคัญในวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งต้องการอิสรภาพในทางความคิด และโดยวิธีนี้เมื่อเข้าถึงความจริง ผู้เรียนก็จะรู้สึกว่าตนได้มองเห็นความจริงด้วยตนเอง และมีความชัดเจนมั่นใจ หลักนี้เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นประจำ และมักมาในรูปการถามตอบ

          - เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษเป็นรายๆ ไปตามควรแก่กาลเทศะ และเหตุการณ์...

          - ช่วยเหลือเอาใจใส่คนที่ด้อย ที่มีปัญหา...

 

เกี่ยวกับตัวการสอน

          ในการสอนนั้น การเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก อย่างน้อย ก็เป็นเครื่องดึงความสนใจ และนำเข้าสู่เนื้อหาได้ พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอนด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมที่เดียว แต่จะทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบ หรือผู้มาเฝ้าด้วยเรื่อที่เขารู้เข้าใจดี หรือสนใจอยู่...

          สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลินไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติแก่ผู้เรียน ให้เขามีความภูมิใจในตัว

สอนมุ่งเนื้อหา มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นสำคัญ ไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่มุ่งยกตน ไม่มุ่งเสียดสีใครๆ...

          สอนโดยเคารพ คือ ตั้งใจสอน ทำจริง ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่า มองเห็นความสำคัญของผู้เรียน และงาสั่งสอนนั้น ไม่ใช้สักว่าทำ หรือเห็นผู้เรียนโง่เขลา หรือเห็นเป็นชั้นต่ำๆ

          ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย ชวนให้สบายใจ สละสลวย เข้าใจง่าย

          ขอนำพุทธพจน์แห่งหนึ่ง ที่ตรัสสอนภิกษุผู้แสดงธรรมเรียกกันว่า องค์แห่งพระธรรมกถึก มาแสดงไว้ดังนี้

          "อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำได้ง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่น พึงตั้งธรรม 5 อย่างไว้ในใจ คือ

                   - เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ

                   - เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ

                   - เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา

                   - เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส

                   - เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตน และผู้อื่น "

 

ลีลาการสอน

          คุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลีลาในการสอน 4 อย่าดังนี้

          -  อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือจูงมือไปดูเห็นกับตา (สันทัสสนา)

          -  ชักจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตามจนต้อยอมรับ และนำไปปฏิบัติ (สมาทปนา)

          -  เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก (สมุตตเตชนา)

          -  ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากกาปฏิบัติ (สัมปหังสนา)

          อาจผูกเป็นคำสั้นๆ ได้ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง หรือชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน

 

วิธีสอนแบบต่างๆ

          วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า มีหลายแบบหลายอย่าง ที่น่าสังเกต หรือพบบ่อย คงจะได้แก่วิธีต่อไปนี้

          - สนทนา (แบบสากัจฉา)

          - แบบบรรยาย

          - แบบตอบปัญหา ท่านแยกประเภทปัญหาไว้ตามลักษณะวิธีตอบเป็น 4 อย่างคือ

          - ปัญหาที่พึงตอบตรงไปตรงมาตายตัว ... (เอกังสพยากรณียปัญหา)

          - ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงแก้ ... (ปฎิปุจฉาพยากรณียปัญหา)

          - ปัญหาที่จะต้องแยกความตอบ ... (วิภัชชพยากรณียปัญหา)

          - ปัญหาที่พึงยับยั้งเสีย (ฐปนียปัญหา) ได้แก่ ปัญหาที่ถามนอกเรื่อง ไร้ประโยชน์ อันจักเป็นเหตุให้เขว ยืดเยื้อ สิ้นเปลืองเวลาเปล่า พึงยับยั้งเสีย แล้วชักนำผู้ถามกลับเข้าสู่แนวเรื่องที่ประสงค์ต่อไป

          - แบบวางกฎข้อบังคับ เมื่อเกิดเรื่องมีภิกษุกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นครั้งแรก

 

กลวิธี และอุบายประกอบการสอน

          การยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ การยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย และการเล่านิทานประกอบการสอนช่วยให้เข้าใจความได้ง่าย และชัดเจน ช่วยให้จำแม่นยำ เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน ทำให้การเรียนการสอนมีรสยิ่งขึ้น...

          การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะมักใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือแม้เปรียบเรื่องที่เป็นรูปธรรมด้วยข้ออุปมาแบบรูปธรรม ก็ช่วยให้ความหนักแน่นเข้า... การใช้อุปมานี้ น่าจะเป็นกลวิธีประกอบการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุด มากกว่ากลวิธีอื่นใด

          การใช้อุปกรณ์การสอน ในสมัยพุทธกาล ย่อมไม่มีอุปกรณ์การสอนชนิดต่างๆ ที่จัดทำขึ้นไว้เพื่อการสอนโดยเฉพาะ เหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะยังไม่มีการจัดการศึกษาเป็นระบบขึ้นมากอย่างกว้างขวาง หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็คงต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่

          การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางจริยธรรม คือการทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองการสาธิตให้ดู แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำนั้นเป็นไปในรูปทรงเป็นผู้นำที่ดี การสอนโดยทำเป็นตัวอย่าง ก็คือ พระจริยวัตรอันดีงามที่เป็นอยู่โดยปกตินั้นเอง แต่ที่ทรงปฏิบัติเป็นเรื่องราวเฉพาะก็มี...

          การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ การเล่นภาษาและการเล่นคำ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ ข้อนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าที่มีรอบไปทุกด้าน...แม้ในการสอนหลักธรรมทั่วไป พระองค์ก็ทรงรับเอาคำศัพท์ที่มีอยู่แต่เดิมในลัทธิศาสนาเก่ามาใช้ แต่ทรงกำหนดความหมายใหม่ ซึงเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ฟังผู้เรียนหันมาสนใจ และกำหนดคำสอนได้ง่าย เพียงแต่มาทำความเข้าใจเสียใหม่เท่านั้น และเป็นการช่วยให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบไปในตัวด้วยว่าอย่างไหนถูก อย่างไหนผิดอย่างไร จึงเห็นได้ว่า คำว่า พรหม พราหมณ์ อริยะ ยัญ ตบะ ไฟบูชายัญ ฯลฯ ซึ่งคำในลัทธิศาสนาเดิม ก็มีใช้ในพระพุทธศาสนาด้วยทั้งสิ้น แต่มีความหมายต่างออกไปเป็นอย่างใหม่

          อุบายเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล การเลือกคนเป็นอุบายสำคัญในการเผยแพร่ศาสนา ในการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า เริ่มแต่ระยะแรกประดิษฐานพระพุทธศาสนาจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินพุทธกิจด้วยพระพุทโธบายอย่างที่เรียกว่า การวางแผนที่ได้ผลยิ่ง ทรงพิจารณาว่าเมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นใดถิ่นหนึ่งควรไปโปรดใครก่อน

          การรู้จักจังหวะ และโอกาส  ผู้สอนต้องรู้จักใช้จังหวะ และโอกาสให้เป็นประโยชน์

          ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ตัดตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียให้น้อยที่สุด ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ สุดแต่จะใช้กลวิธีใดให้การสอนได้ผลดีที่สุด ก็จะทำในทางนั้น ไม่กลัวว่าจะเสียเกียรติ ไม่กลัวจะถูกรู้สึกว่าแพ้

          การลงโทษ และให้รางวัล การใช้อำนาจลงโทษ ไม่ใช้การฝึกคนของพระพุทธเจ้า แม้ในการแสดงธรรมตามปกติพระองค์ ก็แสดงไปตามเนื้อหาธรรมไม่กระทบกระทั้งใคร... การสอนไม่ต้องลงโทษ เป็นการแสดงความสามารถของผู้สอนด้วย ในระดับสามัญ สำหรับผู้สอนทั่วไป อาจต้องคิดคำนึงว่าการลงโทษ ควรมีหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร แต่ผู้ที่สอนคนได้สำเร็จผลโดยไม่ต้องใช้อาญาโทษเลย ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการสอนมากที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 259567เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท