“น้ำหยดสุดท้าย” หลักการและแนวคิดในการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีพลังรอบตัวเอง


การไม่ปล่อยให้น้ำ(ที่กำลังจะหมด)ให้ไหลทิ้ง หรือระเหยไปโดยปราศจากประโยชน์

เมื่อประมาณ ๒ ปีมาแล้ว ระหว่างที่ผมทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายข้าวคุณธรรม ที่อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ผมได้รับแนวคิดของการจัดการน้ำ “หยดสุดท้าย” มาไว้ในแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการพึ่งตนเอง

ในระยะแรกๆ ผมก็รับมาแต่คำ และความหมายที่ไม่ลึกซึ้งมาก

ที่หมายถึง การไม่ปล่อยให้น้ำ(ที่กำลังจะหมด)ให้ไหลทิ้ง หรือระเหยไปโดยปราศจากประโยชน์

·        โดยการพยายามเก็บกักน้ำให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

o   ในดิน มีวัสดุปกคลุม หรืออย่างน้อยก็ทำให้ดินคลุมตัวเอง โดยการไถให้ผิวหน้าแตกเป็นฝุ่นแบบ self mulching

o   ทำคันกั้น เก็บกักไว้ให้มากที่สุด

o   เก็บรักษาน้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งจากการซึมลงลึก ระเหย และการปนเปื้อน ที่ทำให้คุณค่าลดลง

o   ใช้น้ำที่เก็บอย่างประหยัด และระมัดระวัง ตามระดับคุณภาพของน้ำแบบ “เห็นคุณค่า” ของน้ำ

o   หมุนเวียนใช้น้ำตามระดับคุณภาพอย่างคุ้มค่า แบบ “ไม่มีน้ำทิ้ง”

ในกลุ่มเกษตรกรที่ใช้หลักการนี้ จะพบว่าไม่ค่อยมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะ

·        มีเท่าไหร่ ก็ใช้เท่านั้น อย่างรู้คุณค่า ใช้เต็มตามคุณค่าของน้ำที่มี

·       มีเวลาเพียงแต่จะคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะใช้น้ำที่มีอยู่แล้วให้คุ้มค่า

  •  เลยไม่มีเวลาไปบ่นกับใครว่าตัวเองมีน้ำไม่พอใช้

นี่คือ ตัวอย่างเล็กๆ ของ พลังตั้งต้นของวิธีคิดในการจัดการน้ำ “หยดสุดท้าย”

แนวคิดดังกล่าวผมได้นำมาปรับใช้ในการจัดการน้ำในที่นาของผม

·        โดยการพยายามทำคันดินใหญ่ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำ และทรัพยากรน้ำ

·        ทำระบบเก็บกักน้ำไว้ในนา ที่ไม่ต้องออกไปนาบ่อยๆ มากจนเกินไป ให้ระบบจัดการตัวเองได้ระดับหนึ่ง

o   โดยเฉพาะระบบกักให้น้ำไหลเข้า ไม่ให้ไหลออกที่ลงทุนต่ำ (ยี่สิบบาท) เมื่อระดับน้ำด้านนอกนาลดลง

·        คอยระวังว่าควรจะเก็บน้ำให้สูงสุดตอนไหน ที่จะเป็น “หยดสุดท้าย”

o   เพราะถ้าเก็บเร็วเกินไปจะล้นคันนา หรือคันนาพังได้

o   ถ้าเก็บช้าก็จะไม่ได้น้ำอย่างพอเพียง

ผมทำเช่นนี้มา ๒ ปี ผมจึงมีน้ำฝนเก็บไว้ใช้ตลอด ทำนาได้ โดยไม่ต้องรอน้ำชลประทาน

ปีนี้ก็สามารถเก็บจนเต็มที่ในช่วงสงกรานต์ ๑๔-๑๕ เมษายนที่ผ่านมา

ตอนนี้กำลังค่อยๆปรับระดับน้ำในนาให้ลดลง เพื่อให้ได้จังหวะพอดีกับการหว่านข้าว ตามมหาฤกษ์ทางการเกษตร

วันพืชมงคล

๑๑ พ.ค. ๒๕๕๒

ผมทำการจัดการน้ำ “หยดสุดท้าย” เช่นนี้ นอกจากจะได้น้ำฝนมาใช้อย่างพอเพียง สามารถทำนาได้ตามฤกษ์แล้ว ยังได้

·        ปลาที่มากับน้ำ และที่ค่อยๆรวมมาจากนาใกล้เคียงมาลงนาผม เพราะนาคนอื่นแห้งเร็วกว่า

·        ปลาที่ขึ้นมาตามทางน้ำ ที่ผมค่อยๆปล่อยระบายน้ำเลี้ยงทางน้ำข้างนาเอาไว้ (และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางแหล่งน้ำ)

ทำให้ผมได้ปลามากมาย เหลือเฟือ ทั้งปลาลงมากับน้ำ และปลาขึ้นมาหาน้ำ

ยังไม่รวมถึงการใช้น้ำเลี้ยงปลาที่อยู่ในนาของผม ที่ยังไม่เคยจับมากว่า ๓ ปีแล้ว

นี่คือ อีกตัวอย่างหนึ่งของการจัดการน้ำ “หยดสุดท้าย” ที่ทรงพลังจริงๆ

นอกจากจะได้น้ำฝนมาทำนา เลี้ยงปลา ปลูกข้าว ปลูกต้นไม้ คุมหญ้าในนาแล้ว

ยังได้ปลาธรรมชาติอีกเพียบ

เมื่อเช้านี้ ขณะอยู่ที่นา ผมจึงได้รีบโทรไปหาพ่อวิจิตร บุญสูง ประธานเครือข่ายข้าวคุณธรรม จังหวัดยโสธร

เพื่อแสดงความขอบพระคุณ และขอแสดงความยินดี กับการคิดค้นหลักการที่สำคัญนี้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 259553เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

ท่านอาจารย์ฝึกการจัดการน้ำในระดับไร่นาจนสามารถจับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงระดับไร่นาและพยากรณ์ได้ จนชาวนาทั่วไปตามท่านอาจารย์ไม่ทันแล้ว กระผมไม่กล้าคิดเลยเถิดไปว่าต่อไป ท่านอาจารย์จะใช้นกเก็บข้าวขึ้นเล้า ครับกระผม ตามมาอ่านบล็อกท่านอาจารย์เพื่อเพิ่มแนวทางการคิดและเปิดใจเรียนรู้ครับกระผม

 ด้วยความเคารพท่านอาจารย์ครับผม

        นิสิต

สวัสดค่ะ อ.แสวง

บอกตรงๆว่าไม่เคยทำไร่ -นาค่ะ มีอย่างมากก็ปลูกต้นไม้ที่หน้าบ้านค่ะ

แวะมาเรียนรู้ค่ะ

ผมกำลังเรียนอยู่ทุกวัน ยังไม่เก่งหรอก

ระดับ ป. ๓ สอน ป. ๑ ประมาณนั้นครับ

แต่ทุกวันที่เรียน ผมสนุกกับความรู้ ที่สัมผัสได้ กินได้ อย่างมีความสุข

ผมไม่ชอบความรู้แห้งๆ ในกระดาษครับ

ลองทำเองแล้วจะรู้

ความรู้เชิงประจักษ์นี่เรียนไม่มีวันจบครับ

ยิ่งเรียน ยิ่งมีเรื่องให้เรียนมากขึ้นเรื่อยๆครับ

เราทุกคนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่ควรจบที่อยู่ที่ห้องเรียนเท่านั้น ทีไหนๆก็สามารถเรียนรู้ได้

เวลานี้ผมว่าทำยังไงถึงจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ทำยังไงเกษตรกรถึงจใช้ internet เป็น ทำยังไงให้เกษตรกรเปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้น อย่าปิดกั้นข้อมูลใหม่ๆ

เราสามารถทำศูนย์การเรียนรู้ online ได้แต่มันจะเหมือนกับมีห้องสมุดที่ไม่มีนักเรียนมายืมหนังสือครับ

ผมเครียดแทนคุณครูของผมแล้วหล่ะครับ เพราะไม่รู้จะทำยังไงถึงจะถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้มันและต้องรู้จักที่จะทำก่ารเกษตรแบบพอเพียงและเพียงพอ

การเกษตรแบบพอเพียงและเพียงพอเป็นหนทางรอดเดียวแบบยั่งยืนแท้ครับของเกษตรกร

ผมเพียงอยากเห็นเกษตรกรภูมิใจในอาชีพตัวเอง

ภ้าได้มีทางรอด  ไม่ได้ประเทศชาติล่มจมแน่ๆ

จะไม่มีชาวนา และคนทำนาอีกต่อไป

มีแต่เตรียมตัวเข้าโรงงาน พอโรงงานปิด ไม่ปล้นธนาคาร ปล้นทอง ก็ฆ่าตัวตาย

นี่ละหรือคือ เป้าหมายของประเทศไทย

แม้จะบอกว่า ไม่ใช่ เราก็กำลังทำเช่นนี้อยู่แล้ว

เมื่อไหร่เราจะเปลี่ยนแปลง

นี่คือความเครียดของผมครับ

ถ้าเกษตรกรภาคภูมิใจ การเรียนไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ 

คุณครูครับวันนี้เป็นวันพืชมงคลแล้ว

คุณครูจะเริ่มต้นทำนาในวันที่เป็นมงคลนี้อย่างไรครับ

บังเอิญฝนตกตอนกลางคืนที่ ๑๐ พ.ค. อีก กว่า ๓๐ มม. ที่มีทั้งน้ำฝนตกในแปลง และน้ำไหลบ่ามาจากที่อื่น

เลยยุ่งนิดหน่อย เพราะระบายน้ำออกได้ไม่หมด

ก็เลยหว่านในน้ำสูงๆเป็นฟุตอย่างนั้นแหละ แต่ก็กำลังระบายน้ำออกเต็มที่ครับ

ไม่ทราบผลจะเป็นอย่างไร อีกสัก ๔-๕ วันคงรู้ผล ไม่งอก ก็จะหว่านเสริมเอาครับ

แต่ผมก็หยอดข้างคันนาเอาฤกษ์ไว้ด้วยครับ อย่างไรก็ถือว่าทำได้แล้ว แต่อาจต้องแก้ไขนั้นอีกเรื่องหนึ่งครับ

ขอบคุณครับที่มาถามข่าว

เอาใจช่วยคุณครูของผมต็มที่ครับ

ถ้าคุณครูมีเวลาอยากให้คุณครูเขียนบันทึกเกี่ยวกับการทำนาของคุณครูในปีนี้โดยเริ่มตั้งต้นที่วันพืชมงคลของปีนี้ จะได้มีภาพเปรียบเทียบให้ชาวblog gotoknow ได้มีข้อมูลเพิ่มเติม และได้รับทราบถึงปาฏิหารย์วันพืชมงคลของปีนี้อีกครั้งครับ

ชาวบ้านเริ่มทำนาแล้ว

แต่ไม่มีการกักน้ำทุกหยดโดย"คันดินใหญ่"

แต่น้ำหยดสุดท้ายต่อไปเจ้าอย่าหวัง บันทึกอาจารย์ให้ประโยชน์ชาวบ้านมาก

ปีนีัฝนตกตลอดเลยครับ

แล้วจะรายงานเรื่อยๆครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์แสวงที่เคารพ ดิฉันแวะมาเคาะบ้านทักทายค่ะ ยังตามมาเก็บความรู้จากอาจารย์เป็นพักๆ ค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์แสวง

รู้จักชื่อเสียงของอาจารย์จากทางสื่อ และ อินเตอร์เนท

ตั้งใจว่าหากมีโอกาสจะไปขอความรู้จากอาจารย์ถึงแปลงนาครับ

เบื้องต้นแล้ว ผมขอความรู้เรื่องการทำนาปี แบบที่อาจารย์ทำอยู่ ดังนี้นะครับ

1. อาจารย์ปลูกข้าวแบบหว่านโดยไม่ไถนั้น

ในนา 1 ไร่ อาจารย์ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์อะไร จำนวนเท่าใด

ครับ อาจารย์เก็บพันธุ์ข้าวเองหรือซื้อจากที่ไหนครับ

2. ในกรณีปกติ ก่อนที่อาจารย์จะหว่านข้าวนั้น สภาพแปลงนา

เป็นอย่างไรครับ ผมเข้าใจว่าคงมีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด เพราะอาจารย์ทำนาปีละครั้งเท่านั้น เราจะหว่านข้าวลงไปในแปลงนาได้

เลยทันทีหรือเปล่าครับ

3. ในกรณีที่หว่านข้าวโดยไม่ไถดินก่อนนั้น เราต้องเอาน้ำเข้านา

เมื่อข้าวมีอายุกี่วันครับ ผมสงสัยเรื่องการรักษาระดับน้ำในแต่ละ

ช่วงเวลาที่ข้าวเติบโต จนถึงช่วงข้าวออกรวง ว่าต้องทำอย่างไร

และ อาจารย์ใช้วิธีไหนที่จะเอาน้ำเข้า เอาน้ำออก ต้องใช้เครื่อง

สูบน้ำหรือไม่ครับ

4. กรณีเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีก่อน อาจารย์ใช้คนเกี่ยวหรือเครื่องครับ

5. อาจารย์จัดการกับผลผลิตในแต่ละปีอย่างไรครับ เพราะผมคิดว่า

ผลผลิตในแต่ละปีคงเป็นจำนวนหลายตันเลยนะครับ

ต้องขอโทษที่ถามหลายคำถาม เพราะยังอ่านไม่พบ

รายละเอียดดังที่ตัวเองต้องการเลยครับ และ ขอขอบคุณอาจารย์

ล่วงหน้าด้วยครับ

อาจารย์ปลูกข้าวแบบหว่านโดยไม่ไถนั้น

ในนา 1 ไร่ อาจารย์ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์อะไร จำนวนเท่าใด

ใช้ข้าวหอมมะลิแดง ๑-๒ กก/ไร่ หว่านให้ห่าง กอจะได้ใหญ่ๆ ต้นใหญ่ ล้มยาก

ครับ อาจารย์เก็บพันธุ์ข้าวเองหรือซื้อจากที่ไหนครับ

ครั้งแรกขอเขามา ปีที่สองเปลี่ยนพันธุ์เลยยืมวัดป่ามา ใช้คืนไปแล้ว

ปีที่ ๓-๔ เพิ่มพันธุ์ใหม่อีก ขอเขามาบ้าง แลกมาบ้างครับ

2. ในกรณีปกติ ก่อนที่อาจารย์จะหว่านข้าวนั้น สภาพแปลงนาเป็นอย่างไรครับ ผมเข้าใจว่าคงมีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด เพราะอาจารย์ทำนาปีละครั้งเท่านั้น เราจะหว่านข้าวลงไปในแปลงนาได้เลยทันทีหรือเปล่าครับ

ก็มีฟางเหลือนิดหน่อย หญ้าไม่มีเพราะถอนออกหมดครับ มีขี้ตมอยู่ในนาเนื่องจากผมขังน้ำแช่ไว้ ผมทำคันนาใหญ่ดักน้ำฝน น้ำพอใช้ครับ จึงใช้น้ำคุมหญ้าได้บ้าง เหลือรอดก็ถอนเอาครับ หญ้าที่น้ำท่วมไม่ตายก็มีหญ้าหวาย หญ้าขน หญ้าไซ หย้าปล้องแดง กกสารพัดชนิด ต้องถอนเอาครับ ถอนทุวันมันเกิดไม่ทันมือผมหรอกครับ ถ้าไม่ทันจริงก็ใช้เครื่องตัด ถ้าตัดไม่ตายก็ต้องถอน ครับ

3. ในกรณีที่หว่านข้าวโดยไม่ไถดินก่อนนั้น เราต้องเอาน้ำเข้านาเมื่อข้าวมีอายุกี่วันครับ ผมสงสัยเรื่องการรักษาระดับน้ำในแต่ละช่วงเวลาที่ข้าวเติบโต จนถึงช่วงข้าวออกรวง ว่าต้องทำอย่างไร

น้ำใช้น้อยที่สุดครับ ใช้มากข้าวจะไม่แตกกอ ผมพลาดมาในปีที่ ๒ ข้าวแตกกอน้อยครับยิ่งไม่มีน้ำขังยิ่งดี ข้าวจะแตกกอมาก ต้นแข็งแรง ไม่ล้มง่ายครับ ต้นข้าวไม่ชอบน้ำแช่ครับ

และ อาจารย์ใช้วิธีไหนที่จะเอาน้ำเข้า เอาน้ำออก ต้องใช้เครื่องสูบน้ำหรือไม่ครับ

ทำร่องระบาย  และทำคันทดน้ำเข้านาครับ ทำแบบคนจนนะครับ ให้คนอื่นทำตามได้ง่ายครับ

4. กรณีเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีก่อน อาจารย์ใช้คนเกี่ยวหรือเครื่องครับ

ต้องคนอย่างเดียว รถจะเหยียบแปลงนาเสียหมดเลยครับ

5. อาจารย์จัดการกับผลผลิตในแต่ละปีอย่างไรครับ เพราะผมคิดว่าผลผลิตในแต่ละปีคงเป็นจำนวนหลายตันเลยนะครับ

กิน แจก แลก ขายครับ เลียนแบบระบบเดิมของไทย

ผมขายแพงครับ เพราะข้าวดีขายถูกไม่ได้ครับ ใครไม่มีเงินซื้อก็แจกฟรี แต่ไม่ลดราคา

ผมจึงปลูกข้าวสีที่ทำให้การทำตลาดง่าย

ก็ทำแบบสนุกๆ ไม่สนุกไม่ทำครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง

ได้รับคำตอบที่ทำให้ผมเข้าใจเพิ่มมากขึ้นแล้วครับ

ปีนี้ผมตั้งใจจะหว่านข้าวนาปี โดยไม่ไถแบบอาจารย์บ้างละครับ

ได้ผลอย่างไรจะพยายามส่งข่าวให้ทราบครับ หากอาจารย์มีคำแนะนำ

อะไรเพิ่มเติม จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

ถอนหรือกำจัดหญ้าให้หมดก่อนหว่านนานๆจะได้มั่นใจว่าหมดจริงๆ

แล้วตามดูเป็นประจำ อย่าเผลอนะครับ

หญ้าชอบคนเผลอ พอโตเต็มนา แล้วเล่นยากครับ

มีสองสามต้นรีบจัดการ อย่าวางใจครับ

สำเร็จแน่นอน ครับ

เรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมครับ

หลังจากไปนั่งคิดอยู่หลายวันครับ

1.อาจารย์ใช้ข้าวพันธุ์หอมมะลิแดง ๑-๒ กก/ไร่

หว่านให้ห่าง กอจะได้ใหญ่ๆ ต้นใหญ่ ล้มยากนั้น อาจารย์ใช้พันธุ์น้อยมากเลยครับ

ผมคิดว่าต่อไร่ น่าจะเป็น 1-2 ถัง ๆละประมาณ 10 กก. คิดออกมาน่าจะเป็น 10-20 กก/ไร่

แต่อาจารย์ใช้เพียง 1-2 กก/ไร่ ดูจะน้อยมากๆ เลยนะครับ

อาจารย์หว่านข้าวอย่างไรครับ ในหนึ่งตารางเมตรจะมีข้าวประมาณกี่ต้นครับ

2.น้ำใช้น้อยที่สุดครับ ใช้มากข้าวจะไม่แตกกอ ตามที่อาจารย์แนะนำนั้น

ผมมีข้อสงสัยเพิ่มเติมดังนี้ครับ

- หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว บางคนบอกว่าอย่างเพิ่งเอาน้ำเข้านา เดี่ยวข้าวจะเน่า

อาจารย์จัดการน้ำในช่วงหว่านข้าวอย่างไรครับ

- ในระยะข้าวตั้งท้อง บางคนบอกว่าต้องอย่าให้ขาดน้ำ

อาจารย์จัดการน้ำในช่วงข้าวตั้งท้องอย่างไรครับ

- ในระยะเก็บเกี่ยว บางคนบอกว่าต้องเอาน้ำออกจากนาก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน

อาจารย์จัดการน้ำในช่วงเก็บเกี่ยวอย่างไรครับ

ขออนุญาตถามละเอียดหน่อยนะครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ขอบพระคุณครับกับสาระดีๆ ผมขอสมัครเป็นชมรมเกษตรธรรมชาติด้วยคน

เป็นสมาชิกใหม่ครับ ไม่มีความรู้อะไร มาแอบอ่านของอาจารย์หลายๆเรื่อง กะจะกลับไป ทำเกษตรธรรมชาติที่บ้านเกิด จ.เลย ครับ

1.อาจารย์ใช้ข้าวพันธุ์หอมมะลิแดง ๑-๒ กก/ไร่ หว่านให้ห่าง กอจะได้ใหญ่ๆ ต้นใหญ่ ล้มยากนั้น อาจารย์ใช้พันธุ์น้อยมากเลยครับ ผมคิดว่าต่อไร่ น่าจะเป็น 1-2 ถัง ๆละประมาณ 10 กก. คิดออกมาน่าจะเป็น 10-20 กก/ไร่ แต่อาจารย์ใช้เพียง 1-2 กก/ไร่ ดูจะน้อยมากๆ เลยนะครับ อาจารย์หว่านข้าวอย่างไรครับ ในหนึ่งตารางเมตรจะมีข้าวประมาณกี่ต้นครับ

ผมหว่านเกินความจำเป็นไม่ต่ำกว่าสองเท่า

สวยที่สุด คือ ๔ กอ หรือ เมล็ดต่อตารางเมตร

ใช้เมล็ดประมาณ ๗,๐๐๐ เมล็ด/ไร่ ก็พอ

๑ กก มีเมล็ด ประมาณ ๗,๐๐๐ เมล็ด

แต่ผมหว่านเกินไปนิดหนึ่งเพราะฝีมือยังไม่ค่อยดี ฝึกไปเรื่อยๆ และถ้าดินดีๆ อาจหว่านแค่ครึ่ง กก ก็อาจจะพอครับ

2.น้ำใช้น้อยที่สุดครับ ใช้มากข้าวจะไม่แตกกอ ตามที่อาจารย์แนะนำนั้น ผมมีข้อสงสัยเพิ่มเติมดังนี้ครับ - หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว บางคนบอกว่าอย่างเพิ่งเอาน้ำเข้านา เดี่ยวข้าวจะเน่า อาจารย์จัดการน้ำในช่วงหว่านข้าวอย่างไรครับ - ในระยะข้าวตั้งท้อง บางคนบอกว่าต้องอย่าให้ขาดน้ำ อาจารย์จัดการน้ำในช่วงข้าวตั้งท้องอย่างไรครับ - ในระยะเก็บเกี่ยว บางคนบอกว่าต้องเอาน้ำออกจากนาก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน อาจารย์จัดการน้ำในช่วงเก็บเกี่ยวอย่างไรครับ

ปกติผมหว่านข้าวแห้งตอนน้ำลดลงและให้ขังไม่เกิน ๒ วัน เมล็ดข้าวจะแช่อยู่ในน้ำ งอก ได้ทันก่อนดินจะแห้งครับ

ปีนี้พิเศษหว่านเมล็ดข้าวแห้งในน้ำเลยครับ เมล็ดลอยน้ำตอนหว่านเลยครับ เพราะใช้ฤกษ์พืชมงคล น้ำยังสูงครึ่งแข้ง แต่ก็เปิดน้ำออกลดได้ทัน และขึ้นมากระจายสวยเลย อย่างไม่น่าเชื่อครับ

ที่ว่ามาด้านการจัดการน้ำทั้งหมด คือความเชื่อ

ความจริงคือข้าวไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องมีธาตุอาหาร ถ้าดินดี ในช่วงตั้งท้องแค่ดินชื้นก็พอครับ

ผมปลูกบนคันนา ในจุดที่ดินดี (ไม่มีน้ำขังตลอดการปลุก) ก็ยังได้ผลดีเท่ากับในนาครับ

(งานวิจัยของผมเองครับ)

เราใช้ความเชื่อนำทางโดยแทบไม่เคยมองความจริง หรือพยายามทำตามความจริง ละทิ้งความเชื่อ

เพราะข้อเดียวครับ

ความรู้ไม่พอใช้ครับ

เลยทำตาม "ที่เขาว่า" มาตลอดครับ

อ่านคำตอบของอาจารย์แล้ว พูดไม่ออก เขียนไม่ถูกเลยครับ

ต้องลองนำไปปฎิบัติอย่างเดียวเท่านั้น ขอบพระคุณอาจารย์

เป็นอย่างสูงครับ

Practice makes perfect เขาว่าอย่างนั้นครับ

ลองดู จะเรียนรู้ได้มากมายเลยครับ

ขอบฟ้ามิอาจกั้น ประมาณนั้นเลยครับ

อยากดูวีดีโอวิธีการทำนาแบบไม่ต้องไถแบบครบวงจร

เพื่อว่าคนที่ไม่มีความรู้จะนำปใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง

ผมไม่ได้ทำเพื่อแสดงครับ เลยไม่มีครบอย่างที่ว่า

แบบทำไปเรียนไปนะครับ

อยากรู้ก็ผ่านมาคุยหรือโทรมาคุยก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท