KM อุปมา : น้ำ กับ ตุ่ม


การหาน้ำมาใส่ในตุ่มให้มีน้ำอยู่เสมอนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งผมติดไปกับอาจารย์หมอวิจารณ์  คราไปประชุมทำความเข้าใจเรื่อง KM ให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  7  สถาบัน ที่วิทยาเขตพาณิชพระนคร  (นางเลิ้ง)    เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินอาจารย์พูดเรื่องนี้     คือ   เรื่องตุ่ม   กับน้ำ

ก็น่าสงสัยนะครับว่า  ตุ่ม กับ น้ำ  เกี่ยวอย่างไรกับ  KM    บางท่านที่สนิทสนมกับ  สคส.  อาจคิดไปว่าเป็นเรื่องของ   คุณตุ่ม (ศศิธร)   กับ คุณน้ำ (จิราวรรณ)  ทีม PR  ของ สคส.    ซึ่งก็ไม่ใช่ครับ     ผมชอบข้อเปรียบเทียบนี้เลยขอเจียรนัยความหมายต่อจากอาจารย์วิจารณ์ในมุมของผมนะครับ

KM  แบบเริ่มที่การสร้างตุ่ม

เรื่องมีอยู่ว่า   หลายครั้ง  หลายที่  หลายองค์กร  เคยได้สนทนากับ  สคส.  ถึงเรื่องที่จะทำ KM ในหน่วยงาน    เริ่มต้นด้วยความคาดหวังว่าจะได้  "ฐานความรู้"   ที่สร้างขึ้นมาในองค์กร    และคิดว่าจะเป็นที่รวบรวมความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับงานอย่างเป็นระบบ    เพื่อให้คนในองค์กรได้ใช้พัฒนาขีดความสามารถการทำงาน   และกลายเป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้"  ในที่สุด        ด้วยความคิดริเริ่มในทิศทางนี้ก็จะมองไปที่ ระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ   ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาออกแบบจัดการวางระบบ   ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก      มีหลายองค์กรที่เคยเริ่มด้วยวิธีนี้     ตรงนี้แหละครับ   ที่เรียกว่าสร้าง  "ตุ่ม"

กล่าวคือ  ทำ KM แบบเริ่มที่คิดหาตุ่มก่อน   แต่ยังไม่เห็นน้ำ    หรือบางที่อาจจะมีการออกแบบ  เป็นระบบแท๊งค์น้ำที่มีระบบจ่ายน้ำอย่างดี    แต่ตอนนั้นยังไม่มีน้ำเหมือนกัน  มีก็อาจจะมีน้อย    แบบนี้เรียกว่า  ทำตุ่มเตรียมไว้ก่อน

KM  แบบเริ่มที่การหาน้ำ  

เป็นการเริ่มด้วยวิธีการหาน้ำ   ดึงน้ำที่อยู่ใต้ดินที่แสนจะลึก   เปรียบ "น้ำ"  เหมือนกับความรู้     ยิ่งอยู่ในคนมากเท่าไร  ก็เท่ากับอยู่ใต้ดินลึกเท่านั้น    การเริ่มของรูปแบบนี้ก็จะเริ่มที่การหาวิธีการดึงน้ำขึ้นมาก่อนว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง   แต่ยังไม่ฟันธงตอนแรกนะครับครับว่า  "ตุ่ม" นั้นควรจะเป็นแบบใด 

ทั้งสองแบบมีดี  มีเสียต่างกัน    ใครชอบแบบไหนก็ลองดูกันเอาเองนะครับ

อาจารย์หมอวิจารณ์เคยสำทับไว้นะครับว่า    เมื่อมีน้ำก็ต้องเอามาใส่ตุ่ม      ใส่ตุ่มแล้วก็ต้องตักเอามาดื่ม  เอามาอาบ  เอามาใช้   ไม่เก็บไว้เฉยๆ      การหาน้ำมาใส่ในตุ่มให้มีน้ำอยู่เสมอนั้น  เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา   เหมือนการดึงความรู้ออกมาแล้ว  ต้องมาปรับใช้   (ย้ำนะครับ  ปรับใช้  ไม่ใช่   ลอกเลียนใช้)   แล้วต้องสร้างหมุนเวียนความรู้ใหม่ๆ   ทั้งความรู้ใน  และความรู้นอกเอามาเก็บไว้ในคลังความรู้    ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วก็เลิก     เหมือนเอาน้ำใส่ตุ่มเต็มแล้วก็ไม่ทำอีกเลย    อย่างนี้ละก็    เสียเวลาเปล่าๆ  เสียเงิน  เสียทอง  และเสียแรงด้วย  ถ้าทำแบบนี้สู้อย่าไปทำมันเลยครับ    อย่างน้อยก็เก็บแรงเอาไว้ทำอย่างอื่นน่าจะดีกว่า

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25944เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
การเปรียบเทียบแบบนี้ ทำให้เข้าใจความเป็นพลวัตร (เมื่อหาน้ำมาใส่ตุ่มแล้ว ก็ต้องตักออกมาใช้ประโยชน์ และ หาน้ำมาเติมตุ่มอยู่เสมอ) ของการจัดการความรู้มากเลยค่ะ  ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาเล่าให้ฟัง
ชอบลีลาการเขียนเล่าเรื่องของคุณธวัชมาก เขียนได้ดี เปรียบเทียบให้เข้าใจชัดเจนมาก ขออนุญาตนำไปถ่ายทอดต่อนะค่ะ คงไม่สงวนลิขสิทธิ์
     น้ำมีอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ลึก ถึงลึกมาก หรืออาจจะมากที่สุด ดึงดูด (วิธีการใด ๆ ) ให้มีน้ำออกมาก่อน แล้วจึงค่อยคิดหาภาชนะมารองรับน้ำ เหลื่อมเวลากันสักเล็กน้อยน่าจะพอดี ความสำคัญอยู่ที่การวางหรือตั้งตำแหน่งของภาชนะ การเปิดปิดให้สะดวกต่อการนำไปหมุนวนปรับใช้ก็สำคัญด้วยเช่นกันครับในประการต่อมา...ผมว่าของผมต่อยอดต่อความแบบบ่น ๆ ไปเรื่อย...ครับ
ผมชอบลีลาการพูดเวลาอยู่บนเวทีของคุณธวัชมากและขอสนับสนุนเรื่องตุ่มและนำของคุณด้วยอีกคนหนึ่ง  เพราะว่าเมื่อเปรียบกับสมัยก่อนรุ่นคุณตา คุณยายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตนับใด้ว่าอุดมสมบูรณ์มาก แต่วันนี้มันใด้ถูกใช้ไปจนแทบจะหมดตุ่มอยู่แล้วโดยการมองข้ามการเติมหรือรองรับนำใหม่ ทั้งที่ทุกอย่างธรรมชาติสร้างและหมุนเวียนให้มา...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท