สมบัติของผู้ดี (ต่อ 2)


การอยู่ร่วมกันในสังคม ของมนุษย์

ภาค ๙

ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง

กายจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเชิญ.

          (๒) ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก.

          (๓) ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด.

          (๔) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู.

          (๕) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูสมุดพกหรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่.

          (๖) ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.

          (๗) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.

          (๘) ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ.

          (๙) ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด.

          (๑๐) ย่อมไม่ลอบแอบดูการลับ.

          (๑๑) ถ้าเห็นเข้าจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว.

          (๑๒) ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน.

 

วจีจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน.

          (๒) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร.

          (๓) ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง.

          (๔) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง.

          (๕) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น.

          (๖) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง.

          (๗) ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง.

          (๘) ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก.

          (๙) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา.

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง.

          (๒) ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจแก่ผู้อื่น.

          (๓) ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม.

          (๔) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง. 

 

ภาค ๑๐

ผู้ดี ย่อมไม่ประพฤติชั่ว

กายจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน.

          (๒) ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็กหรือผู้หญิง.

          (๓) ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอาย เพื่อความสนุกยินดีของตน.

          (๔) ย่อมไม่หาประโยชน์ด้วยอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน.

          (๕) ย่อมไม่เสพสุราจนถึงเมาและติด.

          (๖) ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม.

          (๗) ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนัน เพื่อจะปรารถนาทรัพย์.

          (๘) ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตน ในสิ่งที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตให้.

          (๙) ย่อมไม่พึงใจในหญิงที่มีเจ้าของหวงแหน.

 

วจีจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท.

          (๒) ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน.

          (๓) ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง.

          (๔) ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง.

          (๕) ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้อื่น.

 

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น.

          (๒) ย่อมไม่คิดทำลายผู้อื่นด้วยประโยชน์ตน.

          (๓) ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง.

          (๔) ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป.

 

                                      ผู้เรียบเรียง                            เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราบดี

                                                                ผู้จัดทำคำอธิบายเพิ่มเติม   ม.ล.ป้อง มาลากุล  ๒๕๐๓

                                                                ผู้ตรวจทาน                            นายสุชีพ ปุญญานุภาพ

 

ขอบคุณที่มาของข้อความดังกล่าวนี้ จาก....

http://olddreamz.com/bookshelf/properties/properties.html

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องทั่วไป
หมายเลขบันทึก: 259256เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2009 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระครูนิวิฐธุราทร

เจริญพร คุณครูสายธาร

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท