คำกล่าวต้อนรับของ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
เนื่องในโอกาส รมว. กระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์)
นำคณะเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเยี่ยมมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ณ หอประชุมวันมูหะมัดนอร์ มาทา
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
4 พฤษภาคม 2009
’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’
เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ท่านเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
คณะผู้ติดตาม หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในนามมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาผมรู้สึกยินดีและขอขอบคุณ ฯพณฯ กษิต ภิรมย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ให้เกียรตินำคณะเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมาเยือนมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาในวันนี้
ในโอกาสนี้ผมใคร่ขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาโดยย่อของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ดังนี้มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย ได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประเภทวิทยาลัยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2541 และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เปลี่ยนชื่อและประเภทเป็น “มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา”ในวันที่ 14 มิถุนายน 2550 ในปีการศึกษาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอิสลามยะลามีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตและระดับปริญญาโทรวมทั้งสิ้น 2,743 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติจากประเทศจีน กัมพูชา มาเลเซีย ซูดาน อิหร่าน และปากีสถานรวม 91 คน มีบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการรวม 328 คน ปัจจุบันมีสาขาวิชาทั้งสิ้น 17 สาขาวิชาทั้งสาขาวิชาด้านอิสลามศึกษา ด้านศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการ สาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสาขาวิชาด้านภาษานานาชาติ
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลามีปณิธานมุ่งมั่นพัฒนานักศึกษาให้เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักการของอัลกุรอานและจริยวัตรของท่านศาสดามูหัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) มุ่งสู่การสร้างสรรค์สังคมสันติที่เรืองปัญญาและเปี่ยมด้วยคุณธรรม
ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายมาเยือนมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาในวันนี้ นับเป็นช่วงเวลาดีที่เราจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพซึ่งเราเชื่อว่าเป็นความต้องการของทุกคนทุกฝ่ายและทุกภูมิภาคในโลกนี้ ด้วยการร่วมสานเสวนาบนฐานแห่งการให้เกียรติในกันและกัน ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างและพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่อาจจะแตกต่างออกไป ทั้งนี้เพื่อที่เราจะเข้าใจในกันและกัน และนั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญของกระบวนการที่จะนำไปสู่การสถาปนาสันติภาพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ในท้ายที่สุดนี้ผมขอขอบคุณ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้กรุณานำคณะเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยในวันนี้ ขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตและอุปทูตทุกท่านที่มาเยี่ยมมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ซึ่งบางประเทศได้เคยให้เกียรติมาเยี่ยมเราแล้วหลายครั้ง และหวังใจว่ามหาวิทยาลัยอิสลามยะลาจะได้มีโอกาสต้อนรับท่านทั้งหลายอีกในโอกาสหน้า อินชาอัลลอฮฺ
ผมขอดุอาต่ออัลลอฮฺ พระผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ขอพระองค์ได้ทรงนำทางพวกเราสู่ทางอันเที่ยงตรงและอบอุ่นยิ่งของพระองค์ และขอพระองค์ได้ทรงช่วยเหลือเราให้เป็นหนึ่งจากบรรดาผู้ถักทอสันติภาพของโลกและขอทรงให้เราห่างไกลจากการเป็นหนึ่งในบรรดาผู้อธรรมและบ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพ อามีน
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย อ.อาลัม ใน กิจกรรม มอย : at Yala Islamic University
หมายเลขบันทึก: 259165, เขียน: 04 May 2009 @ 12:09 (), แก้ไข: 06 Sep 2013 @ 20:41 (), สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน, อ่าน: คลิก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก