ว่าด้วยเรื่อง AAR อีกซักครั้ง


สืบเนื่องจากที่ทำ AAR ร่วมกัน เมื่อวันที่ 30 เมย.ที่ผ่านมา ของทีมผู้จัด OM Workshop อีกเช่นกัน ที่ทำให้ผู้เขียนต้องกลับมาทบทวนความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ AAR ให้มากขึ้น เพื่อตอบคำถามถึงความเกี่ยวข้องของ AAR, การสรุปบทเรียน และการถอดบทเรียน ซึ่งผู้เขียนไม่มั่นใจที่จะตอบคำถามนี้ด้วยตนเองเพราะความรู้และประสบการณ์ยังไม่มากพอ

 

ผู้เขียนกลับมาอ่านหนังสือ  2 เล่ม ที่เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่อ่านบ่อยมากๆ คือ การจัดการความรู้ฉบับนักปฏิบัติ (หน้า 162-167) และ “KM วันละคำ (หน้า 68-70) ก็ทำให้ได้คำตอบที่ผู้เขียนขอนำสาระสำคัญ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานทั้งในส่วนของการใช้กระบวนการ KM เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งภายในของสำนักฯ และ โครงการ KM-NCD Network” มาบันทึกไว้ดังนี้

-         การเรียนรู้ระหว่างทำงาน เป็นเรื่องของการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ เครื่องมือในการเรียนรู้ดังกล่าวเรียกว่า AAR- After Action Review

-         การทำ AAR ก็เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการจัดการความรู้โดยทั่วไป จะต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นอิสระ เท่าเทียม ชื่นชมยินดี หรือบรรยากาศที่คิดเชิงบวก

-         AAR จะประสบความสำเร็จสูงมาก หากผู้เข้าร่วมพูดออกมาจากมุมมองที่ต่างกันมากๆ  คือ เราต้องการเรียนรู้ร่วมกันจากมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ยิ่งแตกต่างหลากหลายเท่าไหร่ยิ่งดี

-         หากใช้ AAR เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนในการพัฒนาคุณภาพงาน AAR ก็จะเป็นเครื่องมือของ CQI

-         การใช้ AAR ในการปฏิบัติงานจริงควรใช้แบบประยุกต์เพื่อให้เหมาะต่อบรรยากาศการทำงานในขณะนั้น และตามวัฒนธรรมองค์กร

 

นอกจาก AAR แล้ว อาจารย์ยังได้เขียนแนะนำเครื่องมือ การทบทวนหลังเสร็จงาน หรือ Retrospect โดยอธิบายว่า Retrospect ก็คล้ายๆ กับ AAR แต่เป็นพิธีและมีขั้นตอนชัดเจนกว่า และ ความแตกต่างที่สำคัญ คือ AAR ทำกันในกลุ่มที่ทำงานนั้นมาด้วยกัน แต่ Retrospect จะเชิญคนที่เดาว่าในอนาคตจะทำงานแบบนั้นมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

 

ส่วนที่ผู้เขียนสนใจมากๆ คือ ย่อหน้าสุดท้ายในหน้า 201 ของเล่ม KM วันละคำ ที่อาจารย์แนะนำว่า การประเมิน (Assessment) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกประเมินสถานการณ์ ประเมินกิจกรรมที่เพิ่งจบ ฯลฯ เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนที่ฝึกประเมินสิ่งต่างๆ จนเป็นนิสัย จะเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้มาก การประเมินกิจกรรมที่ได้กระทำร่วมกัน คือ AAR เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดีที่สุด

 

หนังสือทั้ง 2 เล่มที่ผู้เขียนใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ดังกล่าวนี้ คุณหมอฉายศรี ได้ซื้อไว้เพื่อให้ใช้เรียนรู้ร่วมกันภายในสำนักฯ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมีชื่อเรื่องละ 3 เล่ม ส่วน 2 เล่มที่อยู่ข้างกายของผู้เขียนนี้ เป็นของส่วนตัวที่ได้รับมอบมาจากกัลยาณมิตร ซึ่งต้องขอขอบคุณอย่างมากๆ มา ณโอกาสนี้อีกครั้ง เพราะ 2 เล่มนี้ผู้เขียนใช้คุ้มจริงๆ อ่านบ่อยมาก อ่านทีไรก็ได้คำตอบสำหรับคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานทุกครั้ง

 

นอกจากนี้แล้วผู้เขียนได้อ่านเพิ่มเติมจากเอกสารเรื่อง การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ในการถอดบทเรียน ด้วยเครื่องมือการวิเคราะห์หลังการปฏิบัติ (After Action Review)” ของ รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ AAR ที่อยากรวบรวมบันทึกไว้ ดังนี้

 

·        AAR เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการถอดบทเรียนท่ามกลางเครื่องมือที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

·        AAR เป็นเครื่องมือที่เชื่อในแนวคิดตีเหล็กที่กำลังร้อน...โดยมุ่งเรื่องการเรียนรู้ที่ทันเวลา

·        AAR จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการวิเคราะห์ อ่านสภาพการณ์ ปรับแนวทางการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลา

·        AAR สร้างวัฒนธรรมการใช้ความรู้ในการปฏิบัติและกำกับการทำงานดังที่เรียกว่า “Actionable Knowledge” รวมทั้งมุ่งสร้างแรงผลักดันที่จะเรียนรู้ในการปฏิบัติงาน (drive to learn) ให้เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมของบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กร

·        การถอดบทเรียนโดยเครื่องมือ AAR หรือเครื่องมืออื่นใดมิได้จบลงที่เอกสารสรุปหรือรายงานเท่านั้น แต่จะต้องนำไปสู่ปฏิบัติการครั้งต่อไปที่ออกแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าครั้งก่อนหน้า

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "การถอดบทเรียน" นั้น ผู้เขียนศึกษาจากเอกสารเรื่อง "นานาวิธีวิทยาการถอดบทเรียนและสังเคราะห์องค์ความรู้" ของ รศ.ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เทคนิค/วิธีการที่ใช้ในการถอดบทเรียนนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย ได้แก่ การเรียนรู้จากเพื่อน (Peer Assist - PA ) การเรียนรู้หลังปฏิบัติการ (After Action Review-AAR) การเรียนรู้หลังการดำเนินงาน (Retrospect) การเรียนรู้จากบทเรียนที่ดีหรือวิธีปฏิบัติที่ดี (good/Better/Best Practice) รวมถึง "แผนที่ผลลัพธ์" (Outcome Mapping) ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการถอดบทเรียนได้

สิ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญคือ ในการถอดบทเรียนแต่ละครั้งนั้น ควรเลือกเทคนิควิธีการให้เหมาะสม แต่ไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการใด จุดร่วมของการถอดบทเรียนการเรียนรู้ที่สำคัญ คือ

  • ความเรียบง่าย
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสม
  • การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี สร้างความรู้สึกในเชิงบวก
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือ เลือกคนที่ถูกต้องเหมาะสม หาผู้ที่รู้ดีที่สุดมาแบ่งปันความรู้กับเครือข่าย
  • การสร้างองค์ความรู้จากบทเรียนที่ดี (Best Practice)
  • นำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสร้างสรรค์ในอนาคต

หลังเสร็จจากการทำ AAR ร่วมกับทีมผู้จัด OM Workshop เมื่อวันที่ 30 เมย. แล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยนอกรอบกับ พี่กัณหา ซึ่งได้ปรารภว่า กระบวนการ KM เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานภายในสำนักฯนั้น ในระยะแรกๆ น่าจะเลือกเครื่องมือที่ใช้ง่ายๆ มาทดลองใช้ให้เนียนไปกับการทำงานประจำซัก 1 เครื่องมือก็น่าจะพอแล้ว และเครื่องมือที่ พี่กัณหา สนใจก็คือ AAR ซึ่งตรงกับความคิดของผู้เขียนที่เคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่

 

ถึงตอนนี้แล้วสรุปว่า เฉพาะกิจกรรม OM Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมเริ่มต้นของ โครงการ KM-NCD Network” เราก็ได้มีการทำ AAR กันไปแล้วถึง 4 ครั้ง

 

โดย 2 ครั้งแรก เป็นการ AAR ร่วมกันระหว่าง ทีมวิทยากร กับผู้เขียนในฐานะตัวแทนของ ทีมผู้จัดงาน ประมาณ 1 ชั่วโมงตอนเย็นหลังเสร็จสิ้นการประชุมใน 2 วันแรก เพื่อร่วมกันทบทวนกิจกรรมและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันว่ามีสิ่งใดที่ทำได้ดี และสิ่งใดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น การทำ AAR ทั้ง 2 ครั้งนี้ มีผลอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายของการจัด workshop เพราะทั้ง ทีมวิทยากร และ ทีมผู้จัดงาน ได้มีโอกาสทบทวน ทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเรียนรู้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับรูปแบบ เทคนิค วิธีการต่างๆ ที่จะใช้ในวันต่อไปให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

 

ครั้งที่ 3 เป็นการทำ AAR ของ ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ ใน workshop ซึ่งนอกจากทำให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเขียนแผน OM เพื่อลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชนร่วมกัน ด้วยมุมมองที่แตกต่างหลากหลายแล้ว เมื่อนำผลของ AAR ไปเปรียบเทียบกับที่ทุกคนได้ทำ BAR ไว้ตั้งแต่วันแรกของ ws ก็ทำให้สามารถประเมินได้ว่ากระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่เกิดขึ้นนั้นบรรลุความคาดหวังของผู้เข้าร่วม ws หรือไม่ อย่างไร ซึ่งผู้เขียนเคยบันทึกไว้แล้ว ที่นี่

 

ส่วน AAR ครั้งที่ 4 เป็น AAR ร่วมกันเฉพาะ ทีมผู้จัดงาน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากกิจกรรมทั้งหมดที่ได้ทำไปแล้ว เพื่อที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมที่จะทำในขั้นตอนต่อไปตามแผนงานของโครงการฯให้ดียิ่งขึ้น

 

ปลาทูแม่กลอง

2 พฤษภาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 258918เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2009 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาชม

มีสาระน่าสนใจนะครับ

ขอบคุณสำหรับเนื้อหาดี ๆ กำลังต้องการศึกษาพอดี

แวะมาให้กำลังใจ

สวัสดีค่ะ KJ SPS

***ขอบคุณค่ะสำหรับเนื้อหาดี ๆ กำลังเก็บข้อมูลดีๆ ไว้ศึกษาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท