ศูนย์เรียนรู้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตำบลไพรนกยูง


การเดินทางบนถนนเข้าหมู่บ้านและออกไปสู่กลางทุ่ง โดยการนำของพี่สมบูรณ์  เมฆอินทร์  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลไพรนกยูง  ซึ่งมีนายรังสรรค์  กองเงิน  เกษตรจังหวัดชัยนาท เดินทางร่วมด้วย จึงเกิดคำถามว่าข้างหน้าจะมีอะไรดีๆ ให้ดูหรือนี่  เพราะพื้นฐานความรู้ของผู้เขียนในสภาพพื้นที่ของตำบลไพรนกยูงมากเหมือนกัน  แต่เมื่อรถเข้าใกล้ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วว่า นั่นคือ ไร่นาสวนผสม ตามแนวทฤษฏี เมื่อลงไปดูแล้วจึงเชื่อว่าเป็นฟาร์มตัวอย่างน่าเรียนรู้อยู่ท่ามกลางทุ่งที่แห้งแล้ง  

คุณสายรุ้ง  ฤทธิ์ทัพ วิทยากรเกษตรกรวัย 39 ปี บ้านเลขที่   53 .3 ต. ไพรนกยูง   อ.หันคา   จ.ชัยนาท เป็นอีกผู้หนึ่งที่เจริญตามรอยเท้าของพ่อในการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวให้ฟังว่า เมื่อปี 2542 บริษัทที่เคยทำงาน พบปัญหาจึงลาออก พาครอบครัวมาอยู่ที่ ต.ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท ซึ่งช่วงปี 2535-2542 ระหว่างนั้น พบว่าชุมชนบ้านหนองหอย  มีสภาพทุรกันดารการประกอบอาชีพการเกษตร เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติจากสภาพฝนแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านยึดอาชีพเผาถ่าน และรับจ้างมีปัญหาเรื่องความยากจน, หนี้สิน, ยาเสพติด, การพนัน, และปัญหาสุขภาพเจ็บไข้ได้ป่วยจากการประกอบอาชีพ ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง ที่ดินในชุมชนถูกนายทุนกวาดซื้อไปถึง 80 % ของพื้นที่   กลายเป็นผู้เช่าที่จากนายทุนเป็นหลัก   ทรัพยากรในธรรมชาติถูกทำลายเกือบไม่เหลือซาก มองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขาหัวโล้นเป็นส่วนมาก

จากปัญหาดังกล่าว  ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ทรัพยากรก็เสื่อมโทรม  เพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหา จึงร่วมกับเพื่อนบ้านจัดเวทีชุมชน พบปัญหาต่างๆ และแนวทางแก้ปัญหา  ดังนี้

1.       ขาดน้ำในการเกษตร แก้ไขโดยระบบทฤษฎีใหม่

2.       ขาดพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสม ใช้วิธี  คัดพันธุ์ข้าวเอง

3.       ดินมีความเสื่อมโทรมมาก ใช้ระบบอินทรีย์หญ้าแฝกเข้ามาช่วย

4.       อากาศร้อนอบอ้าวเพราะป่าถูกทำลายมาก ใช้ระบบธรรมชาติบำบัดมาช่วยและช่วยลดสภาวะโลกร้อนไปในตัว

5.       ห่างไกลตลาดประมาณ 20 กิโลเมตร ไกลจากแหล่งรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

6.       อยู่ในด้านลมพายุฤดูร้อนและมรสุมต่างๆ ใช้ต้นไม้เป็นกันชน

7.       การคมนาคมไม่สะดวก คนและคณะที่จะเข้ามาต้องตั้งใจมาจริงๆ

8.       ภัยธรรมชาติน้ำท่วมไหลบ่าพัดพาหน้าดิน  พืชผลเสียหายต้องปลูกไม้ยืนต้น

9.       ราคาพืชผลไม่แน่นอนแก้ไขโดยการลดต้นทุนโดยใช้ปัจจัยต่างๆ ที่ทีอยู่ในพื้นที่และภูมิปัญญาพื้นบ้าน

จากปัญหาและแนวทางดังกล่าว ข้อตกลงคือ การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อหวังพลิกฟื้นคืนความสมดุลของสภาพแวดล้อม และความเข้มแข็งของชุมชน

จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงชีวิต

จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน จึงได้ทราบถึงแนวคิดดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากการรับฟัง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงและการปลูกป่า และพระเสาวนีย์เรื่อง พ่ออยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่าคอยรักษ์น้ำ  จึงเกิดแนวคิดและแนวทาง ในการทำงานเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือนและชุมชน โดยใช้แนวคิดของพระองค์ท่านทั้ง 5 ด้าน ซึ่งรวมกันเป็นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือหลักการพอประมาณ, หลักความมีเหตุผล, เงื่อนไขคุณธรรม, เงื่อนไขความรู้, หลักการมีภูมิคุ้มกันในตัว 

 

 เปลี่ยนชีวิตตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่าง

ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ในครัวเรือนทำแปลงทฤษฏีใหม่ จำนวน 12 ไร่ ประกอบไปด้วยนาข้าว 7 ไร่ แหล่งน้ำ 3 ไร่ และแปลงปลูกป่า, สวน, หญ้าเลี้ยงสัตว์ 5 ไร่

                การลงทุนในฟาร์ม  ทุนที่เป็นเงินไม่มี  ส่วนใหญ่ใช้แรงงานตนเองและคนในครอบครัวปัจจัยส่วนใหญ่ใช้ในชุมชนประยุกต์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน  เช่นน้ำหมักชีวภาพ  ฮอร์โมน  นำสมุนไพรไล่แมลง เช่น สะเดา, สาบเสือ, กลอย, หนอนตายยาก เป็นต้น

   ตัวอย่าง

ฮอร์โมนบำรุง              เปลือกไข่, ไข่, นมวัว, หอยเชอรี่, ปลา,  และกากน้ำตาล  นำมาหมัก  รวมกัน

ปุ๋ย                                   มูลสัตว์, ใบไม้, รำ, น้ำหมัก ใช้แทนปุ๋ยเคมี

การประยุกต์ใช้ดังกล่าว พบว่า รายจ่ายซึ่งเป็นต้นทุนในการทำนาต่ำกว่า 1,000 บาท/ไร่ สามารถแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาขาดแคลนอาหาร และปัญหาด้านสุขภาพ  รวมทั้งลดปัญหาความแห้งแล้งได้ในที่สุด

                  ในปี พ.ศ. 2545 จึงได้เข้ามาปรับปรุงที่ดินของมารดา ซึ่งบิดาซื้อไว้จากการที่สถาบันการเงินยึดจากเจ้าของที่ดินเดิม (ธกส.) 27 ไร่ 3 งาน โดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ และระบบทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วยขุดแหล่งน้ำด้วยทุนตนเองเป็นแหล่งน้ำ 8 ไร่ ในช่วงสภาวะแล้งสุดก็ยังมีน้ำใช้สำหรับเลี้ยงโคนม 10 ตัว ทำนาข้าวเริ่มจาก 3 ไร่ ได้ 27,000 บาท เป้าหมายขยายให้ได้ 25 ไร่ ปัจจุบันขยายได้แล้ว 17 ไร่ และแบ่งแปลงเป็นการทำนาหมุนเวียนเพื่อจัดการน้ำอย่างเพียงพอตลอดทั้งปีและมีรายได้ทั้งปี ปัจจุบันมีรายได้จากกิจกรรมต่างๆ เช่น โคนม, นาข้าว, ผักสวนครัว, บ่อปลา จนมีรายได้เพียงพอเป็นค่าเล่าเรียนของตนเองจนจบปริญญาตรี ครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงและอยู่ดีมีสุข ปัจจุบันมีรายได้ 12,000 บาท/เดือน และมีแนวคิดสร้างรายได้ถึงเดือนละ 25,000 บาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า  โดยทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ 5 ไร่ ให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี สระน้ำพื้นที่ 8 ไร่  เลี่ยงปลานิล ปลาทับทิม  ปลาสวาย ปลาบึก  ปลาจีน ปลายี่สก ปลาแรด ปลายกราย และปลาน้ำจืด ทุกชนิด  อีกทั้งฟางข้าว และหญ้าสดมีเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี  วัวอ้วนสมบูรณ์และให้น้ำนมสูงมาก

ความสำเร็จที่ภูมิใจในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

จากการสอบถาม ความสดใสและความสุขสังเกตได้จากแววตาและสีหน้า  พร้อมคำกล่าวที่ออกมาอย่างสดใสว่า  หลังจากหันมาดำเนินชีวิตตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นคนชอบเที่ยวกลางคืน เล่นพนัน และดื่มสุรา ทำให้ครอบครัวอ่อนแอ ลูกไม่มีนมกิน อาหารไม่มีกิน ข้าวไม่มีกิน ไม่ค่อยสนใจครอบครัว พอเริ่มปรับชีวิตเข้ารูปแบบอบายมุขต่างๆ ก็เลิกไป และการดื่มสุราก็ลดลง เหลือเพียงเพื่อสังคมเล็กน้อย สินค้าฟุ่มเฟือย เสื้อผ้า ของหรูหรา และสิ่งไม่จำเป็น เช่น การจัดงานฉลองที่ไม่จำเป็น เช่น วันเกิด เปลี่ยนไปเป็นการทำบุญและทำอาหารกินกันในครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนก็เข้ามาทำกิจกรรมกันอย่างมีความสุขและมีรายได้พอเลี้ยงตนเองได้ สรุปได้ดังนี้

ก่อนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

หลังจากใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

1.  ต้นทุนการผลิตสูง เน้นการลงทุนโดยการทั้งทุนภายนอกระบบและในระบบ

2.  คิดด้านการลงทุนมุ่งกำไรอย่างเดียว พลาดมา ผิดหวัง และมีหนี้สินมาก

3.  มีความโลภครอบงำ เล่นแชร์หลายมือ เปียร์จนดอกท่วมตัวก็เคย

4.  ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ปริมาณมาก ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่รู้ขั้นตอน

5.  ครอบครัวขาดความอบอุ่นเพราะมุ่งหาเงิน ไม่มีความมั่นคงในชีวิต

สุขภาพไม่ดี เที่ยวดื่มสุราจนสุขภาพทรุดโทรม คนรอบข้างไม่เชื่อถือ

1. ลดต้นทุนด้วยการใช้ปัจจัยในพื้นที่และภูมิปัญญาชาวบ้าน และทำการเกษตรตามแนวทฤษฏีใหม่ มีเงินสัจจะออมทรัพย์เดือนละ 1,000 บาท

2. นำหลักธรรมะมาใช้  แทนวัตถุและเทคโนโลยีที่ฟุ่มเฟือย ละกิเลสตัณหา เปลี่ยนมาเป็นวิทยากร ครูภูมิปัญญา และได้รับวางใจได้เป็นประธานคณะทำงานหลายตำแหน่ง

3.  รู้จักหลักมีเหตุผลในการทำกิจกรรม จัดทำกิจกรรมร่วมกันในครัวเรือนให้สมกับวัย  สร้างความมั่นคง มีแนวทางวางอนาคตให้ลูกหลานได้ พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดี

จากการได้พูดคุยและรับฟังเรื่องราวต่างของคุณ คุณสายรุ้ง  ฤทธิ์ทัพ ทำให้ตระหนักถึงความเป็นไปในชุมชน และการสร้างศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้ง ขอชมคุณพี่สมบูรณ์   เมฆอินทร์ ที่ได้คัดเลือกวิทยากรเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้เส้นทางจะยากเย็นเพียงใด ก็คงไม่เป็นอุปสรรคเหนือความตั้งใจของผู้ที่จะเข้าไปเรียนรู้และแสวงหาความสุขจากการเข้าชมธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชนที่ดิ้นรนต่อสู้ เพื่อความหลุดพ้นจากวงจรของความยากจน

 

หมายเลขบันทึก: 258737เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

***เห็นตารางผลสำเร็จแล้วภูมิใจแทน เป็นกำลังใจให้นะคะ

เยี่ยมมากค่ะ ว่าง ๆ ต้องขอไปเยี่ยมชมค่ะ

ขอบคุณ คุณ กิติยา และคุณ nana มากครับที่แวะมาให้กำลังใจกัน

ถ้าเป็นฤดูฝนก็อุมสมบุรณ์ดีครับ(ถ้าฝนไม่ทิ้งช่วง) แต่หน้าแล้งแห้งจนน่าใจหาย

มองไปทางใดใจห่อเหี่ยว แท่ฟาร์มของเขา จะมีความเขียวสดใสบ้างครับ

ยินดี ด้วยค่ะที่มีเกษตรกร ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่าง ในพื้นที่ ต่อไป คงจะมีรายอื่นๆ ทำตาม มากขึ้น

  • คุณชัดชัยนาท เขียนได้ชัดเจนมากค่ะ
  • คุณสายรุ้ง  ฤทธิ์ทัพ  เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่น่าชื่นชมมากค่ะ

ขออนุญาต นำข้อมูลมาเสริม ไม่ทราบว่าได้หรือไม่

สวัสดีปีใหม่ครับทุกๆ ท่าน

ยินดีรับข้อมูลเพอ่มเติมครับ พี่สายรุ้ง ฤทธิ์ทัพ ที่จะส่งมาเพิ่มเติม

กำลังรอครับ

สวัสดีค่ะ อยากทราบว่าถ้าต้องการจะเข้าไปขอศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่สวน ของคุณน้า สายรุ้ง จะได้ไหมค่ะ มันเป็นโครงการที่อาจารย์ให้ทำ พอดีเจอที่นี้น่าสนใจมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท