โครงการเตรียมคลอด


childbirth preparation

โครงการ "เตรียมสู้สู่การเป็นแม่" เฉลิมพระเกียรติ มหามงคล

เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ปีพ.ศ.2550

1.      หลักการและเหตุผล

          การคลอดแม้เป็นกระบวนการทางด้านสรีรวิทยาตามธรรมชาติ แต่การที่หญิงตั้งครรภ์มีความเจ็บปวดในระยะคลอดบุตรก่อให้เกิดความไม่สุขสบายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อยู่ในภาวะเครียด มีความวิตกกังวลและกลัว ประกอบกับการมาอยู่ในโรงพยาบาลอันเป็นสถานที่และสิ่งแวดล้อมใหม่ รวมทั้งยังถูกจำกัดการติดต่อกับสมาชิกในครอบครัว และที่สำคัญคือหญิงตั้งครรภ์ได้รับความเจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์ การได้ยินเสียงร้องจากหญิงตั้งครรภ์คนอื่น ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่สุขสบาย ความเครียด และความกลัวแก่หญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

          การส่งเสริมมาตรฐานการดูแลสุขภาพมารดาและทารกให้ดีขึ้น สามารถทำได้โดยการเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอด (Childbirth preparation) โดยเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมการคลอดซึ่งนิโคล (Nichols, 2000) กล่าวว่าเป็นการเตรียมผู้ที่จะเป็นบิดามารดาให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสรีรร่างกายและอารมณ์ในระยะตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด ฝึกทักษะการเผชิญความเจ็บปวดและวิธีการสนับสนุนช่วยเหลือในระยะคลอด มีส่วนร่วมและสามารถตัดสินใจในการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารก เป้าหมายของการเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอด คือ การให้ผู้รับบริการมีทัศนคติที่ดีต่อการคลอด ลดความกลัว ความวิตกกังวล และความเจ็บปวดในระยะคลอด มีความสามารถในการคลอดตามธรรมชาติ ให้สามีหรือผู้ใกล้ชิดมีส่วนร่วม โดยทราบวิธีสนับสนุนช่วยเหลือในระยะคลอด เพื่อนำไปสู่การคลอดที่มีคุณภาพ เกิดประสบการณ์การคลอดที่ดี ตลอดจนส่งเสริมความสามารถของสามีและภรรยาในการดูแลหลังคลอด

         โดยทั่วไปผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอด คือ พยาบาลโดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับการคลอด สนับสนุน สอนแนะนำความรู้แก่ผู้จะเป็นบิดามารดาเพื่อให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม และสามารถเผชิญความเครียดต่าง ๆจากการคลอดดังนั้นบทบาทของพยาบาล ควรช่วยลดความวิตกกังวล ความกลัว และความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดบุตร โดยการเตรียมหญิงมีครรภ์ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ในปัจจุบันที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี คือการสอนหรือให้คำแนะนำ แต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่สอนส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การพักผ่อน และอื่น ๆแต่ไม่ได้จัดเตรียมหญิงมีครรภ์เพื่อการคลอดกันอย่างจริงจัง แต่อย่างใดซึ่งการที่หญิงมีครรภ์มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการตั้งครรภ์และการคลอดอาจจะช่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลต่อการคลอดได้ในระดับหนึ่ง แต่การให้ความรู้เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการฝึกทักษะที่จำเป็นในการเผชิญกับความเจ็บครรภ์ได้แก่การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การลูบหน้าท้อง การเพ่งจุดสนใจและเทคนิคการหายใจในระยะต่างๆของการคลอด จึงน่าจะเป็นวิธีทำให้ความเครียดลดลงมีผลให้การทนต่อความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น ผลของโครงการนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ได้หลักสูตรเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อเผชิญกับภาวะเจ็บครรภ์และการคลอด ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งในการส่งเสริมการดูแลตนเองตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและนำไปใช้ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในระยะคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.      วัตถุประสงค์ของโครงการ

            เพื่อเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอดให้มีความพร้อมสามารถเผชิญต่อความเจ็บปวดในระยะคลอดได้ดี

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ

            แผนกฝากครรภ์ งานผู้ป่วยนอก กลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลบ้านหมี่

4. กลุ่มเป้าหมาย

            หญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ อายุครรภ์ 32 -33 สัปดาห์เมื่อเริ่มเข้าร่วมโครงการที่มา     ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ระหว่างเดือน มิถุนายน 2550 - สิงหาคม 2550 จำนวน 60 คน ตามคุณสมบัติที่กำหนดดังนี้

        1. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 32 -33 สัปดาห์เมื่อเริ่มเข้าร่วมโครงการ

        2. ตั้งครรภ์ปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

        3. ทารกอยู่ในท่าศีรษะเป็นส่วนนำ

        4. สถานภาพสมรสคู่

        5. การศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นประถมปีที่ 4

        6. ยินดีเข้าร่วมโครงการและให้ความร่วมมือเข้ากลุ่มเพื่อการเตรียมสู้สู่การเป็นแม่ 5 ครั้ง

5. สถานที่ดำเนินการ

         แผนกฝากครรภ์ งานผู้ป่วยนอก กลุ่มการพยาบาล

6. ระยะเวลาดำเนินการ

        ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 - สิงหาคม 2550

7. วิธีดำเนินโครงการ

ขั้นเตรียมการ

1. ขออนุมัติโครงการตามขั้นตอน

2. ประชาสัมพันธ์ โครงการ โดยจัดบอร์ด ออกเสียงตามสายในหน่วยงาน และวิทยุกระจายเสียง 

คลื่นชุมชนให้หญิงตั้งครรภ์เข้าร่วมโครงการ

3. เตรียมเครื่องมือ ประกอบด้วย

3.1 แผนการสอนที่ใช้กับหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอดจัดทำขึ้นโดยศึกษา รวบรวมเนื้อหาจาก

ตำราและเอกสารต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง และคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการสอนกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาทำการศึกษา ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการคลอด กระบวนการคลอด สาเหตุของความเจ็บปวดในระยะคลอด อาการนำเข้าสู่ระยะคลอด และเทคนิคการควบคุมความเจ็บปวด ได้แก่ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การเพ่งจุดสนใจ การลูบหน้าท้องและเทคนิคการหายใจในระยะต่าง ๆของการคลอด

3.2 คู่มือการเตรียมตัวเพื่อการคลอด จัดทำโดยศึกษา รวบรวมเนื้อหาจากตำราและเอกสารต่าง ๆ

ที่เกี่ยวข้อง และคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการสอน

ขั้นดำเนินการ

1. รับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการที่มีคุณสมบัติที่กำหนด อายุครรภ์ 32 -33 สัปดาห์เมื่อเริ่มเข้า

ร่วมโครงการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในวัน จันทร์ อังคาร และพฤหัส ระหว่างเวลา 08.30 - 12.00 น.ระหว่างเดือน มิถุนายน 2550 - สิงหาคม 2550 จำนวน 60 คน ได้รับการเตรียมตัวเพื่อการคลอด ครั้งละ  4-7 คน

ตามคุณสมบัติที่กำหนดดังนี้ 1) ตั้งครรภ์ปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ 2) ทารกอยู่ในท่า

ศีรษะเป็นส่วนนำ 3) สถานภาพสมรสคู่ 4) การศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นประถมปีที่ 4 และ 5) ยินดีเข้าร่วมโครงการให้ความร่วมมือเข้ากลุ่มเพื่อการเตรียมสู้สู่การเป็นแม่ ครบ 5 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 เมื่ออายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ เนื้อหาที่สอนประกอบด้วย ความสำคัญและประโยชน์ของ

การเตรียมเพื่อการคลอด การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ความไม่สุขสบายต่าง ๆ และวิธีแก้ไขอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นการอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง การบริหารร่างกาย และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่างๆของร่างกายตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงศีรษะ

ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครรภ์ 34 - 35 สัปดาห์ เนื้อหาที่สอนประกอบด้วย กระบวนการคลอดสาเหตุของ

การเจ็บคลอด เทคนิคการหายใจแบบช้า การลูบหน้าท้อง การเพ่งจุดสนใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นกลุ่ม โดยแบ่งเป็นกล้ามเนื้อแขนขวา ขาขวา  แขนซ้าย และขาซ้าย และทบทวนเทคนิคการบริหารร่างกาย และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่าง ๆของร่างกาย

ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ เนื้อหาที่สอนประกอบด้วยการใช้ยา และสูติศาสตร์หัตถการ 

ต่าง ๆในระยะคลอด เทคนิคการหายใจแบบตื้น เร็วและเบา และทบทวนเทคนิคการบริหารร่างกาย การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การลูบหน้าท้อง การเพ่งจุดสนใจและการหายใจแบบช้า

ครั้งที่ 4 เมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เนื้อหาที่สอนประกอบด้วย การเตรียมตัวมาโรงพยาบาลเพื่อ

การคลอด เทคนิคการหายใจแบบตื้น เร็ว เบา และเป่าออก และการหายใจเพื่อเบ่งคลอด และทบทวนเทคนิคการบริหารร่างกาย การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การลูบหน้าท้อง การเพ่งจุดสนใจ และเทคนิคการหายใจแบบช้า แบบตื้น เร็ว และเบา

ครั้งที่ 5 เมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ทบทวนเนื้อหาในการสอนในครั้งที่ 1 ถึง ครั้งที่ 4 และทบทวน

เทคนิคการบริหารร่างกาย การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การหายใจ การลูบหน้าท้อง การเพ่งจุดสนใจ และการพาไปเยี่ยมชมห้องคลอด

                สอนหญิงมีครรภ์ตามขั้นตอนที่ 1 ถึง 5 จน ครบ 60 คน และมีการประเมินผลการสอนทุกครั้งเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาแผนการสอน

ขั้นประเมินผล

1. ประเมินผลการสอนเกี่ยวกับความพร้อมของการเตรียมตัวเพื่อการคลอด

2. หญิงตั้งครรภ์ที่ผ่านการอบรมมีประสบการณ์การคลอดที่ดีมีความพร้อมเพื่อการคลอดสามารถ

เผชิญเผชิญต่อความเจ็บปวดในระยะคลอดได้ดีสามารถลดอุบัติการณ์ การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาในการพักฟื้นในระยะหลังคลอดลดลง

8. งบประมาณ

เงินบำรุงโรงพยาบาล จำนวน 5,200 บาท (ห้าพันสองร้อยบาทถ้วน)

1.1 หมวดค่าใช้จ่าย

1.1.1 ค่าอาหารว่าง ผู้เข้ารับการอบรม

10 บาท/คน/มื้อ (10 บาท X 60 คน X 5 มื้อ)           จำนวนเงิน 3,000 บาท

1.2 หมวดค่าวัสดุ

1.2.1 ค่าเอกสารประกอบการอบรม (คู่มือการเตรียมตัวเพื่อการคลอด)

60 คน X 20 บาท                                               จำนวนเงิน 1,200 บาท

1.2.2 วัสดุ-อุปกรณ์ จำนวนเงิน 1,000 บาท

รวมค่าใช้จ่ายถัวจ่ายได้ทุกรายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 5,200 บาท (ห้าพันสองร้อยบาทถ้วน)

9. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

9.1 ผู้คลอดที่ได้รับการเตรียมความพร้อมระยะตั้งครรภ์จะส่งผลให้ผู้คลอดมีความเข้าใจต่อกระบวนการคลอดตามธรรมชาติ มีการรับรู้ที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ระยะคลอด อันจะนำไปสู่การเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอดได้เป็นอย่างดี

9.2 การเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอดผู้คลอดสามารถเผชิญเผชิญต่อความเจ็บปวดในระยะคลอดได้ดีสามารถลดอุบัติการณ์ การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาในการพักฟื้นในระยะหลังคลอดลดลง

9.3 การเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอดผู้คลอดมีความพึงพอใจต่อการคลอดเพิ่มขึ้นตลอดจนเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้คลอด สามี ญาติ และเจ้าหน้าที่

9.4 ได้หลักสูตรเตรียมหญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอดและเกิดการพัฒนาความรู้ ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้และคุณภาพบริการให้สูงขึ้น

 

            ผู้จัดทำโครงการ                                                                     ผู้เสนอโครงการ

 

     (นางสาวอัจฉรา บุญหนุน)                                                           (นางจันทิมา  สืบสาย)

             พยาบาลวิชาชีพ 7                                                               หัวหน้างานผู้ป่วยนอก

 

         ผู้เสนอโครงการ                                                                       ผู้เห็นชอบโครงการ

                                                                       

                                                                                               

          (นางกุลวยา อุไรพันธุ์)                                                          (นายชาญ ตันติวราภรณ์)

         หัวหน้าพยาบาล                                                           นายแพทย์ 9   ด้านเวชกรรมป้องกัน

                                                                 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านหมี่

                                                                                                           

                                                                                                    ผู้อนุมัติโครงการ

                                                                                                           

                                                                                                (นางประนอม คำเที่ยง)

                                                                                        นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี

 

หมายเลขบันทึก: 258433เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท