โครงการลดต้นทุนการผลิตข้าว
โครงการส่งเสริมและขยายผลการลดต้นทุนการผลิตข้าว สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เยือนเมืองมะม่วง เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ "แปดริ้ว"


วิธีกำจัดเพลี้ยกระโดดโดยการใช้ปลาดุกปล่อยลงในแปลงนา

 

ประเดิมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "โครงการลดต้นทุนการผลิตข้าว" ที่แปดริ้ว

เช้าวันที่ 28 เมษายน 52 วันนี้ดิฉันและทีมงานส่วนกลาง (คุณพิชฎา คุณวิศรุต และดิฉันเสาวรสค่ะ) มีนัดกันเวลา 07.30 น. จุดหมายปลายทางที่เมืองแปดริ้ว  เพื่อไปร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเขาจัดเป็นเวทีที่ 2 แล้ว วันนี้เป็นเวทีหลักวิชาการ ตามไปแปดริ้วด้วยกันเลยค่ะ

 ถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 9 โมง ไม่ใช่รถติดนะคะ แต่ไม่ชำนาญทางก็เลยหลงเล็กน้อยค่ะ   สถานที่จัดเวทีเป็นบ้านเกษตรกรต้นแบบ คือ บ้านอาจารย์สมควร อยู่ที่ ต.ศาลาแดง อ.บางน้ำเปรี้ยว บรรยากาศร่มรื่นดีทีเดียวค่ะ บ้านของอาจารย์เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดด้วย มีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดและจากอำเภอ มาร่วมจัดเวที รวมกันประมาณ 10 ท่าน 

 

            

การจัดเวทีของจังหวัดฉะเชิงเทรา เขาจะแบ่งเป็นกลุ่มค่ะ คือครู 9 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จัดหมุนเวียนกันไปคนละตำบล อย่างวันนี้ก็มีครูเกษตรกรต้นแบบ 4 ท่าน (จาก 4 ตำบล) และเกษตรกรขยายผลอีก 40 ท่าน เกษตรกรของ 4 ตำบลได้มีโอกาสมาร่วมจัดเวทีด้วยกัน ข้อดีคือ ทำให้เวทีใหญ่ขึ้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ก็ไม่เหนื่อยด้วย จังหวัดไหนที่ยังไม่ได้จัดจะนำไปทำบ้างก็ได้นะคะ

เริ่มเปิดเวทีกันประมาณเก้าโมงครึ่ง โดยทีมงานของจังหวัด ชี้แจงถึงเนื้อหาของเวทีหลักวิชาการ การลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเด็นคือ การเตรียมดิน คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ย และการบริหาศัตรูพืช เกษตรกรทุกคนตั้งใจฟังกันเป็นอย่างดี เป้าหมายอยู่ที่ลดต้นทุนการผลิตได้ 20% และเพิ่มผลผลิตข้าวได้ 5%

      

หลังจากได้เรียนรู้หลักการลดต้นทุนการผลิตข้าวแล้ว ต่อมาก็เป็นการแบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การลดต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม ว่าปัจจุบันปฏิบัติกันอย่างไรบ้าง โดยให้แต่ละกลุ่ม เขียนถึงกระบวนการปลูกข้าวตามหลักวิชาการ 4 ประเด็นที่ได้เรียนรู้ไปว่า เกษตรกรทำอย่างไร เสร็จแล้วก็ให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มมานำเสนอค่ะ จากการนำเสนอทำให้ดิฉันรู้เลยว่าเกษตรกรที่นี่เก่งมากๆ เพราะเขามีวิธีลดต้นทุนการผลิตข้าวกันหลากหลาย จนนักวิชาการอย่างดิฉันต้องขอเก็บเกร็ดเคร็ดลับกลับมาบอกต่อกับทุกๆคนด้วย  เช่น เกษตรกรที่นี่เขาจะไม่เผาตอซัง เขาจะใช้วิธีหมักฟาง และสลายฟางด้วยน้ำหมักชีวภาพ ใช้เมล็ดพันธุ์ดีและมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็ดเข้าไปเลี้ยงในนา เพื่อให้กินข้าวเปลือกที่ตกอยู่ในนาช่วยกำจัดข้าวดีด ข้าวเด้ง และยังได้ปุ๋ยจากมูลเป็ดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีกำจัดเพลี้ยกระโดดโดยการใช้ปลาดุกปล่อยลงในแปลงนา เกษตรกรบอกว่าปลาดุกจะไปกินเพลี้ยกระโดดที่เกาะตามต้นข้าว รวมทั้งหนอนต่างๆที่ตกลงไปในน้ำ และได้ปลาดุกไว้ย่างหอมๆตอนเกี่ยวข้าวด้วย แหมครบวงครจริงๆค่ะ เห็นด้วยมั๊ยคะ

เราปิดเวทีกันตอนเที่ยงเศษๆค่ะ หลังจากนั้นก็เติมกำลังกองทัพและแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำนากัน    แล้วก็พักผ่อนย่อยอาหารสักครู่ ช่วงบ่ายเป็นการสาธิตการปั้นเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ โดยอาจารย์สมควร เป็นการปั้นเม็ดโดยใช้จานปั้นเม็ด เกษตรกรให้ความสนใจชมการสาธิต และสนใจซักถามรายละเอียดต่างๆ กันเป็นอย่างดี มีสูตรปุ๋ยเป็นของแถมด้วยนะคะ ใจดีมากๆ หลังจากชมการสาธิตเสร็จทางทีมงานของเราก็ลาชาวแปดริ้วและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

สำหรับจังหวัดไหนยังไม่ได้จัด ก็เริ่มๆได้แล้วนะคะ และถ้าอยากให้ทางส่วนกลางไปร่วมในเวทีด้วยก็ยินดีอย่างยิ่งค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 258424เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • หวัดดีครับ
  • เชิญมาแลกเปลี่ยนกันทางใต้ฯบ้างครับ
  • ฝากความคิดถึง ทีมงาน อีก 2 ท่าน ด้วย

แวะมาดูโครงการดีๆค่ะ

อยากกินมะม่วงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท