ลุ่มน้ำแม่สอย ช่วงที่ 3


การลงมือทำหลังจากการตื่นตัวของชาวบ้าน

 

      การมีชีวิตอยู่ด้วยความสำนึกในบุญคุณและไม่ทำลายสิ่งที่ให้คุณกับชีวิต คือชีวิตของชาวพุทธ       ฉะนั้นกฎหมายและศีลธรรมจะต้องทำหน้าที่ร่วมกันในการรักษากฎของธรรมชาติ   นั่นคือ    การรักษาป่า คือ  "การรักษาธรรมของผืนแผ่นดิน รักษากฎของธรรมชาติ"  

      หนูมานีพาไปต่อเรื่องชาวบ้านที่ร่วมพลังพร้อมใจจะพลิกฟื้นป่าต้นน้ำแม่สอยกันต่อนะคะ หลังจากมีการตั้งชมรมฯ แล้ว ชาวบ้านตำบลแม่สอยตื่นตัวเต็มที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็งไปพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการทำลายป่าหลายครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยมีผลในทางปฏิบัตินักยังคงมีการทำลายป่าต่อไป

     ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2529  ชมรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่สอยจึงนำชาวบ้านประมาณ   500  คน  เดินเท้าพร้อมเสบียงอาหาร ขึ้นไปทำแนวรั้วลวดหนามแสดงแนวเขตป่าต้นน้ำแม่สอย  ตามเส้นสันปันน้ำ เป็นทางยาวประมาณ 14  กิโลเมตร โดยค้างคืนอยู่บนต้นน้ำแม่สอย  4  คืนจึงแล้วเสร็จ  อย่างน้อยนี่ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีคือได้เห็นความสามัคคีของชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกัน พยายามพลิกฟื้นป่าให้มาดีเหมือนเดิม

     ฉะนั้นในทุกฤดูแล้งของทุกปี (ม.ค.-พ.ค.) นับตั้งแต่ พ.ศ.2530  เป็นต้นมา ชาวตำบลแม่สอยจะขึ้นไปทำแนวกันไฟ เฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าทั้งในบริเวณป่าต้นน้ำส่วนบนและป่าส่วนล่าง 

     พอถึงช่วงฤดูฝนก็จะปลูกป่าซ่อมเสริมร่วมกับหน่วยราชการ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้  โรงเรียนในท้องถิ่น โดยเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองไปเพาะกล้าและนำกลับมาปลูก

     รวมทั้งมีการวางระบบน้ำทั่วบริเวณป่าส่วนบน โดยจัดทำแท็งก์เก็บน้ำเป็นจุดๆและมีท่อน้ำเพื่อรดกล้าไม้ในฤดูแล้ง   ทำรั้วกันวัวควายที่จะเข้ามาในพื้นที่ปลูกป่า 

     เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าต้นน้ำและทำเรือนเพาะชำกล้าไม้  ปลูกป่าซ่อมเสริม ทั้งป่าส่วนบนและป่าตอนล่างและลาดตระเวนตรวจป่า

     ต่อมากรมป่าไม้ได้เห็นเจตนาแน่วแน่ของชาวตำบลแม่สอยที่จะร่วมกับกรมป่าไม้ในการรักษาป่าต้นน้ำของตน ในปี พ.ศ. 2530 อธิบดีกรมป่าไม้ (นายไพโรจน์ สุวรรณกร) ก็ได้อนุมัติป่าสงวนเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่บ้านวังน้ำหยาด ตำบลแม่สอย จำนวน 1,500 ไร่ จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน  จำนวน 227 ครอบครัว ในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้ในชื่อ "โครงการหมู่บ้านป่าไม้จอมทอง 2"


     ในขณะเดียวกันพระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ฯ  ได้รวบรวมคณะศรัทธา จัดตั้ง "มูลนิธิธรรมนาถ" (โดยมี พระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ฯ เป็นประธานมูลนิธิธรรมนาถ และ ม.ร.ว.สมานสนิท  สวัสดิวัตน์ รองประธานมูลนิธิธรรมนาถ)

     ตั้งขึ้นในปี 2530 เพื่อสนับสนุนการทำงานฟื้นฟูป่าของชาวตำบลแม่สอยและทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ  เพื่อสนับสนุนการทำงานฟื้นฟูป่าของชาวตำบลแม่สอยและสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินงานพัฒนาที่ทำกินและแหล่งน้ำโครงการหมู่บ้านป่าไม้จอมทอง 2 ให้กรมป่าไม้เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท (หนังสือกรมป่าไม้ ที่ กษ 0705(7)/17591 ลงวันที่  10  มิถุนายน  2531) นอกจากนี้ยังได้ระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งจากบุคคลและองค์กร นำมาสนับสนุนเป็นเงินค่ายังชีพและค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ  สำหรับชาวบ้านที่อาสาผลัดเปลี่ยนขึ้นไปเฝ้าระวังไฟป่าตลอดฤดูแล้ง  ในระหว่าง พ.ศ. 2526-2540 ใช้เงินทุนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าลุ่มน้ำแม่สอย ไปทั้งสิ้นจำนวน 27,585,647.44 บาท ในจำนวนนี้ คือเงินบริจาคของ ม.ร.ว.สมานสนิท  สวัสดิวัตน์ รองประธานมูลนิธิธรรมนาถ จำนวน 16,000,000 บาท  (มูลนิธิธรรมนาถ, 2540)

     และเมื่อเสร็จเป็น  "โครงการหมู่บ้านป่าไม้จอมทอง 2 "  แล้วทางโครงการเองก็ได้เตรียมจัดสรรพื้นที่ดินที่เห็นว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุดในโครงการไว้จำนวน 200 ไร่ โดยตั้งใจให้ราษฎรชาวม้งที่มีฐานะยากจนจำนวน   27  ครอบครัวที่ตกลงใจ จะย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานในโครงการด้วย

      แต่ต่อมาได้มีข่าวที่ปิดกันให้แซ่ดว่า มีผู้มีอิทธิพลได้บอกราษฎรชาวม้งกลุ่มนั้นไม่ให้ย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง เพราะเดี๋ยวจะเข้ามาพัฒนาหมู่บ้านป่ากล้วยให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป  ราษฎรชาวม้ง 27 ครอบครัวจึงเกิดความลังเล แล้วเปลี่ยนใจไม่ร่วมโครงการหมู่บ้านป่าไม้ฯ (กลัวพลาดความเจริญบนภูเขา)

     ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะจากอิทธิพลต่างๆ และจากปัญหาอื่นๆรอบด้านที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสื่อสารในภาษาเดียวกันได้ คือ ปัญหาใหญ่ ทำให้โครงการต่างๆ ที่พยายามผลักดันโดยชาวบ้าน ชุมชน หรือแม้แต่รัฐบาลเองก็ยังต้องเจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน ติดตามในตอนหน้าว่าจะนำชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ลงมาสำเร็จหรือไม่.

หมายเลขบันทึก: 258017เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูอ้อย มาติดตามอ่านนะคะ  น่าสนใจมากค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ พอดีๆกำลังคิดถึงแม่สอยอยู่พอดี

ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตที่แม่สอยครับ ตอนเด็กๆ ก็เคยเล่นน้ำใน

ลำห้วยแม่สอยครับ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำแห่งนี้ตลอด

น้ำแห้ง..น้ำท่วมจากลำห้วยนี้ก็เคยเห็นมาหมด ทั้งนี้เหมือนที่ผู้เขียนกล่าว

ถึง เหตุที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพราะคนเรานั่นเอง ถึงแม้ระยะหลังทราบ

มาว่าเราพยายามฟื้นฟู แต่ก็ยากที่จะเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยก็มีสัญญาณ

ที่ดีขึ้น

ขอขอบคุณผู้เขียนที่เขียนบทความดีๆอย่างนี้

และอยากบอกว่าคิดถึงแม่สอยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท