ลูกศิษย์...อ.เอนก นาวิกมูล..ขออนุญาต..เผยแพร่..เรื่องเพลงฉ่อย


ลูกศิษย์...อ.เอนก นาวิกมูล..

ขออนุญาต..เผยแพร่..

เรื่องเพลงฉ่อย

     พี่สาว(ลูกป้า)ของผม...เข้ามาคุยกับผมที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองสุพรรณบุรี...ว่าติดตามอ่านบันทึกของผมมาตลอด..สนใจเรื่องเพลงพื้นบ้าน...ประเภทเพลงฉ่อย..ไม่เห็นเขียนบ้างเลย..เห็นมีแต่เพลงอีแซว...ผมจึงต้องไปค้นคว้ามาให้พี่สาวของผม

    ตอนผมเรียน มสธ.ผมเป็นลูกศิษย์ อาจารย์เอนก นาวิกมูล เคยเรียนวิชาภาษาไทย ๘ กับท่าน จึงขออนุญาตนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่นะครับ

    เพลงฉ่อย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่าเป็นเพลงสำหรับว่าแก้กันระหว่างชายกับหญิงเป็นเพลงที่นิยมว่าปากเปล่าโดยอาศัยปฏิภาณเป็นสำคัญ เมื่อว่าจบบทแล้วลูกคู่จะรับพร้อมกันว่า ชา ฉา ชา ฉาด ชา หน่อย แม่

   ในสารานุกรมทางวัฒนธรรม อ.เอนก นาวิกมูล เขียนไว้ว่า

เพลงฉ่อย เป็นเพลงร้องโต้ตอบ มีเอกลักษณ์คือลูกคู่รับด้วยคำว่า เอ่ชา ทุกครั้ง

   ในเอกสารภาษาไทย ๘ ของมสธ. อ.เอนก ยังกล่าวไว้อีกว่า

ลักษณะเด่นของเพลงฉ่อย คือการร้องรับของลูกคู่ที่ร้องว่า เอ่ชา..เอ๊ช้า ชา ฉาดชา ถึงจะมีคำสั้น ยาว กว่านี้อีกบ้าง แต่คำที่มีเสมอก็คือคำว่า เอ่ชา ด้วยเหตุที่รับเสียงฉ่าชา บางถิ่น บางคน จึงเรียก เพลงฉ่า

     เพลงฉ่อยเป็นเพลงพื้นบ้านที่รู้จักกันแพร่หลายและกว้างขวางมาก เป็นเพลงที่ได้รับความนิยม เกือบทั่วทุกจังหวัดของภาคกลาง ถิ่นที่มีพ่อเพลงแม่เพลงระดับอาชีพได้แก่ อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี  สิงห์บุรี  ราชบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์

    เพลงฉ่อยเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หลักฐานเอกสารเก่าที่สุดที่กล่าวถึงเพลงฉ่อยอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือพระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ เรื่องขับร้อง ลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ปีที่ ๔ พ.ศ.๒๔๓๒ หน้า ๒๖๕ กล่าวว่า "ยังมีเพลงร้องตามหัวเมืองแลเข้ามาร้องในกรุงก็มีบ้างคือเพลงฝ่ายเหนือเรียกว่า เพลงฉ่อยฤาเพลงตะขาบอย่างนี้"(คำว่าฝ่ายเหนือในที่นี้หมายถึงนครสวรรค์ อุทัยธานี ขึ้นไป)

   อาจจะอนุมานได้ว่าเพลงฉ่อยเกิดประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ และได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๖  มีการอัดเสียงเพลงฉ่อยไว้มากมาย ในสมัยรัชกาลที่ ๘ และต้นรัชกาลปัจจุบัน ยังมีการอัดแผ่นเสียงอยู่บ้าง ในปัจจุบันก็ยังมีการอัดเทป ซีดี เพลงฉ่อยอยู่ถึงแม้ไม่มากนัก

   นอกจากเรียกว่าเพลงฉ่อยและเพลงฉ่าแล้ว ยังเรียกว่าเพลงวง เพราะเดิมนิยมร้องเล่นเป็นวง  เรียกว่าเพลงเป๋ เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพ่อเพลงคนหนึ่งคือ ตาเป๋ที่เล่นเพลงฉ่อยมีชื่อเสียงมากจนคนพลอยเรียกเพลงฉ่อยเป็นเพลงเป๋ไปเลย มีแผ่นเสียงที่พิมพ์คำว่าเพลงเป๋ อีกชื่อหนึ่งคือ เรียกว่าเพลงตะขาบ แต่ไม่ทราบสาเหตุที่เรียก

   เพลงฉ่อยจะเล่นในงานใดก็ได้ไม่มีข้อยกเว้น เช่นงานศพ งานแต่ง งานบวช งานฉลอง งานแก้บน

   การแต่งกาย ฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อตามความเหมาะสมกับอายุ มักเป็นเสื้อแบบไทย ห่มผ้าสไบพาดบ่า ฝ่ายชายก็นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอไทยหรือคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือห้อยไหล่

   อุปกรณ์การเล่น ในระดับสมัครเล่นที่นำมาร้องสนุกๆตามเทศกาล ไม่ต้องเตรียมอะไร แต่ในระดับอาชีพ จะต้องมีพานกำนล ๑ พาน  เครื่องประกอบจังหวะตามปกติจะไม่ต้องใช้ เพราะเพลงฉ่อยใช้การปรบมือให้จังหวะ แต่บางแห่งอาจนำกรับมาช่วยตี

   แบบแผนการเล่น ระดับมืออาชีพมีขั้นตอนดังนี้

   ๑. หลังจากแต่งตัวเสร็จพ่อเพลงและลูกคู่ออกมามานั่งยองๆมีหัวหน้าถือพานกำนลร้องเพลงไหว้ครู เป็นต้นเสียง ๑ คน คนอื่นๆคอยเป็นลูกคู่รับ การร้องเพลงไหว้ครูจะใช้กลอนแบบหนึ่งคล้ายกลอนเพลงโคราช ซึ่งไม่ทราบว่าเพลงฉ่อยยืมเพลงโคราชหรือเพลงโคราชยืมเพลงฉ่อย

    ตัวอย่างบทไหว้ครู

โองโอ เอิงเงย มือของลูกสิบนิ้วจะประนม กรก้มเหนือเกศ

ลูกจะไหว้เทวัญชั้นเทเวศ อีกทั้งเทพไทเอ๋ยในไพรวัลย์

ลูกจะไหว้ลายลักษณ์อักษร ขอให้มาปกกรป้องกัน เอยกาย

(รับ) ลูกจะไหว้ลายลักษณ์อักษร (ซ้ำ) ขอให้มาปกกรป้องกัน(ซ้ำ) กายชา ชัดชา

ไหว้พระพุทธที่ล้ำ ไหว้พระธรรมที่เลิศ

ไหว้พระสงฆ์องค์ประเสริฐ ท่านเป็นยอดวิเศษ

ขอให้ล่วงทะลุเอ๋ยปรุโปร่ง ปัญญาลูกอย่างองค์พระเมต เอยไตรย

(รับ) ขอให้ล่วงทะลุปรุโปร่ง ปัญญาลูกอย่างองค์พระเมต

ไตรยชา ชัดชา

   ๒. เมื่อชายไหว้ครูเสร็จ หญิงออกมาว่าบทไหว้ครูบ้างระหว่างว่า มีหัวหน้าถือพานนำและมีลูกคู่ร้องรับเช่นกัน แต่ผู้หญิงจะนั่งพับเพียบ ไม่นั่งยองๆอย่างผู้ชาย

   ๓. หญิงว่า ต้นเพลงฉ่า คือร้องส่งลำ พร้อมกับลุกขึ้นรำไปด้วย

   ๔. ชายว่าต้นเพลงฉ่าบ้าง

    ตัวอย่าง ต้นเพลงฉ่า

ไหว้ครูเสร็จสรรพเอย แล้วจับบท

(รับ) ฮ้า ฮ้าฮ้าไฮ้ เอ้าฉ่าฉ่าฉ่า เอ้าเห่เห่าเห่า เอ้า โยน โย้น

เอยให้กำหนดเรื่องราว กล่าวนิทาน(รับ)

ให้เสนาะเพราะหูเจ้าของงาน สถาวรเป็นการ มงคล(รับ)

ปลอบปลุกลุกเถิด แม่แก้วตา กัลยาเจ้าจงลุก ขึ้นโดยไว(รับ)

เรไรเร่าร้องก้องระงม เสียงเรไรเร่าร้อง เอยก้องระงม(รับ)

มันมิได้สมประดีคืน กุมารมา มันมิได้สมประดีคืน เอยกุมารมา(รับ)

    ๕. ชายร้องเพลงเกริ่น ชักชวนฝ่ายหญิงให้มาเล่นเพลงด้วยกัน มีการทอดเพลง

    ๖. หญิงว่าเพลงเกริ่นบ้าง

    ๗. เมื่อหญิงร้องเพลงเกริ่นพอสมควรแล้วก็ทอดเพลงบ้างโดยร้องบทแต่งตัวว่าได้ยินเสียงใครมาเรียก จำเป็นต้องออกไปดู ก่อนออกไปก็ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย

ตัวอย่างเพลงเกริ่น(หนังสือภาษาไทย ๘ มสธ.)ใช้กลอนแบบเดียวกับเพลงไหว้ครู

เอิงโอ..แม่คุณอย่าทุกข์เลยหนอ  แม่คุณอย่าท้อเลยน้อง

อีแม่สีทับทิมสายสร้อยทอง  อย่าทุกข์ไปเลยว่าเมียมี

ถ้าหากว่าเมียมีเมียพี่ต้องมา  นี่เมียไม่มา ก็เมียพี่ไม่มี เอย ไม่

(รับ)ถ้าหากว่าเมียมีเมียพี่ต้องมา(ซ้ำ)

นี่เมียไม่มา ก็เมียพี่ไม่มี เอย  ไม่ เอ่ชา ชัดช้าชา ฉ่าชา

พี่มายืนอัดอึงตะลึงแล  หลงรักกันอยู่แต่ข้างหลัง

ครั้นจะพูดไม่ออกบอกไม่ดัง  ข้าก็มาจนใจเฝ้าแต่ยืนจ้อง

ครั้นจะพูดไม่ออกบอกไม่ได้  จึงใช้ไปด้วยสาย  ตามอง เอยไป

(รับ)ครั้นจะพูดไม่ออกบอกไม่ได้ (ซ้ำ)

จึงใช้ไปด้วยสาย  ตามอง เอยไป เอ่ชา ชัดช้าชา ฉ่าชา

ตัวอย่างการทอดเพลง(ทอดเพลงหรือเพลงทอด หมายถึงเพลงที่ร้องต่อจากบทเกริ่นมีที่สังเกตคือจะเปลี่ยนกลอนและเริ่มรับว่า เอ่ชา มีร้องทั้งชายและหญิง)(จากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคกลางเรียบเรียงโดยเอนก นาวิกมูล)

บอกว่าแต่พอฉับเข้าก็ฉุย  วันนี้มาเจออีแม่ปุยของพี่ดอกโสน

อีแม่ช่อมะกอกดอกชงโค  รักพี่ให้แย้มเป็นนิยาย

เอ่ชา ชาฉ่าชาช้า

รักพี่ขอแย้มเป็นนิยาย

ฉันจะมีเนื้อความร้องถามหน่อย แม่หนูเอ๋ยอย่าน้อยน้ำใจ

ก็มายืนสล้าง ดูมานั่งเป็นแถว ถามว่ามีผัวแล้วกันหรือไร

ถ้าว่ามีผัวแล้วก็คงไม่แคล้วนมคล้อย หากเป็นสาวน้อยๆคงแน่นใน

จะพิศดูหน้าก็ตกจะพิศดูอกก็พร่อง จะพิศดูผืนท้อง ให้สงสัย

จะพิศดูตะโพกทำไมถึงตกพระพักตร์  รอยใครเขามาปักท้องลาย เอ่ชา

ถ้าว่ามีผัวแล้วก็คงไม่แคล้วนมคล้อย หากเป็นสาวน้อยๆคงแน่นใน

จะเป็นสาวก็ไม่ใช่แม่ม่ายก็ไม่เชิง จะเป็นสาวอมเพลิงหรืออย่างไร

พิศดูแขนดูขามันช่างน่ารำแคน เปลาะขาปล้องแขนขบขันกว่าใคร

มองดูหว่างขาไอ้ที่จริงช่องเข้า แลดูเป็นเค้าไม่มีความระคาย

แลดูตะโพกก็ตกส่วน แม่หน้าโคกสมควรใหญยิ่งกว่าใคร เอ่ชา

ตัวอย่างเพลงทอดฝ่ายหญิง

เอยว่าเกริ่นไปหนักหรือมันก็ชักช้า ด้วยว่ามันจวนเวลาลงไป

เอ่ชา ชา ชาฉ่า ช้า

เสียงก็ระเบ็งเซ็งแซ่  ใครเขามาเรียกแม่ขวัญใจ

ในแถวทางนี้ไม่มีใครรู้จัก อุ๊ยใครมาดอดทักแม่ทองหล่อได้

ฉันเองมาผิดสังเกตเนตรก็พิรุธ เมื่อตอนมามิได้พูดไว้กะใคร เอ่ชา

จะเป็นผู้ใดที่ไหนมา ใครหนอมาเรียกหาวุ่นวาย

จัดแจงแต่งตัวฉันไม่มัวช้า เลยหวีผมห่มผ้าโดยไว

เลยหยิบกระจกคันฉ่อง ยกขึ้นมามองดูลาย

จะเป็นผู้ใดที่ไหนมา ต้องแต่งตัวคอยท่ามันจะเป็นใคร

ฉันจัดแจงแต่งตัวมันไม่ได้มัวหมอง จัดข้าวจัดของรีบไป

เลยนุ่งผ้าลาย ใส่ดอก เวลานี้ชมนอกชมใน

จัดแจงแต่งตัวฉันไม่มัวช้า จะออกไปดูหน้าเอ๊ะว่าใคร เอ่ชา

แต่ว่าพอสินเทอเข้ามาเจอหน้า ถามพ่อเผื่อนพ่อมากันก็เมื่อไร

ก็ฉันมาคอยเป็นครูฉันมาอยู่เป็นครึ่ง ไม่ควรเลยจะอึงไปให้อาย เอ่ชา

เอยแหมมาซุ่มอยู่เป็นครู่อยู่เป็นครึ่ง แม่กระเทือนมาถึง เมื่อไหร่

ขอโทษเสียเถิดพ่อเผื่อนจ๋า ตอนพ่อเผื่อนพ่อมาหารู้ตัวไม่

ปัดโธ่พ่อเผื่อนอยู่เป็นครู่อยู่เป็นครึ่ง มันไม่กระเทือนมาถึงเลยให้ตาย

พ่อทูนหัวมาแคมอยู่ที่แคมประตู แม่ทองหล่อถึงไม่รู้ว่าใคร เอ่ชา

   ๘. ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้เจอกัน ก็ว่าเพลงประ คือร้องโต้ตอบ ประคารมคมคายกัน หรือร้องตับต่างๆตามแต่จะพากันไป

   ตับ ก็คือเนื้อหาที่พ่อเพลงแม่เพลงแต่ละสมัย ได้คิดเพลงขึ้นเป็นบท เป็นชุด จำนวนมากมาย มีไม่ต่ำกว่า ๗๐ ตับ มีทั้งสั้น ทั้งยาว เช่นตับผูกรัก ตับชิงชู้ ตับตีหมากผัว ตับสู่ขอ ตับเหล่านี้จะยืดยาวมากและคนก็ชอบฟังเพราะเป็นเรื่องราวดี ตับที่สั้นๆก็เช่น ตับแต่งตัว ตับกระได ตับเช่าเรือ ตับเช่าควาย ตับหมาใน ตับแมว ตับม้า เป็นต้น ตับเหล่านี้จะร้องแทรกตรงไหนก็แล้วแต่ความเหมาะสม ส่วนใหญ่ไม่รู้ชื่อคนแต่ง เพราะจดจำลักจำกันมาแต่โบราณ บางตับแต่งในสมัยปัจจุบันเช่นเรื่องสงครามอินโดจีน เรื่องเสือฝ้าย เรื่องเครื่องบินตก เรื่องที่เห็นว่าคนสนใจก็นำมาแต่ง นำไปร้องที่ไหนคนก็อยากฟัง บางทีกำลังร้องสนุกๆคนร้องก็แกล้งขยักหยุดร้อง คนฟังต้องตกรางวัลขอฟังต่อก็มี

ตัวอย่างเพลงประ(จากหนังสือภาษาไทย ๘ มสธ.)

แม่ทองหล่อ

เลยมีเนื้อความถามต่อ  ข้อนี้ยังเป็นข้อสงสัย

เอาเถอะพ่อเผื่อนลูกเมียไม่มี แหมแกอยู่เอกีเปล่ากาย

ดูซิอกพี่กะอกฉัน แหมมันช่างเหมือนกัน จริงให้ดิ้นตาย

เมื่อตะก่อนทูนหัวผัวมี เดี๋ยวนี้เอ้กีเปล่ากาย

เมื่อตะก่อนทูนหัวผัวยังมี แหมฉันอยู่เอ้กีไปเสียเมื่อไหร่

เวลานี้แม่ทองเนื้อนุ่ม แม่ทองหล่อตกพุ่มวุ้ยเป็นม่าย

เอ่ชา เอ๊ชา ชาช้า ฉาดชา หนอยแม่

พ่อบัวเผื่อน

บอกว่าเดี๋ยวนี้แม่เนื้อนุ่ม แม่ทองหล่อตกพุ่มเป็นม่าย

มันก็เหมือนกันแม่ทองหล่อจ๋า บอกว่าตัวของข้านี่จะบอกไข

ว่าเมียคนก่อนเขายังไม่ดีเหมือนแก ผิวพรรณก็แพ้ต่อบาทสองไพ

หัวคิดริดอ่านสันนิษฐานท่วงที จะว่าจนหรือมีเขาหาคิดไม่

บอกว่าผิดถูกก็ไม่พิเคราะห์ เมียก่อนไม่เหมาะจึงได้ทิ้งไป

เห็นแม่ทองหล่ออยู่เปล่าเปล่า ก็ยังงั้นก็มาเอาเสียกะชาย

เอ่ชา เอ๊ชา ชาช้า ฉาดชา หนอยแม่

คำสำคัญ (Tags): #เพลงฉ่อย
หมายเลขบันทึก: 256660เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เพลงฉ่อย เพราะและสนุกดีค่ะ อยากร้องเป็นบ้างจังเลยค่ะ อาจารย์

สวัสดีค่ะ สบายดีไหมคะ

ขอบคุณ พอลล่า ผู้น่ารักและเก่ง ดี มีสุขเสมอ...ค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.พิสูจน์

  • ขอสมัครเป็นศิษย์ด้วยนะคะ
  • สนใจเรื่องนี้อยู่พอดี

ขอบคุณครับครูภา มาช่วยกันอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านนะครับ

อายจัง ถ้าจะบอกว่า แยกไม่ออกว่า เป็นเพลงใด รู้แต่เป็นเพลงไทย ใช้ร้องเล่น

และก็รู้ว่าเป็นของดีที่ควรอนุรักษ์เอาไว้

ขอบคุณครูป.1 แค่เห็นคุณค่าของเพลงไทยก็ยอดเยี่ยมแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท