ทางหลายแพร่งของการเมืองไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน
การเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ มีทางเป็นไปได้หลายทางทีเดียว
แต่ละทางมีความไม่แน่นอนสูง
คือไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าเกิดจะเกิดในรูปใด
และจะนำไปสู่สถานการณ์อย่างไร
เป็นการขยายความไม่แน่นอนและเพิ่มความหลายแพร่งให้กระจายมากขึ้นไปอีก
นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ “วุ่นไหว” ซับซ้อนมากทีเดียว
ลองมาดูว่าความเป็นไปได้หรือความไม่แน่นอนที่หลากหลายนี้
มีอะไรบ้าง
ประการแรก อาจไม่สามารถเปิดรัฐสภาตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญฯ
เพราะยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรไม่ครอบ 500
คน
ถ้าไม่สามารถเปิดรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร
จะต้องทำอย่างไร หรือจะสมควรทำอย่างไร จึงเป็นปัญหาตามมา
ซึ่งก็จะมีทางให้เลือกมากกว่า 1 ทาง
ทางหนึ่งที่มีผู้เสนอ คือ การใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฯ
ซึ่งจะมีปัญหาต่อไปว่าจะใช้มาตรา 7 ในลักษณะใด เช่น
จะต้องให้นายกรัฐมนตรีรักษาการกราบบังคมทูลลาออก
และขอพระราชทานรัฐบาลชั่วคราว
แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งใหม่
หรืออย่างไร
แต่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งใหม่ได้อย่างไร
ในเมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฏรที่เริ่มเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ยังไม่เรียบร้อย
และยังไม่สามารถเปิดรัฐสภาครั้งแรกได้...?
และถ้า “รัฐบาลพระราชทาน” จะจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จะทำได้อย่างไรในเมื่อไม่มี “รัฐสภา” ที่จะเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตามมาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญ....?
จะเห็นว่าเรื่องมันแสนจะยุ่งขิง สับสน น่าเวียนหัวใช่ใหมครับ
หากเปิดรัฐสภาได้ก็ยังมีทางหลายแพร่งให้เดิน
ประการที่สอง
อาจเปิดรัฐสภาเพื่อเป็นการประชุมครั้งแรกได้ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฏรเป็นการทั่วไป
ทั้งนี้จะด้วยวิธีการใดหรือเงื่อนไขใดก็ตาม
เมื่อเปิดรัฐสภาได้ ย่อมจะสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้
ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
เพียงแต่จะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีชื่อว่า “ทักษิณ ชินวัตร”
เท่านั้น
รัฐบาลใหม่ตามนัยนี้ จะเป็นรัฐบาลชั่วคราว
ภารกิจสำคัญคือดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วให้มีการยุบสภา
เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งใหม่
โดยเป็นที่เข้าใจว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองสำคัญๆ
ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งกันอย่างพร้อมเพรียง
ในขั้นตอนนี้
จะยังมีทางหลายแพร่งให้เลือกเดิน
ทางแพร่งที่หนึ่ง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเลยโดยไม่ต้องแก้ไขมาตรา 313
ก่อน
ถ้าไม่แก้ไขมาตรา 313 ก่อน จะหมายความว่า คณะรัฐมนตรีและหรือรัฐสภา
สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ก็ยังมีประเด็นอีกว่า
จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งใหม่โดยไม่มีปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา
หรือจะแก้ไขแบบครอบคลุมกว้างขวางตามที่ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นกันมากมายว่าควรทำ....?
ทางเลือกที่อาจพาเข้าพงหนามยังมีอยู่เสมอ
ทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกแพร่งหนึ่ง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 313 ก่อน
เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนมีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น
โดยการจัดให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “สภาปฏิรูปการเมือง”
คล้ายๆกับ “สสร.” เมื่อครั้งยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.
2540 (ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” หรือ
“รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง”)
การเลือกเส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบครอบคลุมกว้างขวาง
หรือในลักษณะการปฏิรูปการเมือง คงจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
อาจเกินกว่า 1 ปี ไปมาก หรือแม้กระทั่งเกิน 2 ปี ก็เป็นไปได้
ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งหากเลือกเส้นทางนี้
ซึ่งถ้าเลือกแล้วจะถอยหลังได้ยากด้วย
จึงควรที่ทุกฝ่ายต้องคิดพิจารณาให้ดี
เพราะถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เวลานาน “รัฐบาลชั่วคราว”
จะต้องทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ โดยไม่อยู่ในฐานะจะคิดและทำอะไรได้เต็มที่
ประเทศจะชลอตัว หรือแม้หยุดชะงักในด้านการพัฒนาต่างๆ
ไปเป็นเวลานาน
ส่วนสภาผู้แทนราษฏรจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่สภาผู้แทนราษฏรพึงทำ
เพราะจะเป็น “สภาไม่สมประกอบ”
อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3
พรรคร่วมกันบอยคอตเพราะเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม
สรุปแล้วความ “วุ่นไหว”
ดูจะไม่ห่างหายไปจากการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างง่ายๆเลย
แล้วสังคมไทยจะทำอย่างไรดี?
ผมเองสนใจทางเลือกที่ให้รัฐสภา (ซึ่งแม้จะไม่สมประกอบนัก)
เป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของมาตรา 313
อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ต้องแก้ไขมาตรานี้ก่อน
ที่สนใจเส้นทางนี้ เพราะทำได้สะดวก รวดเร็ว
ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540
อยู่แล้วที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยสะดวก และทำได้บ่อยๆ
เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎและทันกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งย่อมมีอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบแรกนี้
ควรจำกัดอยู่ในเรื่องที่จำเป็นและสมควรสำหรับช่วยให้สามารถจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่ได้โดยเร็วที่สุด
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างครอบคลุมกว้างขวาง ควรทำในรอบถัดไป
หลังจากได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ที่ “สมประกอบ” (อย่างน้อยก็พอสมควร)
แล้ว และมีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ใช่ “รัฐบาลชั่วคราว” แล้ว
สำหรับบทบาทของ “ประชาชน”
ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนในการปฏิรูปการเมืองนั้น
สามารถทำให้เกิดได้อยู่แล้วภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
ซึ่งได้บัญญัติหลักการไว้ชัดเจนในมาตรา 76 และมาตราอื่นๆอีกมาก
ที่เน้น “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในเรื่องสำคัญๆทั้งหลายแหล่
ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
แปลงวิกฤตเป็นโอกาสด้วยกระบวนการ
“สานเสวนาประชาคม”
ตรงนี้แหละครับ ที่กระบวนการ
“สานเสวนาประชาคม” สามารถเข้ามาเป็นวิธีการสำคัญในการเอื้อให้
“ประชาชน” ได้มีบทบาทร่วมกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องในการกำหนดทิศทาง
หลักการ และสาระสำคัญทั้งหลายในการบริหารจัดการบ้านเมืองของเรา
ทั้งที่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติในกฎหมาย
ตลอดจนที่เป็นนโยบายและมาตราการต่างๆของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย
กระบวนการ “สานเสวนาประชาคม” (Citizens’ Dialogue)
เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมคิด
ร่วมพิจารณา ในเรื่องสำคัญๆ ร่วมกับภาครัฐ และนำไปสู่การกำหนดหลักการ
ทิศทาง
และวิธีการที่เป็นความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
กระบวนการ “สานเสวนาประชาคม” อาจทำหลายๆรอบ ในหลายๆพื้นที่
หรือหลายๆกลุ่มคน จนกว่าจะพอใจว่าได้ “ความห็นร่วม” ที่ชัดเจนพอ
กระบวนการ “สานเสวนาประชาคม” อาจปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น ขยายวง
ขยายฐานหรือต่อยอด ในหลายๆลักษณะได้ ตามที่ผู้เกี่ยวข้องเห็นควร
รวมทั้งการประยุกต์ใช้ให้มีลักษณะทำนอง
“กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” หรือ
“สภาปฏิรูปการเมือง” หรือโดยเชื่อมต่อกับบทบาทของ
“สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
ก็ย่อมได้
กระบวนการ “สานเสวนาประชาคม”
จึงถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
หรืออาจเรียกว่าเป็นลักษณะหนึ่งของ “ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง”
(Deliberative Democracy) ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยในขั้นก้าวหน้า
กระบวนการ “สานเสวนาประชาคม” หรือ “Citizens’ Dialogue” นี้
ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลดีในประเทศแคนาดา ที่สามารถหา “ความเห็นร่วม”
เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศ (“The Kind of Canada We Want”)
และเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศแคนาดา (The Future of
Health Care in Canada) ได้
โดยสรุป ผมเห็นว่า ควรใช้กระบวนการ
“สานเสวนาประชาคม”
ที่ประยุกต์ให้เหมาะกับสถานกานณ์ของแต่ละเรื่อง
รวมถึงเรื่องที่ยังมีความเห็นขัดแย้งหรือแม้กระทั่งเป็นปฏิปักษ์กันอยู่
เช่นเรื่องเกี่ยวกับพตท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ
เรื่องการแก้ไขปัญหารัฐสภาไม่สมประกอบ
และอื่นๆ
เป็นการแปลงวิกฤตการเมืองไทย
ให้เป็นโอกาสในการพัฒนาความเข้าใจและความสามารถของสังคมไทย
ในการจัดการตนเองแบบ “ประชาธิปไตย”
ที่ยกระดับเหนือกว่าที่ได้เป็นมาในอดีต
เป็นเรื่องท้าทายแต่น่าทำ และถ้าทำได้ผลจริงก็คุ้ม หรือพอชดเชยได้
กับความเสียหายอันเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา
.............................................................................................................
หมายเหตุ เป็นบทความประกอบการนำเสนอใน “การสานเสวนา” เรื่อง
“ระบบการเมืองไทยที่พึงปราถนาของคนไทยในช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน”
จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า (โดยศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล) ร่วมกับ
“เครือข่ายสันติวิถี” ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในวันที่ 26 เมษายน
2549
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
26 เม.ย. 49