โครงการวิจัย
“การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง”
แบ่งการจัดการความรู้เป็น 3 ระดับ คือ
ระดับเครือข่าย ระดับกลุ่ม และระดับสมาชิก
โดยในระดับกลุ่มนั้นมุ่งเน้นการจัดการความรู้ไปที่ 5 กลุ่มหลัก
ทั้งนี้ในการเลือกกลุ่มนั้นมีเกณฑ์อยู่ประมาณ 2 ข้อใหญ่ๆ
คือ
1.คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนทั้งในภาคชนบทและภาคเมือง
2.คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยกระจายในทุกพื้นที่ (อำเภอ)
ที่มีองค์กรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง
จากเกณฑ์ทั้ง 2
ข้อนี้ทำให้ได้ตัวแทนกลุ่มที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางจำนวนทั้งสิ้น
5 กลุ่ม คือ
1.องค์กรออมทรัพย์ชุมชนนาก่วมใต้พัฒนา (อำเภอเมือง)
2.องค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่ทะ-ป่าตัน (อำเภอแม่ทะ)
3.องค์กรออมทรัพย์ชุมชนเกาะคา (อำเภอเกาะคา)
4.องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย (อำเภอเถิน)
5.องค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริก (อำเภอแม่พริก)
เมื่อพิจารณาจากคำถามที่ทีมกลางส่งมาว่าในแต่ละกลุ่มมีการจัดการอย่างไร?
มีศักยภาพแค่ไหน? มีข้อจำกัดอย่างไร?
น่าจะมีการแจกแจงข้อมูลสถานภาพของกลุ่ม
โดยที่งบทดลองจะเป็นตัวบอกสภาพเชิงปริมาณในเบื้องต้นได้ดีที่สุด
สุดท้าย คือ ผลที่เกิดขึ้นกับสมาชิก
กิจกรรมออมทรัพย์กู้เงินไปทำอะไร เกิดผลเช่นไร
ล้วนเป็นผลลัพธ์โดยตรง
นอกจากนี้ผลลัพธ์โดยอ้อมที่สำคัญทั้งเรื่องการพัฒนาคน
พัฒนาชุมชนตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มที่เขียนไว้ (ถ้ามี)
จะประเมินและพัฒนา (จัดการความรู้)
อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ผู้วิจัยก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรค่ะ เพราะ
คำถามยาวมาก และถ้าตอบอย่างละเอียดก็คงยาวมากเช่นเดียวกัน
เอาเป็นว่าจะตอบอย่างละเอียดในรายงานฉบับสมบูรณ์ค่ะ
ตอนนี้ขอตอบอย่างสรุปก่อนก็แล้วกันนะคะ
หากมองในแง่การบริหารจัดการจะเห็นได้ว่าทั้ง 5
กลุ่มมีการบริหารจัดการอย่างเดียวกัน คือ
พยายามบริหารจัดการแบบแผนที่ภาคสวรรค์ที่เครือข่ายฯได้กำหนดไว้
โดยแต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการทั้งหมด 15 คน (ในประเด็นนี้ช่วง1-2
เดือนที่ผ่านมา
ได้มีการเสนอของบางกลุ่มว่าหากกลุ่มไหนไม่สามารถหาคณะกรรรมการได้ครบ
15 คน แต่คณะกรรมการที่มีอยู่สามารถทำงานได้
กลุ่มนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการครบก็ได้
ซึ่งประธานฯก็ยอม บอกให้ทดลองบริหารจัดการดู)
ซึ่งจากการที่ผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล
(ไม่ค่อยได้เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ค่ะ) พบว่า
แทบทุกกลุ่มจะมีคณะกรรมการไม่ครบ
แต่ก็สามารถบริหารจัดการได้ ใน 5
กลุ่มนี้กลุ่มที่ดูจะช้ากว่ากลุ่มอื่นทั้งในด้านจำนวนสมาชิกและการบริหารจัดการก็คือ
องค์กรออมทรัพย์ชุมชนเกาะคา แต่ตอนนี้กลุ่มนี้ก็ดีขึ้นมาก
ตั้งแต่มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล
ปัญหาของกลุ่มนี้ คือ ไม่มีคนทำงาน
มีเพียงประธานและสามีเท่านั้นที่รู้เรื่อง แต่ทั้ง 2
ท่านก็ทุ่มเทในการทำงานเต็มที่
แม้ว่าจะไม่ค่อยมีเวลาเนื่องจากภาระงานประจำวันก็ตาม
ขณะนี้มีผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นกรรมการและเข้ามาช่วยทำงานแล้ว
แต่ก็ยังไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้ามาก เพราะ
คณะกรรมการไม่มีเวลา
นอกจากโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ในเรื่องของการบริหารจัดการจะพบว่ามีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
องค์กรออมทรัพย์ชุมชนนาก่วมใต้พัฒนา ,
องค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่ทะ-ป่าตัน และ
องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย
ที่มีการบริหารจัดการทั้งในส่วนของกองทุนสวัสดิการชุมชน (ออมเพื่อให้)
และ กองทุนหมุนเวียน (ออมเพื่อกู้) ขณะที่
องค์กรออมทรัพย์ชุมชนเกาะคา และ
องค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริกมีเฉพาะในส่วนของการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน
(ออมเพื่อให้) เท่านั้น
หากจะถามต่อว่าการมี/ไม่มีกองทุนหมุนเวียนมีผลต่อกลุ่มหรือไม่?
อย่างไร?
จากการที่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้ลงไปสัมภาษณ์กลุ่มเหล่านี้
พบว่า กลุ่มที่ไม่มีการจัดการในส่วนของกองทุนหมุนเวียน
เพราะ เกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องการติดตามหนี้สิน
แต่จากการสัมภาษณ์กลุ่มที่มีการจัดการในส่วนของกองทุนหมุนเวียนก็พบว่า
ไม่มีปัญหาในเรื่องการชำระเงินคืนของสมาชิก
(หรือถ้ามีก็มีน้อยมาก ไม่ใช่ปัญหาใหญ่)
วกกลับมาที่คำถามว่าการมี/ไม่มีกองทุนหมุนเวียนมีผลต่อกลุ่มหรือไม่?
อย่างไร? ผู้วิจัยก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ
เพราะว่ายังไม่ได้ถาม
แต่ถ้าจากมุมมองของตัวเองก็พอจะตอบได้ว่าการมีกองทุนหมุนเวียนก็มีส่วนดีเหมือนกัน
ที่เห็นชัดๆ คือ
1.มีเงินดอกเบี้ย
สามารถจะเอาไปทำกิจกรรมต่างๆหรือเสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มได้
(แต่จะได้มากหรือน้อยขอเวลาอีกนิดหนึ่งค่ะ
จะไปหาคำตอบมาให้นะคะ)
2.มีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้ที่เครือข่ายฯไม่ได้จ่ายค่าศพให้กับกลุ่มต่างๆมาตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม
ซึ่งกลุ่มที่มีกองทุนหมุนเวียน เช่น
กลุ่มแม่ทะ-ป่าตัน กลุ่มบ้านดอนไชย เป็นต้น
จะไม่มีปัญหา เพราะ
เอาเงินในส่วนของกองทุนหมุนเวียนมาหมุนจ่ายให้กับผู้เสียชีวิตก่อนได้
ในขณะที่กลุ่มเกาะคา ตอนนี้ไม่มีเงินสำรองอยู่ในกลุ่มเลย
ไม่มีเงินจ่ายค่าศพด้วย (แต่เหตุการณ์ก็ผ่านไปได้ค่ะ
เพราะมี…มาช่วยเอาไว้)
หากมองในแง่ศักยภาพของกลุ่ม
ผู้วิจัยก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรเหมือนกันค่ะ เพราะ
ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นตัวชี้วัดศักยภาพ
แต่ถ้าถามผู้วิจัยตอนนี้ก็เห็นว่ามีหลายอย่างที่เป็นตัววัดศักยภาพได้
เช่น ฐานะการเงิน (เข้าใจว่าคำว่า “งบทดลอง”
ของทีมกลาง หมายถึง ฐานะการเงินใช่ไหมค่ะ?)
การขยายสมาชิก การเชื่อมประสาน
วินัยทางการเงินของสมาชิก จิตสำนึกในการทำงานเพื่อชุมชน
ฯลฯ
ข้อมูลเหล่านี้ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์กำลังอยู่ในระหว่างการประมวลข้อมูลและความคิดอยู่ค่ะ
ความจริงเรื่องฐานะการเงินตอนนี้ทุกกลุ่มก็มีรายงานอยู่แล้ว
แต่ผู้วิจัยก็ยังไม่ได้ขอข้อมูลในส่วนนี้ เพราะ
รู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนไม่รู้ว่าอันไหนเป็นอันไหนแล้ว
ขนาดทีมบริหารยังพูดไม่เหมือนกัน
คิดว่าคงจะนำเสนอในรายงานฉบับสมบูรณ์ค่ะ
ถามว่ากลุ่มมีข้อจำกัดอย่างไร?
ผู้วิจัยอยากให้ทีมกลางช่วยขยายความหน่อยค่ะว่าจะเอาข้อจำกัดด้าน/ส่วนไหนบ้าง
(รู้สึกว่าคำถามกว้างจัง ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร)
ถ้าให้ตอบตอนนี้เท่าที่คิดออกก็มี
1.โครงสร้างคณะกรรมการ (ภาคสวรรค์) มีมากจนเกินไป
หาคนทำงานยาก
2.กลุ่มต้องรับนโยบาย คำสั่งต่างๆจากเครือข่ายฯ
ซึ่งเครือข่ายฯก็ขยันเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ซะเหลือเกินค่ะ
จนกลุ่ม (บางกลุ่มหรืออาจหลายกลุ่ม) ท้อ ไม่อยากทำงาน
แต่ใน 5 กลุ่มเป้าหมายนี้ไม่มีปัญหาค่ะ
(มีแต่เพียงเสียงรำพึงรำพันนิดหน่อยค่ะ)
3.ขาดเงิน เพราะ เงินส่วนใหญ่ไปอยู่ที่เครือข่ายฯ
ทำให้กลุ่มไม่มีเงินที่จะเอาไปลงทุนหรือเอาไปทำอะไรที่ก่อดอกออกผลได้
4.ขาดอำนาจ เพราะ
อำนาจไปอยู่ที่แกนนำเครือข่ายฯเพียงไม่กี่คน
5.ขาดโอกาส
เรื่องนี้อยากขอวิงวอนผ่านทุกท่านที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ
ให้ช่วยบอกหน่วยงานสนับสนุนต่างๆหน่อยค่ะว่าช่วยพัฒนา
หรือทำอะไรก็ได้เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารลงสู่ชุมชนหน่อยค่ะ
ผู้วิจัยเชื่อว่าชุมชนมีศักยภาพ แต่ชุมชนขาดโอกาส
ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องงบตำบลละแสน หรือ เรื่องงบ
สปสช. (ขอโทษนะคะที่ต้องเอ่ยชื่อหน่วยงาน)
ชาวบ้านไม่รู้เลย มีแต่แกนนำบางคนที่รู้
ซึ่งถ้าคิดดูให้ดีๆ
ที่กลุ่มต่างๆไม่ค่อยกล้าที่จะ…กับแกนนำ ก็เพราะว่า
กลุ่มเหล่านี้เขาเกรงใจเห็นว่าแกนนำเป็นผู้ดึงงบลงมาให้
หรือไม่เขาก็กลัวว่าถ้ามีปัญหากับแกนนำ
แกนนำก็จะไม่ช่วยเหลือในเรื่องนี้ กลุ่มก็เลยไม่เจริญสักที
ไม่รู้ว่าจะตอบตรงคำถามหรือเปล่าค่ะ
ยังไงอ่านแล้วก็ช่วยตอบกลับด้วยค่ะ อ้อ!
อย่าลืมขยายความศัพท์หรือ Concept
ต่างๆที่ผู้วิจัยถามด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ