dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

ความรู้ผู้ปกครอง


พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม

เสริมความรู้ผู้ปกครองสู่

การพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม

            การจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียน  จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่  ผู้ปกครองที่ร่วมกันกับทางโรงเรียนจะทำให้ลูกหลานของเราพัฒนาได้ทั้งร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคมและสติปัญญา ครูปฐมวัยจำเป็นจะต้องให้ความรู้  ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่เริ่มนำบุตรหลานมาเข้าโรงเรียน  ความรู้ดังกล่าวขอยกตัวอย่าง   ดังนี้

            1. พ่อแม่  และสมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก  ความรักความผูกพันกับเด็กก่อให้เกิดความรักและอาทรต่อกัน  ถือเป็นการสร้างเสริมพื้นฐานที่มั่นคงทางจิตใจและบุคลิกภาพให้กับเด็ก  พ่อมีบทบาทสำคัญต่อลูกชายและลูกสาว  และพ่อเป็นกำลังสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูลูก

            2. การให้เวลาและเอาใจใส่เด็ก  ด้วยความรักความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ  โดยสังเกตท่าที  สัมผัสอย่างอ่อนโยน  พูดคุยโต้ตอบและเล่นกับเด็ก  เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

            3. เด็กแต่ละคนมีลักษณะพื้นอารมณ์และความถนัดต่างกัน  เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นก็จะมีการเรียนรู้  การคิด  การพูด  และการแสดงออกที่เปลี่ยนไปจากเดิม

            4. เด็กชายและเด็กหญิงต่างมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกันทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  และสังคม  ต่างมีความสามารถในการเรียนรู้  และมีความต้องการที่จะได้รับความรัก  ความสนใจ  ความเข้าใจ  และการยอมรับจากบุคคลต่างๆ

            5. ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การสัมผัส  การได้ยิน  การได้กลิ่น  การมองเห็น  การรับรส  และจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากการสำรวจสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว

            6. การพัฒนาสมองและจิตใจของเด็ก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  เมื่อเด็กได้รับการสัมผัส การกอด  การได้ยินเสียงและเห็นหน้า  การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อได้รับความรัก  ประสบการณ์  การเรียนรู้จากคนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว  เด็กที่มีความรู้สึกมั่นคงจะมีผลการเรียนที่ดี  และสามารถปรับตัวได้ง่ายเมื่อเผชิญปัญหา  พ่อแม่จึงควรส่งเสริมชี้ชวนให้ลูกได้มองเห็น  ได้ยิน  สัมผัส  จับต้อง  พูดจาโต้ตอบ  ให้ทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง  โดยความดูแล  สนับสนุนตามความสามารถของลูก

            7. การสนับสนุนให้เด็กสำรวจและเล่นกับผู้คนและสิ่งรอบตัวที่ปลอดภัย  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้  และมีพัฒนาการรอบด้านอย่างสมดุลทั้งด้านจิตใจ  สังคม  ร่างกาย  และสติปัญญา  โดยเฉพาะกิจกรรมการเล่นของพ่อแม่กับลูก  จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการมีพัฒนาการในเด็กปฐมวัย  กิจกรรมการเล่น เช่น

            - ฝึกการวาดภาพ  โดยใช้สมุดภาพระบายสีและดินสอสีเทียนแท่งใหญ่

            - เล่นบทบาทสมมติกับลูก,เล่นไม้บล็อก

            - ฝึกโยนลูกบอลลงตะกร้า

            - ฝึกเปิดหนังสือนิทานเอง

            - อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง

            - เปิดเพลงหลายๆแบบที่ไม่มีจังหวะรุนแรงให้ฟัง

            - ให้ตัดกระดาษด้วยกรรไกรปลายมนหรือ ฉีก ปะกระดาษ

            - เล่นน้ำ เล่นทราย

            ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของความรู้ความเข้าใจที่ครูควรให้กับพ่อแม่  ผู้ปกครอง  อย่างต่อเนื่อง  เมื่อเขาเหล่านั้นพาลูกหลานมาเข้าโรงเรียนและคอยส่งเสริมสนับสนุนให้นำสู่การปฏิบัติต่อไป

หมายเลขบันทึก: 252884เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2009 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาชม

ทายทักนะครับ แบบสบาย ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท