ปี่พาทย์อยุธยา 11


ปี่พาทย์อยุธยา 11

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๑๑ : บทกลอนสอนดนตรี

                                                                                           กนก  คล้ายมุข

-------------------------------------------------------

             การสร้างสรรค์สั่งสมภูมิปัญญา เป็นกระบวนการเรียนตามธรรมชาติของมนุษย์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม การถ่ายทอดความรู้วิชาการต่าง ๆ ในอดีต  ส่วนใหญ่ทำด้วยการสาธิตวิธีการ  การสั่งสอนด้วยการบอกเล่า (Oral tradition) ในรูปของเพลงกล่อม คำพังเพย สุภาษิต แต่มักไม่มีการสร้างองค์ความรู้ไว้เป็นลายลักษณ์ (Literary tradition) นอกจากศิลปวิทยาการระดับที่มีความสลับซับซ้อน จึงจะใช้ลายลักษณ์ในรูปของตำรา เช่นตำรายา ตำราโหราศาสตร์ ฯลฯ  นอกจากการสอนโดยตรงแล้ว ครูพักลักจำ ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อีกวิธีหนึ่งที่มีมาแต่เดิม  ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ในทำนองแอบเรียน  แอบเอาอย่าง  แอบลองทำดู  ตามแบบอย่างที่เฝ้าสังเกตเงียบ ๆ  แล้วรับเอามาเป็นของตน วิธีนี้ดูเผิน ๆ เป็นเสมือนการลักขโมยสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของผู้อื่น แต่ในความหมายที่เข้าใจกันหาสื่อความหมายในทางชั่วร้ายไม่ หากเป็นวิธีธรรมชาติธรรมดาของคนไทย ในการเรียนรู้จากผู้อื่น

             การเรียนดนตรีไทยก็เช่นเดียวกัน การถ่ายทอดมักทำในรูปลักษณะ มุขปาฐะ โดยทำการถ่ายทอดด้วยการสาธิตวิธีการ การสั่งสอนด้วยการบอกเล่าตัวต่อตัว และวิธีครูพักลักจำ ก็เป็นวิธีการสำคัญที่นักดนตรีทั่วไปนิยมใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากคำกล่าวไหว้ครู ยังกล่าวถึงครูพักลักจำว่า “…ไหว้คุณครูผู้ทรงจับมือ  ครูฝึกปรือให้ชำนาญเพลงการเก่ง  ไหว้ครูพักลักจำแนะนำเพลง…..”

             การสอนดนตรีไทยด้วยความทรงจำ ปฏิบัติอย่างจริงจังจนเกิดความชำนาญ จึงเป็นการสอนที่ผู้รับถ่ายทอดต้องมีความทรงจำอย่างดีเลิศ  ในอดีตไม่มีเครื่องบันทึกเสียง ไม่มีสัญลักษณ์ช่วยจำที่เป็นโน้ต  จึงมีกลุ่มนักดนตรีบางกลุ่มพยายามคิดวิธีช่วยจำของตนเองขึ้น เป็นบทกลอน บาง เป็นคำพังเพยบ้าง เพื่อเป็นการช่วยจำ  ซึ่งทำให้สามารถจนจำได้ง่ายขึ้น บางครั้งครูผู้สอนเองก็พยายามคิดหากลยุทธ์ต่าง ๆ นา ๆ เพื่อให้ลูกศิษย์สามารถนำไปเป็นเครื่องเตือนความจำเสียงเองด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 


              การเรียนดนตรีไทย  จึงมีการสร้างสัญลักษณ์ในการทรงจำเป็นของตนเองขึ้น  ซึ่งสร้างได้ทั้งในส่วนของครูผู้สอนและศิษย์ผู้รับการถ่ายทอด อาทิ

             . กำหนดรูปแบบเทคนิควิธีการบรรเลง เช่น วิธีการแยกเขี้ยว ใช้กับระนาดเอก  การโยนซ้าย  โยนขวา ใช้กับฆ้องวง  เป็นต้น

             . กำหนดเป็นกลอน (รูปแบบทางเพลง) เพื่อความเข้าใจในการบรรเลงที่ต้องบรรเลงซ้ำ ในเพลง เช่น กลอนหัวแตก  สับหัวกระดี่ เป็นต้น

             . กำหนดเสียง เช่นครู ออกเสียง น้อด นอย หรือ  แต่ง ติง แนง แนง แต๊ง  ติง แนง แนง เป็นต้น

             . กำหนดสถานที่ เช่น ร่องกระดาน ลูกฆ้อง (สำหรับเด็กหัวไม่ดี) อยู่ตรงไหน ตีตรงนั้น เป็นต้น (กรณีนี้ไม่ควรนำไปใช้นัก)

             . กำหนดเป็นบทร้อยกรอง  เช่น อีหนูตูดเปรอะ  ทำไมถึงตูดเปรอะ  ขี้ไม่เช็ดตูด เป็นต้น

                                                ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 


             กลุ่มผู้เรียนดนตรีไทยประเภทเครื่องหนัง ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้เรียนที่ครูผู้สอนทดลองแล้ว ว่าไม่สามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนองได้ และมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ใช้สมองน้อย จึงหันเหให้เรียน เครื่องหนัง การสอนให้เรียนกลองประเภทต่าง ๆ จึงจำเป็นที่ครูต้องหากลยุทธ์ช่วยจำต่าง ๆ นา ๆ พระราชมุนี(หลวงพ่อเทียม)  อดีตเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชวรวิหาร เดิมเป็นนักดนตรีมาก่อน ท่านมีวิธีสอนตีหน้าทับกลองแขกให้กับศิษย์ เพื่อเป็นการช่วยให้จำง่ายขึ้น โดยใช้สอนให้ผู้เรียนท่องเป็นบทกลอน ซึ่งอาจเกิดด้วยเหตุที่กลอง เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถทำเสียงเป็นทำนองเพลงได้ เหมือนเครื่องดนตรีดำเนินทำนองอื่น ๆ

 

ค่ำ ค่ำ ขนุน หนอน เจาะ คว่ำกิน หงายกิน คว่ำกิน หงายกิน

 

   เป็นบทกลอนที่ใช้สอนตีกลองแขก สำหรับตีทำนองหลักหน้าทับนางหน่าย แปลง ผู้เรียนจะจดจำง่ายขึ้น เมื่อห่างจากครูไปแล้วยังสามารถจำได้ แม่นยำขึ้นใจ สามารถแปลงเป็นเนื้อกลองได้อย่างชัดเจน ดังนี้

 

- - - -

- ค่ำ - ค่ำ

- - ขนุน

-หนอน- เจาะ

- คว่ำ-กิน

-หงาย-กิน

- คว่ำ-กิน

-หงาย-กิน

 

            จากบทกลอนดังกล่าว สามารถกำหนดเป็นหน้าทับกลอง เพื่อความเข้าใจง่าย ได้ดังนี้

 

- - - -

-  ทั่ง - ทั่ง

- - ตลิง

- ติง - ติง

- โจ๊ะ - ติง

- ทั่ง - ติง

- โจ๊ะ - ติง

- ทั่ง - ติง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


             เมื่อจำทำนองหลักได้แล้ว การแต่งแต้มสีสันจึงเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากนัก นอกจากนี้ยังพบว่ามีบทกลอนสอนช่วยจำอีกมามาย  แต่มักเป็นบทกลอนที่มีลักษณะเป็นสองแง่สองง่าม เน้นในเรื่องความสนุกสนาน หยาบโลน แต่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของผู้เรียนมากกว่า (ครูไม่ได้กำหนดไว้ แต่ผู้เรียนนำมากำหนดเอง)

    นับได้ว่าบทกลอนทางดนตรี  เป็นกุศโลบาย ที่มีประโยชน์มาก  การกำหนดภาษาที่เป็นบทเป็นกลอน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ใช้ช่วยจำและเป็นการปรับเปลี่ยนความจำเจในการเรียนดนตรีไทย นับเป็นการใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ  และเป็นภูมิปัญญาของครูดนตรีไทย ที่พยายามกระตุ้นให้เกิดความสนุกสนาน กระตือรือร้นที่จะเรียน จดจำ ให้เกิดความเชี่ยวชาญด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 252507เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 01:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท