ที่เกริ่นชื่อเรื่องเช่นนี้ เพราะผมคิดว่า ทุกคนที่ทำงานด้านวัยรุ่น
หรือมีลูกหลานเป็นวัยรุ่น
ก็น่าจะมีอคติหรือความมืดบอดเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งบางที การได้เขียนสิ่งเหล่านนี้ออกมา
ก็ได้เตือนตัวผมเอง ให้ตระหนัก และระมัดระวังอคติเหล่านี้
ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า
ผมเองเพิ่งเริ่มหันมาจับงานด้านการวิจัยและพัฒนาวัยรุ่น
แต่อาศัยที่ตัวเองมีพื้นฐานทางสังคมวิทยามานุษยวิทยามาบ้าง
ก็เลยมานั่งวิเคราะห์ดูเท่าที่ตัวเองมีประสบการณ์
ผมเห็นว่าข้อเขียนที่ผมใช้เตือนใจตัวเองอาจจะมีประโยชน์แก่คนอื่นๆอยู่บ้าง
เลยเอามาลงใน Blog นี้ ก็ไม่จำกัดสิทธิในการแลกเปลี่ยนนะครับ
อย่างไรแล้ว นี่ก็เป็นความเห็นส่วนตัว
ก็ใช้วิจารณญานกันนะครับว่าควรเชื่อ ไม่ควรเชื่อ อย่างไร
ผมเห็นว่า คนทั่วไป มีอคติต่อวัยรุ่น อย่างน้อย 5 ประการ
ซึ่งจะทยอยนำมาเล่า ดังนี้ครับ
1. การลดทอนปัญหาวัยรุ่นเป็นเพียงระดับปัจเจก (individualization)
การลดทอนปัญหาวัยรุ่นเป็นปัญหาปัจเจก
แทนที่จะเชื่อมโยงกับโครงสร้างสังคม วัฒนธรรมและบริบทของการพัฒนา
เมื่อปัญหา ถูกมองแคบๆว่าเป็นเรื่องปัจเจก
ก็มักนำไปสู่การใช้อัตตาปกป้องอัตตา
การแก้ปัญหาโดยความรุนแรงแบบตัวต่อตัวก็เกิดตามมาโดยง่าย
วิธีแก้ปัญหาก็คับแคบไปตามระเบียบ เราจึงเห็นว่า ปัญหาวัยรุ่นลีซู
มูเซอ ที่นี่ตีกัน ทำร้ายกันเอง ทำร้ายพ่อแม่
(ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เกิดขึ้นไม่รู้จบ
และแนวโน้มสูงขึ้น
เช่น การที่วัยรุ่นลีซูในงานประจำปีของอำเภอ เมาเหล้าตีกันทุกปี
ตำรวจที่นี่ เขาเอารถบรรทุกใส่กรงมาตั้งไว้กลางงาน
เห็นวัยรุ่นคนไหนกำลังจะร่ายรำเพลงยุทธ์ ก็จับยัดกรงประจานกันเลย
ก็โอเคว่าในระยะสั้น ก็จะแก้ปัญหาการตะลุมบอนในงานได้ระดับหนึ่ง
แต่วัยรุ่นเหล่านี้ก็ออกไปทำร้ายกันข้างนอกครับ
ผมก็มาตั้งคำถามเงียบๆคนเดียวว่าต้องสร้างกรงอีกสักกี่ร้อยๆวางรอบอำเภอ ถ้าจะสกัดกั้นปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างได้ผล
จริงๆแล้ว ปัญหาวัยรุ่นมีความซับซ้อนมาก และต้องอาศัยการศึกษา ค้นคว้า
วิจัยอย่างต่อเนื่อง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
มีเงื่อนไขหลายประการที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น เช่น ขนาดของชุมชน ลักษณะวัฒนธรรมประเพณีในถิ่นที่พวกเขาอยู่อาศัย พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความแตกต่างทางชนชั้น ฐานะเศรษฐกิจ ทัศนคติของวัยรุ่นต่อร่างกาย (cultural body image) และเรื่องทางเพศ (Sexuality) และเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น คือบทบาททางเพศ (sex roles) ที่สังคมคาดหวังต่อวัยรุ่น[1]
ยกตัวอย่าง วัยรุ่นชายในสังคมอเมริกันถูกคาดหวังให้แสดงบทบาทของผู้นำ มี “ความเป็นชาย” ในลักษณะของความก้าวร้าว แสดงอำนาจ เป็นผู้ชนะ ผู้พิชิต รักการผจญภัย ในทางกายภาพก็มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เหมือนนักกีฬาหรือดาราภาพยนตร์ ส่วนวัยรุ่นหญิงในสังคมอเมริกันถูกคาดหวังให้แสดงบทบาท “ความเป็นหญิง” ในลักษณะของความสุภาพอ่อนโยน เหนียมอาย เชื่อฟัง ยอมรับอำนาจผู้ชายและผู้ที่มีอายุมากกว่า ในทางกายภาพก็ต้องมีทรวดทรงองค์เอวผอมเพรียวฟิต กระชับเหมือนดารานักร้อง หรือนางแบบชื่อดัง[2]
ลักษณะบทบาท “ความเป็นหญิง-ชาย”
ของวัยรุ่นในสังคมไทยก็ไม่ต่างไปจากวัยรุ่นอเมริกันเท่าไรนัก
ยิ่งในบริบทที่อารยธรรมอเมริกันไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทยนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกจนมาถึงฉบับปัจจุบัน
และมีแนวโน้มที่เราจะนิยม “ความเป็นอเมริกัน” มากขึ้น
น่าจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงบทบาท “ความเป็นหญิง-ชาย”
ต่อวัยรุ่นในสังคมไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมืองอย่างเข้มข้นขึ้น
สำหรับวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ในชนบท อย่างอำเภอปางมะผ้า
จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ผมทำงานอยู่นี้
ตัวผมถึงแม้จะมีประสบการณ์ในการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขามาบ้างแล้ว
แต่ก็เป็นกลุ่มอิวเมี่ยน (เย้า) ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง
ซึ่งอาจจะเทียบเคียงกันได้ไม่เท่าไร
เพราะต่างกลุ่มชาติพันธุ์กับที่นี่
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ผมเห็นว่า “ ความเป็นหญิง ” และ “ความเป็นชาย” ที่อยู่ในจารีตประเพณีของสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของที่ปางมะผ้านี้ กำลังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และรุนแรงขึ้น จนกลไกทางสังคมเดิมในชุมชน เช่น โครงสร้างการปกครองตามจารีต กลุ่มเครือญาติ แซ่สกุล ไม่สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ การใช้วิธีเดิม เช่น หลักจารีต วิธีคิดในการมองปัญหาแบบเดิมในการแก้ไขปัญหา มักจะนำมาซึ่งความรุนแรง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขาดการทำความเข้าใจ ศึกษาวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมจากหลายๆฝ่าย ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
วัยรุ่นชายในกลุ่มชาวเขา โดยทั่วไป
จะถูกคาดหวังให้เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้นำครอบครัวและชุมชน
พวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยพิธีกรรมหรือกิจกรรมบางสิ่งบางอย่าง
ที่กลุ่มเพื่อนยอมรับ (ทั้งเพื่อนเพศชายและหญิง)
และกลุ่มผู้ใหญ่ยอมรับ เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่ในสังคม
แต่ที่ทำความลำบากใจให้กับพวกเขานี้ก็คือ
วัยรุ่นต้องสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนอย่างน้อยสองกลุ่ม คือ
กลุ่มเพื่อนวัยรุ่น และกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน
ซึ่งมีวิธีคิดที่ต่างกันมหาศาล และโดยทั่วไป
วัยรุ่นที่เลือกจะอิงกับกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน ก็จะถูกมองว่าเป็นคนดี
แต่วัยรุ่นที่เลือกจะอิงกับกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น
เลือกที่จะสร้างสรรค์วัฒนธรรมกลุ่มย่อย (subculture) ของพวกเขาเอง
เช่น การสักลวดลายแฟชั่นตามเนื้อตัว การย้อมผมสีจัดๆ
การดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์
การใช้ภาษาแสลงและศัพท์ที่รู้กันเฉพาะในกลุ่ม
จะกลายเป็นผู้ร้ายในชุมชนตามจารีตประเพณี และผู้ใหญ่
รวมถึงสถาบันทางสังคมที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสูง เช่น โรงเรียน
วัด เป็นต้น
จริงอยู่ ก็มีวัยรุ่นไม่น้อย
ที่สามารถสร้างการยอมรับให้กับทั้งสองกลุ่ม
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีในสายตาของสังคม
แต่เราไม่ค่อยนึกถึงหัวใจของวัยรุ่นว่าลึกๆพวกเขารู้สึกอย่างไร
อึดอัดมากน้อยแค่ไหนหรือเปล่า อันนี้ ผมก็ไม่รู้
และอยากจะรู้เหมือนกัน ได้แต่คอยสังเกต
แต่คิดว่าจะได้ถามพวกเขาสักวัน
การแก้ปัญหา โดยการขีดเส้นแบ่งระหว่าง เด็กดี และ เด็กเลว
โดยไม่วิเคราะห์เชื่อมโยงกับมิติทางสังคมวัฒนธรรม ความคาดหวังทางสังคม
และประวัติศาสตร์ชุมชนที่รายรอบและหล่อหลอมพวกเขามา
จึงไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด
และอาจจะเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงของอำนาจในรูปแบบอื่นๆก็เป็นได้ เช่น
อำนาจรัฐ อำนาจจารีตประเพณีที่มีต่อวัยรุ่น
รวมไปถึงอำนาจของระบบทุนนิยมที่มีต่อวัยรุ่น
เหล่านี้เป็นอำนาจที่น่ากลัว เพราะเรามองไม่เห็น
และไม่ตระหนักรู้ว่ามันมีอยู่
แถมยังล่อหลอกให้เรามองปัญหาและตัดสินวัยรุ่นอย่างผิวเผินโดยง่าย
ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ รัฐบาล หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง
จึงมักจะถูกสังคมสร้างว่าเป็นฝ่ายถูกเสมอ
และติดกับดักของการมอง “ปัญหา” วัยรุ่น
เป็นเรื่องของปัจเจกอยู่ร่ำไป
(สาระในตอนต่อๆไป หัวข้อ 2-6)
2. การไม่เปิดกว้างต่ออัตลักษณ์ที่หลากหลายของวัยรุ่น
3. การไม่เข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการของวัยรุ่น
4. การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น
5. การขาดความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหมู่วัยรุ่น
6.การละเลยที่จะสร้างสรรค์ยุทธวิธี/การจัดการความรู้และการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ๆ
[1] “ชีวิตเด็กวัยรุ่นในมุมมองมานุษยวิทยา” ถอดความจาก Adolescence in American and Chinese culture ของ Sukaina Jaffer, online available 20 February 2004 ดูในเว็ปไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ที่ http://www.sac.or.th/index.htm
[2]
เรื่องเดียวกัน
ไม่มีความเห็น