(4) เกษตร ที่น่าภูมิใจ


เจ้าหน้าที่ที่รู้จักใช้เครื่องมือทำงานกับชุมชน/กลุ่ม ก็เหมือนกับใช้การจัดการความรู้มาก่อนแล้ว

   นานมาแล้วที่ดิฉันได้ลงไปพื้นที่เพื่อจัดทำแผนชุมชนโดยใช้ PAP ซึ่ง PAP เป็นเทคโนโลยีที่สอนให้เจ้าหน้าที่ได้รู้จักเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อชวนชาวบ้านคุย ชวนชาวบ้านเก็บข้อมูล ชวนชาวบ้านวิเคราะห์และสรุปข้อมูลของตนเอง เช่น  ถ้าต้องการรู้ว่า มีรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือนเกษตรกรเท่าไหร่ หรือแม้ว่าถ้าต้องการรู้รายรับ-รายจ่ายในภาคเกษตร/นอกภาคเกษตร ก็จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "ปฏิทินรายรับ-รายจ่าย"  และถ้าต้องการรู้ว่า กระบวนการผลิตพืช หรือการทำเกษตรของเกษตรกรเป็นอย่างไรบ้าง? ก็จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "ปฏิทินการปลูกพืช" เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าเราคลี่ PAP ออกมาก็จะมีเครื่องมือไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด ที่เราสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากการทดลองนำไปใช้กับเกษตรกร หรือจากการแลกเปลี่ยนและการสังเกตจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติให้เราดู

   สิ่งดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้กับเกษตรกรกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้โดยเฉพาะการจัดกระบวนการกลุ่ม หรือการจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่ของดี ๆ เหล่านี้ได้ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งการจัดการความรู้ได้เข้ามามีบทบาทในองค์กรจึงเป็นความต่อเนื่องที่เริ่มมีการรื้อฟื้น/ทบทวนว่า เพราะอะไร? KM จึงขยับตัวได้ช้า เข้าใจยาก และนำไปสู่การปฏิบัติได้ยังไม่ครอบคลุม  สิ่งดังกล่าวเป็นองค์ความรู้ด้านทักษะที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีในเรื่องของ "กระบวนการ" มีความรู้ความเข้าใจหรือใช้เครื่องมือเป็น และเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับเนื้อหาได้ตรงก็จะทำให้ใช้การจัดการความรู้ได้ต่อเนื่อง ดังนั้น ฐานความรู้ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องมือในการทำงานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรและชุมชน จึงเริ่มมีการพูดคุยและมีการนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

   ในสมัยก่อนเจ้าหน้าที่ได้เริ่มต้นฝึกฝนการใช้เครื่องมือเพื่อทำงานกับชุมชนในรูปแบบของทีมงาน เช่น ทีมเดี่ยว ทีมคู่ ทีมสาม และทีมกลุ่ม มีทั้งที่ถูกบังคับให้ทำ และสมัครใจที่จะทำโดยลงไปจัดเวทีชุมชน/จัดกระบวนการกลุ่มเพื่อจะได้รู้สถานการณ์การทำเกษตรของเกษตรกร อาทิเช่น ศักยภาพของพื้นที่เป็นอย่างไร เกษตรกรปลูกพืชอะไรบ้าง มีสังคมความเป็นอยู่กันอย่างไร มีกลุ่มเกษตรกรอยู่ที่ไหนบ้าง เกษตรกรมีรายรับ/รายจ่ายจากอะไรบ้าง  มีเวลาทำงาน/เวลาว่างในช่วงไหน  และอื่น ๆ จนกว่าจะได้ข้อสรุปว่า ตกลงแล้วเกษตรกรมีปัญหาในอาชีพเกษตรเรื่องอะไรบ้าง? ที่ต้องการพัฒนา จะใช้วิธีการไหนดี  และจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง? ที่จะช่วยเหลือกัน

   การทำงานในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาไม่มีคำว่า "วันหยุด หรือเวลาเลิกงาน" เพราะส่วนใหญ่เป้าหมายการทำงานจะอยู่ที่การลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก หรือถ้าในช่วงปิดเทอมเจ้าหน้าที่ก็จะพาครอบครัวลงไปทำงานในชุมชนด้วย เด็ก ๆ ได้เห็นการทำงานของพ่อหรือแม่ หรือลุงๆ ป้าๆ อาๆ และน้าๆ ของตนเอง ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชนบทและคำว่า "เกษตรกร" เจ้าหน้าที่ก็มีแต่ความสนุกที่ได้พูดคุยกัน คิดหาวิธีการเพื่อช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหา ตลอดจนการหันหน้ามาคุยมาวางแผนงานที่จะทำร่วมกัน ถึงแม้ไม่มีเงินที่จะลงไปทำงานก็จะห่อข้าวไปกินกับเกษตรกร สิ่งเหล่านี้ เป็นภาพของงานส่งเสริมการเกษตรที่กลมกลืนกับความจริงที่เกิดขึ้น

   ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ในปัจจุบันภาพของการทำงานของเจ้าหน้าที่เกษตรจะหายไป แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่ที่กระทำดีปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ยังผลิตผลงานและขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรอยู่ตลอดเวลา.

 

หมายเลขบันทึก: 252166เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท