พรหมวิหารธรรม


ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่

         คนส่วนมาก เช่น พราหมณ์นับถือพระพรหมอย่างจับจิตจับใจ  จะทำอะไรก็ต้องการให้พระพรหมเห็นอกเห็นใจ  ช่วยให้ตนมีความสุข  พระพุทธเจ้าของเรากลับเป็นนักปฏิวัติจิตใจ  ไม่ต้องการให้ทุกคนอ้อนวอนให้ใครช่วยแม้แต่พระองค์เอง  ต้องการให้ทุกคนทำในทางที่ดีมีธรรมะเป็นหลักปฏิบัติจะได้พบพระองค์เองหรือได้เป็นพระพรหมเสียเอง

 

          พรหมวิหารธรรม  คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ มี  4 อย่าง

                   1.  เมตตา    ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

                   2.  กรุณา     ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

                   3.  มุทิตา     พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

                   4.  อุเบกขา   ความวางเฉย  ไม่ดีใจ  ไม่เสียใจ  เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

 

          คำว่า  พรหม  คือ ผู้ประเสริฐ  เข้าใจกันส่วนมาก  พรหมมีวิมานอยู่ส่วนหนึ่งต่างหากจากพวกเทพ  ไม่มีคู่ครองเหมือนพวกเทพ  อยู่เดียว  พวกพราหมณ์ถือว่าเป็นต้นวงศ์ของพวกเขา  ทางพุทธศาสนาก็มีเกี่ยวเรื่องพรหมอยู่หลายที่  ผู้บำเพ็ญตนได้ฌานสมาบัติก็ว่าตายไปเป็นพรหม  ส่วนใหญ่พระพุทธเจ้ามุ่งให้ทุกคนประพฤติธรรมที่จะทำให้เป็นพรหมมากกว่า

          คำว่า  วิหารธรรม  คือ  ธรรมเป็นเครื่องอยู่  หมายถึง  เอาใจเข้าหาธรรมะ  หรือเอาธรรมะเข้ามาไว้ที่ใจ  พูดง่ายๆ ก็คือ  ทั้งเนื้อทั้งตัวมีธรรมะ

          เมื่อนำคำทั้งสองมารวมเข้ากันเป็น  พรหมวิหารธรรม  หมายถึง  ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่  มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ  ผู้มีคุณธรรม  4 ข้อดังกล่าวมานี้  จะอยู่ในวัยไหนก็ตาม  เรียกว่าผู้ใหญ่ทั้งนั้น  โลกจะร่มเย็นดับยุคเข็ญได้  จะเว้นธรรมเหล่านี้เสียมิได้

 

          1.  เมตตา  รักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข  ความรักใคร่มี  2 ประเภท  รักอย่างมีกิเลสด้วยอำนาจกามตัณหาไม่ใช่เมตตาในที่นี้  รักชนิดปรารถนาดี เช่น บิดามารดารักบุตรธิดา  ครูบาอาจารย์ปรารถนาดีต่อศิษย์ เป็นต้น  เรียกว่า เมตตาในที่นี้  เมตตามีได้  3 ทาง

          ทางกาย  มีการช่วยทำการงานน้อยใหญ่ของเขาให้แล้วเสร็จหรือเท่าที่จะช่วยได้ เช่น ผ่าผ่อน ฝนจะตกเปียก  ช่วยเก็บให้ เป็นต้น

          ทางวาจา  ช่วยแนะนำให้ทำทางถูก  หรือสั่งผู้อื่นให้ช่วยทำกิจการของเขาให้สำเร็จเพียงท่าที่จะทำได้  ก็เป็นการดี  หรือเห็นคนประพฤติชั่ว  แนะให้ทำดี เป็นต้น

          ทางใจ  ช่วยอะไรทางกาย  ทางวาจาไม่ได้  ก็เพียงแต่นึกปรารถนาดีทางใจให้เขามีความสุขความเจริญเท่านั้นก็ใช้ได้

          การแผ่เมตตา มี  2 อย่าง        

              1.  โอทิสสผรณา   แผ่โดยเจาะจงผู้ที่ตนต้องการ คือ จำกัดตัวบุคคล

              2.  อโนทิสสผรณา  แผ่ไปในหมู่สัตว์โดยไม่เจาะจง

 

          วิธีแผ่เมตตา

              1.  แผ่ให้ตัวของเราให้มีความสุขเสียก่อน  ให้คิดถึงว่า  ตัวเราเป็นที่น่ารัก  แล้วแผ่ไปในคนที่ตนรักมี บิดา  มารดา  ครู อาจารย์ เป็นต้น

              2.  แผ่ไปในผู้ที่เป็นศัตรูกัน  ตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่โดยลำดับ  มักทำได้ยากถ้าทำก็ประเสริฐนัก

              3.  แผ่ไปในหมู่สัตว์ทั่วพิภพ  ไม่เลือกจะเป็นประเภทไหน

 

          คำแผ่เมตตาตามหลักสากลนิยม

              สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์,  เกิด แก่  เจ็บ  ตาย  ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

              จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

              จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

              จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย

              จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  รักษาตนให้พันจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

          อานิสงส์เมตตา

              ในเมตตานิสังสสูตร  พระพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์การเจริญเมตตา  สำหรับเจริญได้ดีได้รับผล  11 อย่าง คือ

              1.  ตื่นอยู่ก็อยู่เป็นสุข                            2.  หลับอยู่ก็อยู่เป็นสุข

              3.  ไม่ฝันร้าย                                     4.  เป็นที่รักของมนุษย์

              5.  พวกอมนุษย์ก็รักใคร่                         6.  เทวดารักษา

              7.  ปลอดภัยจากไฟ ยาพิษ ศัตรู         8.  จิตมั่นคง

              9.  ใบหน้าผ่องใส                                 10.  ไม่หลงตาย คือ ตายมีสติ

              11.  ปฏิบัติเมตตาสมบูรณ์แล้ว เขาถึงพรหมโลก

 

          2.  กรุณา  คือ  ความสงสาร  มีจิตใจหวั่นไหว  ในเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับทุกข์ เช่น คนถูกน้ำท่วม  ไฟไหม้  คนถูกจองจำ  สัตว์เดรัจฉานถูกทรมาน เป็นต้น  คนมีความกรุณา  เห็นใครก็ตามตกทุกข์แล้วอดที่จะช่วยเหลือมิได้มีจิตหวั่นไหว  เมื่อได้ช่วยเหลือแล้วจึงจะสบายใจ  ผู้ฉลาดทั้งหลายได้เคยทำมาแล้วมิใช่น้อย

 

          3.  มุทิตา  คือ  ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดี  จะน้อยหรือมากก็ตาม  ต้องแสดงความยินดีต่อกันเสมอ  ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้น้อยได้รับเกียรติยศตำแหน่งก็ไปแสดงความยินดีไปแสดงความยินดีในความทุกข์  ความช่วยของผู้อื่นที่ตนไม่ชอบ  ไม่เป็นมุทิตาก็มีอยู่มิใช่น้อยเหมือนกัน  ที่เห็นเขาได้ดีก็กลับอิจฉาตาร้อนหาทางทำลาย  บางครั้งจำเป็นเพราะหน้าที่บังคับให้ต้องทำก็ไปแสดงความยินดีอย่างแกนๆ  อย่างนั้นแหละ  คนที่ขาดมุทิตาจะหาความสุขมิได้เลย  ใจคอหงุดหงิดทุรนทุราย  ปัญญาเสื่อม  ไม่ค่อยมองเห็นความเจริญทั้งส่วนตัวและส่วนผู้อื่น  ชาตินี้ทั้งชาติเพียงมีลมหายใจเท่านั้น  เขาจะไม่มีความสุขเลยทั้งๆ ที่มีทรัพย์สมบัติทุกอย่างสมบูรณ์ดี  ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีมุทิตา  แม้จะเป็นคนยากจนเขาก็มีความสุขในชีวิตอย่างสมบูรณ์

         

          4.  อุเบกขา  วางเฉยไม่มีใจ  เสียใจ  เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ  คำว่า  วางเฉย  หมายถึง  ผู้ที่ตนจะช่วยทำผิดต่างๆ เช่น ผิดกฎหมาย  ถูกจองจำตามผลของกรรมก็ไม่ช่วยเหลือ  เพราะช่วยคนผิดทำให้เสียหลักยุติธรรม  หรือผู้ที่ตกน้ำไปต่อหน้า  แต่หมดทางที่จะช่วย  ท่านให้วางเฉย  การวางเฉยองไม่ประกอบด้วยอคติ  ถ้ายังประกอบด้วยอคติแล้ว  เขาจะมีความวางเฉยไม่ได้เลย

 

          ผู้ที่มี  พรหมวิหารธรรม  แม้จะอยู่ในฐานะเช่นไร  จะดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม  ช่วยเหลือบำบัดทุกข์ภัย  ให้ความสุขสนับสนุนให้ก้าวหน้า  พลอยยินดีในความดี  หรือผลงานของบุคคลทั่วๆ ไป  ไม่ส่งเสริมในทางชั่วร้าย  ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม  ก็จะเป็นอยู่อย่างสุขสบายเป็นนิจนิรันดร

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 252165เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท