#สอบสวนโรค# วัณโรคดื้อยาหลายขนาน กรรมของคนไทย.....


แต่ในความเลวร้ายก็ยังมีความคลาสสิค เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ฉลาด เค้าก็เลยสามารถคิดค้นยามาสู้กับเจ้าวัณโรคนี้ได้เป็นผลสำเร็จ แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ป่วยจะต้องกินยาตามสูตรให้สม่ำเสมอ (คือทุกๆวัน) ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน รับรองหายขาดมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ากินๆหยุดๆ เชื้อมันก็อาจดื้อยาขึ้นมา ต้องเปลี่ยนยาขนานใหม่ สูตรใหม่ ซึ่งถ้าคนไข้ยังกินแบบตามใจฉัน กินบ้างไม่กินบ้างแล้วล่ะก็ ความซวยก็จะมาเยือนล่ะครับทีนี้ มันจะกลายเป็น "วัณโรคดื้อยาหลายขนาน"

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสติดตามพี่ที่ทำงาน ในการพาเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยจากตำบลต่าง ๆ ในจ.เลย ไปฝึกสอบสวนโรคจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของหลักสูตรพัฒนาทีม SRRT (Surviellance and Rapid Response Team) ในระดับสถานีอนามัย ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ได้ถูกดำริมาจากแนวความคิดที่ว่า ฟังบรรยายให้ตาย ก็ว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าไม่ได้ลงสระจริง

ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานคนนี้ ถูกรายงานเข้ามาในระบบเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี่เอง แต่กว่าจะถูกรายงานได้ คนไข้ก็วิ่งแจ้นไปรักษาที่นั่นที่โน่นที่นี่ จนเพลียแรงเต็มทนแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของคนป่วย ที่จะวิ่งรอกเปลี่ยนสถานที่รักษาไปเรื่อยๆ เมื่อสถานพยาบาลเดิมไม่ได้ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น

อันที่จริงนะครับ วัณโรค หรือ ที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า M.Tuberculosis เรียกสั้นๆ เป็นอันเข้าใจว่า TB นี่มันเป็นโรคที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาเป็นพันๆปีแล้ว มันติดต่อทางละอองของเสมหะ ที่ทั้งฟุ้งกระจายลอยออกมาจากปากและจมูกเวลาที่คนที่มีเชื้อไอหรือจามออกมา และส่วนหนึ่งก็จะตกลงสู่พื้น แล้วแห้งกลายเป็นฝุ่นผงแสนละเอียด ที่สามารถฟุ้งกระจายขึ้นมาล่องลอยอยู่ในอากาศ รอเวลาทีคนใจดีสูดมันเข้าไปให้มันได้พักและแบ่งตัวอยู่ในปอดอย่างช้าๆ

ไอ้เรื่องฝุ่นฟุ้งนี่แหละ เป็นที่มาของมาตรฐานที่ว่าโรงพยาบาลไม่ควรติดตั้งพัดลมเพดานในที่นั่งพักของผู้ป่วยและญาติในหอผู้ป่วยนอก เพราะพัดลมชนิดนี้จะพัดลมจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง แรงลมจะกระแทกทุกอย่างที่อยู่บนพื้นให้ฟุ้งลอยขึ้นมาบนอากาศ แล้วตกลงไป แล้วฟุ้งขึ้นมาอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะมีผู้โชคดีทำแจ๊กพ๊อตแตกมารับเอาเชื่อ TB นี่ไป.....นี่ไม่ได้หมายถึงวัณโรคอย่างเดียวนะครับ แต่มันส่งผลกับทุกโรคที่ติดต่อทางลมหายใจเลยล่ะ

แต่เจ้าประคุณ....ไปดูเถอะ รพ.ร้อยละแปดสิบ ติดพัดลมเพดานอันบักใหญ่กันทั้งนั้น ลมเย็นสบายหายห่วงกันเลยทีเดียว

ด้วยความที่มันติดต่อได้ง่ายมากๆอย่างที่กล่าวไป เค้าก็เลยคิดกันว่า สงสัยป่านนี้ประชากรโลกคงติดเชื้อ TB กันไปเยอะแยะตาแป๊ะเหม็งแล้ว แต่ที่ผ่านมามันไม่ค่อยเป็นปัญหารุนแรง เพราะถึงแม้ว่าเจ้า TB มันจะติดต่อได้ง่าย แต่ถ้ามันไปอยู่ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว มันแทบจะไม่มีพิษสงอันใด แบ่งตัวไม่ค่อยขึ้น เพราะถูกภูมิคุ้มกันกดเอาไว้ แต่เมื่อไหร่ที่ภูมิคุ้มกันของเราบกพร่องลงแล้ว เมื่อนั่นแหละคือช่วงเวลาทองที่มันจำสำแดงเดชขึ้นมาจนเราต้องกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคในที่สุด

ทีนี้เห็นความสำคัญของการวิ่งออกกำลังกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือยังครับ

ยิ่งเมื่อมีการระบาดของโรคเอดส์ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของเราบกพร่องแล้ว ก็เข้าทาง TB มันเลยสิครับ ทั่วโลกมีคนที่ป่วยเป็นวัณโรคอันเนื่องมาจากเอดส์ ล้านกว่าคนแล้ว และจะยิ่งสูงขึ้นเรื่องๆ ถ้าเรายังคุมไม่ได้ทั้งเอดส์ และ วัณโรค อย่างที่เป็นอยู่นี้

ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าตามรักษาเยอะเลยครับ ประหยัดกว่ากันมากด้วย

แต่ในความเลวร้ายก็ยังมีความคลาสสิค เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ฉลาด เค้าก็เลยสามารถคิดค้นยามาสู้กับเจ้าวัณโรคนี้ได้เป็นผลสำเร็จ แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ป่วยจะต้องกินยาตามสูตรให้สม่ำเสมอ (คือทุกๆวัน) ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน รับรองหายขาดมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ากินๆหยุดๆ เชื้อมันก็อาจดื้อยาขึ้นมา ต้องเปลี่ยนยาขนานใหม่ สูตรใหม่ ซึ่งถ้าคนไข้ยังกินแบบตามใจฉัน กินบ้างไม่กินบ้างแล้วล่ะก็ ความซวยก็จะมาเยือนล่ะครับทีนี้ มันจะกลายเป็น "วัณโรคดื้อยาหลายขนาน"

ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ระยะเวลาการกินยาจะขยับจาก 6 เดือน เป็น 18-24 เดือนในบัดดล

บางคนอาจนึกสงสัยว่า กะอีแค่กินยา มันจะอะไรนักหนา ทีข้าว ทีขนม ยังกินกันทุกวันได้ ......... ขอให้มาเห็นจำนวนเม็ดและขนาดยาที่ต้องกินต่อมื้อ รวมถึงผลข้างเคียงจากการรับประทานก่อนเถอะครับ แล้วคุณจะรู้ว่า ถ้าไม่ได้กำลังใจที่ดีแล้วล่ะก็ ผู้ป่วยมีสิทธิ์เลิกกินเอาง่ายๆเลย

มันก็เลยมีการคิดค้นโปรแกรมการกินยาแสนวิเศษขึ้นมา เรียกว่า โปรแกรม DOTs ซึ่งย่อมาจาก ...... โดยมีหลักการว่า เพราะการกินยาให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอมันยากขนาดนั้น ต้องสรรหาพี่เลี้ยงผู้ดูแลการกินยา เพื่อให้ดูว่าผู้ป่วยเอายาเข้าปากจริง กลืนจริง แล้วบันทึกไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้......ซึ่งบางทีพี่เลี้ยงอาจเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองก็ได้ ถ้าสามารถนัดคนไข้มาที่คลินิกหรือสถานีอนามัยได้ทุกวัน

ฟังดูเหมือนดี แต่โปรดรู้ไว้ว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาการระบาดของวัณโรค และมีการบริหารจัดการ TB ได้ห่วยแตกอยู่ในอันดับที่ 18 เกือบบ๊วยเลยล่ะครับ

มีหลายกระแสบอกว่า เมื่อเทียบประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในลิสต์แล้ว ประเทศไทยจัดการโรคนี้ยาก เพราะคนไทยนั้นเดินทางกันตลอด ไม่ค่อยได้อยู่กับที่ การติดตามประเมินผลการกินยา การลงทะเบียนผู้ป่วยอะไรต่าง ๆมันก็เลยทำได้ยาก ไม่เหมือนกับประเทศแถบอาฟริกาที่เค้าไม่ค่อยไปไหน คนไข้ตามตัวได้ง่าย อัตราการรักษาหายขาด (เรียกเป็นชื่อน่ารักๆว่า "เคียวเรท") ก็เลยสูงกว่าประเทศเรา............อันนั้นเค้าก็ว่ากัน จริงไม่จริงไม่รู้

กลับมาที่วัณโรคดื้อยากันอีกครั้ง.............

ผลจากการกินยาไม่สม่ำเสมอนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการดื้อยา แต่อีกประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ การวินิจฉัยเพื่อเปลี่ยนสูตรยานั้นช้า ตามปกติแล้ว หาคนไข้กินยาสูตรใดๆแล้วตรวจเสมหะผลยังคงเป็น + ต้องถือว่าการรักษาด้วยสูตรนั้นล้มเหลว แพทย์ต้องพิจารณาเปลี่ยนสูตรใหม่ให้ แต่บางครั้งการที่คนไข้เปลี่ยนสถานที่รักษา ก็อาจทำให้การติดตามผลการรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำให้การพิจารณาเปลี่ยนสูตรยาไม่เป็นไปตามแผน คนไข้อาจได้ยาสูตรเดิมๆซ้ำซากอยู่อย่างนั้น .............จนกระทั่งเกิดการดื้อยาในที่สุด....

กินยา 18-24 เดือน ติดต่อกันทุกวันนี่ ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยนา...

ผู้ป่วยรายที่พวกเราลงไปสอบสวนในครั้งนี้ กำลังใจของแกกลับคืนมาแล้วครับ บอกว่าจะกินยาให้สม่ำเสมอ เพราะเป็นมานานอยากหายแล้ว พวกเราก็ให้กำลังใจแกเต็มที่ นึกโมโหที่โรคบ้านเรามันเยอะแยะจนเจ้าหน้าที่ไม่พอจะดูแล

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 252160เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจดีนะ แต่ว่าไม่คิดจะกลับมาทำงานแถวบ้านหรือคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท