เรียนตีขิมแบบสัมผัส...กับครูน้อยการดนตรีไทย


" อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์"

         สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาตั้งใจเรียนรู้เอาเมื่อวัยล่วงเลยมามากแล้ว นั่นก็คือการเรียนดนตรีไทย สมัยเด็กๆจะชอบการร้อง รำมากกว่า งานโรงเรียน งานเทศกาลต่างๆ ตลอดจนงานวันเกิด งานรื่นเริงต่างๆ เด็กหญิงบุญรุ่ง ตันติราพันธ์ คนนี้ จะออกไปร่ายรำ อย่างไม่เคอะเขิน ชำนิชำนาญ เพราะชื่นชอบนาฏศิลป์มาก รางวัลที่ผู้ใหญ่นึกเอ็นดู และให้เป็นกำลังใจแก่ผู้เขียนบ้าง ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญนัก แต่การออกไปร่ายรำตามจังหวะทำนองต่างหาก ที่ทำให้เหมือนตนเองล่องลอย อยู่อีกโลกหนึ่ง ที่มีแต่ความอ่อนหวาน สวยงาม สดชื่นทุกคราวไป

        รำพลายชุมพล ศรีนวล กฤษดาภินิหาริย์ เชิ้งต่างๆ ต้นวรเชษฐ์ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผู้เขียน ได้รับการฝึกสอนจากคุณครู ที่โรงเรียน แต่ทำไมผู้เขียนจึงจำได้แม่นยำ ติดตราในหัวใจยิ่งนัก ต่อมาได้ไปเรียนที่ จ.ลำปาง ก็ได้ไปรำต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมโรงเรียนอีก แสดงถึงว่าเป็นสิ่งที่ผู้เขียนถนัด และมีความรักในวัฒนธรรมไทยชนิดนี้ อย่างใหญ่หลวง

        ชีวิตคนเรานี่ก็แปลก ทำไมนะ เมื่อถึงวัยทำงาน เรากลับ หลงทำงานจนลืมเลือน ความสุขต่างๆ ที่เคยได้ทำเมื่อสมัยเยาว์วัยไปเสียสิ้น จนวันหนึ่งผู้เขียนได้ยินเสียง เครื่องเสียง ที่เด็กๆ ซ้อมกันที่โรงเรียนข้างบ้าน และแล้วความเป็นเลือดศิลปิน ก็แผ่ซ่านอีกครั้ง ผู้เขียนผ่านไปดูหลายครั้ง จนที่สุดก็เข้าไปสมัครเรียนดนตรีไทย และเลือกเรียนขิม ที่มีเสียงชนะใจผู้เขียนที่สุด นับจากวันนั้น ผู้เขียนก็ได้ทำสิ่งที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตอีกครั้ง คือการเรียนดนตรีไทย จากครูน้อย (นิรัตน์ มีมุข) ซึ่งต่อมาผู้เขียน ได้ไปเรียนที่บ้านของครู ที่อยู่ที่อ่าวอุดม ศรีราชา ทุกวันเสาร์ เป็นต้นมาก

      การเรียนวิชาดนตรีครั้งนี้ มีความพิเศษ เพราะครูน้อยสอนผู้เขียน ให้ตีขิมแบบสัมผัส คือแปลงตัวโน๊ตให้เป็นตัวเลข และตีขิมโดยไม่ต้องดูขิม ไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นการอ่านโน๊ตแบบสากล ซึ่ง ท่านบอกว่าทำให้ผู้เรียนนั้น สามารถฝึกตีได้ตามโน๊ต เพียงให้เข้าใจลักษณะ เครื่องหมายที่ได้ให้ไว้

  ครูน้อยเป็นครูคนแรกคนดียวในประเทศไทย ที่ได้มีความคิดริเริ่มและปรับการสอนแบบใหม่ ที่ผู้เขียนเป็นศิษย์ลำดับที่ สามร้อยกว่าของครู และครูก็ได้เมตตาสอนผู้เขียนอย่างละเอียด พร้อมทั้งประวัติศาสตร์ทั้งดนตรี และเรื่องราวต่างๆมากมายที่ครูน้อยนำมาเล่าให้ฟัง เสมอๆ จนเหมือนว่า ได้กลับเข้าไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ที่ชื่นชอบอีกครั้ง

  การมาเรียนครั้งนี้ ผู้เขียนถือว่า เป็นโอกาสอันดีของตัวเอง ที่ได้พบสุดยอดรูดนตรีไทยท่านหนึ่ง ที่น่ายกย่องนับถืออย่างยิ่ง

 ตั้งใจจะเล่าเรื่องของการเรียนดนตรี ขิม สัปดาห์ละครั้ง เป็นอย่างน้อย เพราะจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และผู้ที่สนใจ วิชาดนตรีไทย จะได้มีแรงบันดาลใจ ให้ช่วยกันศึกษาเล่าเรียน สืบทอดวัฒนธรรมไทยต่อๆไป

  วันนี้ ผู้เขียนอาจจะยังตีขิมไม่ชำนาญ หรือไพเราะเหมือนใครๆ แต่ก็มีความตั้งใจสูงค่ะ และหวังว่าสักวัน จะเป็นนักดนตรีที่ดี และถ้ามีโอกาส จะได้นำไปเผยแพร่ ให้ชาวโลกได้รู้จักวัฒนธรรมการดนตรีไทย ที่มีคุณค่า แห่งความไพเราะ และการเล่นที่พิศดารยิ่งนัก

      ดนตรี สร้างอารมณ์ที่ละมุนละมัย   ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน เป็นสุข เพราะเสียงดนตรีนั้น ประดิษฐ์มาจากเสียงธรรมชาติ นำมาร้อยเรียง ประสานทำนอง จนไม่ว่าชนชาติใด ก็สามารถซาบซึ้ง กับเสียงนั้นได้เป็นอัศจรรย์ ดนตรีมีคุณค่ามากกว่าที่คิด มาเถอะค่ะ มาฟังดนตรีกัน เพราะ.....

" อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์"

 

ภาพและเพลงจาก www.arunsawad.com

 


ระบำสุโขทัย(RABUM SU-KHO THAI) - Undefined

หมายเลขบันทึก: 251597เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2009 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 03:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขิมเป็นความใฝ่ฝันวัยเด็ก ที่จะเรียนค่ะ  ในความรู้สึกตอนนั้น คือคนตีขิมดูมีเสน่ห์งดงามมาก

 

ตอนนี้ เสียดาย เรียนไม่ได้แล้ว  แต่ไม่เป็นไรค่ะ  ชอบฟัง...ขอฟังด้วยคนค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะคุณSila Phu-Chaya

ดีจังเลยค่ะที่มีความคิดไว้ก่อนแล้วที่จะชอบจะรักการตีขิม

เรียกว่ามีฉันทะ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ

ดิฉันเอง มาสนใจเมื่อเวลาล่วงเลยมามากแล้ว

แต่ครูน้อยก็บอกว่า ลูกศิษย์ของท่านอายุ 90 ปี

เรียนได้สำเร็จค่ะ

หาเวลาจัดสรรนะคะ การเล่นดนตรี เป็นโลกใหม่ที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน

มันมากกว่าการฟังทีเดียว

ขอให้กำลังใจ และยืนยันว่า ขิม ไพเราะมากๆค่ะ

คุณหมอคะ..มาเรียนให้ทราบว่าคุณหมอลงรูปพระอาจารย์มหาจูมผิดค่ะ ตอนเดือนมีนาคมที่คุณหมอเขียนนะคะ..เผอิญรู้จักท่าน พอมาดูรูปก็รู้ว่าไม่ใช่ คุณหมอลองย้อนกลับไปดูเรื่องที่เขียนและรูปที่ลงนะคะ เคยไปอินเดียและติดตามอ่านเรื่องอินเดียที่คุณหมอเขียนเลยแจ้งให้ทราบค่ะ..^-^

สวัสดีค่ะคุณคนอ่านค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

จนวันนี้ดิฉันก็ยังไม่เคยเห็นหน้าท่านมหาจูม

รูปที่ลงนี้ คุณพ่อสกล วรฉัตร ท่านส่งมาคราวนั้น

และดิฉันก้ไปนำจากเมล์มาใส่

ไม่ใช่ ใช่ไหมคะ

ถ้ามีรูปท่านช่วยขอมาลงให้ด้วย

อยากเห็นหน้าท่านจริงๆ

ดิฉันจะกลับไปลบรูปนะคะ

ป้องกันเข้าใจผิดค่ะ

ขอบคุณอีกครั้ง เมื่อไหร่จะไปอินเดียอีกคะ

สวัสดีคะ ดิฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบดนตรีไทยแต่ตอนสมัยเด็กไม่สามารถเรียนได้

เพราะไม่ทราบจะเรียนที่ไหน แล้วไม่ทุนเรียนด้วยคะ การเล่นขิมเป็นความฝันจริงๆจนตอนนี้ทำงานมีทุนซื้อขิมแต่ไม่มีเวลาเรียน ตอนนี้อยู่ต่างประเทศคะไม่ทราบว่าเราพอจะเรียนด้วยตัวเองผ่านทางอินเตอร์เน็ทได้หรือเปล่าคะ รบกวนแนะนำด้วยคะ

สวัสดีค่ะคุณอรนิตย์

ยินดีที่ได้รู้จักและเป็นคนรักเสียงขิมเหมือนกัน

ดนตรีไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีครู มีเทคนิกมากมาย

จึงอยากแนะนำว่า หากมีโอกาสกลับมาประเทศไทย

พอจะมีเวลาก็มาเรียนกับครูเถอะค่ะ

จากนั้นค่อยหาความชำนาญในการฝึกต่อไป

ดนตรีเป็นเรื่องแปลก

ที่วันนี้ กับวันพรุ่งนี้ เราจะพัฒนาไปอย่างไม่รู้ตัวเลย

และดนตรีไทยต้องอาศัยทักษะและลงมือทำจริงๆ

ส่วนทางอินเตอร์เน็ตนั้นก็เห็นมีการสอนอยู่บ้าง

แต่ในส่วนตัวแล้วก้ไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก

เล่นดนตรีถ้าไม่ไพเราะ ก็ไม่ถึงดนตรีค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเสมอนะคะ

สวัสดีค่ะ

อยากเรียนขิมอ่ะค่ะ มีขิมอยู่แล้ว แต่ตีไม่เป็นไม่เรียนแบบจจิงๆจังๆ สอนคอสเท่าไหร่หรอค่ะ

อยากเรียนคับติดต่อครูน้อยได้ยังงัยคับผมอยากเรียนมากๆ

สวัสดีค่ะคุณมาลี และคุณเต๋า

ขออนุญาตตอบพร้อมกันเลยนะคะ

ครูน้อยเป็นครูดนตรีไทยที่เก่งมาก

เล่นดนตรีไทยได้ไพเราะ

ดีใจที่เห็นสองท่านมีความประสงค์จะเรียนขิม

ขอแจ้งเบอร์ครูไว้ ณ ที่นี้นะคะ

ครูน้อย 038-766605 สมามารถติดต่อครูได้เลย

ครูสอนส่วนตัว ไม่ได้สอนมากนัก

โทรไปในเวลาช่วงเย็น 19.00 น.จะสะดวกค่ะ

ขอให้ตั้งใจเรียน เป็นแน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท