แมลงวันตาอันตราย!ผลวิจัยก่อโรค 36 ชนิด


ควรกำจัดสิ่งห้อยแขวนที่อยู่ตามบ้านเรือน เช่น เชือก หยากไย่ ใยแมงมุม อย่างถูกวิธี ซึ่งหากพบแมลงชนิดนี้ ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดกำจัดได้

เผยผลวิจัย “แมลงวันตา” ระบาดในไทย ตัวเล็กกระจิดริดแต่พิษสงร้าย ชอบตอมแผล ดูดกินน้ำเลือด น้ำหนอง สารคัดหลั่งจากคนและสัตว์ ทำให้แผลหายยาก นักวิทยาศาสตร์ ตรวจพบแบคทีเรียก่อโรคถึง 36 ชนิด หวั่นตอมตาคนป่วยตาแดงแพร่เชื้อ เผย สายพันธุ์ที่ตรวจพบกินเหยื่อทั้งตัวผู้ตัวเมีย แนะประชาชนกำจัดสิ่งห้อยแขวนในบ้านเรือน จำพวกหยากไย่ ใยแมงมุม

ที่อิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ดร.อุรุญากร จันทร์แสง นักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้นำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมของแมลงวันตา และศักยภาพในการก่อให้เกิดโรคกับคนในประเทศไทย” โดย ดร.อุรุญากร กล่าวว่า แมลงวันตา หรืออาย ฟลาย (eye fly) เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีสีดำ แต่ละพื้นที่จะเรียกชื่อแตกต่างกัน เช่น ภาคใต้เรียก แมงโลม ภาคอีสาน เรียกแมลงหวี่ ทั้งที่เป็นคนละชนิดกับแมลงหวี่ โดยแมลงดังกล่าวมักเกาะอยู่ตามสิ่งห้อยแขวน เช่น เชือกพลาสติก เชือกไนลอน หยากไย่ ใยแมงมุม โมบายเก่า ๆ หรือแม้แต่สายไฟ พบแพร่กระจายทั่วไปและระบาดมากในบางพื้นที่ โดยชนิดที่พบในประเทศไทย คือ ไซปันคูลินา ฟูนิโคลา (Siphunculina funicola)
     “แผลที่แมลงวันตาเข้ามาดูดกินเลือด และน้ำเหลือง จะเป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด หากเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคตาแดง แล้วแมลงวันชนิดนี้ไปกินสารคัดหลั่งที่ลูกนัยน์ตาของคนป่วย แล้วไปเกาะกินสารคัดหลั่งจากคนอื่น ๆ อีก ก็อาจจะทำให้โรคตาแดงระบาดได้ ทั้งนี้ เมื่อเก็บตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียจากแมลงวันตาที่มาตอมแผล ตอมร่างกาย และจากสิ่งห้อยแขวนที่มัน เกาะอยู่ พบแบคทีเรียทั้งหมด 64 ชนิด ซึ่ง 36 ชนิดเป็นแบคทีเรียชนิดที่มีความเสี่ยงในการก่อโรคในระดับที่ 2 ตามประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งปกติแบคทีเรียก่อโรคจะมีระดับความเสี่ยงอยู่ 4 ระดับ ระดับ 4 เสี่ยงสูงสุดแล้ว ลดหลั่นลงไป แต่แบคทีเรียที่พบในแมลงวันตาอยู่ในระดับที่ 2 เช่น เอนเทอโรค็อกคัส สูโดโมนาส สแต็ปโตค็อกคัส สแต็ปฟิโลค็อกคัส”
      สำหรับคนที่ต้องระวังคือ คนที่เป็นแผลตามร่างกาย เป็นโรคผิวหนัง โดยเฉพาะ เด็ก ๆ ต้องระวังไม่ให้แมลงวันตาตอมแผล เพราะเชื้อแบคทีเรียในตัวแมลงวันตาอาจจะเข้าไปที่แผล ทำให้แผลหายยาก ข้อแนะนำคือ ควรกำจัดสิ่งห้อยแขวนที่อยู่ตามบ้านเรือน เช่น เชือก หยากไย่ ใยแมงมุม อย่างถูกวิธี ซึ่งหากพบแมลงชนิดนี้ ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดกำจัดได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องศึกษาต่อไปคือ แหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันตา เพื่อจะได้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ไม่ให้แพร่ระบาด นอกจากนี้คงต้องศึกษาว่า แบคทีเรีย 36 ชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนั้นเสี่ยงอย่างไรบ้าง

อ้างอิงจาก : http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=194103&NewsType=1&Template=1

คำสำคัญ (Tags): #แมลงวันตา
หมายเลขบันทึก: 250149เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2009 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท