รายงานสรุปการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย


ในปี พ.ศ. 2542องค์การวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยที่ประชุมใหญ่ได้ประกาศให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันภาษาแม่นานาชาติ” ด้วยเหตุผลว่า บรรดาภาษาประมาณ 6,000-7,000 ภาษาที่ใช้กันอยู่ในโลก จำนวนครึ่งหนึ่งกำลังถูกคุกคามไปสู่ความสูญหาย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า เด็ก ๆ เรียนได้ดีขึ้นหากเริ่มต้นเรียนด้วยภาษาแม่ของตนเอง ทั้งยังเสนอภาพเปรียบเทียบระหว่างเด็ก ๆ ที่เรียนผ่านภาษาแม่ของตนเองเสมือนการข้ามสะพานที่มั่นคงแข็งแรงที่เด็ก ๆ สามารถข้ามได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่วนเด็ก ๆ ที่ต้องเรียนผ่านภาษาอื่นเสมือนเดินข้ามสะพานผุพังที่เด็กอาจข้ามได้ด้วยความยากลำบากและบางคนอาจล้มเหลวไปเลย

รายงานสรุปการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย
(กรณีกลุ่มเด็กเร่ร่อน ชนเผ่าพื้นเมือง คนไทยพลัดถิ่น เด็กในชุมชนแออัด

บุตรหลาน/ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ
เด็กในชุมชนห่างไกลคมนาคม และเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้)
***************************************


ก. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา(Background and Justification)

1. สืบเนื่องจากการประชุมระดับโลกด้านการศึกษา (World Education Forum) ของผู้แทนประเทศต่างๆ ทั่วโลก 164 ประเทศ ณ กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล เดือนเมษายน 2543 ที่ประชุมมีมติรับรอง “กรอบปฏิบัติการดาการ์ว่าด้วยการศึกษาถ้วนหน้า” (Dakar Framework for Action on Education for All: Meeting our Collective Commitments) โดยกำหนดกรอบการดำเนินการไว้ 15 ปี (2543-2558)  ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ได้ตอบสนองข้อตกลงดังกล่าวโดยบัญญัตินโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทั้งฉบับพุทธศักราช 2540 และ 2550 อีกทั้งยังได้แก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 นอกจากนั้นยังได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างแผนระดับชาติด้านการศึกษาถ้วนหน้าขึ้น 1 ชุด โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ประสานงาน1

2. โดยหลักการแล้ว การประกาศเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากข้อบัญญัติของกฎหมายได้กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิเช่น การส่งเสริมการศึกษาประเภทต่างๆ ให้สามารถเชื่อมโยงถ่ายโอนกันได้ การส่งเสริมให้ภาคประชาชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง การให้ความสำคัญแก่วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และเจตนารมณ์ของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในแบบให้เปล่าโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นทัศนะที่เปิดกว้างของการศึกษาของไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

3. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 10 ระบุว่า “การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” นัยยะของมาตรานี้ได้เน้นให้เห็นถึงสิทธิและโอกาสอันเท่าเทียมกันของบุคคล ความครอบคลุมทั่วถึง และคุณภาพของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ในมาตรา 17 ยังกำหนดว่า “ให้การศึกษาภาคบังคับมีจำนวนเก้าปี” และมาตรา 11 ระบุว่า “บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับตามมาตรา 17...”  ดังนั้นการดูแลให้การศึกษาแก่บุคคลในประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพันธะสัญญาที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติได้ตกลงไว้ รวมถึงเป็นหลักการของการศึกษาถ้วนหน้า (Education for All) 

4. แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์สิทธิทางการศึกษาซึ่งจัดทำโดยองค์กรภาคประชาสังคมหลายๆ องค์กรในปี 2548 พบว่าประเทศไทยยังคงมีเด็กด้อยโอกาสมากกว่า 1,470,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีเด็กจำนวนร้อยละ 75 ที่เข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยข้อเท็จจริงพบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญ คือ ความยากจนภายในประเทศ ดังนั้น (1)เพื่อเป็นการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส (2) ควบคู่ไปกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของกล่มเด็กด้อยโอกาส ในลักษณะเครือข่ายเชิงพลวัตร (Group Dynamic and Networking) และ (3) การจัดทำรายงานเงาหรือรายงานทางเลือก (Shadow/Alternative Report) เพื่อใช้นำเสนอต่อคณะกรรมการประจำพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง (ในที่นี้ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับ “สิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส” ทั้งภายในประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทยในเวทีประชาคมโลก องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย จึงร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนด้านสิทธิทางการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสจำนวน 13 องค์กรในนามของ “เครือข่ายติดตามการศึกษาไทย” (Thai Education Watch Network) ประกอบด้วย ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย  เครือข่ายชุมชน จ.อุบลราชธานี องค์การแพลนประเทศไทย มูลนิธิทรัพยากรเอเชียสาขาปัตตานี มูลนิธิกระจกเงาสาขาระนอง สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเอทีดีเพื่อนผู้ยากไร้ ประเทศไทย กลุ่มพันธกิจเพื่อสังคมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(คณะอนุกรรมการด้านการศึกษาและการพัฒนา และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์) จัดทำรายงานศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย (กรณีกลุ่มเด็กเร่ร่อน ชนเผ่าพื้นเมือง คนไทยพลัดถิ่น เด็กในชุมชนแออัด บุตรหลาน/ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ เด็กในชุมชนห่างไกลคมนาคม และเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้)

ข. กระบวนการจัดทำรายงานการศึกษา(Methodology)

5. ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเชิงสถิติ โดยมีสมาชิกของเครือข่ายติดตามการศึกษาไทยทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูล และอำนวยกระบวนการศึกษาในพื้นที่ อาทิ การสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ การระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญตลอดจนผู้มีประสบการณ์ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ และการสอบถามข้อเท็จจริงจากกลุ่มเป้าหมายโดยตรง (เช่น ผู้ปกครอง และเด็กด้อยโอกาส) โดยจัดสำรวจในกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มอันดับต้นๆ ที่อยู่ในความห่วงใย (ซึ่งได้จากการนำเสนอของความเห็นของสมาชิกเครือข่าย) กระบวนการศึกษา เน้นการการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกเครือข่ายในเชิงพลวัตรควบคู่ไปด้วย โดยเริ่มจากการออกแบบกระบวนการ การจัดเก็บข้อมูล การตรวจสอบแก้ไข ตลอดจนการเรียบเรียงข้อมูล ซึ่งใช้ระยะเวลาสร้างกระบวนการทั้งหมด 1 ปี (กันยายน 2550-ตุลาคม 2551)
 
ค. ใครคือเด็กด้อยโอกาส ในการศึกษาครั้งนี้?
        
6. รายงานศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย (หรือรายงานสถานการณ์การศึกษาในประเทศไทยมุมมองจากภาคประชาสังคม) ได้ศึกษารวบรวมข้อเท็จจริงโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานขององค์กรประชาสังคมที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายติดตามการศึกษาไทย โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม คือ
  (1) ชนเผ่าพื้นเมือง จากการนิยามของสหประชาชาติ คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” (Indigenous Peoples) มีความหมายครอบคลุม กลุ่มชาวไทยภูเขาและ ชาวมอแกนหรือชาวเล และชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในภาคใต้
  (2) ชุมชนแออัด โดยส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในเขตเมืองใหญ่ เช่น ในกรุงเทพมหานคร และอุบลราชธานี
  (3) แรงงานข้ามชาติ สำรวจในพื้นที่จังหวัดระนอง ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า และมีจำนวนน้อยที่เป็นชาวกัมพูชาและลาว
  (4) ชุมชนไกลคมนาคม เป็นชุมชนคนไทยทั้งในภาคเหนือ และอีสานที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่
  (5) ชาวไทยพลัดถิ่น เป็นกลุ่มคนไทยที่เคยอาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่าก่อนมีการปักปันเขตประเทศ และหลังจากได้แบ่งเขตประเทศแล้ว พวกเขาเหล่านี้ได้ถูกเส้นเขตแดนกันออกจากความเป็นคนไทย เพราะชุมชนของตนถูกกันให้อยู่ในเขตประเทศพม่า ปัจจุบันพวกเขาได้เรียกร้องยืนยันความเป็นคนไทย โดยขอคืนสัญชาติไทย
  (6) กลุ่มคนไร้บ้านโดยเฉพาะ “เด็กไร้บ้าน” หรือ “เด็กเร่ร่อน” ซึ่งเป็นลักษณะปัญหาเฉพาะของสังคมเมืองใหญ่ที่มีการแข่งขันในการดำเนินชีวิตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกลุ่มคนชายขอบทั้งเรื่องความรู้ ความสามารถ ระดับความเข้มแข็งทางปัจจัยการดำรงชีพ ในขณะที่ยังคงต้องพึ่งพิงสภาพการใช้ชีวิตในเมือง จึงกลายเป็น “คนไร้บ้าน ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่า คนจรจัด”
  (7) เด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อาศัยอยู่บริเวณที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยๆ ทำให้ไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย เด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน และห่างไกลความเจริญ คือ ไม่มีสถานศึกษาในท้องถิ่น เป็นต้น

  กลุ่มคนอันเป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาในครั้งนี้มีลักษณะร่วมกันที่เห็นได้ชัดคือ สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและการถูกรุมเร้าด้วยปัญหา อุปสรรคนานัปการ แม้กระนั้นรัฐกลับไม่มีแผนงาน โครงการระยะยาวที่จะช่วยกอบกู้สถานะของพวกเขาให้ฟื้นคืนทั้งในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ พึงให้ความเคารพเช่นกัน

7. สภาพทั่วไปของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้ง 7 กลุ่ม คือ ความเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา และภาษา ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสจึงมีลักษณะที่หลากหลาย โดยทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย” (Ethnic Minority Groups) คือส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แต่กลับไม่มีใครคิดว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนและชุมชนชาวจีนในไทยเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส นั่นเป็นเพราะว่าความด้อยโอกาสมิได้ผูกพันกับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เพียงลำพัง แต่พิจารณาจากมิติของ “สิทธิ” (Rights) “อำนาจ”(Power) และ “โอกาสทางสังคม” (Social Opportunity) ที่ทำให้กลุ่มสังคมหนึ่งมีพื้นที่ในการแสดงออกน้อยกว่าหรืออาจไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในสังคมทั่วไป ลักษณะร่วมของผู้ด้อยโอกาสจึงเป็นเรื่องของการเข้าไม่ถึงทรัพยากรอันจำเป็นต่อการดำรงชีพ การขาดสิทธิบางประการที่คนอื่น ๆ ในสังคมมี อันเป็นเหตุให้พวกเขามักถูกละเมิดสิทธิอยู่เนือง ๆ รวมทั้งการเข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐด้วย ด้วยสภาพดังกล่าว จึงทำให้พวกเขามีลักษณะเป็น “คน(ที่ถูกทำให้เป็น)ชายขอบของสังคม” (Marginalized People) ไปด้วยโดยปริยาย

ง. สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในภาพรวม

8. ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังมักจะถูกดูหมิ่น ดูแคลน เยาะเย้ย ถากถาง ปิดกั้น กีดกัน และแสวงประโยชน์ จากคนส่วนใหญ่ที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีกว่าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในบางกรณีก็เกิดจากการกระทำของรัฐเองด้วย โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในภาพรวม เป็นดังนี้
  (1) กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง  ในประเทศไทยมีกลุ่มสังคมหลายกลุ่มที่เข้าข่ายนิยามของ “ชนเผ่าพื้นเมือง”  อาทิ ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ ชาวชองและกูยในภาคตะวันออก และชาวมอแกน มอแกลน อุรักละโว๊ย และมันนิก(ซาไก)ในภาคใต้  โดยที่ผ่านมา รัฐมีนโยบาย/แผนงาน และโครงการต่างๆ ที่หลากหลายกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และโดยส่วนใหญ่นโยบาย/แผนงาน และโครงการเหล่านี้จะทำให้กลุ่มชนพื้นเมืองละทิ้งวิถีชีวิตของการพึ่งพาตนเอง ทั้งจากนโยบายการอพยพโยกย้ายชุมชน การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ หรือแม้แต่การใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนการกำหนดสถานะบุคคลทางกฎหมายในหลากหลายลักษณะ ทำให้กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองถูกทำให้เป็นคนชายขอบ ด้อยโอกาส และไม่มีความชัดเจในการกำหนดอนาคตของตนเองแต่อย่างใด ปัจจุบัน รัฐยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนใด ๆ ต่อคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” แต่อย่างใด
  (2) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติได้นำสมาชิกในครอบครัวติดตามเข้ามายังประเทศไทยด้วย นอกจากนั้นในบางคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน ก็ให้กำเนิดบุตรหลานในประเทศไทย ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่เป็นบิดา และมารดาย่อมต้องการให้บุตรหลานของตนได้รับการศึกษาเหมือนเด็กทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่มิได้ผ่านขั้นตอนของการจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และกลายเป็นเหยื่อของการรีดไถจากผู้มีอำนาจในพื้นที่ แรงงานข้ามชาติในกลุ่มหลังนี้ต้องประสบความยากลำบากในขณะที่ก็ต้องการส่งเสียให้บุตรหลานได้รับการศึกษา ประเด็นการปฏิบัติต่อบุตรหลานแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทยกลายเป็นประเด็นที่นานาประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กที่ไม่ใช่แค่ด้านการศึกษาเท่านั้น แต่รวมทั้งในด้านอื่นๆ ของชีวิตวัยเด็กด้วย ปัจจุบันรัฐไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเด็กข้ามชาติในเชิงการพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากการดำเนินการในกรณีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก ขอทานเด็ก และการค้าประเวณีเด็กเท่านั้น
  (3) ชาวไทยพลัดถิ่น สืบเนื่องมาจากผลของการปักปันเขตแดน ทำให้ชาวไทยที่มีถิ่นฐานอยู่ในดินแดนที่ถูกปักปันและครอบครองโดยประเทศอื่นๆ  และยังประสงค์จะอยู่ครอบครองทำกินในที่ดินของตนต่อไป โดยไม่ได้เดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทยในระยะเวลาที่กำหนด (ก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519) กลายเป็น ผู้เสียสัญชาติ  โดยรัฐไทยพิจารณาว่าคนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นเชื้อสายไทยสัญชาติพม่า ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พวกเขาอาจมิได้ตระหนักและรับรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะยังคงมีญาติพี่น้องที่ติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำอยู่ในพื้นที่ทั้ง 2 ประเทศ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และชุมพร โดยประสบปัญหาการถูกปฏิเสธ หรือจำกัดสิทธิเนื่องจากมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย หรือในบางครั้งก็กลายเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย  ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐไทยก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้กับบุคคลในลักษณะนี้ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีการออกกฎหมาย และคำสั่งต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้บุคคลในลักษณะดังกล่าวสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติก็คงยังจะต้องใช้เวลามากพอสมควรที่จะให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น เด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานของชาวไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลจึงยังคงไม่อาจเข้าถึงและได้รับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กได้อย่างเต็มที่
  (4) เด็กไร้บ้าน/เด็กเร่ร่อน ปรากฏการณ์ของการเป็นคนไร้บ้านส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะของความเป็นอิสระ ปฏิเสธกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้น โดยจะเลือกใช้ชีวิตในตามสถานที่ต่างๆ ไม่เป็นหลักแหล่ง และมีพฤติกรรม ภาพลักษณ์ที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้บางครั้งกลายเป็นคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ
  (5) ชุมชนแออัด เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย อาทิ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกผลักดันทั้งในเชิงนโยบายและในทางปฏิบัติให้จำต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่ของตนเอง เพื่อหวังมาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องการที่ไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ รวมถึงกลุ่มคนจนเมืองที่มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงการเป็นเมือง ด้วยเหตุนี้ชุมชนแออัดจึงมีเด็กๆ ที่มีความหลากหลายจำนวนมากอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่อาจไม่เอื้อต่อพัฒนาการที่ดีของเด็ก รวมทั้งปัญหาที่เด็กหลายคนไม่มีสถานะบุคคลทางกฎหมายตามบิดาและมารดาซึ่งมีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
  (6) ชุมชนไกลคมนาคม นับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ดำเนินการสงเคราะห์ประชาชนไกลคมนาคม ตั้งแต่ปี 2498 ปัจจุบันชุมชนไกลคมนาคมยังคงสภาพของความด้อยโอกาสอยู่อย่างต่อเนื่อง ชุมชนในชนบทห่างไกลเป็นจำนวนมากที่บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐยังบกพร่องขาดแคลน ซึ่งรวมทั้งบริการด้านการศึกษาของรัฐที่ด้อยทั้งปริมาณและคุณภาพ ข้าราชการครูที่ถูกประจำยังโรงเรียนในชุมชนเหล่านี้จะพยายามขอย้ายไปยังพื้นที่ๆ ไม่ทุรกันดาร สถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลคมนาคมจึงมีปัญหาทั้งการขาดแคลนบุคลากรจัดการเรียนการสอน และคุณภาพของการเรียนการสอนด้วย
  (7) เด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชนไกลคมนาคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมานานหลายศตวรรษ สถานศึกษาของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะถูกกล่าวถึงว่า เป็นเครื่องมือครอบงำสังคม ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเหมือนถูกคุกคามทางวัฒนธรรมจากภาครัฐ  นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมการดำรงชีวิต และความคิด ตลอดจนการใช้ภาษาในการสื่อสาร การนับถือศาสนา หรือประเพณีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งสถานศึกษาของภาครัฐ จะมุ่งประเด็นในเรื่องของความเป็นไทย ในขณะที่สำนึกของความเป็นไทยในสังคมมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ มีความหลากหลายไม่ใช่เป็นเฉพาะแบบอย่างที่เกิดในแบบเรียนเท่านั้น ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ถูกกลืนกินทางวัฒนธรรม เกิดการต่อต้าน และนำมาซึ่งความขัดแย้งของภาครัฐและประชาชนในพื้นที่

จ. สถานการณ์ด้าน “สิทธิทางการศึกษา” ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

9. จากการสำรวจการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสทั้ง 7 กลุ่มในสังคมไทย พบว่า มีเด็กที่ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษามีเพียงร้อยละ 51 เท่านั้น และมีเพียงร้อยละ 33 ของจำนวนผู้ที่จบระดับประถมศึกษาที่จะสามารถเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งนี้จำนวนของผู้ที่ได้รับการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็ยิ่งลดน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนผู้ไม่ได้รับการศึกษาเลยนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 15
    

10. นอกจากนี้ ชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ รวมทั้งชุมชนในเขตป่าเขาก็มีเพียงสถานศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้น โดยกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องสนับสนุนให้บุตรหลานได้รับการศึกษาครบตามภาคบังคับอย่างน้อย 9 ปี ในขณะที่พวกเขาต้องประสบปัญหาค่าครองชีพเนื่องจากต้องพยายามส่งบุตรหลานไปเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาที่ห่างไกลจากบ้านพัก ซึ่งกลายเป็นภาระในด้านค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก ในด้านสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระหว่างเด็กชายและหญิง ในปัจจุบันดูจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ในอดีต เห็นได้ชัดว่าทั้งชายและหญิงมีความเสมอภาคทางเพศในการเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคนบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึง ๒ กลุ่ม ได้แก่ ชาวมอแกนและคนไร้บ้าน 

11. ชาวมอแกนที่เป็นผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดไม่ได้รับการศึกษาใด ๆ โดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ล้วนไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ปัจจุบัน เด็กๆ ชาวมอแกนเริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว แต่ยังเป็นส่วนน้อย เช่น ที่เกาะพยาม(จ.ระนอง) มีเด็กจำนวน 20 คน แต่ที่ไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอมีประมาณ 6 คนเท่านั้น ส่วนเกาะเหลานอก(จ.ระนอง) ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวมอแกน มีเด็กที่ขึ้นบัญชีนักเรียนประมาณ 60-70 คน แต่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่เกาะเหลาใน อันเป็นชุมชนไทย โดยครูที่โรงเรียนจะนำเรือมารับเด็กเหล่านี้ ซึ่งขาดความสม่ำเสมอด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การขาดแคลนน้ำมันเรือ สภาพดินฟ้าอากาศ มรสุม การขาดแคลนบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ทั้งนี้โดยภาพรวม เด็กชาวมอแกนที่เข้าเรียนในโรงเรียนมักจะมีอายุเกินวัยเรียนในชั้นนั้นๆ เช่น เด็กอายุ 9 ปี จะเข้าศึกษาชั้นประถมปีที่ 1 เด็กอายุ 10 ปี จะศึกษาชั้นประถมปีที่ 2 และเด็กอายุ 13 ปี จะศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวมอแกนเกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเกาะต่างๆ ยังมีปัญหาสถานะบุคคลอยู่ ทำให้บางครั้งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้แต่อย่างใด

12. กลุ่มคนไร้บ้าน ตัวอย่างกรณีของผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่ในบริเวณสนามหลวง  กรุงเทพฯ โดยเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อหางานทำ แต่กลับถูกนายจ้างโกงค่าแรง และยึดบัตรประชาชนไว้ จึงต้องเร่ร่อนจนมาอยู่ที่สนามหลวงเพราะไม่กล้ากลับบ้านเกิด ต่อมาติดสุราเรื้อรังจนเสียชีวิตในที่สุด ญาติจึงมารับตัวลูกสาวอายุ 5 ปีกลับไปบ้านเดิม ผู้หญิงบางคนหารายได้จากการเก็บขวดพลาสติกขายประทังชีวิต และบางคนขายบริการทางเพศ ลูกๆ ไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียน และมีสภาพเป็นคนเร่ร่อนตามแม่ไปด้วย

ฉ. สาเหตุของการเข้าไม่ถึงสิทธิทางการศึกษา

13. โดยสรุปแล้ว เด็กด้อยโอกาสส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้  มีสาเหตุต่างๆกัน ได้แก่

  (1) การขาดแคลนสถานศึกษา/การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่พักอาศัยของเด็กเหล่านั้น อาทิ ในพื้นที่ภาคเหนือบางพื้นที่ รัฐได้จัดให้บริการด้านการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนและระดับประถมศึกษาได้ค่อนข้างครอบคลุมพื้นที่ได้มาก แต่เมื่อขึ้นถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลับมีสถานศึกษาในพื้นที่ชุมชนน้อยลงกว่าครึ่งของโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายยิ่งแทบขาดหายไปจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังดีที่โรงเรียนมัธยมฯ ที่มีน้อยลงนี้สามารถรับนักเรียนได้จำนวนมากขึ้น อันแสดงนัยยะว่า เด็กนักเรียนที่เรียนจบจากระดับประถมศึกษาในหมู่บ้านจำเป็นต้องออกจากหมู่บ้านของตนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษานอกพื้นที่ ซึ่งย่อมหมายถึงภาระด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จนบางครั้งบางครอบครัวก็ไม่สามารถสนับสนุนบุตรหลานของตนเองได้
  (2) ครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งถึงแม้ว่า รัฐได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาบางส่วน(อาทิ ค่าบำรุงการศึกษา และค่าอาหาร) สำหรับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐแล้ว แต่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็ยังไม่สามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนได้เนื่องจากโรงเรียนยังเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก อาทิ ค่าชุดพละศึกษา ชุดลูกเสือหรือยุวกาชาด/เนตรนารี หนังสือเรียน สมุด เครื่องเขียนหรืออุปกรณ์ต่างๆ ค่าอาหารกลางวันหรือขนม เงินบริจาค ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าประกันอุบัติเหตุ ที่มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่เกิน 500 บาท ไปจนถึงเกินกว่า 2,500 บาท และรายการที่พ่อแม่ต้องจ่ายกันมากที่สุดคือ ค่าหนังสือเรียน รวมทั้งค่าบำรุงการศึกษา นอกไปจากค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องจ่ายให้กับโรงเรียนแล้ว ยังมีรายการค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่พวกเขาต้องจ่ายให้แก่แหล่งอื่น ๆ รวมทั้งห้างร้านอีกส่วนหนึ่ง เฉพาะรายการใหญ่ๆ ที่พบจากการสำรวจในการศึกษาตั้งแต่ 100 ครัวเรือนขึ้นไป ได้แก่ ค่าชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด กระเป๋า/รองเท้า/ถุงเท้า สมุด/เครื่องเขียน/อุปกรณ์ต่างๆ ค่าอาหารกลางวัน/ขนม นอกจากนี้ ยังมีค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพื่อการศึกษาของลูกตนอีกด้วยสำหรับพ่อแม่ที่ต้องส่งลูกๆ ไปเรียนนอกพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้พ่อแม่ของนักเรียนยังต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมพิเศษที่โรงเรียนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้แก่ กิจกรรมการเข้าค่ายประเภทต่างๆ การศึกษาดูงาน และงานประจำปีหรืองานสำคัญที่โรงเรียนจัดขึ้นและพ่อแม่ต้องจ่ายเงินค่าชุดการแสดงของลูก  ชุมชนแออัดซึ่งมักตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่จะมีกิจกรรมประเภทเหล่านี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนไกลคมนาคม และกลุ่มผู้พลัดถิ่นจะมีกิจกรรมประเภทนี้ของโรงเรียนน้อยกว่า ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติไม่มีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เลย โดยเฉพาะโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงมักจะไม่จัดกิจกรรมประเภทเหล่านี้เช่นกัน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่าย คือ ค่าเรียนพิเศษวิชาต่าง ๆ หลังเลิกเรียน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีลูกเรียนอยู่ในเมืองมากกว่าในพื้นที่ชนบท
  (3) บุตรหลานต้องช่วยผู้ปกครองทำงานตั้งแต่วัยเด็ก ตามข้อมูลหลายแห่งระบุตรงกันว่า ยังมีเด็กและเยาวชนอีกไม่น้อยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่อพยพติดตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน และกลุ่มที่ต้องเป็นแรงงานเด็ก เช่นกรณีของเด็กต่างด้าวต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 6-7 วัน
  (4) การเร่งรัดแต่งงาน จากแบบสำรวจส่วนหนึ่งระบุว่า “เด็กและเยาวชนผู้หญิงจะไม่ได้ศึกษาต่อเพราะต้องไปแต่งงานในช่วงที่ยังเป็นเด็กและเยาวชนอยู่จึงขาดโอกาสในการศึกษา” ในขณะที่กรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับพบว่า เด็กชายอายุประมาณ 12-14 ปี ก็นิยมแต่งงานมีครอบครัว เพราะภรรยาจะจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในขณะที่เด็กบางกลุ่มกลับไม่มีโอกาสศึกษาต่อ เนื่องจากไม่มีสถานศึกษาในพื้นที่ ทำให้เป็นภาระทางการเงินกับครอบครัวหากจะต้องเดินทางไปเรียนนอกพื้นที่ ผู้ปกครองในบางกลุ่มจึงนิยมเร่งรัดให้บุตรหลานแต่งงานทั้งกับคนในท้องถิ่น หรือชาวต่างชาติ (อาทิ ชาวมาเลเซีย) เป็นต้น

ช. สถานการณ์การจัดการเรียนสอนในระดับพื้นฐาน: ภาพรวมของคุณภาพ และข้อติดขัดในตัวชี้วัดตาม 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง สิทธิและโอกาสอันเท่าเทียมกัน

14. ตามกฎหมาย สิทธิทางการศึกษาหรือสิทธิในการเข้าถึงและได้รับการพัฒนาความรู้ตามความเหมาะสมตามวัยอันสมควร เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการรับรองโดยชัดเจนทั้งจากกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ ข้อ 28 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of Child) ข้อ 13 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) และ ข้อ 5 ฉ)(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on Elimination of All Forms of Racial Discrimination) และกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งได้บัญญัติเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ

15. แต่จากรายงานสถานการณ์การศึกษาในประเทศไทย จากมุมมองจากภาคประชาสังคมซึ่งจัดทำขึ้นโดย “เครือข่ายติดตามการศึกษาไทย” ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทัศนะต่อการศึกษาของรัฐไว้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492  มาตรา 53 ได้กำหนดหน้าที่ของชนชาวไทยว่า “…บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษา ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ..”’ ซึ่งหมายความว่า รัฐพิจารณาว่าการรับการศึกษาเป็นหน้าที่ของบุคคลแทนที่จะเป็น “สิทธิ” ของบุคคลและเป็น “หน้าที่” ของรัฐที่ต้องดำเนินการจัดหา สร้างการเข้าถึง ในคุณภาพที่พึงพอใจ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม นี่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งๆ ที่ความคิดเรื่องสิทธิทางการศึกษาได้รับการบรรจุไว้แล้วในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2491 อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 ความว่า “การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยได้พยายามปรับใช้แนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้กับการจัดการศึกษาแล้ว

ประการที่สอง ความครอบคลุมทั่วถึงของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

16. องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) กล่าวถึง รายงานการศึกษาทั่วโลกใน “รายงานการติดตามสถานการณ์การศึกษาถ้วนหน้าทั่วโลก”(Education for All Global Monitoring Report) ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาถ้วนหน้า ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 ที่พัทยา จ.ชลบุรี (ประเทศไทย) โดยระบุสถานการณ์ด้านสิทธิทางการศึกษาของ กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ว่า มีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษามากที่สุดกว่า 3,000,0000 คน ซึ่งคิดเป็นเด็กในประเทศไทยที่ไม่ได้รับการศึกษาประมาณ 419,000 คน (ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ: 15 กุมภาพันธ์ 2551) ทั้งนี้ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สิทธิทางการ

หมายเลขบันทึก: 249493เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2009 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท