ผ่านความกลัวสู่การทำงาน จากเรื่องเล่าคนหน้างาน TB


"ตอนที่เขาให้เปลี่ยนวอร์ดจากอายุกรรมรวมมาเป็นวอร์ดวัณโรค ตอนนั้นพวกเราแทบจะปฏิเสธไม่ได้"

เป็นคำบอกเล่าทั้งจากพี่น้อย หัวหน้าวอร์ดวัณโรค และน้องแดงพยาบาลประจำวอร์ด "เราก็กลัวว่าเราจะทำได้ไหม กลัวติดโรค กลัวทุกอย่าง เพราะเราไม่ชำนาญ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ที่พยายามผลักดันให้เปิดวอร์ด"

หกเดือนผ่านมา ... ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ฟังเรื่องเล่าจากวอร์ดวัณโรคอีกครั้ง รู้สึกประทับใจในเรื่องเล่าที่น้องแดงมาเล่าให้วงคนหน้างาน "การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง" ได้ฟัง... หลังจากนั้นอีกเพียงแค่วันเดียวข้าพเจ้าก็ขอตามลงไปสกัดความรู้และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวอร์ดเล็กๆ แห่งนี้

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ คือ พลังของการพยายามนำตนเองก้าวผ่านความกลัว ความกังวล ... ความทุกข์ท้อ จนทำให้บรรยากาศในการทำงานได้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

"เรามาคิดกันเองว่าเราจะทำอย่างไร ทำอย่างไร จึงจะให้ผู้ป่วยดีขึ้น ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง เราก็ใช้วิธีการลองผิดลองถูก ลองทำเมื่อเห็นว่าดีขึ้นเราก็ทำต่อ จากเมื่อก่อนเราให้สุขศึกษาแบบตั้งใจสอน แบบเป็นรูปแบบที่พยาบาลมักทำ แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราใช้วิธีการพูดคุยกัน ... ให้ผู้ป่วยด้วยกันเล่าสู่กันฟัง อันไหนขาดเราก็เพิ่มเติมให้

เมื่อเขากลับไปอยู่บ้าน นอกจากเราจะให้ความรู้แก่ผู้ป่วยแล้ว เรายังความรู้กับญาติด้วย นั่นน่ะหมายถึงว่าเมื่ออยู่บ้าน คนที่มีความรู้จะเพิ่มขึ้นจากผู้ป่วย สู่ญาติ และจากญาติก็สู่ญาติ จากนั้นก็สู่ชุมชน เกิดเป็นเครือข่ายที่ขยายวงกว้างออกไป..."

"ดีนะคะ สัมพันธภาพเรากับคนไข้ก็ดีขึ้น คนไข้อยากทานไข่ต้มพี่ปราง(พยาบาล)ไปตลาดก็แวะซื้อมาฝาก คนไข้ก็ดีใจ"... น้องแดงเล่าไปแววตาเป็นประกายอย่างมีความสุข เราคนฟังก็ยังรู้สึกดีมีความสุขไปด้วย

"เมื่อวันก่อนน้องแดงมาขึ้นเวร ซื้อแจ่วฮ้อนมาด้วย ก็แบ่งเป็นสองถ้วยให้ผู้ป่วยได้ทานด้วย เพราะบ่นมาหลายวันว่าอยากทาน" พี่น้อยเล่าเสริม

หกเดือนผ่านมา ... ได้เรียนรู้อะไรบ้างสำหรับคนหน้างาน ข้าพเจ้าถาม ;

พี่น้อย .. น้องแดง พี่ปราง พี่จ๋อม... นิ่งเงียบและก็ทบทวน

"ความสุขนะ...เรารู้สึกรักคนไข้ รักงานมากขึ้น" ความรู้สึกต่างจากเมื่อตอนต้น อย่างน้อยคนไข้ก็คือกำลังใจในการทำงานของเรา

"คนไข้มาที่โรงพยาบาล หรือเจอเราที่ไหนเป็นต้องมาทักทาย และมีของฝาก เหมือนเป็นญาติกันเลย"

จากเรื่องเล่า...ของวอร์ดวัณโรค

ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงพลังทางใจให้เพิ่มพูนไปด้วยการลงมือทำงาน ไม่ผลักไสงานออกจากชีวิตของตนเอง ใช้วิธีการเผชิญหน้าและเรียนรู้การทำงานผ่านวิถีชีวิตของผู้ป่วย

อีกหนึ่งภาระกิจที่ข้าพเจ้าได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยนั้น ก็คือ การเพิ่มมูลค่าของงานที่ทำอันหมายถึงการบันทึกและเก็บไว้เปี่ยมไปด้วยคุณค่าจากการงาน

 จากเรื่องเล่าของคนหน้างานวอร์ดวัณโรค

ได้มีการนำงานประจำมาพัฒนาด้วยการทำวิจัย

ในประเด็น "การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยวัณโรคและการสร้างเครือข่ายการดูแลในชุมชน"

------------------------------------

ขอบคุณพี่น้อย - พี่ปราง - พี่จ๋อม

น้องแดง และพี่อ้อย

ที่แบ่งปันเรื่องราวดีดีสู่กันฟัง

หมายเลขบันทึก: 249491เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2009 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วัณโรคที่รักษาด้วยความรักของคนในครอบครัว

“ จดหมายจากวสค. ถึงผู้รับผิดชอบงานวัณโรค สถานีอนามัย...” ข้าพเจ้าเปิดจดหมายที่ ผู้ป่วยมีเบาหวานร่วมด้วย ดูประวัติการรักษาในแฟ้มครอบครัว พบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่มีประวัติเรื่องไอเรื้อรังหรือน้ำหนักลดพบแค่ประวัติ Chronic diarrhea เคยส่งต่อไปไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด ใบreferตอบกลับก็มีแค่ Chronic diarrhea

เยี่ยมบ้าน ผู้ป่วย วัณโรคเป็นนโยบายที่ต้องทำ ที่คนทำงาน จะรายงานยกเมฆไม่ได้เพราะผู้ป่วยนัดโรงพยาบาล ผู้รับผิดชอบถามอยู่แล้วจริงหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยไปเยี่ยมบ้านหรือเปล่า

ความจริงคืออะไรถ้าโม้เป็นเรื่องทันที

บ่ายวันศุกร์วางแผนออกเยี่ยม ที่สถานีอนามัยมีMask เอาไปด้วยเผื่อคนในครอบครัวผู้ป่วยด้วย งานนี้ไปคนเดียวครับท่านคนอื่นบอกว่ามีงานไปไม่ได้ ไปเองก็ได้ ลุย

สิ่งที่พบผู้คนญาติพี่น้องหลายคนอยู่ด้วยดูมีสีหน้าไม่ทุกข์อะไรยิ้มแย้มดีและทักทาย ป้าคนหนึ่งถามออกมาว่า “ทำไม่ ไม่มาให้เร็วกว่านี้สักชั่วโมง” “ทำไมละ มีอะไรหรือ” งงซิเรา

“ก็สู่ขวัญเพิ่งเสร็จ อาหารเหลือแต่ข้าวขวัญเท่านั้นแหละ” ข้าวขวัญคืออาหารที่ใช้ทำพิธีสู่ขวัญสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมักจะเก็บไว้ให้ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อไม่ให้เสียมารยาท จึงตอบว่าไม่เป็นไร จะมาเยี่ยมผู้ป่วยเท่านั้น จึงเดินเข้าไปในบ้านซึ่งมีลักษณะบ้านไม้2 ชั้น ผู้ป่วยอยู่ชั้นล่าง ดูบริเวณแล้วดูสะอาด โล่ง ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงริมหน้าต่างที่เปิดกว้างมีแสงแดดส่องถึง

“ได้ข่าวไม่สบาย จึงมาเยี่ยม” บอกกับภรรยาของผู้ป่วย ซึงเป็นผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมที่สถานีอนามัยเป็นประจำจึงคุ้นเคยกันดี และยังเป็นศิลปินนักร้องเพลงพื้นบ้านด้วย พร้อมกับแนะนำให้รู้จักกับเด็กสาว2 คนบอกว่าเป็นลูกสาว ทำงานที่กรุงเทพฯทั้ง2 คนซึ่งไม่คุ้นหน้าทั้ง2 คนยกมือไหว้ ดูเป็นคนสวยและน่ารักทั้ง2 คน

ผู้ป่วย สภาพดูอิดโรย มีmask ปิดปากและจมูก ผอมแห้ง นอนนิ่ง ลูกสาวคนโตบอกว่า พ่อวันนี้นั่งนานตอนสู่ขวัญ จึงนอนได้ประมาณ ครึ่งชั่วโมง ทั้งตำรา อาจารย์ ประสบการณ์บอกว่าผู้ป่วยนอนนานไม่ดีเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงบอกให้ผู้ป่วยลุกนั่ง เด็กสาวทั้ง2 คนรีบช่วยกันพยุงพ่อลุกนั่ง เมื่อลุกนั่งได้ถามผู้ป่วยแล้วไม่มีอาการเวียนหัว ลองให้ยืน ผู้ป่วยยืนได้ และให้เดินไปนั่งที่เก้าอี้รับแขก ทั้ง2 คนช่วยกันประคองพ่อเดินซึ่งทำได้ดี ได้วัดความดันโลหิตให้ผู้ป่วย ไม่มีอาการหายใจหอบ แต่ไม่พูด จึงหันไปสอบถามประวัติการเจ็บป่วย ลูกสาวคนโตที่ดูท่าทางคล่องแคล่วในการดูแลผู้ป่วย บอกว่า “ พ่อมีอาการท้องเสียบ่อย รักษาที่บ้านเราไม่หายจึงพาไปรักษาที่กรุงเทพฯ หมอที่กรุงเทพฯบอกเป็นโรคลำไส้ไม่ดูดซึม และมีเบาหวานร่วมด้วย”

“แล้วโรคปอดรู้จากที่ไหน” “ รักษาที่กรุงเทพฯเกือบเดือนต่อมาขอมารักษาที่โรงพยาบาลบ้านเรา หมอบอกว่าเป็นวัณโรคปอด”

“แล้วหมอว่าต้องทำอย่างไร ปฎิบัติตัวอย่างไร” ถามแบบประเมินความรู้ตามหลักการเลยเรา

คำตอบที่ได้ถูกต้อง และทำได้ เช่น ถามเรื่องยา ทำได้ถูกต้อง การป้องการแพร่กระจายโรค อาหาร

ทำให้สบายใจได้ว่าคงไม่มีอะไรมากนัก เรื่องเศรษฐกิจเราก็ต้องถามด้วยงั้นไม่ครบกระบวนคำตอบที่แสนประทับใจคือ “ หนูจะดูแลพ่อจนหายเรื่องงานนั้นค่อยหาใหม่ ให้น้องไปทำงานต่อ” “แล้วน้องทำงานอะไรล่ะ” น้องสาวบอกว่า “หนูเป็นพนักงานงานเครื่องสำอางจากประเทศฝรั่งเศส ยี่ห้อ...” ยี่ห้อไฮไซที่คนไกลม๊อบและปืนกลอย่างเรารู้ได้ก็จากนิตยสารชั้นนำเท่านั้น รู้แล้วละว่าเด็กสาวคนนี้ถึงได้ผิวพรรณสวยใส

“มีอะไรจะถามอีกหรือไม่” ถามก่อนจะปิดการสนทนา “มีอีกเรื่อง หนักใจมาก” แม่ของเด็กสาวพูด “อะไรหรือ” “ ก็ลูกสาวคนนี้ ไปตรวจสุขภาพหมอบอกว่าแต่งงานจะมีปัญหา ทำให้นอนไม่หลับมาหลายคืนแล้ว” จึงให้ไปเอาสมุดบันทึกตรวจสุขภาพมาให้ดู เป็นสมุดบันทึกการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังที่มักเห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือวารสารทางสุขภาพ มีความผิดปกติคือ ธาลัสซีเมียแฝง จึงให้คำปรึกษาดูสีหน้าของทั้งแม่และลูกดูโล่งใจ “ นึกว่าลูกสาวจะไม่ได้แต่งซะแล้ว” คนเป็นแม่พูด กลับมาถึงสถานีอนามัยแทนที่จะเล่าเรื่องผู้ป่วยกลับมาเล่าเรื่องเครื่องสำอางไฮไซให้กับทีมงานและทุกคนให้ความสนใจความสวยเป็นที่ตั้ง

อีกอาทิตย์ต่อมาก็วางแผนการเยี่ยมอีกก็ทราบข่าวจากคนในหมู่บ้านว่าผู้ป่วยรายนี้กลับไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดอีก นึกกังวลในใจว่าความก้าวหน้าการรักษาโรคของผู้ป่วยคงไม่ค่อยจะดีนัก สิ่งที่เคยให้กำลังแก่ผู้ป่วยว่า “อย่าเพิ่งเป็นอะไรไปตอนนี้ ต้องรอทำบุญพระธาตุก่อน ตำบลเราไม่เคยมีการสร้างพระธาตุเจดีย์เลยอีก ไม่ถึง10 ปีก็สร้างเสร็จ” ก็พูดต่อหน้าญาติตั้งหลายคนกลัวพระธาตุเจดีย์จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ข่าวในชุมชนในชนบทรู้กันทั่วว่าผู้ป่วยกลับมาบ้านแล้ว ไปเยี่ยมอีก พบผู้ป่วยไม่นอนในบ้านแล้วออกมานอนนอกบ้านได้ ลูกสาวคนโตอยู่ดูแล รู้สึกชื่นชมเด็กสาวที่ดูแลพ่อเป็นอย่างดี อีกอาทิตย์ต่อมาไปเยี่ยมอีก ภรรยาผู้ป่วยบอกว่า “คนไข้สงสัยจะหายแล้วล่ะ” “ รู้ได้ไงล่ะ” “ก็บอกอยากจะร้องเพลงแล้ว อยู่ว่างๆเหงาร้องเพลงท่าจะดี”

ต้องรีบดูว่ากินยาครบหรือเปล่า กินยาครบ ครั้งล่าสุดไปเยี่ยม ลูกสาวบอกว่าพ่อออกกำลังกายได้แล้ว ออกเดินถึงโรงเรียน มองเห็นรอยยิ้มในแววตาเธอ

ขอบพระคุณค่ะ...ไม่มีรูป

1. คนทำงานในชุมชน

-----------------------

เป็นเรื่องเล่าอันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง..

คุณค่าใดใด..ก็ไม่มากเท่าการที่เราได้ร่วมแบ่งปันความดีงามสู่โลกนี้นะคะ...

ได้มีโอกาสได้ฟังเรื่องเล่าจากพี่น้อย...ในผู้ป่วยรายหนึ่งที่ป่วยเป็นทั้งวัณโรคและโรคเอดส์...เธอมาด้วยน้ำหนักที่ลดลงไปกว่าเดิมกว่าสิบห้ากิโลกรัม ท้อแท้ และไม่อยากมีชีวิตอยู่...

แต่ด้วย "มิตรภาพบำบัด" ที่ทางวอร์ดวัณโรคได้เพียรเยียวยาเธอทั้งทางร่างกายและจิตใจ ปฏิบัติต่อเธอเสมือนว่าเธอเป็นน้องสาวคนหนึ่ง... ป้อนข้าวป้อนน้ำ และที่สำคัญ "ป้อนพลังใจ"...เติมให้อยู่ตลอดเวลา...

จน ณ วันหนึ่ง... เธอได้บอกกับพยาบาลว่า

"เธอจะมีชีวิตอยู่ต่อไป และเธอจะกลับไปเรียนหนังสือ เมื่อเธอพอมีกำลังมากขึ้น"...

เวลาได้ผ่านไป... เธอกลับไปอยู่บ้าน และมีวันหนึ่งได้กลับมาเยี่ยมที่วอร์ด คนหน้างานได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเธอ... เธอดูสมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม จากร่างกายที่ผอมลงไปมาก แขนขาและร่างกายมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ดูดีกว่าเดิมมาก และที่สำคัญเธอสามารถกลับไปเรียนหนังสือต่อได้อย่างที่ตั้งใจ...

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท