มายาคติ


การภาวนาจะทำให้ผีเข้า หรือเกิดผีซ้ำด้ามพลอยขึ้นได้หรือไม?่ จะทำให้ง่ายต่อการถูกกระทำคุณไสยหรือเปล่า? หรือบางคนถึงกับถามว่า ถ้าปฏิบัติโดยไม่มีครูบาอาจารย์นั้น จะถึงกับเป็นบ้าไปได้เลยใช่ไหม?


วิปัสสนาจารย์บางท่าน ตอบไว้ทำนองว่า “เห็นน่ะใช่ แต่ที่เห็นน่ะไม่ใช่…” เมื่อมีผู้ถามถึงนิมิต ซึ่งบางคนสามารถรับรู้ หรือ “เห็น” ด้วย “ตาใน” ยามที่เจริญภาวนา ไปได้ระดับหนึ่ง

ปรากฏการณ์ทางจิตแปลกๆ ที่เกิดขึ้นกับนักภาวนานั้น บางกลุ่มบางพวก ถือเป็นความ ประหลาด-มหัศจรรย์ จนเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ บางกลุ่ม ก็ถือเป็นอิทธิฤทธิ์ เป็นอำนาจ เป็นความสามารถพิเศษ หรือถึงกับตีขลุมเอาว่า เป็นคุณวิเศษ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดกับทุกคน

แต่ขณะเดียวกัน สำหรับบางสายปฏิบัติ ซึ่งถือเอาการดับทุกข์เป็นเป้าหมายสูงสุด ก็เห็น “ผลพลอยได้” ประเภทนี้ เป็นเครื่องถ่วงรั้ง ที่ผู้ฝึกหัดจะต้องรู้จักสลัดทิ้ง หรือฝ่าข้ามไปเสีย โดยปราศจากความยินดียินร้าย หรือความยึดมั่นถือมั่น ละเลิกจากความลุ่มหลง หรือก้าวผ่านความหมกมุ่นมัวเมาเหล่านั้นไปให้ได้

นี่นอกจากจะเป็นเรื่องของความคุ้นชิน และการตีความของผู้ปฏิบัติเอง กับตัวผู้สอน หรือผู้ชี้แนะแล้ว ยังเป็นเรื่องของหลักการใหญ่ อันเป็นแก่นแกนของ “ธรรม” และ “วินัย” สำหรับชาวพุทธเลยทีเดียว

เพราะนับวัน การเจริญสติภาวนา หรือการฝึกตนด้วยหลักสติปัฏฐาน จะมีภาพของความมหัศจรรย์พันลึก จนเป็นที่น่าวิตกของผู้ใฝ่ใจในหนทางสายนี้ แต่ยังขาดพื้นฐานทางปริยัติ (ความรอบรู้ในหลักธรรม หรือความรู้ ที่ศึกษาได้ จากพระไตรปิฎก) รองรับ

ผู้สนใจบางท่านจึงต้องสอบถามอย่างปร่าแปร่ง ว่า… การภาวนาจะทำให้ผีเข้า หรือเกิดผีซ้ำด้ามพลอยขึ้นได้หรือไม?่ จะทำให้ง่ายต่อการถูกกระทำคุณไสยหรือเปล่า? หรือบางคนถึงกับถามว่า ถ้าปฏิบัติโดยไม่มีครูบาอาจารย์นั้น จะถึงกับเป็นบ้าไปได้เลยใช่ไหม?

หลายคนได้ยินเรื่องทำนองนี้เข้า ก็ถือเป็นเรื่องขำขัน แต่หากพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ก็คงอด “ปลงธรรมสังเวช” ไปเสียไม่ได้

ค่าที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน ผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว ทั้งพุทธศาสนา ก็หยั่งรากลงลึกในสังคมไทย มาเนิ่นนาน

อีกทั้งบ้านเรา ก็มีสาขามหาวิทยาลัยสงฆ์มากมาย จนนับวิทยาเขตแทบไม่ครบถ้วน มีเปรียญชั้นเอกอุจบเปรียญ ๘  เปรียญ ๙ ผ่านการศึกษาคณะสงฆ์ออกมา ทั้งที่เป็นพระเป็นเณร เป็นฆราวาส เหลือจะคณานับ ไม่รวมถึงนักธรรม และธรรมศึกษาอีกมากมายก่ายกอง แถมพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ก็พิมพ์ออกมาตั้งแต่กึ่งพุทธกาลโน่นแล้ว มีมากมาย ทั้งหลายสำนวน และหลายรูปแบบ ฯลฯ แต่ชาวพุทธไทยๆ ก็ไม่วายต้องมีจอมขมังเวทย์ มีพระเณรเถรชี “ผู้ทรงฤทธิ์ทางไสยศาสตร์” มากกว่าวิปัสสนาจารย์ ผู้สอนการภาวนาอยู่ดี

ด้านหนึ่งไสยเวทย์วิทยายิ่งขยายตัว ขณะที่อีกด้าน การจัดหลักสูตรสมาธิภาวนาแบบฝรั่ง หรือการเจริญสมาธิภาวนาชนิด “สำเร็จรูป” และ “กึ่งสำเร็จรูป” ก็ยิ่งจะถูกเผยแพร่แผ่ขยาย ในลักษณะภาวนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

บนหนทางแห่งการภาวนา จึงท้าทายผู้ใฝ่ธรรม ให้เตรียมกายเตรียมใจ อย่างพรักพร้อม จนเพียงพอที่จะฝ่าขวากหนามแดดลมนานาชนิด บน “ภาวนาวิถี” ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เกิดจากการปรุงแต่ง ทั้งจากตนเอง และผู้อื่น ทั้งทางตรง และทางอ้อม ร้อยแปดพันเก้าประการ

อย่างไรก็ตาม มายาคติเป็นที่ไปสำหรับผู้ยังไม่กระจ่างชัด ไม่สามารถสรุปบทเรียนได้ด้วยตนเอง มีความอ่อนแอทั้งกายและจิตเป็นเจ้าเรือน ท่านว่า หากไม่สามารถหากัลยาณมิตรเป็นเพื่อนร่วมทางได้ ก็มีแต่ต้องพึ่งพา “บุพภาคแห่งการศึกษา” คือ “ปรโตโฆสะ” และ “โยนิโสมนสิการ” เป็นที่พึ่ง กล่าวคือ ต้องรู้จักรับฟังผู้อื่น พร้อมๆ ไปกับการจำแนกแยกแยะ แล้วพิจารณาอย่างแยบคาย อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อจะลดความพลาดผิด ด้วยความไม่ประมาทนั่นเอง


คำสำคัญ (Tags): #มายาคติ
หมายเลขบันทึก: 248929เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2009 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตกลงคุณพี่จะสื่อถึงอะไรบ้างครับ

ช่วยชี้ชัดกว่านี้หน่อยได้เปล่า  ผมอ่านแล้วดูว่ายังกั๊กๆ อยู่นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท