โรงเรียนเหนือความคาดฝัน : โรงเรียนสวนป่าแม่กะสี


สำหรับเรื่อง “ความรักการอ่าน-ที่แท้จริง” นั้นเล่า เรื่องนี้ก็ไม่สามารถวัดได้ด้วยสถิติการเข้าห้องสมุด การยืมหนังสือ และภาพถ่ายการจัดกิจกรรมการอ่าน รวมถึงการให้เด็กๆ จดบันทึกการอ่านด้วย เพราะเด็กๆ ต่างก็สักแต่ว่าจดๆ ลอกๆ กันมาส่งให้ครูเซ็นรับรอง ขณะที่ภาระงานของครูก็ล้นมือจะเอาเวลาที่ไหนไปตรวจสอบ ว่านักเรียนอ่านจริงหรือไม่จริง บางโรงเรียนถึงกับให้ครูบันทึกการอ่านส่งให้ผู้อำนวยการตรวจลงนามอีกด้วย เครียดกันไปทั้งโรงเรียนเลยทีเดียว

โรงเรียนเหนือความคาดฝัน : โรงเรียนสวนป่าแม่กะสี
ศิวกานท์ ปทุมสูติ


ถ้าผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาสักแห่งหนึ่งในวันนี้ ผมจะพัฒนาให้เป็น “โรงเรียนเหนือความคาดฝัน” ภายในระยะเวลา ๔ ปี...ผมมั่นใจ

โรงเรียนเหนือความคาดฝัน ในความหมายของผมก็คือ โรงเรียนที่นักเรียนสามารถบรรลุถึงสัมฤทธิผลแห่งการเรียนรู้ในเรื่องสำคัญต่อไปนี้ตามระดับความคาดหวัง-แท้จริง (ยกเว้นนักเรียนที่ไม่บกพร่องการเรียนรู้) ได้แก่
๑.อ่านออกเขียนได้ ๑๐๐%
๒.รักการอ่านไม่น้อยกว่า ๕๐%
๓.คิดเป็นตามมาตรฐาน สมศ. ไม่น้อยกว่า ๒๕ %
๔.มีจริยธรรมชีวิต-แท้จริง ตามระดับความคาดหวังไม่น้อยกว่า ๕๐%
๕.มีความรู้และทักษะต่างๆ ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ ไม่น้อยกว่า ๕๐% 


อาจมีผู้มองว่าไม่เห็นเหนือความคาดฝันตรงไหนเลย นอกจากข้อ ๑ แล้วก็ไม่ได้สามารถทำให้สัมฤทธิผลเรื่องอื่นๆ เป็นเลิศเหนือโรงเรียนอื่นๆ แต่ประการใด กลับจะดูว่าร้อยละของความคาดหวังต่ำเสียด้วยซ้ำ จริงครับดูไม่เลิศเลอ แต่นี่คือสัมฤทธิผลแท้จริงที่ผมคาดหวัง เพราะทุกวันนี้ตัวเลขที่รายงานหน่วยเหนือเรื่องดังกล่าวนี้ มักเป็นสัมฤทธิผลแบบลวงตาลวงใจกันเป็นส่วนใหญ่ครับ แม้ว่าโรงเรียนนั้นๆ จะได้รางวัลโรงเรียนรักการอ่าน หรือการคิด หรือจริยธรรมดีเด่นใดๆ ก็ตาม มักพบว่าเกียรติยศที่ได้เกิดจากการจัดทำข้อมูลหลักฐานดี ไม่ได้มีการตรวจสอบผลเชิงลึก หรือผลที่เกิดความงอกงามแก่เด็กๆ อย่างยั่งยืนแท้จริง 

เรื่องการแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ๑๐๐% นั้นได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว สามารถดูรายละเอียดได้ที่...

http://www.oknation.net/blog/krugarn/2009/03/10/entry-1

สำหรับเรื่อง “ความรักการอ่าน-ที่แท้จริง” นั้นเล่า เรื่องนี้ก็ไม่สามารถวัดได้ด้วยสถิติการเข้าห้องสมุด การยืมหนังสือ และภาพถ่ายการจัดกิจกรรมการอ่าน รวมถึงการให้เด็กๆ จดบันทึกการอ่านด้วย เพราะเด็กๆ ต่างก็สักแต่ว่าจดๆ ลอกๆ กันมาส่งให้ครูเซ็นรับรอง ขณะที่ภาระงานของครูก็ล้นมือจะเอาเวลาที่ไหนไปตรวจสอบ ว่านักเรียนอ่านจริงหรือไม่จริง บางโรงเรียนถึงกับให้ครูบันทึกการอ่านส่งให้ผู้อำนวยการตรวจลงนามอีกด้วย เครียดกันไปทั้งโรงเรียนเลยทีเดียว ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่สามารถปลูกฝังความรักการอ่านได้ เพราะความรักเป็นเรื่องของจิตใจ จะบังคับกันไม่ได้ การบังคับแม้จะได้ภาพของข้อมูลหลักฐาน แต่จะไม่ได้หัวใจ การกระทำที่ปราศจากรักทั้งของครูและนักเรียนก็จะกระทำเพียงพอให้มีส่งตามข้อกำหนด ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ อีกทั้งคนตรวจก็ไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบคุณภาพด้วย ก็กลายเป็นความล้มเหลว มิหนำซ้ำยังเป็นการสร้างแรงกดดันให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการอ่านและการอ่านที่ไร้คุณภาพซ้ำซ้อนเข้าไปอีก

ความรักการอ่านที่ผมคิดจะปลูกฝังในโรงเรียนเหนือความคาดฝันของผมนั้น ผมจะปลูกฝังไปพร้อมกับกระบวนการคิดและจริยธรรมชีวิต โดยจะเริ่มต้นที่ระดับอนุบาลและช่วงชั้นที่ ๑ เป็นสำคัญ (สอนอย่างไรนั้น จะได้นำเสนอรายละเอียดในโอกาสต่อไป) แนวทางสำคัญก็คือ
๑.จัดวางตัวครูที่รักการอ่าน ใฝ่รู้ใฝ่คิด และมีความเป็นต้นแบบจริยธรรมชีวิตไว้ที่ชั้นอนุบาล และ ป.๑-๓ พร้อมจัดทำแผนงานพัฒนาการอ่าน การคิด และคุณลักษณะทางจริยธรรมชีวิตแก่ครูกลุ่มนี้เป็นกรณีพิเศษอย่างต่อเนื่อง
๒.มอบนโยบายให้ครูอนุบาล และ ป.๑-๓ ปลูกฝังสร้างเสริมความรักการอ่าน กระบวนการคิด และจริยธรรมชีวิตให้เป็นไปอย่างต่อยอดสอดรับกัน นั้นคือ เน้นการปฏิบัติการเดียวกันทั้งครูและเด็ก : ครูอ่าน-เด็กอ่าน, ครูคิด-เด็กคิด, ครูทำ-เด็กทำ (ครูที่สอนได้แต่ทำไม่ได้หรือไม่ทำจะไม่ใช่ครูที่พึงประสงค์ตามแนวทางนี้)
๓.ให้ครูเน้นวิธีสอนแบบบูรณาการระหว่างการอ่าน การคิด การเชื่อมโยงเรื่องที่อ่านที่คิดกับมโนคติและมโนสำนึกสู่การปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของชีวิต (ทั้งครูและเด็ก) อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นกิจวัตรวิถี
๔.กำหนดให้ภารกิจรักการอ่าน สร้างสรรค์กระบวนการคิด และการพัฒนาจริยธรรมชีวิตเป็นวาระสำคัญของโรงเรียน และเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการพิจารณาความดีความชอบของครู

หลังจาก ๔ ีี...ที่สามารถทำให้บรรลุความคาดหวังที่ตั้งไว้ได้แล้ว ก็จะวางแผนพัฒนาเพิ่มเติมการบรรลุความคาดหวังเรื่องความรักการอ่าน การคิดได้คิดเป็น และความมีจริยธรรมชีวิตของเด็กๆ ให้เป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น

การตรวจสอบผลของการบรรลุความคาดหวังที่เชื่อถือได้จะต้องใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ สามารถพิสูจน์ได้ความจริงของพัฒนาการ เป็นต้นว่าถ้าจะพิสูจน์ว่าเด็กคนใดรักการอ่าน และมีประสบการณ์การอ่านเพียงใด ก็อาจใช้วิธีแจกกระดาษเปล่าให้เด็กเขียนเล่าประสบการณ์การอ่าน (นอกจากหนังสือเรียน เอกสารทางวิชาการ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และการ์ตูนแล้ว...เธอ/ท่านอ่านหนังสือเล่มใดมาบ้าง – จงเล่าประสบการณ์) โดยไม่จำกัดความยาวและเวลา แต่ต้องเขียนเล่าประสบการณ์นั้นอยู่ต่อหน้าครู/ผู้กำกับการวัดประเมินผล ไม่ใช่ให้เขียนเป็นการบ้าน หรืออาจจะใช้วิธีสัมภาษณ์ประสบการณ์การอ่านเพิ่มเติมเป็นรายบุคคลอีกก็ได้ นี่เป็นวิธีที่จะพิสูจน์ได้ความจริง ผมเคยใช้วิธีเช่นที่ว่านี้พิสูจน์มาหลายครั้งแล้ว ใช้พิสูจน์ทั้งกับเด็กและครู หลายครั้งก็พบว่าครูส่วนหนึ่งมีประสบการณ์อันว่างเปล่า... แต่กระนั้นก็ตามถ้าผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนผมก็จะไม่ท้อใจ ผมจะแสวงหายุทธวิธีพัฒนาครูในโรงเรียนของผมให้มีความรักการอ่าน สร้างสรรค์กระบวนการคิด และมีสำนึกร่วมที่จะเป็น “แม่พิมพ์ต้นแบบ” ให้จงได้

ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเรื่อง “โรงเรียนเหนือความคาดฝัน” กับ คุณเฉลิมชัย ส่งศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนป่าแม่กะสี อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ แล้วปรากฏว่าเราต่างก็กำลังคิดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้ และการพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งในแก่นแท้เดียวกัน ผอ.เฉลิมชัย จึงได้ชักชวนให้ผมไปเป็นวิทยากรพัฒนากระบวนทรรศน์เชิงปฏิบัติการเรื่องดังกล่าวแก่ครูโรงเรียนสวนป่าแม่กะสี เมื่อ ๑๒-๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา  

ผลจะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอดู...
๑.เรื่องเด็กอ่านออกเขียนได้ระดับ ป.๒-ม.๓ จะทราบผลหลังสิ้นสุดภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ และระดับ ป.๑ จะทราบหลังสิ้นสุดภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๒
๒.ส่วนเรื่องรักการอ่าน คิดเป็นตามมาตรฐาน สมศ. และมีจริยธรรมชีวิต-แท้จริง/ยั่งยืน (รวมทั้งมีความรู้และทักษะต่างๆ ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ) จะทราบผลแท้จริงก็ต่อเมื่อนักเรียนระดับอนุบาลของโรงเรียนเรียนถึงชั้น ป.๔ คืออีก ๔ ปีข้างหน้า

ของแท้ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ ต้องอดทน และรอคอยครับ

หมายเลขบันทึก: 248689เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2009 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์ :) ...

อ่านบันทึกช่วงต้น ๆ ของอาจารย์ ทำให้ผมตั้งคำถามในใจว่า "เอ แล้วเราสามารถจะวัดว่าเด็กอ่านหนังสือจริง ๆ ได้อย่างไร หรือมีวิธีใดได้บ้างหนา ?"

เพราะผมเองก็เชื่อว่า การประกันคุณภาพในปัจจุบัน กลายเป็นการเก็บหลักฐานครบเท่านั้น แต่ยืนยันได้ไม่เหมาะเหม็งว่า ได้ทำจริง

อ่านบันทึกในช่วงหลัง ก็พบวิธีการวัดการอ่านจาก การเขียนประสบการณ์ ... ซึ่งวิธีการเขียนประสบการณ์แบบนี้ ผมก็ชอบใช้อยู่เป็นประจำ อาจจะเป็นเพราะผมชอบอ่านวิธีคิดของเด็ก เปิดอิสระทางความคิด แต่จำกัดขอบเขตในเรื่องราวที่อยากให้เขาคิด

ขอบคุณอาจารย์ที่ได้นำเสนอความคิดแบบนี้ครับ

หวังว่า วันหนึ่งผู้บริหารกระทรวงฯ คงจะได้แบบนี้ได้บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ :)...

ขอบคุณครับคุณ Wasawat Deemarn

ช่วยกัน "สร้างแก่นสาร" ต่อไปครับ

...

อายุบวร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท