ผมขอสรุปผลงานวิจัยของ รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เรื่องนี้ต่อเนื่อง (ประเทศไทย) ซึ่งยังเป็นการสรุปเฉพาะประเด็นที่ผมสนใจโดยย่อ เพื่อกระตุ้นให้ท่านติดตามรายละเอียดเอง กล่าวคือ
4.คุณวุฒิครูไทย พบว่า ครูที่สอนในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 90.77 ครูในโรงเรียนรัฐส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 91.76 และครูโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่จบปริญญาตรีร้อยละ 82.71
5.การสอนที่ตรงและไม่ตรงคุณวุฒิของครูสังกัด สพฐ. พบว่า ครูของ สพฐ.สอนตรงตามวิชาเอกในวิชาวิทยาศาสตร์มากที่สุด สอนตรงตามวิชาโทในวิชาภาษาอังกฤษมากที่สุด และสอนไม่ตรงตามวิชาเอกและโทในวิชาสุขศึกษาและพลศึกษามากที่สุด สรุปครู สพฐ.สอนตรงตามวิชาเอกร้อยละ 74.58 สอนตรงตามวิชาโท ร้อยละ 2.14 และสอนไม่ตรงตามวิชาเอก/วิชาโท ร้อยละ 23.28 ครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือสอนไม่ตรงตามวุฒิมากที่สุด
6.สภาพการปฎิบัติงานในปีการศึกษา 2547-2548 พบว่า ครูส่วนใหญ่มีเวลาปฏิบัติการสอน 21-30 ชั่วโมง/สัปดาห์ (เฉลี่ย 26.02) มีเวลาสำหรับการวางแผนการสอน 1-10 ชั่วโมง/สัปดาห์ (เฉลี่ย 8.63)ปฏิบัติงานนอกเวลาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น การให้คำปรึกษา การนำไปทัศนศึกษา เฉลี่ย 5.01 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปฏิบัติงานนอกเวลาในเรื่องอื่นๆ เช่น ร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ประสานงานกับผู้ปกครอง 1-10 ชั่วโมง/สัปดาห์(เฉลี่ย 6.72) ครูพบว่ามีเด็กเรียนรู้ช้าในห้องเรียนที่ครูสอน ร้อยละ 79.71 ห้องเรียนที่ครูสอนมีเด็กที่มีพฤติกรรมก่อกวน ร้อยละ 24.95 มีครูที่นักเรียนขู่ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 1.10 มีครูที่เคยถูกนักเรียนทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 0.33
7.การพัฒนาตนเองทางวิชาการและวิชาชีพ พบว่า ในชีวิตของการเป็นครู ครูมีเวลาในการพัฒนาตนเองพอประมาณคิดเป็นร้อยละ 43.04 ได้เข้าโครงการประชุมและอบรมทางวิชาการในรอบปีที่ผ่านมา 2-3 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 47.55 เรื่องที่ครูต้องการได้รับการพัฒนามากที่สุด คือ เทคนิคการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 56.93 ถ้าให้ตัดสินใจใหม่อีกครั้ง ครูส่วนใหญ่ยังจะเป็นครูแน่นอนมีจำนวน 1,884 คน คิดเป็นร้อยละ 55.89 ในการวางแผนที่จะทำงานอาชีพครู ครูส่วนใหญ่จะทำงานอยู่นานเท่าที่ยังสามารถทำได้ คิดเป็นร้อยละ 51.32
ตอนต่อไปจะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเตรียมครูและการบำรุงรักษาครูคุณภาพ
ไม่มีความเห็น