Review: The Curious Case of Benjamin Button- ไตรลักษณ์จากหนังฮอลิวู้ด


“...Something’s last...” ประโยคนี้เป็นประโยคที่นางเอกพูดกับพระเอกในช่วงที่เขากลับมาเจอกันและบอก ถึงความรักที่มีต่อกัน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ สังขารจะเปลี่ยนไปอย่างไร เขาก็ยังรักเธอ และเธอก็ยังรักเขา ... แต่ตอนนั้นคงยังไม่นานพอ ...

ก่อนจะเข้าเรื่องซีเรียสทั้งปวงของหนังเรื่องนี้ต้องบอกก่อนว่า แบรด พิตต์หล่อมาก  หล่อสุดๆ อยากหล่อแบบนี้บ้างจริงๆเลย

โอเค เข้าเรื่องกันดีกว่า

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนเข้าฉายก็รับรู้ได้ว่าเป็นภาพยนตร์คุณภาพทีเดียว เพราะเข้าชิงรางวัล Academy Award ครั้งที่ 81 ในปี 2009 ที่ผ่านมานี้ถึง 13 รางวัล แม้จะได้รางวัลติดมือกลับบ้านไปเพียง 3 รางวัลเท่านั้น จากสาขา Visual Effects, Make Up, และ Art Direction แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆว่าเขาสามารถทำให้แบรด พิตต์ย้อนเวลาจากอายุ 70 กลับไปเป็นเด็กได้อย่างเหลือเชื่อ

เรื่องราวโดยรวมของเรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของชายคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนตาย  ชายคนนี้พิเศษตรงที่ว่า เมื่อเขาเกิด เขามีลักษณะไม่ต่างอะไรกับคนแก่ที่ใกล้จะตาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับหนุ่มขึ้น จนท้ายที่สุดกลายเป็นเด็กทารกและจบชีวิตของเขาลง เรื่องราวได้ฉายภาพการเดินทางของชีวิตของเขาที่ออกจะสวนทางกับชีวิตของคนทั่วๆไป ซึ่งทำให้เราในฐานะคนดูได้เห็นมุมมองของชีวิตที่แตกต่างออกไป เพราะในระดับหนึ่งหนังได้ฉายมุมมองที่ของตัวละครหลักคนนี้ คือ เบนจามิน ต่อชีวิตของคนปกติที่มองเขา ในขณะเดียวกัน หนังก็ฉายภาพมุมมองของคนอื่นที่มองมายังเบนจามิน ซึ่งในหลายๆครั้งมุมมองน้ันสะท้อนกลับไปเปิดเผยธรรมชาติของคนเหล่านั้น 

ผมมองว่าวิธีการเล่าเรื่องค่อนข้างคล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง Forest Gump เมื่อสิบกว่าปีก่อน นำแสดงโดย ทอม แฮงค์ ทั้งสองเรื่องได้สะท้อนเรื่องราวและมุมมองต่อชีวิตในลักษณะที่คนพิเศษมองคนธรรมดาและในทางกลับกัน พร้อมทั้งได้ตั้งคำถามข้อใหญ่เอาไว้

สำหรับผมเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว รู้สึกหลายอย่าง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ และอยากแบ่งปันก็คือ ผมรู้สึกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความจริงของชีวิต ของธรรมชาติ หรือเรียกได้ว่าสะท้อนสัจธรรมเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่า “กฎไตรลักษณ์” ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนบ้าง โดยนัยบ้างจากภาพยนตร์เรื่องนี้

“...Something’s last...”  

ประโยคนี้เป็นประโยคที่นางเอกพูดกับพระเอกในช่วงที่เขากลับมาเจอกันและบอกถึงความรักที่มีต่อกัน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ สังขารจะเปลี่ยนไปอย่างไร  เขาก็ยังรักเธอ และเธอก็ยังรักเขา

... แต่ตอนนั้นคงยังไม่นานพอ ...

ทั้งคู่มาตระหนักได้ตอนที่การเดินทางที่สวนกันของทั้งสองมาถึงจุดส้ินสุด เมื่อนางเอกกลายเป็นคนแก่ และพระเอกกลายเป็นเด็กที่จำอะไรไม่ได้ บัดนั้นเอง ที่ตัวละครของเรื่อง (ผมจำไม่ได้ว่าพระเอกหรือนางเอก) ได้กล่าวประโยคที่ว่า

“...Nothing’s last...”

สะท้อนหลัก “อนิจจัง” โดยแท้ ...

“ความทุกข์” สะท้อนผ่านชีวิตของนางเอกของเรื่องเป็นส่วนใหญ่ ความทุกข์ในที่นี้ในทางพุทธจริงๆแล้วหมายถึงสภาวะที่ถูกกดดันให้เปลี่ยนแปลง ... แต่เนื่องจากว่าคนนั้นมีอุปาทานในขันธ์ 5 เห็นผิดว่าตัวตน ความคิด ความสามารถ ความทรงจำ ความรุ้สึก ของเรา จะต้องจีรังยั่งยืน จะต้องเป็นไปตามที่เราคิด ที่เราหวังให้มันเป็น  ... คนเราจึงต้องเป็นทุกข์เพราะในความเป็นจริง ไม่มีอะไรจีรัง และไม่มีอะไรเป็นอย่างที่เราหวังเสมอไป เพราะทุกอย่างต่างขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย  

ความเจ็บของนางเอก, ความร่วงโรยของสังขาร, ความป่วยไข้, ความไม่ได้ดังหวัง, การต้องจากสิ่งที่รัก, การต้องเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ต่างสะท้อนออกมาจากเรื่องราวของนางเอกทั้งสิ้น 

ในท้ายที่สุด ความทรงจำของพระเอกก็หายไป หมดสิ้นแล้วความทรงจำและประสบการณ์ทั้งหมดที่หล่อหลอมมาเป็นบุคคลชื่อ เบนจามิน , ความแก่และความตายเองก็ได้พรากชีวิตของทั้งสอง และทุกๆคนในเรื่องไปในที่สุด หมดแล้วซึ่งบุคคลที่ชื่อ เบนจามิน, เดซี่ , และคนอื่นๆ

ฉะนั้นหากมองจากมุมคนนับถือพุทธศาสนาอย่างผม ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจมีคุณูปการต่อผู้คนมากกว่าที่ผู้สร้างคิดก็ได้  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอแล้วซึ่ง “เทวทูต 3” เกือบจะครบถึง “เทวทูต 4” กล่าวคือ ภาพยนตร์ได้นำเสนอ “ความแก่” “ความเจ็บ” “ความตาย” ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว  จะขาดก็เพียง “นักบวช” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเนื้อเรื่องมากนัก แต่ถึงแม้จะเพียง “เทวทูต 3”  แต่ผมคิดว่ามันก็มากพอที่จะทำให้คนได้คิดอะไรบางอย่างกับชีวิตให้มากขึ้น 

ตัวพระเอกเองได้ฝากจดหมายถึงลูกเอาไว้ ซึ่งผมเสียดายมากๆที่ไม่สามารถจับความได้ถนัดเพราะกลุ่มเด็ก (เวร) ที่นั่งข้างหลังผมรบกวนการดูอย่างมาก แต่เท่าที่จับได้นั้น ตัวพระเอกเองได้สรุปบทเรียนในชีวิตของเขาส่งให้แกลูกสาวไว้แล้ว (หากใครจำได้วานบอก) แม้จะเป็นสปิริตแบบตะวันตกก็ตาม แต่ผมว่านั่นก็มากพอที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

มองจากมุมพุทธอีกเช่นกัน ผมเสียดายไม่น้อยที่ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอมุมมองในเรื่องของกรรม โดยส่วนตัวผมคิดว่า หากเราได้เห็นชีวิตในลักษณะเหมือนกด Fast Forward ในลักษณะที่ภาพยนตร์นำเสนอ มันน่าจะเห็นแนวโน้มของกรรมและวิบากของมันได้ชัดเจนมากกว่า และง่ายกว่าที่เราเห็นในชีวิตจริง แต่ก้นั่นล่ะ ภาพยนตร์ไม่ได้ตั้งใจสร้างมาเป็นหนังศีลธรรมบนฐานของศาสนาพุทธก็คงคาดหวังอะไรแบบนั้นไม่ได้

อย่างไรก็ดี โดยรวมผมประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ทั้งในเชิงเนื้อหาและตัวแสดง เป็นภาพยนตร์ที่ผมคิดว่าไม่ควรพลาด และจริงๆควรจะดูหลายๆรอบ ผมว่าแต่ละรอบคงได้อะไรกับชีิวิตมากขึ้นเรื่อยๆเป็นแน่ ...

หมายเลขบันทึก: 247597เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2009 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์เขียนบันทึกวิจารณ์หนังดีมากครับ

ผมไม่ใช่แฟนหนังโรงเลย อ่านแล้วอยากชมเรื่องนี้เลย

ขอบคุณมากครับ

อีกนิดครับ

"...เพราะกลุ่มเด็ก (เวร) ที่นั่งข้างหลังผมรบกวนการดูอย่างมาก" อันนี้น่าเป็นเหตุผลให้ต้องเช่าเทปมาดูที่บ้านดีกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท