เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (4)


บ่ายโมงครึ่งของวันนี้ (9 มีค.52) ทีมงาน โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อสนับสนุนชุมชน บุคคล และระบบบริการลดเสี่ยง ระยะที่ 1” ประกอบด้วย พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย พญ.จุรีพร คงประเสริฐ คุณธาริณี และคุณธิดารัตน์ รวมทั้งผู้เขียน มีนัดหมาย BAR ร่วมกับทีมวิทยากร สคส. นำโดย อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด คุณธวัช หมัดเต๊ะ และคุณนภินทร ศิริไทย เพื่อเตรียมการจัด OM Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักอย่างแรกของโครงการฯ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2552

เมื่อทั้งสองทีมทักทายกันแล้ว คุณหมอฉายศรีฯ ก็ได้เล่าถึงสถานการณ์ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อในบริบทของประเทศไทยให้ทีมวิทยากรฟัง เพื่อปูพื้นฐานทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปว่าทำไม สำนักโรคไม่ติดต่อ จึงริเริ่มดำเนินงานโครงการนี้ ซึ่งผู้เขียนสรุปความคร่าวๆ ได้ว่า

การดำเนินงานเพื่อป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ มีปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ระบบสนับสนุน และ ความเข้มแข็งในการดำเนินงานของพื้นที่ โดยประเด็นที่จุดประกายให้เกิดโครงการฯนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อของหน่วยงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมานั้น ยังมีความแตกต่างกันของการรับรู้หลักฐานข้อเท็จจริง รวมถึงยังมีช่องว่างของการเชื่อมโยงการจัดการในแต่ละระดับที่เกิดจาก "ต่างคนต่างทำ" เหมือนกับว่าหน่วยงานต่างๆ ถือ จิ๊กซอว์ กันคนละตัวโดยที่ยังไม่ได้นำมาต่อเชื่อมกันอย่างจริงจัง จึงคิดว่าถ้ามีกระบวนการจัดการความรู้ร่วมกัน ร่วมกับการเพิ่มคุณภาพของการสื่อสาร และการเข้าถึงระบบข้อมูลความรู้ที่เชื่อมโยงถึงกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเพิ่มศักยภาพของการดำเนินงานได้มากขึ้น

อ.ประพนธ์ มีคำถามว่า ดูเหมือนสำนักฯจะให้ความสำคัญกับ ความรู้จากส่วนกลาง แล้วสนใจ ความรู้ชาวบ้าน ที่เป็นความรู้จากการปฏิบัติด้วยหรือเปล่า คุณหมอฉายศรีฯ ตอบว่า ความรู้จากการสนับสนุนของส่วนกลางเป็นเหมือนการ บอกเหตุ ส่วนความรู้ของชุมชน/ชาวบ้าน คือ ความรู้ที่เกิดจากการปรับประยุกต์สู่การปฏิบัติอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของปัญหาและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละบุคคล/แต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนกลางเองก็ต้องเรียนรู้จากชุมชนเพื่อพัฒนาขยายผล และเห็นว่าความรู้ทั้งสองส่วนต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันในลักษณะที่ ยืดหยุ่นอย่างมีทิศทาง

ต่อจากนั้น คุณธาริณีฯ ได้เล่าถึงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการฯ โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัด OM Workshop ในฐานะที่สำนักโรคไม่ติดต่อเป็นหน่วยงานหลักของส่วนกลางที่ทำหน้าที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งโดยธรรมชาติวิทยาของโรค รวมถึงรูปแบบและวิธีการดำเนินงานเพื่อการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มนี้มีความซับซ้อน และต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ จึงอยากจะเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมมือกันทำงานในลักษณะของเครือข่ายที่เสริมหนุนซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อด้วยตนเองได้ในระยะยาว

หลังจากฟังฝ่ายเราเล่าและตอบข้อซักถามกันไปบ้างแล้ว อ.ประพนธ์ ก็ได้ให้คำแนะนำที่ผู้เขียนสรุปประเด็นได้ว่า อาจารย์ย้ำถึงความสำคัญขององค์ประกอบ 2 ส่วนคือ เป้าหมายของการใช้ outcome mapping” และ การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมใน OM Workshop”  อาจารย์บอกว่า OM เหมาะกับการดำเนินงานที่มีความสลับซับซ้อนและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะ ซึ่งในการดำเนินงานนั้นย่อมต้องมี outcome ระยะไกล เพื่อให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมมองเห็นภาพว่าเรากำลังจะเดินทางไปสู่เป้าหมายอะไร แต่จากจุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางนั้นอาจต้องใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องมี outcome ระยะใกล้ ที่จะทำให้เห็นผลความก้าวหน้าในระหว่างทางด้วย

ส่วนการเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมใน workshop นั้นมีทั้งกลุ่มที่เป็น direct partner และ strategic partner ซึ่งควรจะเลือกเข้ามาในสัดส่วนที่เหมาะสม ถ้าหวังผลให้เกิดการปฏิบัติได้จริงก็ควรเน้นความสำคัญที่ direct partner

อาจารย์อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการใช้  OM เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานให้เห็นภาพชัดขึ้นโดยเปรียบเทียบกับ ระบบขายตรง ที่มีหุ้นส่วนเกี่ยวข้องโยงใยเป็นเครือข่ายมากมายหลายชั้น เมื่อเรา train ให้กับหุ้นส่วนไปแล้ว ต้องให้เขาสามารถไปทำงานต่อได้ จนในที่สุดเมื่อเราค่อยๆ ปล่อยมือหรือถอนตัวออกมาแล้ว หุ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็ยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ส่วน คุณธวัชฯ ก็ให้คำแนะนำเช่นเดียวกัน คือ เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการเลือก กลุ่มเป้าหมาย ที่จะเข้าร่วมใน OM Workshop ว่าควรเป็น หุ้นส่วนที่มีความสำคัญ และเป็น ตัวจริง ในการปฏิบัติงาน ซึ่งหากมี ตัวจริง ที่ผ่านประสบการณ์ความสำเร็จ เช่น เป็น provider ที่ทำงานร่วมมือกับชุมชนอย่างเห็นผลความสำเร็จมาแล้วด้วยก็ยิ่งดี

ระหว่างที่พูดคุยกันนั้น อ.วิจารณ์ฯ ได้กรุณาแวะมาทักทายและให้ข้อคิดเห็นว่า การขับเคลื่อนงาน chronic disease ในวันนี้ทำได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เพราะปัจจุบันนี้สังคมตระหนักและเห็นความสำคัญ รวมทั้งการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา เห็นผล คือ มี success story เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการทำงานของหน่วยงานหลายๆ ฝ่าย ที่ทำให้มองเห็นแสงสว่างของการทำงานซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดจากแสงสว่างนั้นต่อไปได้ แต่ก็ยังเป็นผลงานที่กระจัดกระจายกันอยู่ จึงเห็นด้วยกับการที่จะใช้ OM เป็นเครื่องมือเพื่อร้อยรัด เชื่อมโยงสู่การพัฒนายกระดับขึ้นไป รวมถึงการค้นหา success story ที่กระจัดกระจายกันอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แล้วดูว่าจะต่อยอดและยกระดับต่อไปได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ความสำเร็จขยายผลไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ผู้เขียนทบทวนถึงสิ่งที่ อ.ประพนธ์ แนะนำเรื่อง ผลลัพธ์ระยะใกล้และไกล และสิ่งที่ คุณหมอฉายศรีฯ พูดถึงตัวจริง 2 ชั้น คือ ตัวจริง ที่ทำหน้าที่ในระบบสนับสนุน กับ ตัวจริง ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคในระดับพื้นที่ โดยส่วนตัวแล้วจึงเห็นว่า ผลลัพธ์ระยะไกลของโครงการนี้คือ ความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อได้ด้วยตนเอง ภายใต้บริบทและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ส่วนผลลัพธ์ในระยะใกล้น่าจะเป็น การสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งในส่วนของระบบสนับสนุน ดังนั้น ผู้เขียนจึงคิดว่าเป้าหมายของ OM Workshop ครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่การหาคำตอบว่า หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมมือกันดำเนินงานอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

 

ปลาทูแม่กลอง

9 มีนาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 247591เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2009 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท