คุยเรื่องเงิน...กับคนกันเอง


หากใช้หลักการของอริยสัจจ์ ๔ ประการในการวิจัยและพัฒนาปัญหาหนี้สินของชุมชน...ณ วันนี้ นักวิชาการ นักพัฒนา และแกนนำชุมชน “บางส่วน” ได้ค้นพบ ได้รับรู้และเข้าใจถึง “ทุกข์ - สมุทัย – นิโรธ” และแม้แต่ “มรรค” กันบ้างแล้ว

เราเพิ่งเดินทางกลับจากเชียงใหม่

ครอบครัวของเรามี “สัญญาใจ” ร่วมกันว่า ประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี จะเดินทางไปทำบุญที่ภาคเหนือด้วยกัน เพื่อถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรและช่วยบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ชนบทห่างไกล

 

การไปทำบุญที่เชียงใหม่ในปี ๒๕๕๒ นี้ ทำให้เราได้พบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่แปลกไปกว่าทุกปีที่ผ่านมา

 

ป้ายขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างถนน บนเส้นทางจากวัดบ้านขุน อำเภอฮอด ไปยังวัดทุ่งจำเริญ อำเภออมก๋อย มีข้อความที่สะดุดตาสะดุดใจเรามาก...ทุกปีที่มาทำบุญที่นี่ เราก็ใช้เส้นทางนี้ แต่ไม่เคยมีป้ายแบบนี้เลยนี่นะ...

 

ช่วงขากลับกรุงเทพฯ จากอำเภอฮอด เราเลี้ยวขวา ...ใช้เส้นทางลัดที่ตัดผ่านช่องเขาเพื่อไปทางอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง... ระหว่างเส้นทางนี้ เราพบป้ายแบบนี้ข้างถนนอีกเช่นกัน

 

เสียดายที่ไม่มีโอกาสเก็บภาพป้ายที่ว่านี้มาฝาก

 

ด้านบนของป้ายมีชื่อของบริษัทสินเชื่อ....(ไม่บอกชื่อดีกว่านะ) ถัดมามีอักษรตัวเอนขนาดใหญ่สีแดงเขียนบนพื้นสีขาวว่า “คุยเรื่องเงิน” โดยบรรทัดถัดมาเขียนต่อไว้ว่า “......กับคนกันเอง” จากนั้นก็เป็นการบรรยายถึงสินเชื่อที่จะได้รับอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ และสรรพคุณของบริษัทดังกล่าว... ปิดท้ายที่ด้านล่างของป้ายด้วยหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทเพื่อความสะดวกของลูกค้าในการติดต่อ

 

แวบแรกที่เห็นป้ายนี้ เรานึกในใจว่า “...มาถึงนี่ได้เชียวนะ ชุมชนท่าจะแย่แน่คราวนี้” แล้วก็นึกต่อไปถึงสภาวะหนี้สินและการ "หมุนหนี้" ของพี่น้องในชุมชน แหล่งเงินกู้นอกระบบและดอกเบี้ยสุดโหด... สมองเราทำงานต่อ...เชื่อมโยงกับประสบการณ์ ๒๐ กว่าปีของการทำงานด้านพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเกษตร... ภาพ เรื่องราว และคำบอกเล่าต่าง ๆ ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง...ซึ่งก็ไม่พ้น "โศกนาฏกรรม" เรื่องเดิมของชุมชนที่เคยได้รับรู้...ผลผลิตราคาตกต่ำ ปุ๋ยยาราคาแพง ...โรคแมลงระบาด...ภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดเดา...และหนี้สินที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกคืนทุกวัน

 

“ปีที่แล้วฝนแล้งไม่ได้ข้าวเลย..พอมาปีนี้น้ำก็มาท่วมเสียอีก จะเอาอะไรกินกันยังไม่รู้เลย...”

“ลูกก็กำลังเรียน พ่อมันก็มาป่วย...หากไม่มีเงินส่งต้นส่งดอก เถ้าแก่เค้าก็มายึดโฉนดที่ดินเราไป”

“ค่าเช่าที่นาก็เพิ่มขึ้นทุกปี หักลบกลบหนี้ ก็แทบไม่เหลืออะไร...”

“บริษัทเค้าบอกว่า ให้เราลงทุน แล้วจะมารับซื้อในราคาประกัน ถึงเวลาก็ไม่เห็นมา...ก็ไม่รู้ว่าจะไปตามหาได้ที่ไหน...”

“ไอ้ครั้นจะไปหางานอื่นทำ ตัวเราก็ไม่มีความรู้”

ฯลฯ

สารพัดสารพันปัญหาที่รุมเร้า...ที่ชุมชนบอกเล่าให้เราฟังเพื่อระบาย "ทุกข์ในใจ"... ผ่านคำพูดซื่อ ๆ และตรงไปตรงมา

 

แวบต่อมา...เรานึกถึง “สมการหนี้สิน” ของชุมชน...เพราะชอบเรียนรู้และค้นหาความจริงนอกตำรา เราจึงชอบงานลงพื้นที่ การมีโอกาสได้ทำงานกับชุมชน ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ของชุมชนรวมทั้งสภาวะการเป็นหนี้ของชุมชนทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ จำได้ว่าเคยนำเสนอและอภิปรายเรื่อง“สมการหนี้สิน” ของชุมชนนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งในเวทีวิชาการและการประชุมสัมมนาของหลายหน่วยงาน

 

จำได้อีกว่า ในการประชุมที่ว่าด้วยงานวิจัยครั้งหนึ่ง เราเคยตั้งประเด็นท้าทายหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องแนวทางแก้ไขหนี้สินเกษตรกร ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ม.เกษตรศาสตร์และทำงานที่ธกส.ว่า “…คงไม่ต้องทำวิจัยเพื่อหาสาเหตุของการเป็นหนี้ ไม่ต้องตั้งสมมุติฐานและตัวแปรมากมายเกือบสี่สิบตัวในสมการหนี้ ไม่ต้องใช้สถิติที่มีการคำนวณซับซ้อนเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร เพราะสมการนี้ง่ายมาก เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่ายก็เป็นหนี้....”

 

เรายังได้เสนอข้อคิดเห็นต่อธกส.ต่อไปอีกว่า “หากจะทำให้พี่น้องเกษตรกรเป็นหนี้น้อยลง สิ่งที่ธกส.สามารถทำได้ทันทีคือ การปรับลดเงินเดือนและโบนัสของพนักงานธกส.ลง แล้วนำงบประมาณส่วนนี้มาใช้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรลูกค้าธกส.มีรายจ่ายที่น้อยลง”

กับข้อเสนอนี้... เราแอบเห็นผู้แทนจากกระทรวงการคลังที่นั่งอยู่ตรงข้ามเรา...ก้มหน้าลงพร้อมอมยิ้ม

 

หลังเลิกประชุม...พี่หัวหน้าโครงการวิจัยฯเดินมาหาเราและบอกว่า ฟังตุ้มพูดแล้ว พี่ก็รู้สึก guilty เหมือนกัน..พวกเราได้โบนัสทุกปี พี่เองก็ได้ปีละสองสามแสน ขณะที่เกษตรกรต้องเป็นหนี้เป็นสิน”

............

 

เราคิดว่า หากใช้หลักการของ "อริยสัจจ์ ๔ ประการ" ในการวิจัยและพัฒนาปัญหาหนี้สินของชุมชน จากข้อมูลและรายงานต่าง ๆ ที่มี... ณ วันนี้ นักวิชาการ นักพัฒนา และแกนนำชุมชน “บางส่วน” ได้ค้นพบ ได้รับรู้และเข้าใจถึง “ทุกข์ - สมุทัย – นิโรธ” และแม้แต่ “มรรค” กันบ้างแล้ว

 

สิ่งสำคัญคือ จะทำให้ “ส่วนใหญ่” ของผู้คนที่เหลืออยู่ได้รับรู้ ได้ตระหนัก และได้ร่วมกันรวมพลังเพื่อนำพาชุมชนให้ก้าวเดินบนเส้นทางแห่ง “มรรค” ที่ค้นพบนี้กันได้อย่างไร

 

คำบรรยายรายวิชาการวิเคราะห์ชุมชนเกษตรและการพัฒนาการเกษตรของครูเรา... Prof. Dr.Marcel MAZOYER แห่งสถาบันการเกษตรแห่งชาติ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ...ดังขึ้นในใจ

 

“เมื่อรายได้มาจากการขายผลผลิต ก็มาดูว่าผลิตอะไร ได้ผลผลิตปริมาณเท่าใด และราคาผลผลิตเป็นอย่างไร”

“ปริมาณผลผลิตขึ้นกับระบบภูมินิเวศเกษตร และเทคนิคในการผลิต ส่วนราคาผลผลิตนั้นเป็นไปตามหลักการของ Demand-Supply แต่ก็มีบางครั้ง บางจังหวะ ที่กลไกราคาไม่เป็นไปตามหลักการ เช่น มีการ Subsidize ฯลฯ”

“ส่วนรายจ่าย ก็ดูจากต้นทุนการผลิต ทั้งที่เป็นต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ ตามดูในรายละเอียดต่อว่า การผลิตทางการเกษตรแต่ละระบบในชุมชนเกษตรนั้น มีค่าต้นทุนผันแปรอะไรบ้าง และมีค่าต้นทุนคงที่อะไรบ้าง อย่าลืมนะว่า...มีต้นทุนคงที่ที่สามารถผันแปรตามการผลิตด้วยเหมือนกัน เช่น โรงเรือนที่มีขนาดต่างกันตามจำนวนฝูงสัตว์ ฯลฯ”

“หากเกษตรกรสามารถพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานหรือประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

“เช่นเดียวกัน หากเกษตรกรสามารถลดรายจ่ายส่วนที่เป็นต้นทุนการผลิตลงได้ ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

“จากนั้น ก็มาดูในส่วนที่เป็น Social Distribution คือ ส่วนที่เป็นค่าดอกเบี้ย ค่าภาษี ค่าเช่าที่ดิน ดูว่าเกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างไร”

“ส่วนที่เหลือสุดท้ายนี้ คือ รายได้ที่แท้จริงจากภาคการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร”

“การที่ครัวเรือนเกษตรกรจะดำรงอยู่ ไม่ล่มสลายหายไปนั้น อย่างน้อยรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนเกษตรกรจะต้องอยู่เหนือเส้นแห่งการยังชีพ (Revival Threshold) และหากจะมีความสามารถผลิตในฤดูกาลต่อไปได้ ต้องมีรายได้ที่แท้จริงอยู่เหนือเส้นแห่งการผลิตซ้ำ (Reproduction Threshold)

“เส้นที่ลากขนานกับแกน Y จากจุดตัดระหว่างเส้นกราฟประสิทธิภาพการผลิตและเส้นแห่งการผลิตซ้ำ มายังแกน X จะทำให้เราทราบว่า ภายใต้ระบบการผลิตทางการเกษตรระบบหนึ่ง ๆ นั้น จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ต่อแรงงานอย่างน้อยที่สุดเท่าใด จึงจะทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตซ้ำได้”

ฯลฯ

 

เราขอต่อคำบรรยายของครูว่า

“หากจะแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและหนี้สินชุมชน รัฐในประเทศที่กำลังพัฒนาต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนว่า รัฐจะกำกับดูแลเรื่องต้นทุนการผลิต ราคาปัจจัยการผลิต และราคาผลผลิตต่าง ๆ อย่างไร อีกทั้งจะพัฒนาโครงสร้างการผลิตพื้นฐาน คือเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการจัดการน้ำ และระบบตลาดสินค้าเกษตรอย่างไร สิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนคือ การสนับสนุนให้เกิดสถาบันการเงินของรัฐและสถาบันการเงินชุมชนที่ให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร อันจะนำไปสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้รัฐต้องมีแนวทางการจัดระบบสวัสดิการชุมชนที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน

 

“ชุมชนต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีปฏิบัติจากการพึ่งพาผู้อื่นมาพึ่งตนเองให้มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของชุมชน ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลชุมชน โดยเฉพาะด้านรายรับ-รายจ่าย มีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ตนเองของชุมชน และนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง

“เศรษฐกิจชุมชนจะเข้มแข็ง ต้องทำให้เงินในชุมชนเกิดการหมุนหลาย ๆ รอบ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตในชุมชนทั้งที่เป็นสินค้าและบริการ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปผลผลิต และสร้างตลาดทางเลือกทั้งที่เป็นตลาดชุมชนและตลาดเครือข่าย”

 

ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก”

“ต้องอุดรูรั่ว ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดละเลิกอบายมุข เหล้า บุหรี่ หวย การพนัน”

“ต้องช่วยกันบริหารจัดการ ช่วยกันออม ช่วยกันจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน จัดตั้งธนาคารชุมชน โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนและฟื้นฟูทุนทางสังคม

“เราต้องสร้างสวัสดิการของพวกเรากันเอง สวัสดิการจะมาเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินชุมชนซึ่งเป็นกองทุนแห่งความรัก เป็นสถาบันการเงินเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูล มีการปันผลและมีการจัดสวัสดิการชุมชน ซึ่งไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการให้อย่างมีคุณค่าและการรับอย่างมีศักดิ์ศรี”

“ผู้นำต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม บริหารด้วยความโปร่งใส ธรรมาภิบาล”

"ต้องมีการจัดการความรู้ ต้องพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการ ติดอาวุธทางปัญญา พาเรียนรู้ศึกษาดูงาน"

ฯลฯ

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในวันนี้ เราได้แต่หวังว่า ชุดความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในตัวผู้คนและชุมชนต้นแบบจะถูกนำไปใช้ "ปฏิบัติการ" เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ได้ผลจริง ...

โครงการชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐที่กำลังอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่หมู่บ้านและชุมชน จะช่วยทำให้รายได้โดยรวมของครัวเรือนเกษตรกรซึ่งมาจากรายได้ภาคเกษตรและรายได้นอกภาคเกษตร "พอเพียง" ต่อการยังชีพและการผลิตซ้ำได้อย่างไร...อีกทั้งจะช่วยทำให้ปัญหาหนี้สินซึ่งเป็น "ทุกข์" ของชุมชนเบาบางลงได้หรือไม่ ...เป็น "โจทย์ร่วม" ของคนทำงานสายชุมชนที่จะต้องรวมพลังร่วมด้วยช่วยกัน

 

เราหวนคิดถึงป้ายข้างถนน “คุยเรื่องเงิน...กับคนกันเอง” อีกครั้ง

...ป้ายโฆษณาสั้น ๆ ที่สามารถปลุกพลังภายในตัว และสร้างกำลังใจให้เดินต่อ....

หมายเลขบันทึก: 247594เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2009 03:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีครับ
  • ผมเข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์หลายครั้งแต่ไม่ได้ทิ้งรอยไว้
  • วันนี้ผมก็ดูรายการทางทีวี ที่นำเสนอการขายทอดตลาดที่ดินของเกษตรกร
  • น่าเศร้าใจมากครับ
  • ช่วงนี้ผมได้ลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรเกือบทุกวัน
  • เห็นอะไรหลายๆ อย่างเหมือนที่อาจารย์ได้เขียนบันทึกนี้
  • ปัญหาความยากจนนั้น ซับซ้อนและพันกันไปในหลายๆ ด้าน
  • เห็นด้วยกับแนวทางที่อาจารย์ได้บันทึกไว้ครับ
  • ที่ต้องแก้ในหลายๆ เรื่อง และทำหลายๆ อย่าง ไม่เฉพาะแต่ใส่เงินลงไปแบบที่เราเห็นกันเท่านั้น
  • คือทุกคนๆ ต้องช่วยกัน ออกแรงให้มากกว่านี้
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกเรื่องดีๆ มาแลกเปลี่ยน
  • ...
  • ช่วงนี้ผมกำลังเขียนบันทึกจากประสบการณ์ เพื่อถ่ายทอดให้แก่นักส่งเสริมฯ ที่บรรจุใหม่ 
  • ก็ทำเท่าที่คิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์แก่คนที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ได้บ้าง (สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวเขาเอง) ตามกำลังครับ

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก

เสียดายที่ไม่ได้ดูรายการค่ะ สายของวันนี้ได้โทรหารืองานด้านการพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ได้เล่าให้ฟังถึงรายการของTPBSที่ถ่ายทอดโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกร...ชาวบ้านถูกยึดที่ดินทำกินและผูกคอตายไปหลายรายแล้วค่ะ...เพียงแต่สื่อไม่ได้นำเสนอข้อมูล..เป็นเรื่องเศร้าที่ยังคงหาทางออกไม่ได้.. ยิ่งหากระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมบ้านเราและสังคมโลกยังเป็นเช่นนี้ คงต้องอดทน...อดทน และสู้ต่อไปค่ะ

วันพรุ่งนี้มีประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรค่ะ (ท่านรองนายกฯสนั่น เป็นประธานกองทุนนี้ มีท่านปลัดกระทรวงเกษตรฯและผู้บริหารระดับสูงจากหลายหน่วยงานเป็นกรรมการด้วยเช่นกันค่ะ)ตัวเองในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการได้เคยนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกร ทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ...หวังว่าบางเรื่องที่นำเสนอจะถูกนำไปพิจารณาบ้างค่ะ

หากเป็นไปได้ จะส่งลูกศิษย์ไปเรียนรู้กับคุณสิงห์ป่าสักบ้างนะคะ ให้พวกเขาได้รับการปลูกฝังความรู้และความดีตั้งแต่ยังอายุน้อย...จะได้มีแรงบันดาลใจในการเป็นนักส่งเสริมที่ดีมีคุณธรรมต่อไปในอนาคตค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ตุ้ม

คิดถึงจังค่ะ ไม่ได้เข้ามาอ่านนานแล้วเหมือนกัน

มีนาคมปีหน้าเชิญมาทำบุญแถวเชียงรายบ้างก็ดีนะคะ

ขอประสบการณ์และความรู้ มาทำบุญเป็นวิทยาทานแถวนี้บ้างคงจะดีมากๆ เลยค่ะ

บุญรักษาค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ได้อ่านเรื่องราวทำให้ได้แง่คิดที่หลากหลาย

อดเป็นห่วงเกษตรกรไม่ได้.....

ยืนยัน...สภาวะหนี้สินและการ "หมุนหนี้" ของพี่น้องในชุมชน แหล่งเงินกู้นอกระบบและดอกเบี้ยสุดโหด.

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณอนงค์

ขอเชิญชวนมาร่วมด้วยช่วยกัน...ร่วมสร้างเครือข่ายเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรด้วยกันนะคะ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานด้านแผนแม่บทองค์กรเกษตรกรที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน... โดยมีฐานงานด้านสถาบันการเงินชุมชนและสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นมารองรับค่ะ

เดือนเมษายนอาจมีโอกาสลงพื้นที่ที่สุรินทร์ค่ะ ว่าจะไปตามดูงานวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ค่ะ

หากมีเวลา...อาจได้แวะไปมหาสารคามนะคะ

ยังรำลึกนึกถึงวันเวลาที่เคยได้นั่งคุยกันที่ร้านบ้านไร่ยามเย็น เชียงใหม่ ได้เสมอเช่นกันค่ะ

หนูต้องคะ

ไม่ได้ข่าวกันเสียนาน...คิดถึงต้องเช่นกันนะคะ

ยินดีค่ะที่จะไปเชียงฮาย..อาจารย์ตุ้มมีความสุขทุกที่และทุกกาลที่ได้ทำบุญค่ะ

สำหรับ "วงชวนคิดชวนคุย" เรื่องงานชุมชนนั้น ...ไม่ต้องรอถึงมีนาคมปีหน้าก็ได้นะคะ ประมาณเดือนเมษายน/พฤษภาคมนี้ อ.ตุ้มมีงานลงพื้นที่ที่แม่สาใหม่ของทางมูลนิธิโครงการหลวงค่ะ วันเวลาแน่นอนอย่างไรแล้วจะบอกหนูต้องนะคะ อาจนัดเจอกันที่เชียงใหม่ก่อนแล้วค่อยไปลงพื้นที่ชุมชนของต้องที่เชียงราย ขอดู"คิว"อีกทีนะคะ

หนูต้องสบายดีนะ งานเป็นอย่างไรบ้าง มีโอกาสพบกับคุณพ่อนิพจน์บ้างไหมคะ..อ.ตุ้มฝากความระลึกถึงท่านด้วยค่ะ...

บุญรักษาค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาเยี่ยมในวันพักผ่อนกับครอบครัวค่ะ

ขอให้มีความสุขค่ะ

คิดถึงตุ้มนะ วันหลังไปทัวร์ไหว้พระกันอีกไหม....เพิ่มพลังให้ชีวิตได้เยอะเลย จริงๆนะ

โทรกลับมาหาด้วยจ้ะ

คุณอนงค์คะ

ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

ขอให้มีความสุขมาก ๆ นะคะ

คิดถึงพี่แอ๋วเหมือนกันค่ะ

นัดหมายกับพี่หล้าไว้แล้วค่ะ Trip หน้าว่าจะไปทำบุญไหว้พระหลวงพ่อโสธรที่ฉะเชิงเทรากัน พี่แอ๋วไปด้วยนะคะ...ทำบุญแล้วจะขับรถพาไปดูพระอาทิตย์ตกดินที่บางปะกงค่ะ

อย่าลืมเอาแผ่น CD เพลงนี้ติดมาด้วยเน้อ

ฝั่งชายน้ำบางปะกง ยามแสงอาทิตย์อัสดง....

แล้วจะโทรหานะคะ

ตุ้ม อยู่ไหน เมืองไทยรึเปล่า ทัวร์ตลาดสามชุกถูกเลื่อนไม่มีกำหนด แต่ก็อยู่คิวต่อไปนะ คุณชายต้นไปภูเก็ตครึ่งเดือน แต่ให้พี่หล้าเช็คแล้วไม่ตกเครื่องบิน เครื่องบินเข้าใจน่ะ พี่นึก พี่หล้า หมอต้องมีทัวร์สระบุรีทุกอาทิตย์ ส่วนพี่แอ๋วเฝ้าบ้านดูแลคุณหญิงคุณชายทั้ง 5 ถ้าอยู่เมืองไทยโทรมาด้วยนะ ถ้าอยู่ต่างประเทศก็...รู้อยู่แล้วนะ หวัดดีจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท