เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้...แก้ได้ใน ๔ เดือน


เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้…แก้ได้ใน ๔ เดือน
ศิวกานท์ ปทุมสูติ
.

ปี ๒๕๔๘ ผมและคุณกานติ ณ ศรัทธา ได้ร่วมกันจัดทำโครงการธุดงค์วรรณกรรมสัญจรเป็นวิทยาทานแก่ครูทั่วประเทศ เรื่อง “เติมไฟให้ครูเรียนรู้วรรณกรรม” ซึ่งการสัญจรครั้งนั้น ได้รับการปรารภจากครูจำนวนมากว่า “โครงการเติมไฟให้ครูเรียนรู้วรรณกรรมนี้ดีมาก แต่ขณะนี้เด็กอีกจำนวนไม่น้อยยังอ่านหนังสือไม่ออกจะเรียนรู้วรรณกรรมได้อย่างไร” ผมรู้สึกสะเทือนใจกับคำปรารภทำนองนี้ทุกครั้งที่ได้ยินได้ฟัง อีกทั้งในเวลาต่อมาได้ทราบ ข้อมูลจาก web site ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ปีการศึกษา ๒๕๕๐) ทำให้เห็นว่าการเรียนการสอนภาษาไทยน่าเป็นห่วงที่สุด แค่เฉพาะนักเรียนชั้น ป.๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ทั่วประเทศในเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๕ เขต จำนวนเด็ก ๖๓๗,๐๐๔ คน มีสภาพอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน ๗๙,๓๕๘ คน กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการแก้ปัญหา ๓๐๐ บาทต่อ ๑ คน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้ว ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๙,๖๗๙,๐๐๐ บาท (สามสิบเก้าล้านหกแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) และยิ่งน่าตกใจมากครับเมื่อผมได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจข้อมูลความจริงของปัญหานี้ พบว่านักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.๒ ถึง ม.๖ ล้วนมีสภาพปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แฝงอยู่เป็นอันมาก มากกว่าตัวเลขของ สพฐ.นับสิบเท่าดีเดียว
.
จากความบันดาลใจดังกล่าวทำให้ผมย้อนคิดถึงประสบการณ์ ปี ๒๕๑๙ ครั้งที่ยังเป็นครูสอนชั้น ป.๑ ที่โรงเรียนบ้านมะขามเอน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งได้เคยแก้ปัญหานี้สำเร็จได้อย่างง่ายดาย โดยอาศัยหลักการครูโบราณที่เคยสั่งสอนผมเมื่อวัยเด็กให้อ่านออกเขียนได้ แม้ครั้งกระโน้นยังเป็นโรงเรียนศาลาวัด ครูก็แค่สอนแบบ “เลข-คัด-เลิก” ผมและเพื่อนๆ ก็อ่านออกเขียนได้กันทั้งนั้น ผมจึงรวบรวมและเรียบเรียงประสบการณ์เหล่านั้นเขียนขึ้นเป็นหนังสือชื่อ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” และได้ใช้หนังสือเล่มนี้สื่อสารแนวทาง วิธีการ และแบบฝึกแก้ปัญหาผ่านครูในจังหวัดต่างๆ ที่ผมมีโอกาสเดินทางไปเป็นวิทยากรให้การอบรมเรียนรู้ รวมทั้งได้ฝึกอบรม “ครูอาสา” เพื่อพิสูจน์การแก้ปัญหาโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย นั่นคือเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นเวลาสี่เดือนเต็ม ที่ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรมได้ร่วมมือกับ โรงเรียนตากสินราชานุสรณ์ อ.เมือง จ.ตาก และ โรงเรียนวัดโพธิ์เขียว อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยทุ่งสักอาศรมจัดส่งครูอาสาไปร่วมแก้ปัญหาโรงเรียนละ ๑ คน คือ นายสาทร สีเกตุ และ นายสุชาติ กาธิกาล ตามโครงการ ๔ เดือนอ่านออกเขียนได้ ซึ่งการแก้ปัญหาปรากฏผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจยิ่ง (ดังที่ได้นำเสนอรายละเอียดไปก่อนหน้านี้แล้ว)
.


สาระสำคัญของการสอนแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็คือ

ก.การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน
๑.ให้เด็กตั้งแต่ ป.๒ ขึ้นไปที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มาฝึกอ่านเขียนกับครูอาสาวันละ ๑ ชั่วโมง เป็นเวลา ๔ เดือนเต็ม ประมาณ ๘๐-๑๐๐ ชั่วโมง 
๒.เนื้อหาแบบฝึก (ในหนังสือ : เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว)
  ๒.๑ เดือนแรก แจกลูก-ผันเสียง แม่ ก กา
  ๒.๒ เดือนที่สอง แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง แม่ กง กน กม เกย เกอว
  ๒.๓ เดือนที่สาม แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง แม่ กก กด กบ
  ๒.๔ เดือนที่สี่ แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำลักษณะพิเศษ
๓.วิธีการสอนให้ครูอาสาเน้นความสำคัญของการฝึก ดังนี้
  ๓.๑ เปล่งเสียงอ่าน แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง ตามครู
  ๓.๒ เปล่งเสียงอ่านเป็นคำและกลุ่มคำตามครู
  ๓.๓ คัดคำ กลุ่มคำ และเรื่องที่อ่านแล้ว
  ๓.๔ เขียนตามคำบอก (จากคำที่อ่านแล้ว)
๔.เวลาที่ใช้ฝึกอ่านออกเขียนได้ ควรเป็นเวลาเรียนปกติ โดยให้เด็กตั้งแต่ ป.๒ ขึ้นไปที่มีภาวะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ละทิ้งการเรียนวิชาอื่นๆ มาเพื่อการฝึกอ่านเขียนวันละ ๑ ชั่วโมง เป็นเวลา ๔ เดือน ไม่ควรใช้เวลาพัก เพราะจิตเด็กที่อยากเล่นกับเพื่อน (ในเวลาพักของพวกเขา) จะไม่มีสมาธิในการเรียน และก็ไม่ควรใช้เวลาหลังเลิกเรียน เพราะช่วงเวลานั้นเด็กๆ จะอ่อนล้า สมองและสมาธิไม่พร้อมต่อการเรียนรู้สักเท่าไรแล้ว
๕.ให้ครูอาสาสอนแก้ปัญหาโดยคำนึงและตระหนักถึง “เกียรติยศของเด็ก” ต้องไม่ทำให้เด็กรู้สึกอาย รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย และโง่ เพราะความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้เด็กขาดพลังชีวิตที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง 

ข.การแก้ปัญหาระยะยาว 
๑.ให้โรงเรียนจัดวางตัวครู ป.๑ ที่มีคุณภาพที่สุดของโรงเรียน : ครู ป.๑ ต้องออกอักขระชัดเจน, สอนแจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง เป็น, ขยันและต่อเนื่อง, รู้จักสังเกตและมีความละเอียดอ่อน, สามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาเด็กเป็นรายบุคคล, มีบุคลิกภาพอบอุ่น...เมตตา
๒.ให้ครู ป.๑ เน้นการสอนแบบ แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง เป็นหลัก และตามลำดับจากง่ายไปสู่ยากอย่างมีกระบวนการตามธรรมชาติของภาษาไทย
.
สอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขได้โดยตรงที่ ทุ่งสักอาศรม โทร.081-9956016 หรือ Email : [email protected]
.

 

หมายเลขบันทึก: 247396เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กราบขอบคุณ ครูกานท์ มากนะคะ เป็นครู ป.1 มา 3 ปี เจอปัญหา เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ไม่มาก นะ

แต่ลูกสาวตัวเอง น้องพอ ตอนนี้ 5 ปี 3 เดือน อ่านหนังสือ ได้คล่อง โดยเฉพาะอ่านหนังสือนิทานได้คล่องมาก คำยาก เช่น คำ ที่มี รร อ่านไม่ได้ ( พอให้คำแนะ นำ เริ่ม จำได้ แล้วค่ะ ) น้องพอเริ่ม อ่าน และสะกด ได้ ตอน อายุ 3 ขวบ เจ้า

สุดยอดมากเลยค่ะอาจารย์

หนูได้อ่านเรื่องเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แก้ได้ใน4 เดือน สนใจจึงอยากจะขอ อนุญาตอาจารย์ลองนำไปใช้กับนักเรียนชั้นป.4ทีโรงเรียนนะคะ ถ้าได้ผลอย่างไรแล้วหนูจะรายงานให้ทราบค่ะ ขอขอบคุณมากค่ะ

ชื่นชมท่าน ครูสอนภาษาไทยน่าจะได้อ่านแนวความคิดนี้จากท่าน

เพราะการอ่านเป็นปัญหาที่แก้ยาก ถ้ามีโครงการดีๆ

ขอความเอื้อเฟื้อมายังพี่น้องทางภาคอีสานบ้างนะคะคุณครู

อยากให้ลูกชายอ่านให้เก่งกว่านี้จะลองนำไปใช้ดูค่ะ ตอนป.1เขาอ่านเขียนเก่งแต่ตอนนี้ป.3แล้วกลับอ่านไม่ค่อยออก และไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่กล้าถามคุณครู ดิฉันเป็นแม่ต้องคอยสอนอ่านเขียนให้ แทนการจ้างครูสอนพิเศษ จะนำไปใช้ดู ขอบคุณสำหรับคุณครูที่เอาใจใส่นักเรียนมากๆๆอย่างนี้ดีจริงๆ

คุณครูกานค่ะคือดิฉันต้องการหนังสือที่ช่วยสอนให้ลูกอ่านออกเขียนได้ค่ะต้องซื้อหนังสืออะไรและเริ่มต้นสอนลูกยังไงค่ะมีหนังสือแนะให้คุณแม่หรือครูสอนได้มั๊ยค่ะดิฉันอยากได้ค่ะว่าขั้นตอนแรกต้องสอนอะไรก่อนตามลำดับค่ะช่วยหน่อยนะค่ะ

สุดยอดครับ..ผมเห็นด้วยกับการเรียนการสอนชั้น ป.๑ แบบโบราณ. การท่อง สะกดคำแจกรูป..ได้จริงๆ ครูตั้งใจจริงครูรักเด็ก..ให้เด็กสนุกและแข่งขันกัน..ในการอ่าน เขียนบ่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท