หน้าที่ชี้ทิศต่างจากหน้าที่จัดการ


 

          บอร์ด (board of directors) หรือสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ชี้ทิศ ชี้อนาคต   ในขณะที่ฝ่ายจัดการทำหน้าที่จัดการให้องค์กรทำหน้าที่ตามทิศทางและเป้าหมายที่ บอร์ด กำหนด  

          บอร์ด เน้นชี้ทิศ ชี้ภาพใหญ่ๆ    ไม่ลงรายละเอียดซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการ   หัวใจของการทำงานของ บอร์ด คือการสร้างระบบนิเวศองค์ ๔ ในการทำงาน ได้แก่
               ๑. Organizational Effectiveness  คือความเชื่อถือของบุคคลภายนอกหรือสังคมต่อบริการหรือผลิตภัณฑ์ขององค์กร
               ๒. Organizational Efficiency  การดูแลให้มีการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงไปให้มากที่สุด 
               ๓. Board Performance  การทำหน้าที่กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอก   มีวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ ที่กำหนด strategic positioning ขององค์กรอย่างเหมาะสม
               ๔. Board Conformance  ทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันต่อ “เจ้าของ” ว่าองค์กรได้ดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนด   มีวิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง

 

          วิธีการ ๕ ประการที่จะทำให้ บอร์ด ทำหน้าที่ชี้ทิศได้อย่างแท้จริง   
               ๑. กำหนดหน้าที่หลักของ บอร์ด ไว้ให้ชัดเจน   หนังสืออ้างอิงข้างล่างเน้น บอร์ด ของบริษัท   จึงแนะนำให้เขียนไว้ในตราสารของบริษัทว่า  “หน้าที่หลักของ บอร์ด ของบริษัท คือการช่วยทำให้เกิดคุณค่า/มูลค่า (value) ระยะยาวต่อผู้ถือหุ้น   บอร์ด เชื่อว่าเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับ   รวมทั้งมูลค่าหุ้น   จะอยู่ในกลุ่มที่สูง ๒๕% แรก เมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกัน เมื่อตรวจสอบในระยะเวลา ๓, ๕, และ ๑๐ ปี”
               ๒. ทำให้สมาชิก บอร์ด ทุกคนเข้าใจ และตั้งใจทำหน้าที่ตามกฎหมายของตน ที่จะต้องจงรักภักดีต่อองค์กร ในฐานะนิติบุคคลที่แยกออกจากตนเอง
               ๓. ให้แน่ใจว่า สมาชิกบอร์ดทุกคนทำหน้าที่ บอร์ด อย่างมืออาชีพ    ผ่านกระบวนการคัดเลือก/สรรหา พัฒนา และประเมินการทำหน้าที่ อย่างจริงจัง    ใช้การประเมิน board performance  และ board conformance ในการดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกบอร์ด    เป็นรายคน   และพัฒนาการทำหน้าที่ของ บอร์ด เป็นองค์คณะ
               ๔. ให้มั่นใจได้ว่า ประธาน บอร์ด เป็น “เบอร์หนึ่ง” ของสมาชิกบอร์ดที่เท่าเทียมกัน ในการทำหน้าที่ บอร์ด   ประธาน บอร์ด เป็นประมุขของ บอร์ด   ในขณะที่ CEO เป็นประมุขของปฏิบัติการประจำวันขององค์กร    บทบาทของประมุขทั้งสองต้องเสริมกัน เคารพกัน และเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน
              ๕. ให้มั่นใจว่า CEO ได้รับความยอมรับว่าเป็นสมาชิกที่มีความเท่าเทียมกัน ในกลุ่มสมาชิก บอร์ด   และ CEO ได้ช่วยเหลือให้ บอร์ด ได้นำเอานโยบายสู่การปฏิบัติ   และให้ บอร์ด ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลผลลัพธ์ของฝ่ายจัดการ 

 

          หน้าที่ชี้ทิศต่างจากหน้าที่จัดการ    แต่เป็นหน้าที่ที่เสริม (synergy) กัน

 

Ref. Bob Garratt. The fish rods from the head. The crisis in our boardrooms : developing the crucial skills of the competent director. 2nd Ed., 2003. pp. XXV, 4 - 5.

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ก.พ. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 246706เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2009 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครับ ขอบคุณครับ

กว่าจะทำหน้าที่ บอร์ด อย่างมืออาชีพ ได้

ไม่ใช่ของง่ายเลยนะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งฝ่ายบอร์ด ฝ่ายบริหารจัดการ และฝ่ายดำเนินการครับ

^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท