วัดพระธาตุดอยสุเทพ


วัดพระธาตุดอยสุเทพ

วัดพระธาตุดอยสุเทพ

ดอยสุเทพเป็นศรี   ประเพณีเป็นสง่า   บุพผาชาติล้วนงามตา  งามล้ำค่านครพิงค์
                                                            

     วัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ วัดดอยสุเทพ ” นั้น  เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหารสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ  สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,051  ฟุต   สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 36ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย


     ชื่อของดอยสุเทพเดิมเรียกกันหลายชื่อ นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีชื่อ
อุจฉุบรรพต ดอยอ้อยช้าง และดอยกาละ สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ” สันนิษฐานว่าเดิมมีฤาษีตนหนึ่งชื่อวาสุเทพหรือสุเทวฤาษี มาบำเพ็ญตบะอยู่บนเขาลูกนี้ คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อภูเขาตามชื่อฤาษีตนนั้น


     ประวัติความเป็นมาวัดพระธาตุดอยสุเทพ  สร้างขึ้นเมื่อ พ . ศ . 1926 ในสมัยของพระญากือนามหาราชและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ . ศ .2010 โดยมีตำนานที่เล่าเกี่ยวกับวัดพระธาตุดอยสุเทพว่า ในสมัยพระญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์บนดอยสุเทพ โดยทรงนิมนต์พระมหาสุมนเถระเจ้าจากเมืองสุโขทัยให้มาประกาศพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ และในครั้งนั้น พระมหาสุมนเถระเจ้าได้นำเอาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วย พระญากือนาเกิดความเลื่อมใสมาก จึงโปรดให้มีพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเพื่อจะได้อัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ของวัดบุปผาราม ในขณะที่กระทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุอยู่นั้นเอง พระบรมธาตุได้แยกออกเป็นสองส่วน พระญากือนากับพระมหาสวามีสุมนะจึงได้พร้อมใจกันทำพิธีบรรจุพระบรมธาตุองค์ใหม่ไว้ที่วัดสวนดอก ส่วนพระบรมธาตุองค์เดิมนำไปประดิษฐานไว้ที่ดอยสุเทพ โดยเริ่มจากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสถิตเหนือเศวตคชาธารช้างมงคล   แล้วอธิษฐานเสี่ยงช้างพระที่นั่งปล่อยไป หากพระบรมธาตุประสงค์จะสถิตอยู่ ณ ที่ใด ก็ขอให้ช้างมงคลหยุด ณ ที่แห่งนั้น และในระหว่างทางที่ช้างมงคลเดินทางไป   ได้หยุดเดินถึงสามครั้งทำให้เกิดชื่อของดอยช้างนูนและดอยงาม ครั้งที่สามซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญ เนื่องจากช้างมงคลได้ไต่เขาไปจนถึงยอดดอยวาสุเทพบรรพตแล้วร้องเสียงดังจนก้องสะท้านไปทั่วภูเขา  เมื่อเดินประทักษิณ 3 รอบแล้วจึงคุกเข่าหมอบลง และทันทีที่อาราธนาพระบรมธาตุลงจากหลังแล้ว ช้างมงคลนั้นล้มลงตายในทันที ซึ่งหมายความว่าจะไม่ยอมเป็นพาหนะของผู้ใดอีก  โดย เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้มีการจารึกไว้ใน พงศาวดารโยนก
 

      การสร้างเจดีย์ประดิษฐานพระบรมธาตุ เริ่มจากการขุดยอดดอยลึก 3 ศอก แล้วเอาแท่งหินใหญ่ 7 ก้อนมากรุเป็นผนังเหมือนหีบใบใหญ่ เมื่อนำพระบรมธาตุลงวางแล้วใช้หินถมทับให้แน่นหนาจนถึงปากแล้วจึงก่อสถูปสูง 5 วา ครอบปากหลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง พระเจดีย์องค์นี้สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ .1928 โดยมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละ 3 วา สูง 7 วา รูปทรงเป็นแบบรามัญ ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว มีการเสริมองค์พระเจดีย์ใหม่โดยขยายฐานออกไปด้านละ 6 วา สูง 12 วา นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าทรายคำ พระองค์ได้พระราชทานทองหนัก 1, 700 บาท ให้ตีแผ่นเป็นทองจังโกปิดพระบรมธาตุ อนึ่ง ในปี พ . ศ . 2088 มีการก่อสร้างวิหารและในปี พ . ศ .2100   พระมหามงคลโพธิเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างบันไดนาคซึ่งสูง 300 ขั้นทอดยาวขึ้นไปสู่วัด นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้ากาวิละมีการสร้างวิหารขึ้น 2 หลัง ทางทิศตะวันตกและตะวันออกของพระบรมธาตุ ตลอดจนทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุด้วยการสร้างฉัตรโลหะปักไว้ที่มุมและสร้างรั้วเหล็กล้อมรอบองค์พระธาตุ จากนั้นก็ได้สร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ . ศ . 2477  สำเร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พ . ศ .2478 รวมระยะทางทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 เดือน กับอีก 22 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทั่วภาคเหนือ และท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับ เจ้าแก้วนวรัฐซึ่งเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
 
     อาคารเสนาสนะโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุของวัดประกอบด้วยอุโบสถทรงล้านนา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพประวัติพระธาตุดอยสุเทพ พระวิหาร 2 หลัง ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธ ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพฤหัส ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์จำนวน 30 หลัง ศาลาที่พักประชาชนหอฉัน สำนักชี ห้องสมุด หอพิพิธภัณฑ์ พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปแบบพระสิงห์นั่งขัดสมาธิเพชร อนุสาวรีย์ช้างมงคล ( ช้างพระที่นั่งของพระเจ้ากือนาที่บรรทุกโกศพระบรมธาตุเสี่ยงทายขึ้นมาบนดอยสุเทพ ) อนุสาวรีย์พระสุเทวฤาษี บันไดนาคซึ่งตัวนาคยาวถึง 60 วา ตลอดจนปูชนียวัตถุที่สำคัญมากของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งได้แก่ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเจดีย์แบบสุโขทัยที่เข้ามาสู่อาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น ลักษณะโดยละเอียดขององค์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ คือ องค์เจดีย์มีเนื้อที่ฐานด้านละ 6 วา รวม 4 ด้าน เป็นเนื้อที่ 36 ตารางวา


     สำหรับสังเวียนเหล็ก หรือ รั้วเหล็ก  ซึ่งมีขนาดด้านละ 7 วา นั้น ด้านตะวันออกมีซี่ 120 เล่ม ด้านตะวันตกมี 133  เล่ม ด้านใต้มี 130  เล่ม และด้านเหนือมี 120 เล่ม รวมทั้ง 4 ด้านเป็นจำนวน 503 เล่ม นอกจากนี้ มีปราสาทอยู่ทั้ง 4 มุม ราวเทียนอีกด้านละ 9 วา 3 ศอก รวม 4  ด้านได้ 39 วา อนึ่ง ด้านตะวันออกมีประทีปทอง 29 ดวง ด้านตะวันตก ใต้ และเหนือมีทิศละ 27  ดวง ที่มุมทั้ง 4 มีอีกมุมละ 4  ดวง รวมทั้งหมดมี 113 ดวง

     นอกจากวัดพระธาตุดอยสุเทพจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ การศึกษา และสถาปัตยกรรมแล้ว  ยังมีความสำคัญต่อจิตใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นศาสนสถานอันควรเคารพยิ่งอยู่ที่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน อีกทั้งยังเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนที่ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองเชียงใหม่ ดังที่มีหลายท่านได้กล่าวไว้ว่า หากมาเยือนเชียงใหม่ แล้วมิได้ไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ  ก็เหมือนยังมาไม่ถึงเชียงใหม่นั้นเอง


ขอบคุณความรู้ ดีดี จาก http://www.fm100cmu.com/blog/Lanna/content.php?id=306
หมายเลขบันทึก: 246103เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2009 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีจ๊ะ
  • ไปเที่ยวมาหลายครั้งแล้วจ๊ะ
  • ตามมาเก็บเกี่ยวความรู้ต่อ
  • แสดงว่าไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้วก้า

1. KRUPOM

เมื่อ อ. 03 มี.ค. 2552 @ 20:00

เจ้า...ครูป้อม

สวัสดีคะ

พี่ประกายได้เดินทางไปครั้งหนึ่งแล้วคะ

สวยมากและประทับใจ

อยากกลับไปอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท