การทิ้งระยะห่างที่พอเหมาะพอควร


ความเหมาะสมที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่เป็นปทัฏฐานทางสังคมเป็นสำคัญ และเกือบทั้งหมดเป็นเงื่อนไขนี้

     การทิ้งระยะห่างให้พอเหมาะพอควร กับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันและในสังคมยุคนี้ บางเรื่องก็มองว่ามีความจำเป็นสำหรับปัจจุบันนี้ เพราะอะไรคงเป็นเหตุผลในแต่ละเรื่อง ในแต่ละประเด็นนั้น ๆ ไป และก็เป็นเหตุผลส่วนตัวที่คงจะอธิบายในภาพรวมได้ลำบากนัก

     หากจะกล่าวอย่างคลาสสิก ก็จะบอกว่าเพื่อ “ความเหมาะสม” หลาย ๆ เรื่องอธิบายได้อย่างนี้จริง ๆ ในมุมมองของผมความเหมาะสมที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่เป็นปทัฏฐานทางสังคมเป็นสำคัญ และเกือบทั้งหมดเป็นเงื่อนไขนี้ เช่นเพื่อป้องกันคำครหา คำติฉินนินทา หรือโลกวัชชะ การทิ้งระยะห่างที่พอเหมาะพอควร ก็เป็นไปเพื่อป้องกันคำกล่าวหาที่ไม่สามารถแก้ตัวได้ดังที่ได้กล่าวแล้วก่อนหน้า ทั้งนี้มองว่าเพื่อรักษาเกียรติภูมิแก่มิตรของเรา เช่นในกรณีต่างเพศกัน หรือต่างสถานะกันเช่นศิษย์กับอาจารย์ เจ้านายกับลูกน้อง หรือกับคนรัก

     การทิ้งระยะห่างให้พอเหมาะพอควร แม้จะดูเหมือนเป็นสัมพันธภาพที่ไม่ใกล้ชิดกันนัก แต่ผมว่าความสำคัญกลับไปอยู่ที่ความเสมอต้นเสมอปลายเสียมากกว่า แม้จะจำเป็นต้องทิ้งระยะห่างบ้างก็เพื่อความจำเป็นในการรักษาเงื่อนไขทางสังคมเสียมากกว่า และเป็นความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เข้าใจไปเอง แม้ใคร ๆ จะบอกว่าก็อย่าไปคิด อย่าไปมอง ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะยังไง ๆ แล้วคนเราก็ยังมีกิเลส มีอารมณ์ มีความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติที่จะปกป้องคนที่เรารัก หรือตัวเราเอง

     การทิ้งระยะห่างให้เหมาะสมในอีกหลาย ๆ ประการ เช่น เมื่อรู้สึกโกรธ เราก็หลีก ๆ เสียสักพัก พอรู้สึกดีขึ้นแล้ว สถานการณ์อาจจะเป็นดีก็ได้ คือดีกว่าการปะทะกันในทันที เพราะเมื่อปะทะกันแล้วยากที่จะสมานกลับ ทั้ง ๆ ที่โกรธไปนั้นอาจจะเป็นเพียงความเข้าใจที่คาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดไปก็ได้ และมีมากมายที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ แล้วรู้สึกเสียใจกันในภายหลัง ลองพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นว่ามีหลาย ๆ เรื่องที่บางครั้งต้องรู้จักการ “การทิ้งระยะห่างที่พอเหมาะพอควร” นึกได้ก็เอามาเขียน หากแต่ยังนึกตัวอย่างไม่ครอบคลุม แต่ในใจแล้วมีแน่ ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เขียนบันทึกนี้ขึ้นมา...ครับ (ยิ้ม ๆ)

หมายเลขบันทึก: 24569เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 03:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

  เห็นด้วยครับ  ตั้งหลักให้ดีๆ  หนักแน่น  มั่นคง  ไม่หวือหวาไปตามอารมณ์-ความรู้สึก  ระยะที่พอเหมาะจะทำให้ทั้งเราและเขาเห็นอะไรได้ชัดเจนตามที่เป็นจริงได้มากขึ้น  ที่สำคัญจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองคนหรือสองฝ่ายมีพื้นที่ว่างสำหรับแสดงความเป็นตัวเองอย่างที่อยากเป็นได้มากขึ้น  ไม่อึดอัด  คับข้องใจครับ  สัมพันธภาพก็จะต่อเนื่อง มั่นคง  การเรียนรู้จะเป็นไปแบบธรรมชาติและมีชีวิตชีวา ... ฯลฯ

   แถมอีกนิด ! หลักที่ผมได้จากประสบการณ์จริงก็คืออย่าใช้ พรหมวิหาร ๔ แบบไม่ครบชุดครับ  เมตตา  กรุณา และ มุทิตาเต็มที่  แต่ลืม อุเบกขา จะเดือดร้อนและวุ่นวายได้มากทีเดียว หลายครั้งที่ ระยะห่าง ที่พอเหมาะเกิดไม่ได้ก็ด้วยขาด อุเบกขา  นี่แหละครับ

ใช้ความรัก...

เพื่อกะจังหวะของชีวิต...เสมอ

และเป็นแสงนำทาง "ชีวิต"

เป็นสิ่งดีที่เราควรช่วยกันเผยแพร่นะคะ โดยเฉพาะเมื่อรวมกับ พรหมวิหาร ๔ ที่คุณ Handy ยกมาประกอบ

คุณชายขอบทำให้เกิดการต่อยอดอีกแล้วค่ะ มีอะไรในบันทึกนี้ที่สะกิดใจ จะต้องเขียนในอีกบันทึกของวันนี้แน่นอนค่ะ แต่ตอนนี้ต้องไปทำงานแล้ว   

พอดี..พอดี!

อาจารย์ Handy

     ขอบคุณมากครับ เป็นการเติมเต็มที่เยี่ยมยอดเลยนะครับ แล้วผมจะมา ลปรร.ต่อ ด้วยอีกนิดครับ

Dr.Ka-poom

     ผมเชื่อว่าการใช้ความรักเดินเรื่องเป็นจังหวะตาม "เวลาชีวิต" ด้วยคนครับ

พี่โอ๋-อโณ

     จะรออ่านที่พี่โอ๋เขียนนะครับ ที่บอกว่าจะต่อยอดจากบันทึกนี้ พี่ครับเขียนเสร็จแล้วมาทำ Link ให้ด้วยนะครับ ผมจะได้ตามไปอ่าน และเก็บไว้ว่าเป็นการต่อยอดกันนะครับ

พี่เม่ย ครับ

     พอดี พอดี = พอเหมาะพอควร  ใช่ไหมครับ

อาจารย์ Handy

     กลับมาเพื่อ ลปรร.กันต่อ "อุเบกขา" ที่ว่าคือการวางเฉย จะเทียบเคียงได้กับ "การทิ้งระยะห่างที่พอเหมาะพอควร" หรือครับ หรือว่าไม่เกี่ยวกัน อันนี้ขอความรู้เลยนะครับ 

คุณ Handy น่าจะเขียนเรื่องพรหมวิหารสี่สักบันทึกนะคะ ลูกชายคนโตเขาสนใจขึ้นมาแล้ว คิดว่าตัวเองแปลให้เขาได้ไม่ถ่องแท้น่ะค่ะ

ไม่งั้นเดี๋ยวจะต้องเขียนเองแบบฉบับลูกทุ่งๆเพื่อเปิดประเด็น เพราะเด็กๆสมัยนี้เขาก็สนใจนะคะ ถ้าเขาเอาไปใช้ได้ด้วยยิ่งดีใหญ่

 

อาจารย์ Handy ครับ

     คงต้องรับไปนะครับ ตามที่พี่โอ๋ ร้องขอ-ขอร้อง แล้วจะรอทำ Link

อืม...น่าคิดแฮะ ! การทิ้งระยะห่างให้พอเหมาะพอควร ...การเว้นวรรคระหว่างกันและกันเพื่อให้เกิดช่องว่างและความสมดุล... ถือว่าเป็นสิ่ง " จำเป็น " และ " ควรมี "ในการใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดการงอกงามและเรียนรู้ในกันและกัน รวมทั้งเรียนรู้การใช้ชีวิตให้สมดุล...โดยระยะห่างที่พอเหมาะพอควรนั้นไม่มีความแน่นอนตายตัวแต่ขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยต่างๆในช่วงนั้นๆ

...คุณชายขอบก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกอีกแล้ว

(พี่) คนข้างนอก

     ยินดีและดีใจครับที่พี่รู้สึกสนุกเมื่อได้เรียนรู้ สิ่งที่พี่สรุปตรงใจผมมาก ผมเขียนเสียยืดยาว พี่สรุปสั้น ๆ กลับได้ใจความ ขอบคุณพี่ที่ไม่เคยทิ้ง Blog "ชายขอบ" ไปไหนครับ (เย้...ๆ)

เงื่อนไขทางสังคม
อะไรคือความพอดี พอเหมาะ ?
ทิ้งระยะห่างเท่าไหร่
ถึงจะเรียกว่าพอเหมาะ พอสมควร?
เอาความรู้สึกเป็นบรรทัดฐาน?

คุณแวะมา

     อันนี้พอเหมาะตามที่ตัวเองคิดว่าเหมาะนะครับ หาได้ให้ใครตัดสินแทนให้ได้ ยิ้ม ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท