การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงิน...ตอบคำถามข้อ 1


สิ่งที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การพัฒนาคุณอำนวยและการบริหารจัดการภายในให้เป็นระบบ เราจะได้ตอบคำถามต่างๆได้

            เมื่อวานนี้หลังจากเดินทางกลับมาจากบ้านผู้หว่าน ผู้วิจัยได้เข้าไป Check Mail ปรากฎว่ามี Mail จากทีมประสานงานเข้ามาก็เลย print มาอ่าน  ความจริงอยากตอบตั้งแต่เมื่อคืนนี้  แต่ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร  ยังเรียบเรียงเนื้อหาไม่ค่อยได้  พอมาเช้าวันนี้อาการก็ยังไม่ดีขึ้น  แต่เอาล่ะ  ถ้ารอต่อไป  ทีมกลางก็คงจะไม่ได้คำตอบหรือความคิดเห็นอะไร  ยังไงก็พยายามทำความเข้าใจหน่อยก็แล้วกันนะคะ  อาจตอบวกไปวนมา  ตอบไม่ตรงประเด็น  แต่คำตอบนี้มาจากใจและความรู้ (ที่พอจะมีอยู่น้อยนิดจากการทำงานในโครงการนี้ค่ะ) นะคะ  ขอยืมใช้วลีของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ที่ได้พูดเอาไว้ในหัวข้อ Competence ของคุณอำนวยในส่วนของการสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ท่านบอกประมาณว่า "ไม่มีอะไรถูก  ไม่มีอะไรผิด" (ผู้วิจัยก็จำไม่ค่อยได้ว่าเป็นวลีนี้ตรงๆหรือเปล่า  แต่ถ้าไม่ตรงก็ความหมายประมาณนี้แหละค่ะ)

           ในประเด็นที่ว่าการเข้าไปสร้างการเรียนรู้เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องในระยะยาว  เนื่องจาก  โครงการวิจัย  คือ  การหาความรู้   เพื่อทำให้เป็นกรณีทั่วไป  โครงการไม่อาจสนับสนุนทุนดำเนินการให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องได้  ดังนั้น  ความคาดหวังในเรื่องนี้ก็คือ  องค์กรการเงินชุมชนในโครงการสามารถขอทุนสนับสนุนจาก อบต.ในการดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ได้อย่างไร? ซึ่งสามารถขอได้ทุกปีถ้ามีความรู้และสามารถจัดการได้ (จัดการความรู้)

          ผู้วิจัยขอตอบและแสดงความคิดเห็นโดยรวมเลยก็แล้วกันนะคะ  (รบกวนทีมกลางช่วยแยกประเด็นเองนะคะว่าอันไหนเป็นคำตอบ  อันไหนเป็นความคิดเห็น) สำหรับในประเด็นนี้นั้นตั้งแต่ตอนแรกของการเริ่มโครงการจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  ผู้วิจัยจับความได้ 2 ประเด็น (ขอแยกแบบนี้ก็แล้วกันนะคะ) คือ

          1.ภาคทฤษฎี  เป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะต้องเข้าไปศึกษาแนวทาง  วิธีการ  และทักษะความรู้ที่จำเป็นของหน่วยงานสนับสนุนในการที่จะช่วยเสริมสร้างการทำงานและการเรียนรู้ทั้งในระดับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนและองค์กรออมทรัพย์ชุมชนรวมทั้งแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยงานสนับสนุนกับองค์กรการเงินชุมชนทั้งในระดับเครือข่ายและระดับองค์กร  เพื่อจะนำไปสู่การเสนอและกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
          2.ภาคปฏิบัติ  เป็นหน้าที่ของนักวิจัย  คุณอำนวย  (รวมทั้งเครือข่าย  องค์กร)ที่จะต้องเข้าไปชักชวนหน่วยงานสนับสนุนเหล่านี้ให้มาทำงานร่วมกัน  ถ้านักวิจัยรวมทั้งคุณอำนวยสามารถทำในข้อนี้ได้ งานของนักวิจัยที่ในช่วงแรกจะต้องเป็นคุณอำนวยด้วย  เป็นคุณวิจัยด้วยก็จะลดลงไป (พูดง่ายๆ  คือ  ไม่ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเหมือนกับในช่วงแรก)

          ในทั้ง 2 ประเด็นนี้ทีมวิจัยของลำปางมีความตระหนักและเห็นความสำคัญเป็นอย่างมาก  สิ่งที่ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย 2 สาว กับ 1 หนุ่ม  คือ  ผู้วิจัย  อาจารย์พิมพ์ฉัตร และคุณสามารถ  ได้ดำเนินการไปแล้วก็คือ  การลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับหน่วยงานสนับสนุนทั้งในระดับจังหวัด  และระดับพื้นที่  สำหรับจุดประสงค์ของการลงพื้นที่พบหน่วยงานสนับสนุนนั้นก็เพื่อ

          1.เป็นการทำความรู้จัก  แนะนำว่าตอนนี้เครือข่ายฯ  และ  กลุ่มต่างๆกำลังทำอะไร  (ไปขายว่ามีพวกเราอยู่ในโลกนี้นะ)

          2.ฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่มีต่อเครือข่ายฯและกลุ่มต่างๆ  (ไปฟังว่าเขามองเราหรือคิดกับเราอย่างไร)

          3.ศึกษาว่าเขามีภารกิจ  บทบาทหน้าที่  วิสัยทัศน์  แนวนโยบายเกี่ยวกับการทำงานกับองค์กรการเงินชุมชนอย่างไร (หาช่องทางเสียบงานของเราให้เป็นส่วนหนึ่งของงานประจำของเขา  หรือถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้ก็จะได้รู้ว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร)

          4.แนวทางการทำงานร่วมกัน (ไปทาบทามให้เขามาทำงานกับเรา  หรือไม่เราก็ขอไปทำงานกับเขา)

          จากจุดประสงค์ของการลงพื้นที่ทั้ง 4 ข้อนี้  หลังจากที่พวกเราได้ลงพื้นที่แล้ว  เราก็มีการคุยกัน  ผู้วิจัยขอสรุปออกมาเป็นข้อๆดังนี้นะคะ

          1.ถ้าพูดถึงในระดับจังหวัดหรือระดับเครือข่ายฯ  พบว่า  หน่วยงานสนับสนุนระดับจังหวัด  เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด  พัฒนาชุมชน  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  สาธารณสุข  ธนาคารออมสิน  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  เกษตรจังหวัด (หน่วยงานหลังนี้ขอสารภาพตามตรงค่ะว่ายังไม่ได้ไปพบเลย  เพราะว่า  เวลาว่างของทีมวิจัยกับหน่วยงานไม่ตรงกันเสียทีค่ะ) เป็นต้น  รู้ว่ามีเครือข่ายฯนี้อยู่ในจังหวัดลำปาง  แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรกัน (อย่างถ่องแท้และถูกต้อง) พวกเราก็ช่วยกันอธิบายไปแล้ว  พร้อมกับส่งรายละเอียดต่างๆของเครือข่ายฯ  รวมทั้งโครงการวิจัยให้กับทุกหน่วยงาน

          สำหรับในระดับพื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม  ซึ่งประกอบด้วย  องค์กรออมทรัพย์ชุมชน      นาก่วมใต้ (เทศบาลนครลำปาง) , องค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่ทะ-ป่าตัน (เทศบาลตำบลป่าตัน-    นาครัว) , องค์กรออมทรัพย์ชุมชนเกาะคา (เทศบาลตำบลเกาะคา) , องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย (เทศบาลตำบลล้อมแรด) และองค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริก (เทศบาลตำบลแม่พริก) หน่วยงานสนับสนุนในระดับพื้นที่ ในส่วนของ อบต. , เทศบาล  ส่วนใหญ่จะรู้จักกลุ่มเหล่านี้  และพอที่จะรู้ว่ากลุ่มเหล่านี้ทำอะไร (รู้ละเอียดกว่าหน่วยงานในระดับจังหวัด) มีเพียง 1 พื้นที่เท่านั้นที่ไม่รู้ว่ามีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่  ในขณะที่หน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ  เช่น  สาธารณสุข  เกษตร  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ฯลฯ ก็พอที่จะรู้จักกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน  อาจเป็นเพราะว่าเป็นหน่วยงานในระดับพื้นที่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าหน่วยงานในระดับจังหวัด  รวมทั้งกรรมการของกลุ่มต่างๆก็ทำงานอยู่ในหน่วยงานเหล่านี้ด้วย  ทำให้เป็นที่รู้จักกันไปในตัว

          2.จากการแนะนำเครือข่ายฯและกลุ่มต่างๆของทีมวิจัย  พบว่า ในระดับเครือข่าย  ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ท่านเจริญสุข  ชุมศรี) เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งกลุ่ม  ท่านได้ให้ความกรุณาในการมาเปิดงานที่ทางเครือข่ายฯร่วมกับหน่วยงานอื่นๆจัดขึ้นเสมอ  ในขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ต่างลงความเห็นเป็นแนวทางเดียวกันว่ายังไม่รู้ว่าเครือข่ายฯมีการทำงานอย่างไร  มีการบริหารจัดการอย่างไร  รวมทั้งไม่รู้ว่าจะเข้ามาทำงานกับเราอย่างไร  (พูดง่ายๆ  คือ  ไม่รู้ความเคลื่อนไหวของเรา)  ในขณะที่บางหน่วยงานก็บอกว่าพอที่จะรู้ว่าเราทำอะไร  แต่งานของเครือข่ายฯกับภารกิจของหน่วยงานไม่เกี่ยวข้องกัน  ยังมองไม่เห็นว่าจะดำเนินการหรือทำงานร่วมกันได้อย่างไร  (แต่ก็มีบางหน่วยงานที่ได้แนะนำให้เราว่าถ้าจะทำงานร่วมกันจะต้องเข้าทางช่องไหน  แต่ก็นั่นแหละค่ะ  การทำงานร่วมกันมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง  ถ้าเขาเปิด  เราปิด  หรือ  เราเปิด  เขาปิด  ก็ไม่เกิดการทำงานร่วมกันแล้ว)

          สำหรับในระดับพื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม  พวกเราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่ง  คือ  บางหน่วยงาน  (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของอำเภอ) ยังมองว่าการดำเนินการของกลุ่มหรือเครือข่ายฯเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ (ซึ่งก็คือผิดกฎหมายนั่นแหละค่ะ  เพียงแต่เขาไม่พูดตรงๆ) แสดงว่าเขายังไม่มีความเข้าใจว่าเราทำอะไร  และทำอย่างไร   ในขณะที่ถ้าเป็น อบต. หรือ เทศบาล  จะค่อนข้างมองกลุ่มในแง่ดี  และเห็นว่าควรที่จะมีการสนับสนุนกล่มต่างๆแต่คงต้องคุยในในแนวทางต่อไป

           3.จากการศึกษาภารกิจ  บทบาทหน้าที่  วิสัยทัศน์  ตลอดจนนโยบายการทำงาน  ขอยอมรับว่าในการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ค่อยได้ข้อมูลที่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก  แต่ถ้าหากนำข้อมูลมาเรียบเรียงก็พอมองเห็นภาพบ้าง (รายละเอียดส่วนหนึ่งอยู่ใน Blog ค่ะ  แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้วิจัย  ขอสารภาพอีกครั้งค่ะว่ายังทำไม่ค่อยเรียบร้อย) ในส่วนนี้ทีมวิจัยขอเวลาอีกสักนิด  เราจะไปศึกษาในประเด็นนี้ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ  ในมุมมองของผู้วิจัยเห็นว่าการที่วัตถุประสงค์ข้อนี้ไม่ค่อยบรรลุเป้าหมายนัก  คงจะมาจากสาเหตุหลายประการ  เช่น  การตั้งคำถามที่อาจยังไม่ชัดเจน , นักวิจัยไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก  ทำให้เวลาหน่วยงานตอบคำถามมา  เราไม่รู้ว่าจะถามต่อยังไง , พวกเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้หน่วยงานพูดมากนัก  ส่วนใหญ่ฝ่ายเราจะเป็นคนพูด  หลายๆครั้งก็นอกเรื่อง , มีเวลาในการสนทนาน้อยเกินไป (ในบางหน่วยงาน) เป็นต้น

          4.แนวทางการทำงานร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนในระดับจังหวัดหรือระดับพื้นที่  ต่างแสดงทัศนะเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันว่ายินดีที่จะทำงานร่วมกับองค์กรชุมชน  เพราะ  ภารกิจหน้าที่ของราชการก็คือ  การรับใช้ประชาชนอยู่แล้ว  หากแต่ก็พบความแตกต่างที่สำคัญบางอย่าง  คือ

          ถ้าเป็นหน่วยงานสนับสนุนในระดับจังหวัดหรือระดับพื้นที่  โดยเฉพาะอำเภอ  ในการที่จะทำงานร่วมกัน  ทางองค์กรจะต้องทำเอกสารมาให้ขัดเจนว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร  ต้องการให้อำเภอหรือหน่วยงานประสานงานในเรื่องอะไรบ้าง  มีโครงการอะไร  ใครเป็นผู้รับผิดชอบ  ต้องระบุให้ชัดเจน  ในมุมมองของผู้วิจัยเห็นว่า  หน่วยงานเหล่านี้จะทำงานตามคำสั่ง  ตามบทบาทหน้าที่อย่างเคร่งครัด  ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกัน  ทั้งนี้เพราะ  เราต้องเข้าใจองค์กรชาวบ้านอย่างหนึ่งเหมือนกันว่าความถนัดหรือความรู้ในเรื่องการเขียนที่เป็นเรื่องเป็นราว  เป็นแบบแผนนั้นมีค่อนข้างน้อย  บางองค์กรอาจไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไร  งานก็เลยไม่ค่อยเดิน  ไม่ค่อยมีการทำงานร่วมกัน  โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่มที่ทางราชการไม่ได้มาจัดตั้งให้อย่างเช่นเครือข่ายฯ  หรือองค์กรต่างๆที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯก็ยิ่งไม่ (ค่อย) ได้รับการดูแล
          แต่ถ้าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จะค่อนข้างเปิดมากกว่าหน่วยงานราชการ  ไม่ค่อยมีความต้องการเอกสารที่เป็นทางการมากนัก  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างที่จะเปิดช่องให้องค์กรต่างๆเข้ามาทำงานด้วยหลายช่องทาง  เช่น  มีการเสนอมาจากแทบทุกเทศบาลว่าหากมีการประชุมประจำเดือนของเทศบาลอยากจะให้ทางเครือข่ายฯหรือองค์กรในพื้นที่เข้าร่วมประชุมด้วย  เพื่อที่จะได้อธิบายรายละเอียดต่างๆให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ  ในส่วนของการสนับสนุนสนุนงบประมาณนั้น  อปท. แนะนำว่าให้เขียนโครงการเข้ามา  จะพิจารณาอนุมัติให้เป็นรายปีงบประมาณ  เป็นต้น  จากข้อเสนอต่างๆขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี  แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอีกแหล่ะค่ะว่าที่ผ่านมาเมื่อคุยกันแล้ว  เราไม่ได้สานต่อ  ผู้วิจัยยอมรับผิดในเรื่องนี้ค่ะ  เป็นเพราะว่าผู้วิจัยไม่มีเวลาว่างจริงๆ  ถ้าจะอาศัยคุณอำนวย  ก็ต้องยอมรับอีกว่าคุณอำนวยหลักของเรามีเพียงคนเดียว  ซึ่งก็มีภารกิจมากเช่นกัน ผู้วิจัย  รวมทั้งคุณอำนวยหลัก  และองค์กรต่างๆเห็นตรงกันว่าตอนนี้เราขาดคุณอำนวย  คุณอำนวยของเรายังมีไม่เพียงพอ  ทั้งๆที่มีหลายคนที่มีศักยภาพที่จะเป็นคุณอำนวยได้  แต่เรายังไม่ได้เสริมทักษะ  ความรู้  ทัศนคติให้กับว่าที่คุณอำนวยเหล่านี้  ทำให้ยังขาดความมั่นใจ  หรืออาจมีความมั่นใจแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเดินอย่างไร  ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของทีมวิจัยที่จะต้องเข้ามาช่วย  แต่ด้วยบทบาทของผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ที่เป็นเพียงนักวิจัย  ที่สำคัญ คือ  เราเป็นคนนอก  หลายๆครั้งเราก็รู้ว่าเราควรทำอะไร  แต่เราทำไม่ได้  ตอนนี้สิ่งที่เรา 2 คนทำได้ดีที่สุด  คือ  ให้คำปรึกษาและลงพื้นที่ไปหาองค์กรต่างๆ  (เป็นพี่เลี้ยง) แต่อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่เราเริ่มหันเหการจัดการความรู้มาเจาะลึกที่กลุ่มและสมาชิก  เราคงทำงานได้สะดวกและมากยิ่งขึ้น  เรามีโครงการที่จะทำกับหน่วยงานสนับสนุนเหมือนกัน  แต่ยังไม่ได้ทำ  เลยไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร  คงต้องขอเวลาอีกสักนิดนะคะ 
                โดยสรุป  คือ  ผู้วิจัยเห็นด้วยกับข้อ Comment ของทีมกลางค่ะ  คงจะพยายามทำในประเด็นนี้ต่อไป  โดยสิ่งที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน  คือ  การพัฒนาคุณอำนวยและการบริหารจัดการภายในให้เป็นระบบ  เราจะได้ตอบคำถามต่างๆได้  ถ้าพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ  ต้องทำตัวเองให้พร้อมก่อน  ตอนนี้เครือข่ายฯ  รวมทั้งกลุ่ม (หลายกลุ่ม) กำลังอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการอยู่ค่ะ 


หมายเหตุ : ไม่รู้ว่าจะตอบและให้ความเห็นตรงกับคำถามหรือเปล่า  ถ้าจะให้ดีคงต้องอ่านข้อที่ 2 ประกอบด้วยค่ะ  เพราะ  ผู้วิจัยก็ยังงงอยู่ว่าระหว่างข้อ 1 กับ ข้อ2 จะตอบต่างกันอย่างไร  เหมือนกันอย่างไร 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24557เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แล้วเรื่องลงพื้นที่ประชุมย่อยอาจารย์เห็นว่ายังไงคะ...สะดวกให้หนูเคเอ็มมาวันไหนดีคะรายละเอียดตามเมลล์ที่ส่งมาให้นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท