เวทีชีวิตใหม่ครั้งที่ ๑ : ปัญหาที่มองไม่เห็น ฯลฯ


“เพื่อให้การเรียนรู้ร่วมกันในเวทีของเรามีสมาธิและเกิดปัญญาสูงสุด เรามาปิดโทรศัพท์กันเถิด”

รายงานพิเศษ 
เ ว ที ชี วิ ต ใ ห ม่ 
ครูกานท์ 
 
กองทุนชีวิตใหม่ ได้ก่อตั้งขึ้นจากความสนใจไยดีชีวิต ที่กลุ่มนักใช้ชีวิตเชิง “จริยปัญญา” กลุ่มหนึ่ง
มีความปรารถนาที่จะนำพาสังคมกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถทำอะไรได้จริง เป็นต้นแบบนำพาชีวิตรอบๆ ชีวิตของตนให้ก้าวไปสู่การมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าชีวิตที่ไหลไปกับกระแสหลักของสังคม (อันโทรมเสื่อมและสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินไปสู่หายนะ) จึงรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม ตั้งกองทุน และจัดให้มีกิจกรรมเสวนา “เวทีชีวิตใหม่ครั้งที่ ๑” ขึ้นที่ ทุ่งสักอาศรม ระหว่างวันที่ ๗-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ มีผู้เข้าร่วมเสวนารวม ๑๙ คน

หัวข้อเสวนา เรื่องที่ ๑ “ปัญหาที่มองไม่เห็น”
ผม (ในฐานะผู้ก่อการคนหนึ่งของกลุ่ม) เปิดประเด็นด้วยคำถามที่ประชุมว่า 
ข้อแรก มิตร ๒ ประเภทต่อไปนี้ท่านจะเลือกใครเป็นอันดับแรก
  ก. กล้าบอกความจริงเพราะจริงใจ
  ข. ไม่กล้าบอกความจริงเพราะเกรงใจ
ข้อสอง มิตร ๒ คนในข้อ ก. และ ข. ต่อไปนี้เชื่อต่างกัน ท่านเชื่อเช่นมิตรในข้อใด
  ก. สมาธิทำให้เกิดปัญญา
  ข.ปัญญาไม่เกี่ยวกับสมาธิ
หลังจากลองให้ผู้เข้าร่วมประชุมเลือกอยู่ครู่หนึ่ง ผมก็สรุปว่าผมเองนั้นเลือกข้อ ก. นั่นคือ ผมจริงใจที่จะบอกความจริงว่า “เพื่อให้การเรียนรู้ร่วมกันในเวทีของเรามีสมาธิและเกิดปัญญาสูงสุด เรามาปิดโทรศัพท์กันเถิด” 

แล้วผมก็ขยายความแก่ที่ประชุมเพิ่มเติมว่า การอ้อมค้อมด้วยวิธีการดังกล่าวเพียงเพื่อจะชักชวนให้ทุกคนร่วมกันปิดโทรศัพท์ เป็นการใช้ศิลปะในการบอกและร้องขอ เพื่อประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีสมาธิและมารยาทสังคม เรื่องนี้ถ้าเริ่มต้นด้วยการบอกหรือออกคำสั่งตรงไปตรงมาให้ทุกคนปิดโทรศัพท์ ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน หรืออาจทำให้เสียบรรยากาศในการร่วมเวทีเสวนากันก็ได้...นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจถูกมองข้าม หรือมองไม่เห็น 

ผมเชื่อมโยงต่อไป (ตามข้อมูลงานวิจัยที่เคยศึกษา) อีกว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์มากเกินไปในวัยเยาว์จะสั่งสมโรคสมาธิสั้น (รวมทั้งจอเกมและอีเลินนิ่งต่างๆ ด้วย) เพราะภาพในจอที่ตัดต่อเปลี่ยนสัญญาณแสงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาฉับไวนั้น จะไปกระตุ้นระบบสมองอ่อนเยาว์ให้ปรับตัวเร็วตามเกินความเหมาะควรของวัย จะมีผลทำให้การรับรู้สัญญาณทางสมองของเด็กสะสมความเร็วแบบฉาบฉวย ไม่ลึกซึ้ง จิตไม่นิ่ง และสมาธิสั้น แต่ทุกวันนี้พ่อแม่ก็มักปล่อยลูกให้โทรทัศน์เลี้ยง เกมคอมพิวเตอร์ดูแล ส่งผลกระทบทางสติปัญญาและพฤติกรรม จนขยายวงเป็นปัญหาสังคมต่างๆ...นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ซุกตัวอยู่ในโลกของคำว่า “เจริญ” และ “พัฒนา” ที่ทับทวีปัญหาที่มองไม่เห็น 

เรื่องสาเหตุของสมาธิสั้นนอกจากเกิดจากการดูโทรทัศน์ในวัยเยาว์มากเกินไปดังกล่าวแล้ว ยังมีงานวิจัยของแพทย์ที่เคยระบุว่ามาจากการดื่มนมสัตว์มากเกินพอดีอีกสาเหตุหนึ่งด้วย คือเกินสัปดาห์ละหนึ่งกล่อง เพราะว่านมสัตว์มีสารอาหารกระตุ้นให้ลูกสัตว์ตื่นตัว เพื่อจะได้มีสัญชาตญาณระแวงภัย ลูกมนุษย์ก็ไม่อาจรอดพ้นสัญชาตญาณดังกล่าว ดังนั้นการดื่มนมสัตว์ของเด็กๆ แม้จะมีประโยชน์ด้านอื่นๆ แต่เมื่อมากเกินพอดี ก็อาจมีผลกระทบเกี่ยวกับสมาธิด้วย...นี่เป็นเรื่องของปัญหาที่มองไม่เห็นชัด แต่ก็น่าใคร่ครวญและนำพา...
  
คุณจิรฐา (เกษมศรี) ผู้ร่วมเวทีได้ยกตัวอย่างในครอบครัวทุกวันนี้ว่า ทุกคนมีจอโทรทัศน์เป็นของตนเอง เปลี่ยนมิติความสัมพันธ์ระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยนไปเป็นเพ่งจ้องโทรทัศน์แทน มีปัญหาแทรกซ้อนมากมายที่มองไม่เห็น เหมือนรู้แต่ไม่เห็น เราควรรู้จักการจัดการกับตนเองและครอบครัวของตนเองให้ได้ก่อน และเมื่อช่วยตนเองได้แล้วจึงช่วยผู้อื่น นี่คือสันติสุข

อ.วิบูล กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาระดับครอบครัวแล้ว ปัญหาที่คนดีมีคุณภาพไม่สามารถแสดงความสามารถได้เต็มที่นั้น ต้องมีคนที่มีอำนาจสูงกว่าให้โอกาสผู้น้อยกว่าให้มากขึ้น แต่โอกาสเช่นนี้เป็นไปได้ยากในสังคมปัจจุบัน เพราะผู้นำที่จะใจกว้างให้โอกาสผู้น้อยแทบไม่มีเลย  

ผมได้พยายามนำเวทีให้วกเข้าเชื่อมต่อประเด็นว่า การที่ผู้น้อยไม่กล้ากระทบผู้ใหญ่ คนเก่งไม่กล้าขัดแย้ง รวมถึงการให้ความเคารพต่อกันก็มีปัญหานั้น ต้องใช้ศิลปะการเป็นผู้นำทางปัญญา ต้องสร้างคนให้กล้าออกสนาม เวทีชีวิตใหม่นี้จะเป็นโอกาสให้เราสร้างภาวะผู้นำ...คือนำพาตนและผู้อื่นไปสู่ทางเลือกและทางออกจากปัญหาเพื่อชีวิตที่ดีกว่านั่นเอง

เบื้องต้นเราจะต้องสร้าง “ความรักกับการให้” ให้เกิดขึ้นในบุคคลให้ได้ก่อน คือความรักที่เข้าใจในคุณค่าอันแท้จริงของรัก ทั้งที่ก่อเกิดกับการรับรู้อารมณ์ ความปรารถนา และความมุ่งหวังกระทำการใดๆ เพื่อรัก ซึ่งจะส่งผลให้ “การให้” ถูกต้องและถูกธรรม ยังประโยชน์อันพึงประสงค์ได้แท้จริง ตัวอย่างเช่นการให้ความรักและความมีเสรีภาพแก่เด็ก ต้องตระหนักว่าเสรีภาพที่ดีไม่ใช่การตามใจ หรือทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ขอบเขตที่เหมาะสมแก่ประโยชน์สุขเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาไปพร้อมกันกับการให้และการใช้เสรีภาพ การขัดใจเรื่องการใช้โทรศัพท์ เรื่องการดูโทรทัศน์ และการบริโภคนม หรือรวมถึงการใช้และการบริโภคสิ่งอื่นๆ ก็ตาม มิใช่การทำได้ตามใจ หรือตามสิทธิส่วนบุคคลเสมอไป...ตราบที่บุคคลผู้นั้นยังหย่อนวุฒิภาวะ หย่อนมารยาทสังคม ขาดสำนึกรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

เรื่องการจัดการศึกษาก็เช่นกัน วันนี้ถ้าผมเป็นผู้บริหารโรงเรียน ผมจะขอเลือกที่โทรมที่สุด ขอใช้เวลา ๕ ปี เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ เด็กไม่รักการอ่าน และคิดไม่เป็น จากนั้นจะสร้างโรงเรียนให้เป็น “โรงเรียนเหนือความคาดฝัน” คือโรงเรียนสร้างสุข สร้างความกระตือรือร้นแห่งการเรียนรู้ แต่มีข้อแม้ว่าโรงเรียนนั้นจะต้องมีครูไม่เกิน ๑๕ คน เพราะผมประมาณขอบเขตของศักยภาพของผมเพียงแค่นั้น...เรื่องนี้ก็มีปัญหาที่มองไม่เห็นซ่อนเร้นอยู่ ที่ครูและผู้บริหารท่านอื่นอาจยังคิดไม่ได้และแก้ปัญหาไม่ตก มิใช่เพราะท่านไร้ความสามารถ แต่เป็นเพราะท่านอาจจะยังมองปัญหาไม่เห็นอย่างถ่องแท้ถึง “สมุทัย” ที่แท้จริงเท่านั้นเอง

อ.วิบูล เสริมว่าทุกวันนี้เราต้องแก้ปัญหาที่ผู้บริหาร ซึ่งแก้ได้ยาก  

ผมจึงให้กำลังใจว่า เราอาจต้องลดความคาดหวังลง รวมถึงต้องลดภาระงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานสำคัญให้มากขึ้น ผู้ปรารถนาดีที่คิดดีทำดีถูกต้องแท้จะต้องไม่ย่อท้อ การศึกษานั้นมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ปลายทางแห่งสันติธรรมและสันติสุขยั่งยืน สิ่งอื่นใดที่ที่ทำๆ กันอยู่แล้วได้แต่ “ภาพ” ไม่ได้ “ผล” ที่แท้จริงก็จำเป็นต้องลดทอนลงไป เพื่อจะมีเวลากระทำการจริงจังกับภารกิจหลักนั่นเอง

การเรียนรู้กับปัญหาที่มองไม่เห็นจะต้องไล่เลียงปัญหาจากในตัวตน ในครอบครัว ในชุมชน แล้วค่อยขยายสู่ปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม ชีวิตที่จะมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าได้จะต้องมีกาย ใจ สติปัญญา อารมณ์ และวิถีแห่งการอยู่ร่วมในสังคมที่ถูกทางถูกธรรม ดังนั้น เวทีชีวิตใหม่ที่จะจัดขึ้นทุกครั้งจะต้องประกอบด้วยกิจกรรมต่อไปนี้
๑.กิจกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ปราศจากพิษโทษ
๒.กิจกรรมการเสวนาธรรมและการปฏิบัติการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญา สำนึก และมโนคติ
๓.กิจกรรมการปฏิบัติสมาธิเพื่อพัฒนาสติและวุฒิภาวะทางอารมณ์ 
๔.กิจกรรมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต
๕.กิจกรรมการบริหารกายเพื่อสุขภาวะ

จากนั้น ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีเป็นสองกลุ่ม กลุ่มภาวนาเดินจงกรม และกลุ่มนั่งภาวนาสมาธิ คาบละ ๒๐ นาที โดยมี คุณปัญญา และ พระเดวิด (สุจิตฺโตภิกขุ) เป็นผู้นำปฏิบัติในแต่ละกลุ่ม เมื่อเสร็จกิจกรรมนี้

คุณปัญญา ให้ข้อเสนอแนะว่า ครั้งหน้าควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์การภาวนาเพื่อสร้างกระแสการเรียนรู้ร่วมกันด้วย

หัวข้อเสวนา เรื่องที่ ๒ “ปัญหาที่มองเห็น”
พระเดวิด (สุจิตฺโตภิกขุ) เป็นผู้นำพูดคุย 

สืบเนื่องจากพระเดวิด ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมู่บ้านวังหลุมพอง ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง เป็นเวลา ๓ ปี ต้องการเห็นวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมที่น่าชื่นชม ความเป็นชุมชนที่เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลแห่งนี้ สามารถดำรงอยู่และสืบสานคุณค่าให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากกระแสของบริโภคนิยม กำลังคืบคลานเข้าไปใกล้ สัญญาณบางอย่างที่เริ่มแสดงออกมาให้เห็น อาทิ การทำลายสิ่งแวดล้อม ความเชื่อตามแรงโฆษณา และพุทธศาสนาเองก็ถูกท้าทายจากกระแสนี้เช่นกัน ดังนั้นท่านจึงตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันรับรู้ และตื่นตัว เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดอยู่ตรงหน้าเพื่อร่วมหาทางออกกันต่อไป

คำถามแรก ขอให้ผู้เข้าร่วมกล่าวถึงลักษณะหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเป็นสังคมบริโภคที่พบเห็นว่ามีอะไรบ้าง
ผู้เข้าร่วมเวทีได้ร่วมแสดงมุมมอง มีสาระที่สำคัญ คือ ผู้ใช้ไม่ได้ผลิต ผู้ผลิตไม่ได้ใช้,ใช้ของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นในด้านปัจจัยสี่

คุุณปัญญา กล่าวว่าเรามีส่วนเกินอยู่มากโดยเฉพาะเครื่องใช้ที่เป็นเทคโนโลยี่ใหม่ๆ อันเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนรุ่นตามแรงกระตุ้นเสมอ ทั้งที่ของใช้นั้นก็ยังใช้ได้อยู่ แต่เราก็ต้องการเปลี่ยนเสียแล้ว แล้วยกตัวอย่างชาวอโศกที่เน้นการประหยัดสูง ประโยชน์สุด

อ.วิบูล เสริมว่า ต้องเคร่งครัดในตน ผ่อนปรนผู้อื่น คือต้องมีการตรึกตรองก่อนใช้หรือซื้อนั่นเอง
คำถามที่สอง สังคมบริโภคมีผลกระทบกับชีวิตอย่างไรบ้าง เช่น

ด้านสุขภาพ พระเดวิด กล่าวว่าอาหารปกติที่กินกันอยู่ไม่เพียงพอเสียแล้วจนต้องกินอาหารเสริมกันเป็นค่านิยมใหม่ไปแล้ว
ด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาณุวัฒน์ กล่าวถึงสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่คนเรายังคงชอบทำลายอยู่บ่อยๆ


คุณระริน ให้ข้อคิดว่า เราทำอะไร จุดไหนก็ตามมันจะสะเทือนถึงกันหมด ดังเช่น คำกล่าวที่ว่าการเด็ดดอกไม้ ส่งผลให้สะเทือนถึงดวงดาว

ด้านคนกับคน คุณจิรฐา คนมีคุณภาพน้อยลง ตัวอย่าง บ้านเธออยู่ในดงอ้อยต้องคอยระวังไฟที่ชาวบ้านจุดเพื่อเผารอการตัด โดยไม่สนใจ ผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ เป็นการมองปัญหาเฉพาะตัวสร้างลัทธิตัวใครตัวมัน

ถึงตรงนี้ผมมีประเด็นเสริมเวทีว่า การกระทำต้องดำเนินไปด้วยรักจึงจะเกิดผล ดังเช่นภาษิตการใช้ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมีว่า “กินกบรักษาผา กินปลารักษาวัง” เรื่องนี้ คุณวุฒิ บุญเลิศ ปัญญาชนชาวกะเหรี่ยงเคยกล่าวในการประชุมเรื่องการอนุรักษ์ป่าครั้งหนึ่งว่า “กะเหรี่ยงอยู่บ้านเหมือนหนอนกินใบไม้ ไม่ได้ทำลายต้นไม้ แต่ถ้าย้ายกะเหรี่ยงออกจากป่า วันข้างหน้าจะมีหนอนตีนตะขาบบุกเข้าไปทำลายต้นไม้แบบถอนรากถอนโคน”

ด้านชีวิต คุณพวงแก้ว ได้ยกตัวอย่างการบริโภคที่ติดกับการกินสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเลิกไม่ได้นั้น ถ้าไม่เป็นโทษภัยจากของที่กินก็ดีไป แต่ก็ควรคำนึงถึงคนรอบข้างด้วย คุณพวงแก้วว่าตนเองติดการกินปลาร้ามาก จนลูกๆของเธอพาเธอพูดว่า “คงจะต้องพาแม่ไปเลิกปลาร้าที่วัดถ้ำกระบอกสักวันหนึ่ง”

คุณปัญญา กล่าวว่าคนในหมู่บ้านติดหวย อยากรวย แต่ก็ปากแข็งพูดว่าตนเองไม่ติด แต่ถึงเวลาใกล้หวยออกก็ถามหา อีกตัวอย่างหนึ่ง เวลานี้คนในหมู่บ้านชอบใส่ทองเก๊กันมาก โดยลงทุนเอาเงินสดจริงๆ ไปจ้างให้เขาชุบทองเก๊เส้นใหญ่มาใส่เพื่อโอ้อวดในงานบุญ หรือเทศกาลประเพณีต่างๆ เป็นเรื่องของการติดเปลือกชีวิตและติดบริโภคอีกแบบหนึ่ง  

คำถามสุดท้าย 
เราจะสู้กับวิถีบริโภคนิยมกันอย่างไร

โดย พระเดวิด กล่าวนำว่า ในส่วนตัวท่านและพระภิกษุสงฆ์คงจะต้องร่วมกันคิดกับบัณฑิตนอกผ้าเหลือง, ต้องเข้าใจชีวิต เข้าใจวิถี มีการใช้ภาษาธรรม,รักเหนือรักมีสำนึก,การมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์,จัดสัมมนากลุ่มหรือสัมมนาครอบครัว, การรับฟังคือการเรียนรู้ที่มีคุณค่า, ส่งเสริมให้มีการอ่านวรรณกรรมก็จะทำให้มีกระบวนการคิดเกิดขึ้นได้

ผมได้เสริมประเด็นนี้ว่า เราไม่อาจคาดหวังใครอื่นโดยไม่เริ่มต้นที่ตนเอง พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบรู้จักกิน รู้จักใช้ รู้จักหา และรู้จักเก็บออม เพื่อให้ลูกๆ เรียนรู้ซึมซับวิถีการใช้ชีวิตของครอบครัว การที่จะกระทำได้แท้จริงจะต้องปฏิบัติการกับภาวะจิตอยากมี อยากได้ อยากกิน ฯลฯ ที่เป็นภาวะรบเร้าและขับเคลื่อนของกิเลสภายในจิตใจ อารมณ์ และทักษะอันสั่งสมแห่งจิตไร้สำนึกของคนเรา ด้วยการฝึกทักษะแห่งการรู้ทันมัน เฆี่ยนตีมันด้วยปัญญาและสติที่เข้มแข็งให้รู้หยุด รู้ยับยั้ง ชั่งคำนึง พิจารณา...กระทำเช่นนี้เนืองๆ กับจิตใจตน กระทำจนเกิดทักษะแห่งการควบคุมได้ให้มากที่สุด ขณะที่พ่อแม่กระทำการดังกล่าวนี้ ก็ควรชวนลูกๆ พูดคุยเรียนรู้กับการกระทำไปด้วย อย่างนี้ครอบครัวก็จะเข้มแข็ง มีพลังที่จะต้านทานกระแสบริโภคนิยมได้มากขึ้น


ท้ายที่สุดของกิจกรรม พระเดวิด ได้ชวนที่ประชุมตอบโจทย์ตัวตน
ให้ทุกคนนำสิ่งของที่ความหมายเกี่ยวกับตัวเอง หรือสิ่งของที่แสดงความเป็นตัวเอง มาคนละ ๑ ชิ้น
หลังจากนั้น หลับตาลงช้าๆ ลองนึกย้อนไปถึงวันที่ได้ของสิ่งนี้มา ว่ามีความสุขแค่ไหนที่ตอนนั้นได้ เมื่อสิ่งของนี้มาเป็นของตน และตนเป็นทุกข์หรือสุขอย่างไรในเวลาที่มีของชิ้นนี้ และนับจากนี้ไปตนจะใช้ของสิ่งนี้ต่อไปอย่างไรอย่างรู้คุณค่า จะทะนุถนอมอย่างไร ดูแลอย่างไร จากนั้นค่อยๆ ลืมตาสัมผัสของสิ่งนั้น ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ระลึกถึงความผูกพันกับของรักชิ้นนี้ พร้อมกับสะท้อนความเป็นตัวตนของตนเองอย่างไรบ้าง 
ผู้ร่วมประชุมร่วมปฏิบัติการ เช่น 
คุณภาณุวัฒน์-กล้องถ่ายรูป
คุณภาษิต-แหวน-นาฬิกา
คุณพุทธิดา-กระเป๋า
อ.วิบูล-ตลับรูปหัวใจ
คุณฟ้า-กล้องถ่ายรูปได้มาจากญี่ปุ่น
คุณพวงแก้ว-รูปครอบครัวรูปถ่ายครอบครัว ถ่ายที่บ้าน
คุณจิรฐา-กำไลยางไม้คุณค่าทางใจสูง ได้มาจากนักบวชท่านหนึ่ง
คุณระริน-สมุดบันทึก สำคัญมาก แม้หลับไปแล้ว เมื่อรู้ตัวและมีความคิดดีๆจะลุกขึ้นมาเขียนทันที
คุณปัญญา-แว่นตา
คุณวันชัย-พระสมเด็จห้อยคอ
ผม-หนังสือ ๒ เล่ม
ฯลฯ

ให้ทุกคนเฝ้ามองความรู้สึกนึกคิดภายในของตัวเองว่าทำงานอย่างไร จากนั้น ให้จับฉลากหมายเลข แต่ละแผ่นจะเขียนเป็นหมายเลข ๑, ๒, ๓ เมื่อจับแล้วต้องทำตามกติกาที่เขียนเอาไว้ หลังจากทราบว่าได้เลขอะไรแล้วให้ปฏิบัติการต่อไป คือ 
หมายเลข ๑ ต้องมอบสิ่งของของตนให้คนที่คุณอยากให้โดยไม่มีเงื่อนไข
หมายเลข ๒ ต้องแลกของกับคนที่จับฉลากได้ข้อ ๒
หมายเลข ๓ ไม่ต้องให้สิ่งของแก่ใครทั้งสิ้น
ที่ประชุมมีปฏิกิริยาและมีคำถามว่าจริงหรือเล่นล้อ พระเดวิด ยืนยันว่า “จริง”
เมื่อจบกิจกรรมการให้ และแลกเปลี่ยน ผ่านไป พระเดวิด ชวนให้ทุกคนพิจารณาและรับรู้ถึงความรู้สึกที่ปรุงแต่งภายใน 
รู้สึกอย่างไรที่ของรักของเราไม่อยู่กับเรา
รู้สึกอย่างไรที่ได้รับของรักมีค่านั้นของคนอื่น
รู้สึกอย่างไรที่ไม่ได้สละสิ่งของที่รัก 
กิจกรรมนี้ทำให้ได้รับคำตอบสารภาพกิเลส ความยึดติด ความเสียดาย ความตกหล่นอื่นๆ ของจิต และความมีข้อคิดต่างๆ ของผู้เข้าร่วมประชุม

พระเดวิด ได้สรุปว่า 
อุปาทาน ของการยึดติดในกาม ทรัพย์ สมบัติ สิ่งของ (กามปาทาน) 
ยึดติดความคิดในความคิด อุดมการณ์ ทฤษฎี (ทิฐิปาทาน)
ยึดติดในศีลและพรต (สีลัพพตุปาทาน) 
ยึดติดในตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) 
กิจกรรมนี้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของธรรมชาติ
ถ้าเรายึดว่ามันเป็นของเราไม่ต่างจากการขโมย
เมื่อเรายึดว่ามันเป็นของๆ เรา ธรรมชาติก็จะลงโทษโดยทำให้เราเกิดความทุกข์
บางครั้งเราเข้าใจกฎของธรรมชาตินี้ แต่เรายังทำไม่ได้
เราต้องฝึกฝน (หมั่นซ้อมอยู่เรื่อยๆ) เข้าให้ถึงความจริงจนทำให้เกิดปัญญา (เห็นความจริงที่ไม่มีอะไรเป็นของเรา) แต่เรามักทุกข์ไปกับทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย “กลายเป็นทุกข์ง่าย สุขยาก”
   
ผมได้สรุปกิจกรรมสองวันหนึ่งคืนของ เวทีชีวิตใหม่ ว่า 
เราต่างได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตจากกันและกัน ได้อ่าน ได้คิด ได้พิจารณาตัวตน เชื่อมโยงกับปัญหาชีวิต ครอบครัว และสังคม ได้ฝึกปฏิบัติธรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พอได้กระตุ้นเตือนการใช้ชีวิตที่อาจหลงลืมกระทำบางสิ่งบางอย่างอันเป็นคุณค่าแก่ตนเองและผู้อื่น ให้ได้นำพาไปฝึกปฏิบัติต่อไป การลงลึกใน “สมุทัย” ของ “ทุกข์” หรือปัญหาใดๆ จะทำให้เรากระจ่างชัดต่อปัญหามากขึ้น และจะช่วยให้เราแสวงหา “มรรควิธี” ที่จะแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ “กาย-จิตใจ-สติปัญญา-ศิลปาการแห่งชีวิต” ของเราต้องสมบูรณ์พร้อมและเข้มแข็งเพียงพอด้วย เราจึงต้องหมั่นมาเสวนากันอย่างนี้บ่อยๆ เติมแรงใจไฟชีวิตที่เข้มข้นแก่กันเสมอๆ 

พบกันใหม่ใน เวทีชีวิตใหม่ ครั้งต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 245340เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ภาพจาก "เวทีชีวิตใหม่ครั้งที่ ๑"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท