โครงการเสวนากล้วยน้ำไทวิชาการ (ICT Social Network) ตอนที่ ๒ “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงและองค์กรสนับสนุนการพัฒนาประชาคมบนเน็ต”


เวทีกล้วยนำไทวิชาการ เป็นเวทีที่เป็นพื้นที่ของเครือข่ายนักวิชาการและนักพัฒนาในการนำเสนอประเด็นความรู้ใน ประเด็น “องค์ความรู้หลัก” อยู่ ๔ ส่วน กล่าวคือ (๑) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึง (๒) เข้าใช้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๓)การจัดการบุคคลบนโลกอินเทอร์เน็ต (๔) การจัดการความสัมพันธ์ของบุคคลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ประเด็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึง การจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้วย และ (๕) การจัดการทรัพย์สินบนโลกเครือข่ายออนไลน์

(๑)                 

แนวคิดเกี่ยวกับเวทีวิชาการ

          เวทีวิชาการที่เราเรียกว่า “เวทีกล้วยน้ำไท” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และ ผศ.สุรวุธ กิจกุศล ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของการ “แสวงหาองค์ความรู้” และ “แลกเปลี่ยนองค์ความรู้” ของเครือข่ายนักวิชาการ นักพัฒนาในประเด็นด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคม โดยมีประเด็น “องค์ความรู้หลัก” อยู่ ๔ ส่วน กล่าวคือ (๑) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึง (๒) เข้าใช้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๓)การจัดการบุคคลบนโลกอินเทอร์เน็ต (๔) การจัดการความสัมพันธ์ของบุคคลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ประเด็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึง การจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้วย และ (๕) การจัดการทรัพย์สินบนโลกเครือข่ายออนไลน์ ดังนั้น ในทุกรอบของเวที่กล้วยน้ำไท จะเป็นการต่อเติมประเด็นความรู้ในทั้ง ๕ ส่วนจากเครือขายนักวิชาการ เครือข่ายนักพัฒนา เครือข่ายภาคนโยบาย เพื่อทำให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ รวมทั้ง การสร้างประชาคมนักวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาสังคม

          ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ผ่านมา เครือข่ายในการจัดงานทั้ง คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.กรุงเทพ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล รวมทั้ง แผนงานไอซีทีเพื่อสุขภาวะออนไลน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เป็นแกนกลางในการเริ่มต้นเวทีวิชาการเป็นครั้งที่ ๒ ของการจัดเวทีในลักษณะนี้

          ครั้งนี้ มีนักวิชาการและนักพัฒนาเปิดประเด็นใน ๓ ประเด็นหลัก กล่าวคือ (๑) Wi-max เทคโนโลยีเพื่อการลดช่องว่างทางเทคโนโลยี (๒) การสนับสนุนเครือข่ายสังคมออนไลน์ การสนับสนุนเครือข่ายในการใช้ไอซีที โดยคุณไกลก้อง ไวทยากร เครือข่าย Change Fusion (๓) การคุ้มครองเด็ก และ การจัดการทรัพย์สินในเกมคอมพิวเตอร์ กรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษ โดย อาจารย์ พลอยขวัญ จากคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร พะเยา

(๒)    

เครือข่าย Change Fusion กับระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์

คุณไกลก้อง ไวทยากร หรือ แต๊ก มาในฐานะหมวกหลายใบ ทั้ง จากเครือข่าย Change Fusion ที่เป็นหนึ่งในแผนงานด้านไอซีทีเพื่อสุขภาวะออนไลน์ และยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองชาวเน็ต หรือ  Netizen ได้นำเสนอถึงแนวคิดในการทำงานของเครือข่าย Change Fusion ใน ๒ ลักษณะกล่าวคือ การพัฒนานวตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาสังคม และ ส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise สามารถใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณไกรก้องยังได้กล่าวต่อถึงงานของ Change Fusion ซึ่งเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์ โดย Change Fusion นั้นได้ทำงานร่วมกับ สสส. ซึ่งได้ทำหน้าที่ใน ๓ ลักษณะ คือ ลักษณะแรกการพัฒนาเครื่องมือทางไอซีทีเพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถใช้เครื่องมือในการทำงานด้านไอซีทีได้  ลักษณะที่สอง การขจัดสื่อร้าย และสุดท้าย การขยายสื่อดี

ภายใต้การทำงานของเครือข่าย Change Fusion ได้มีการจัดทำพื้นที่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น www.fuse.in.th ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ให้เยาวชนสามารถนำ คลิป นำภาพ รูปถ่าย มาโพสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งทำร่วมกับไบโอสโคป มีกลุ่มเป้าหมายคือ วัยรุ่น เยาวชน มัธยมศึกษาตอนปลาย ถึง มหาวิทยาลัย มีจำนวนการเข้าชมเว็บไซต์มากถึงเดือนและ ๑ แสนคน

ทางด้านการขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดีนั้น ได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งร้านเกมสีขาว และตั้งศูนย์เฝ้าระวัง Internet และยังสนับสนุนเครือข่าย blogger เพื่อสร้างเครือข่ายผู้สื่อข่าวพลเมือง ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ในยุคเว็บไซต์ ๒.๐ ที่ผู้ใช้สามารถเป็นผู้สื่อสารได้ด้วยตนเอง

ในส่วนของวิธีการทำงานของเครือข่ายในการสื่อสารข้อมูลในยุคเว็บ ๒.๐ พบว่ามีด้วยกัน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ Webblog ซึ่งเป็นรูปแบบของการใช้งานที่ผู้ใช้บริการจะมีพื้นที่ของตนเองในการนำเสนอเนื้อหา โดยจะมีการเชื่อมต่อกับเว็บบล็อกของผู้ใช้บริการคนอื่น ผู้ใช้บริการคนอื่นๆสามารถเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อบล็อกของผู้อื่นได้ Wikis หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของสารานุกรมออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการใช้งานที่จะมีให้ผู้เริ่มต้นเขียนข้อมูลและจะมีผู้ใช้บริการรายอื่นๆมาร่วมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาเหล่านั้นได้ และสุดท้าย Mashups เป็นเทคโนโลยีอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเข้ามาจัดการทำให้เกิดการผสมข้อมูลที่สามารถหาง่ายเข้าถึงได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น Google Earth เป็นต้น รูปแบบของการใช้งานทั้งหลายเหล่านี้ เป็นการสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้งานในยุคเว็บ ๒.๐ ที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network กำลังช่วยกันสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสังคม เช่น การเตือนภัยธรรมชาติโดยเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ทำข้อมูลผ่านระบบ Mashups

(๓)    

กรณีศึกษาการคุ้มครองเด็กในประเทศอังกฤษ กับ ปัญหาเรื่องทรัพย์สินในเกมคอมพิวเตอร์

อ.พลอยขวัญ เหล่าอมต จากคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร พะเยา ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในเกมคอมพิวเตอร์ โดยตั้งประเด็นว่า ไอเทมในเกมเป็นทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาตามกฎหมายไทย พบว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์ที่มีรูปร่าง หรือ ไม่มีรูปร่าง มีราคาและอาจถือเอาได้ โดยไอเทมในเกมนั้น มีราคาและอาจถือเอาได้ ซึ่งในประเทศอังกฤษให้ความคุ้มครองไอเทมในเกมคอมพิวเตอร์ แต่ว่า ให้การคุ้มครองเฉพาะทรัพย์สินที่มีมูลค่า ??? ดังนั้น ไอเทมในเกมส่วนใหญ่ที่มีมูลค่าไม่ถึง จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หมายความว่า โดยหลักกฎหมายแล้ว ปรเทศอังกฤษให้ความคุ้มครองไอเทมในเกมในฐานะที่เป็นทรัพย์สิน แต่ทว่า ต้องมีมูลค่าตามที่กฎหมายกำหนดจึงจะได้รับความคุ้มครอง

โดยในประเด็นของการคุ้มครองเด็ก เยาวชนในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กฎหมายในประเทศอังกฤษได้ให้ความคุ้มครองกรณ๊ของการล่อลวงเด็ก เยาวชน โดยองค์ประกอบความผิดนั้นพิจารณาจากการกระทำของผู้กระทำความผิดเพียงแค่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีการล่อลวง เช่น การพกถุงยางอนามัยเพื่อไปพบเด็กที่ล่อลวง ถือว่ากระทำความผิดนั้นสำเร็จแล้ว

ในกรณีของการหมิ่นประมาทในประเด็นด้านศาสนา จนกลายเป็นสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic War) เป็นประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการจัดการ โดยในเรื่องนี้ ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวคิดในการจัดการ   

 

(๔)    

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงไอซีที (Digital Divide)

          คุณทนงศักดิ์ เกิดนุ่น นักเทคโนโลยีจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในฐานะนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงการทดลองใช้ Wimax ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยกระจายโอกาสในการเข้าถึง เข้าใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล โดยได้จัดทำโครงการศึกษาโครงข่าย Wimax เพื่อนำมาใช้ในด้านการศึกษาและการแพทย์ของจังหวัดสมุทรสาคร โดยเริ่มต้นจากสาเหตุและที่มาของการศึกษาว่า ปัญหาจากความห่างไกลในเรื่องของพื้นที่ในการเข้าถึงเข้าใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งในเรื่องความไม่เท่าเทียมของสถาบันการศึกษา โอกาสในการใช้เทคโนโลยีในสังคมที่แตกต่างกัน ความไม่เท่าทียมกันของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร รวมไปถึง ความไม่เท่าทียมกันของงานด้านการแพทย์ ดังนั้น เพื่อทำให้เกิดการลดช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Digital Divide) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Wimax ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่จะช่วยทำให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงและเข้าใช้อินเทอร์เน็ต

          โดยในการศึกษาทดลองครั้งนี้เป็นการศึกษาในโครงการร่วมระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเซีย จำกัด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดสถานที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ โครงข่าวเพื่อเชื่อมต่อแต่ละสถานี และ ติดต่อผู้ร่วมใช้งานอุปกรณ์ปลายทาง ในขณะที่ บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเซีย จำกัด เป็นผู้จัดเตรียมและติดตั้งอุปกรณ์ในการทดสอบทั้งหมด

ทั้งนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องใน ๔ ประเด็น กล่าวคือ การศึกษาอำนาจและขอบเขตขององค์กรบริหารส่วนจังหวัด ความสามารถของโครงข่าย Wimax ความถี่ที่เกี่ยวข้องโดยศึกษาจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) การลงทุนร่วมระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในเรื่องของ การออกแบบโครข่ายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร การศึกษาด้านการลงทุน และ อัตราส่วนของการลงทุนรวมทั้งประเด็นเรื่องสัญญา

          การศึกษาโครงการนี้มีกรอบของการศึกษาทั้งในเรื่องของระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อห้องสมุด และ เรื่องของการสาธารณสุขจังหวัด ในประเด็นของการแพทย์ผ่านโครงข่าย เช่น การส่งผลการตรวจเพื่อทำให้เกิดความรวดเร็วในการรักษาพยาบาล

(๕)

การใช้เสรีภาพกับกรณีหมิ่นประมาทบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

          ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆในเวที ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างมากก็คือ ประเด็นเรื่องของการหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของสถาบัน ตามาตรา ๑๔๒ ประมวลกฎหมายอาญา รวมไปถึง การหมิ่นประมาทในกรณีทั่วไป ในเรื่องนี้มีประเด็นของการพิจารณาในเชิงหลักการก็คือ การใช้เสรีภาพและขอบเขตการใช้เสรีภาพ รวมทั้ง แนวทางในการจัดการกรณีที่เกิดการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต อย่างไรก็ตาม ในเวทีมีการพูดถึงประเด็นของการใช้เสรีภาพทำให้เกิดภาวะ “การทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ”

            ในแง่ของประเด็นการเคลื่อนไหวในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๔๐ ของเครือข่ายพลเมืองชาวเน็ตโดยได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับแก้กฎหมายที่กระทบกับสื่อ เสนอให้ต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นระยะเวลาที่เพียงพอ ทั้งการแก้ไข พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและการหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งการขอให้รัฐส่งเสริม ปกป้อง สิทธิพลเมือง ทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต และ เสรีภาพของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสื่อออนไลน์และวิทยุชุมชน อีกทั้งปรับปรุงกติกาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่ง สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 45, 46, 47 รวมทั้งปฏิญญาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ในมาตรา 19 (Article 19) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัตติ (Accession) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540

ทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของเป้าหมายของการจัดเวทีวิชาการในครั้งที่สามเกี่ยวกับ แนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกันเองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Self Regulation ที่มีการเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในวงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งใน กลุ่มผู้ดูแลเว็บไซต์ กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) กลุ่มผู้ใช้บริการ รวมไปถึง กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพที่ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น เครือข่ายพลเมืองชาวเน็ต หรือ Netizen สภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมเว็บมาสเตอร์ เป็นต้น

โดยจะมีการหารือถึงวัน เวลาในการจัดงานเพื่อทำให้เกิดการรวมรวมแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกันเองของเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่มีอยู่และใช้งานอยู่แล้ว โดยจะเริ่มต้นจากประเด็นการจัดการกรณีหมิ่นประมาทเพื่อทำให้เริ่มต้นวางหลักการ แนวทางในการสร้างประมวลแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกันเองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 242889เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาอ่านครับอาจารย์
  • ละเอียดและชัดเจนมาก
  • เหมือนกันว่าผมอยู่ในเวทีด้วยเลย
  • มาเล่าอีกนะครับ
  • มีอะไรพอช่วยได้ยินดีครับ

ชวน อาจารย์ขจิต มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลเครือข่ายสังคมออนไลน์กันครับ อยากรู้ว่า โกทูโน มีแนวปฏิบัติในการจัดการอย่างไรบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท