ทบทวนการพัฒนาตนเอง ในรอบ 365 วันกับการทำงานที่ สคส.


วัฒนธรรมเช่นนี้ ทำให้ทุกคนใน สคส. กล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะค้านด้วยความมีเหตุผลอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ทุกคนซึมซับบรรยากาศการคิดเชิงบวก คิดอย่างสร้างสรรค์ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

         เมื่อวานนี้  (17  เมษายน 2549)  เป็นวันครบรอบ 1  ปี การทำงานที่ สคส.  ของผู้เขียน  ซึ่งผู้เขียนขอเขียน (พิมพ์)  บันทึกฉบับนี้  เพื่อเป็นการทบทวนการพัฒนาการทำงานและการเรียนรู้ของตนเองจากการทำงานที่  สคส.  
         จริงๆ  แล้วการทำงานที่  สคส.  ทำให้ผู้เขียนได้ประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายด้านหลากหลายมิติ  อะไรที่ไม่เคยทำไม่เคยลอง  ก็ได้คิด  ได้ทำ  ได้ลงมือทำ  ได้ลองผิดลองถูก  ได้กล้าคิด  ได้กล้าเรียนรู้  ได้ซึมซับทักษะการทำงานการคิดในมุมมองต่างๆ  จากอาจารย์ทั้ง 2  ท่าน  (ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  และ  ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด)  ได้เรียนรู้จากเพื่อน  (ทั้งในและนอก สคส.)  ได้พันธมิตรภาคีเครือข่าย  ได้กัลยาณมิตรที่ช่วยเติมเต็ม  แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน  ได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ได้อะไรมากมายที่ไม่สามารถสาธยายได้หมดครบในบันทึกฉบับนี้   แต่ผู้เขียนจะขอบันทึกเฉพาะสิ่งที่รู้สึกว่า  ภาคภูมิใจในพัฒนาการของตนเองมากที่สุดในรอบ  365  วันที่ผ่านมา  ก็แล้วกัน  นั่นคือ  การทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการจัดการความรู้
         เริ่มต้น  ผู้เขียนก้าวเข้าสู่  สคส.  ด้วยความไม่รู้ว่า KM  คืออะไร  มีโอกาสศึกษาเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการความรู้เท่าที่หาอ่านได้  อาจารย์และเพื่อนๆ  ใน สคส.  ก็ไม่เคยบอกว่า  การจัดการความรู้คืออะไร  แต่ทุกคนใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ด้วยการสัมผัส  ซึมซับและลงมือทำจริงๆ  เลย ประกอบกับอาศัยการสังเกต  การถาม  การพูด  การฟัง  การใฝ่เรียนรู้  การใฝ่ค้นคว้าค้นหา  การคิดสังเคราะห์ด้วยตนเองและถอดบทเรียนออกมาเป็นการบันทึก (ที่เผยแพร่บ้างไม่ได้เผยแพร่บ้าง)
          จำได้ว่า  ตอนที่สัมภาษณ์เข้าทำงาน  อ.วิจารณ์  ถามว่า  งานอะไรที่รู้สึกว่า ทำไม่ได้  ทำแล้วต้องตายให้ได้  (อ.วิจารณ์  ใช้คำพูดเช่นนี้จริงๆ ค่ะ)   ผู้เขียนตอบไปว่า  ไม่รู้เหมือนกันว่างานอะไรที่ทำไม่ได้  (จริงๆ  แล้ว ตอบไม่ถูกค่ะ)   อ.วิจารณ์  คงเห็นว่าเป็นคำถามที่กว้างเกินไป  อาจารย์เลยถามใหม่ว่า  หากต้องให้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ  สามารถทำหรือไม่  ผู้เขียนจึงตอบกลับไปว่า  เคยเป็นแต่วิทยากรนำกระบวนให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน  ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการเลย  แต่คิดว่า หากเป็นงานที่เราคลุกมากับมือ  คือ มีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ  เป็นอย่างดีก็น่าจะทำได้  ซึ่งอาจารย์บอกว่า  ให้โอกาส  3  เดือนในการเรียนรู้  เพื่อทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ  นั่นหมายความว่า  ภายใน 3  เดือน  ผู้เขียนจะต้องขึ้นเวทีและทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้หลักเลย   ดังนั้นในช่วง  3 – 4  เดือนแรกจึงต้องติดตาม  เรียนรู้และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิทยากรคนอื่นๆ  ไปก่อน  
        และแล้ววันที่ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมากที่สุด  คือ การทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการจัดการความรู้  จำได้ว่า เวทีแรก คือ  ตลาดนัดความรู้  “ครูเพื่อศิษย์  :  ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส  (ฝ่าวิกฤติวัยรุ่น) จัดโดย  สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา  (สพบ.)  ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรอยัล ซิตี้  ปิ่นเกล้า  กรุงเทพฯ   ในช่วงวันที่ 25  – 27   สิงหาคม  2548  และตามมาอีกหลายๆ  เวที  ซึ่งมีทั้งความสำเร็จและที่เป็นบทเรียนมาให้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา 

          ปัจจุบัน แม้ว่า ผู้เขียนจะเริ่มชินกับเวทีหรือ Workshop  การจัดการความรู้ มากขึ้น  แต่ก็จะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ต้องทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ    ผู้เขียนต้องพยายามเก็บอาการตื่นเต้น ต้องมีความมั่นใจและมีสติที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า  ตื่นเต้นจนต้อง (ทำเหมือน)  กล้า   ยังดีที่ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกโดดเดี่ยวหรือถูกลอยแพ  เพราะการทำงานที่ สคส.  เป็นการทำงานและการเรียนรู้แบบกลุ่มหรือทีมงาน  โดย  สคส. มีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการพัฒนาการทำงานและตนเองในด้านต่างๆ  อยู่ตลอดเวลา  รวมทั้งทักษะการทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ ทั้งแบบเป็นทางการ  คือ  การประชุมประจำสัปดาห์  (ทุกวันพุธตอนเช้า)  และแบบไม่เป็นทางการ  คือ  การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองกับเพื่อนๆ  PO  (เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ)  ใน สคส.  ทุกคนไม่เคยหวงหรือกั๊กความรู้และประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีของตนเองเลย  สิ่งที่ดี คือ  ยาชูกำลัง  สิ่งที่ไม่ดี คือ  ยาป้องกัน  (บทเรียน)   สิ่งต่างๆ  เหล่านี้  ทำให้เราเกิดการซึมซับและพัฒนาทักษะเหล่านั้นไปโดยปริยาย  (แต่ปัจจุบันก็ยังทำได้ไม่ดีมากนัก  ต้องพัฒนาเทคนิคและมุขของตนเองอยู่เสมอต่อไปอีก)   

         ที่สำคัญ  อาจารย์วิจารณ์  และอาจารย์ประพนธ์  เปิดโอกาสให้พวกเราได้คิด  ได้ทำ  ได้พูดอย่างเสรีแบบไม่ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมอำนาจและระบบอาวุโส  แม้บางครั้งผู้เขียนจะรู้สึกว่า ตนเองพูดหรือกระทำอะไรบางอย่างที่คิดว่า ไม่ได้เรื่องออกไปบ้าง  แต่อาจารย์ทั้งสองก็ไม่เคยตอกย้ำซ้ำเติมให้รู้สึกท้อถอย  หรือหมดกำลังใจ  อาจารย์ย้ำอยู่เสมอว่า  มันคือ  ความคิดที่แตกต่างหลากหลาย  ที่กลายมาเป็นความสวยงามของการทำงานขับเคลื่อนการจัดการความรู้ของ สคส.  และของสังคมไทย
         วัฒนธรรมเช่นนี้  ทำให้ทุกคนใน สคส.  กล้าที่จะคิด  กล้าที่จะพูด  กล้าที่จะค้านด้วยความมีเหตุผลอย่างสร้างสรรค์  ทำให้ทุกคนซึมซับบรรยากาศการคิดเชิงบวก  คิดอย่างสร้างสรรค์ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว  สิ่งเหล่านี้ คือ  พลังของการพัฒนาการทำงานของตนเอง  พัฒนาการทำงานขององค์กรอย่างแท้จริง
         ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณ อาจารย์วิจารณ์,  อาจารย์ประพนธ์,  พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ  ใน สคส.,  ภาคีเครือข่าย และกัลยาณมิตรทุกท่าน  ที่ช่วยเติมเต็มและเป็นผู้ให้ (โอกาส)  ผู้เขียนได้เรียนรู้  ได้ประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองและในการทำงานขับเคลื่อนการจัดการความรู้ของสังคมไทยตลอดมาและคาดว่าจะตลอดไปด้วย 

         สุดท้าย  แต่คงไม่ท้ายสุด ผู้เขียนหวังว่า  การทำงานใน  365  วันต่อจากนี้และปีต่อๆ  ไป  คงจะทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้และประสบการณ์ดีๆ  อีกมากมายไม่สิ้นสุดเช่นเดียวกันกับ 365  วันที่ผ่านมานี้อย่างแน่นอน

                                                                                               นภินทร  ศิริไทย
                                                                                               18 เมษายน 2549
                                                                                               บ้านผู้หว่าน  นครปฐม

หมายเลขบันทึก: 24282เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2006 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ได้ความรู้ดีครับ..
เห็นที่มาและที่จะไปของฅตๆ หนึ่ง
เอาใจช่วยครับ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท