รัฐแบกดอกหลังแอ่น คลังเผยสุทธิปีละหมื่นล.


รัฐแบกดอกหลังแอ่น คลังเผยสุทธิปีละหมื่นล.
     คลังยอมแบกดอกตั๋วเงินคลังปี ละ 1 หมื่นล้านบาท เก็บเงินกู้ไว้บริหารสภาพคล่องเงินคงคลังไม่ให้มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ตั๋วเงินคลังจำนวน 2.5 แสนล้านบาท ได้ออกครบทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงต้นปี ที่การเบิกจ่ายงบประมาณสูงขึ้นจนมีปัญหาทำให้เบิกจ่ายล่าช้า ซึ่งการกู้เงินจากสถาบันการเงิน      โดยการออกตั๋วเงินคลัง มีภาระอัตราดอกเบี้ย 3-4% ต่อปี ทำให้รัฐบาลมีภาระดอกเบี้ยรวมปีละ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณในส่วนของงบชำระหนี้มาแบ่งจ่าย  ซึ่งในปี 2549 จะต้องจัดแบ่งจากงบประมาณชำระหนี้ที่ได้ตั้งไว้จำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท มาใช้ หลังจากนั้นจะทยอยออกมาชดเชย
นางพรรณี กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ารายได้ที่จะเริ่มเข้ามามากในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จากการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากรจะทำให้ฐานะการคลังดีขึ้น เหลือพอที่จะจ่ายถ่ายถอนตั๋วเงินคลัง ได้จำนวน 8 หมื่นล้านบาท  เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ในเดือนกันยายน 2549 แต่จะเกิดปัญหาว่า เมื่อไถ่ถอนและต้องการใช้เงินกู้จากการออกตั๋วเงินคลังอีก จะต้องขอคณะรัฐมนตรีใหม่ทำให้มีปัญหายุ่งยาก   ทาง สบน. จึงจะรักษาการกู้เงิน ตั๋วเงินคลังไว้เต็มจำนวน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อรักษาเพดานวงเงินเก็บไว้บริหารเงินคงคลัง  ในปีต่อไป
นางพรรณี กล่าวว่า ปัจจุบันงบประมาณของประเทศขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าในอดีตมาก อีกทั้งรัฐบาล       มีนโยบายเร่งเบิกจ่ายจากเดิมที่ตั้งเป้าเบิกจ่าย 70-80% ของงบประมาณรายจ่าย มาเป็น 93% ของงบประมาณรายจ่าย ทำให้ต้องใช้เงินเพื่อการเบิกจ่ายในแต่ละเดือนสูง ซึ่งต้องมีการเตรียมเครื่องมือบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง   สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารออมสิน 5 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจา      อัตราดอกเบี้ยจ่ายกับธนาคาร โดยขอต่ออายุออกไปอีก 2 เดือน ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินออมสินจะครบกำหนด  ภายในวันที่ 26 เมษายนนี้   ทั้งนี้ มีรายงานว่าเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นปีแรกที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเสียภาษีหลังจากล้างผลขาดทุนสุทธิกันแทบหมดแล้ว
นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ขณะนี้มั่นใจในเดือนเมษายนนี้มีเงินสำรองการเบิกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ และเจ้าหนี้ของราชการได้พอไม่มีปัญหา  ซึ่งจากการตรวจสอบไม่มีปัญหาการเบิกจ่ายไม่ได้เพราะเงินไม่มี  แต่การเบิกจ่ายไม่ได้มาจากปัญหาทางเทคนิค และสามารถแก้ไขให้การเบิกจ่ายได้เป็นปกติ
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ปัญหากระแสเงินเข้าไม่เพียงพอต่อกระแสเงินจ่าย จนทำให้ต้องกู้เงินเพิ่ม รวมถึง   ยืดการชำระหนี้ออกไปนั้น เป็นผลมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549  (ตุลาคม 2548 ถึง กุมภาพันธ์ 2549) มีจำนวนสูงถึง 614,679 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 149,402 ล้านบาท หรือ 32.1%     รายจ่ายที่สำคัญ คือ รายจ่ายจากงบประมาณปี 2548 หรืองบฯ เหลื่อมปี        


ที่ทยอยมาเบิกในต้นปีงบประมาณนี้ จำนวน 91,700 ล้านบาท งบประมาณที่จัดสรรให้กองทุนหมู่บ้าน 10,592 ล้านบาท   งบพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน (เอสเอ็มแอล) 9 พันล้านบาท   กองทุนหลักประกันสุขภาพ 25,226 ล้านบาท   กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา 10,900 ล้านบาท  และเงินเดือนและบำนาญ เดือนละ 4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยกระแสเงินสดจ่ายสูงกว่ากระแสเงินสดรับจำนวนมาก โดยกระแสเงินสด ที่ต้องจ่ายออกมีเฉลี่ยประมาณวันละ 6.6 พัน ล้านบาท ในขณะที่กระแสเงินสดรับเข้ามา 5.8 พัน ล้านบาท
โพสต์ทูเดย์  17  เมษายน  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24161เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท