‘บุญศักดิ์’ เรียกขวัญ ขรก. ทั่วปท. ย้ำจ่ายเงินเดือนตรงตามเวลา


‘บุญศักดิ์’ เรียกขวัญ ขรก. ทั่วปท. ย้ำจ่ายเงินเดือนตรงตามเวลา เชื่อ มิ.ย.49 เบิกจ่ายงบลงทุนกลับสู่ภาวะปกติ

     อธิบดีกรมบัญชีกลางย้ำความมั่นใจข้าราชการทั่วประเทศ ยันจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลา แต่ยอมรับ   การเบิกจ่ายงบลงทุนอาจล่าช้า เชื่อเดือน มิ.ย.49 นี้ สถานการณ์เบิกจ่ายกลับสู่ภาวะปกติเพราะเป็นช่วงที่มีรายได้จากภาษี  ขณะที่ส่วนราชการวิ่งโร่ร้องกรมบัญชีกลางเพียบ ครวญนอกจากเบิกจ่ายล่าช้าแล้วงบลงทุนยังถูกยืดเวลาเบิกจ่ายออกไปอีกครึ่งเดือน
จากสัญญาณที่รัฐบาลเริ่มประสบปัญหาหมุนเงินสดไม่ทัน ทำให้กระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยราชการต่าง ๆ ซึ่งปัญหาจากการบริหารสภาพคล่องและการบริหารจัดการงบประมาณ ได้ส่งผลกระทบขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
ต่อกรณีดังกล่าว นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในส่วนของการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทั่วประเทศนั้น ขอให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินเดือนตรงตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างแน่นอน     ซึ่งทางกรมบัญชีกลางถือว่าเรื่องนี้เป็นลำดับความสำคัญต้น ๆ ที่จะต้องมีการเบิกจ่าย ส่วนกรณีการเบิกจ่ายงบลงทุนอาจจะเป็นลำดับรองลงไป   แต่ยอมรับว่าในภาพรวมทั่วไปแล้ว ระยะเวลาการเบิกจ่ายที่ปกติเฉลี่ย 1-3 วัน     จะล่าช้าออกไปเป็น 3-7 วัน เนื่องจากการขาดสภาพคล่องในช่วงนี้เท่านั้น โดยเชื่อมั่นว่าหลังจากเดือนมีนาคม 2549 ไปแล้วสถานการณ์จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น และในเดือนมิถุนายน 2549 คาดว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติตามเดิม เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเข้ามาเป็นจำนวนมาก  "อย่างอื่นเราไม่ว่ากัน  เพราะกรมบัญชีกลางต้องบริหารเม็ดเงินเท่าที่มีอยู่ แต่ให้ข้าราชการทุกคนมั่นใจได้ว่า จะยังคงได้รับเงินเดือน  ตรงตามเวลาแน่นอน เพราะเรื่องนี้เรายอมไม่ได้ ถือเป็นขวัญและกำลังใจของเค้า  แต่ในส่วนงบลงทุนอื่น ๆ    คงต้องชะลอออกไปบ้าง และในเดือนมิถุนายนการเบิกจ่ายจะเป็นปกติ เพราะจะมีเงินภาษีล้นคลังเข้ามาอย่างมาก" นายบุญศักดิ์ กล่าว
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้รับข้อมูลจากส่วนราชการหลายแห่งทั่วประเทศ ถึงกรณีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณล่าช้ากว่ากำหนดอย่างมาก โดยบางแห่งมีการเบิกจ่ายเงินล่าช้าจากวันที่ขอเบิกนานถึง 10 กว่าวันทำการ ซึ่งล่าช้ากว่าที่ทางกระทรวงการคลังชี้แจงว่าสามารถเบิกจ่ายได้   ในช่วง 3-7 วันทำการ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการรับเหมาก่อสร้างต่าง ๆ ก็ล่าช้าออกไปจากเดิมอีกกว่าครึ่งเดือน และข้าราชการหลายท่านก็เกรงว่า การเบิกจ่ายที่ล่าช้านี้ จะส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการอาจจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย   "การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะล่าช้ากว่ากำหนดมาก ซึ่งมีการร้องเรียนมายังกรมบัญชีกลางหลายครั้ง แต่ได้รับคำตอบกลับไปว่ามีนโยบาย     ให้ชะลอการเบิกจ่ายเงินอย่างไม่มีกำหนดแน่นอน โดยกรมบัญชีกลางจะทำการบล็อกรายการเบิกจ่ายในระบบเบิกจ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (จีเอฟเอ็มไอเอส) ตั้งแต่หลังวันที่ 9 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป   นอกจากนี้ยังได้รับทราบว่า
ระยะเวลาในการจ่ายเงินค่าตอบแทนการจ้างเหมาทำงาน ยังนานมากกว่าเดิมอีกเกือบครึ่งเดือนกว่าจะได้รับ" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ส่วนราชการบางแห่ง ได้ทำเรื่องวาง ขบ.02 (การวางเรื่องเบิกเงินเดือนและเงินอื่น ๆ) ไปตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2549 แต่เมื่อถึงวันที่ 23 มีนาคม 2549 ก็ยังไม่ได้รับเงินเข้าบัญชี   และในวันที่ 24 มีนาคม 2549 จะต้องจัดส่งแผ่นเงินเดือนให้กับทางธนาคาร เมื่อไม่มีเม็ดเงินโอนเข้าบัญชีจริงจึงเท่ากับเป็นการจ่ายเช็คเด้ง เพราะเงินเดือนข้าราชการจะต้องออกก่อน 5 วันทำการ ทำให้ข้าราชการเดือดร้อนกันทั่วหน้า   ในขณะที่รัฐบาลเรียกร้องให้ส่วนราชการมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่หากเบิกแล้วไม่ได้รับเงิน   ในระยะต่อไปก็คงจะไม่มีหน่วยงานใดอยากที่จะเร่งรัดการเบิกจ่าย    นอกจากข้าราชการทั่วประเทศ จำนวน 1.2 ล้านราย ที่มีวงเงินเบิกจ่ายเป็นเงินเดือนค่าจ้างกว่า 33,600 ล้านบาทต่อเดือนแล้ว  ยังมีข้าราชการที่ เกษียณอายุราชการไปแล้วอีกประมาณ 260,000 ราย  และข้าราชการที่เกษียณอายุ ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 อีกจำนวนหนึ่ง ที่จะมีความต้องการใช้เม็ดเงินเบิกจ่ายอีกประมาณ 6,400 ล้านบาท ในวันที่ 24 มีนาคม 2549      จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างในช่วงเดือนมีนาคม 2549 นี้ มีการกระจุกตัวเพิ่มสูงขึ้น   "ภายหลังที่ได้รับนโยบายให้แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และกฎหมาย ให้เพิ่มเติมอำนาจให้กรมบัญชีกลางดึงเงิน     กลับเข้าคลังได้   ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่ คาดว่าน่าจะสามารถแก้ไขได้เสร็จสิ้นภายในปี 2549 นี้ เพื่อเป็นการวางแนวปฏิบัติต่อไปในอนาคต ไม่ให้เกิดปัญหากรณีที่ส่วนราชการ     มักจะนำเงินไปฝากธนาคารไว้กินดอกเบี้ย แล้วนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าจ้างให้กับข้าราชการในหน่วยงานของตน จนบางช่วงเวลามีเงินส่วนนี้เก็บไว้มากถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในระยะต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับผลการจ่ายเงินให้แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการเบิกจ่ายมานานแล้ว โดยจะได้รับเงิน 3 ประเภท ได้แก่ การจ่ายเงินช่วยเหลือ (เงินก้อน) โดยการจ่ายตรงเข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้มีสิทธิ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงวันที่ 28 กันยายน 2547      สั่งจ่ายแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 48,051 ราย คิดเป็น 99.79% ของจำนวนผู้เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 48,151 ราย  การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้มีสิทธิที่เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 46,870 ราย คิดเป็น 97.34% และการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้กับผู้รับบำนาญ จำนวน 46,343 ราย คิดเป็น 99.14% ของจำนวนผู้ที่ยื่นความประสงค์ขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพ จำนวน 46,743 ราย จากผู้มีสิทธิทั้งหมด จำนวน 291,257 ราย

ฐานเศรษฐกิจ 16-19 เม.ย. 49 โพสต์ทูเดย์

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24156เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท