เผยอีก 6 ปี ไทยเข้าสู่ “สังคมคนแก่”
ยอดพุ่งเฉียด 10 ล้าน พม.
รับเบี้ยยังชีพผู้เฒ่ายังมีปัญหา บางพื้นที่จ่ายไม่ครบ หักหัวคิว
ไม่โปร่งใส อนาถยังไม่ได้เพิ่มเป็น 500 บาท ตาม กม.
แต่คลังยันส่งเงินให้แล้ว ลูกกตัญญู 6.5 แสนขอลดหย่อนภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือเป็น
“วันผู้สูงอายุ”
แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวน
ผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีจำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง
ขาดลูกหลานคอยดูแลปรนนิบัติ
ต้องเผชิญปัญหาขาดรายได้ยังชีพ
รายได้จากรัฐที่ควรจะได้รับเพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
จากเดือนละ 300 บาท เป็น
500 บาท ผ่านมาแล้ว 2 ปี ก็ยังไม่ได้เพิ่มให้
นอกจากไม่ได้เพิ่มแล้วยังมีปัญหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
บางแห่งจ่ายเงินไม่ครบ บางแห่งหักหัวคิว
บางแห่งบริหารจัดการไม่โปร่งใส
นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง
กล่าวถึงกรณีตัวแทนผู้สูงอายุข้องใจเรื่องยังไม่ได้ปรับเงินเลี้ยงชีพผู้สูงอายุจาก
300 บาท เป็น 500 บาทต่อเดือนว่า
การเบิกจ่ายเงินดังกล่าวต้องดำเนินการ
ตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งเป็นตัวกลางรับเงินอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทั่วประเทศจากกรมบัญชีกลาง หลังจากนั้นกรมจะจัดสรรเงิน
ให้ อปท. ต่าง ๆ ตามที่ขอเบิกเข้ามา
คงต้องไปติดตามดูว่ามีปัญหาในขั้นตอนระเบียบปฏิบัติที่ใด
“มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนท้องถิ่นทุกปี ปีละหลาย ๆ งวด
ต้องดูว่าปีนี้ไม่ได้รับเพราะอะไร
เนื่องจากเราเพิ่งเบิกจ่ายไปให้
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และแต่ละปีจ่ายไม่เคยขาดตามที่กำหนดไว้ใน
พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ
ตั้งแต่ปรากฏเป็นข่าวผมตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ดูแล้วว่าไม่มีส่วนติดขัดอะไรที่กรม”
นายบุญศักดิ์กล่าว
นายพิมล แสงสว่าง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ
(สทศ.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส
คนพิการ และผู้สูงอายุ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบันว่า
จากข้อมูลทะเบียนราษฎรจำนวนผู้สูงอายุสิ้นปี 2547 มีจำนวน 6.2 ล้าน
หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และอีก 6 ปีข้างหน้า
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น
9.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ถือว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา อาทิ
ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เพราะประชากรวัยแรงงาน
ไม่ขยายตัว และต้องเพิ่มภาระการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่ขยายตัว รวมทั้งปัญหาการจัดการด้านสิทธิต่าง ๆ
ของผู้สูงอายุอาจไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเป็นธรรม
อย่างสิทธิการรักษาพยาบาล เป็นต้น
นายพิมลกล่าวถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับเพิ่มจากเดือนละ 300
บาท เป็น 500 บาท
ว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพจำนวน 1.07 ล้านคน
แต่ยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการรับจ่ายเงินอยู่ตลอดเวลา อาทิ
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางจังหวัด
ยังหักค่าหัวคิวเบี้ยเลี้ยงยังชีพ ทำให้ผู้สูงอายุได้รับเงินไม่ครบ
และบางพื้นจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง
บางคนอายุไม่ถึง 60 ปี กลับมีชื่อได้รับเบี้ยยังชีพ
ส่วนการปรับเพิ่มเป็น 500 บาทนั้น ยอมรับว่ายังไม่คืบหน้า
เพราะต้องรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เรียบร้อยก่อน
แล้วถึงจะคัดเลือก
คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติเข้ามาพิจารณาในเรื่องนี้
นายวินัย วิทวัสการเวช ที่ปรึกษาด้านพัฒนาแผนภาษี กรมสรรพากร
เปิดเผยว่า ฐานข้อมูลในปีภาษี 2547
ซึ่งเป็นปีแรกที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยขอหักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุพการี
595,000 ราย จากจำนวนผู้ยื่นแบบเสียภาษีทั้งสิ้น 7.3 ล้านราย ในปีภาษี
2548 มีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านราย
ดังนั้น
ผู้ใช้สิทธิเลี้ยงดูบุพการีน่าจะขยายตัวในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน
คือประมาณ 8.5%
หากเพิ่มในอัตราดังกล่าวก็คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิเลี้ยงดูบุพการีประมาณ
6.5 แสนราย
ต่อไปจะประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีการเลี้ยงดูบุพการีมากขึ้น
เชื่อว่าจะมีผู้รับรู้ข้อมูลและมาใช้สิทธิกันมากขึ้นตามลำดับ
ทำให้ยอดรวมสูงกว่าปีที่แล้วแน่นอน อนึ่ง
กรมสรรพากรได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สามารถนำค่าเลี้ยงดูบุพการีมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้
โดยค่าเลี้ยงดูบิดามารดารายละ 3 หมื่นบาท