บางครั้งความกดดันทางสังคมทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ทั้งทางบวกและทางลบ แต่ถ้าเป็นทางบวกจะมีพลังอย่างมหาศาลให้มีการทำความดี จนบางครั้งได้ยินเรื่องเล่ายังไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทางทางบวกนั้นเกิดจากการรวมใจของคนหนุ่ม เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่อายุยังน้อยแต่มีแนวคิดพัฒนาสร้างสรรค์สังคมด้วยความตั้งใจฝ่าฟันอุปสรรคมากมายและก็เดินมาได้หลุดพ้นขวากหนามมาหลายด่าน จนทำให้ชุมชนบ้านเกิดเข้มแข้งขึ้นหลุดพ้นจากความเจ็บมาได้
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2552) ก่อนหน้านี้หลายวันผมได้รับข้อมูลและชักชวนจากคุณนิพนธ์ สุขสะอาด ว่าเราไปดูกลุ่มยางที่ตำบลกะปางกันมั๊ย เพราะได้รับทราบจากน้องสิทธิวุฒิ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งสง ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมการเกษตรตำบลกะปางว่า มีชุมชนหนึ่งได้พัฒนากลุ่มน้ำยางสดจนเข้มแข็งมีภูมิปัญญาฝังลึก และความสามารถสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนได้อย่างแข็งแรงให้ชุมชนบ้านเกิดของตนเองพึ่งตนเองได้ ผมจึงบอกว่าถ้าจะไปดูก็ควรถอดบทเรียนของกลุ่มเพื่อเรียนรู้ด้วยดีกว่า ก็เลยได้จังหวะว่าเข้าช่วงเวลาของการติดตามนิเทศในกลุ่มอำเภอที่ทีมของพวกเราฝ่ายยุทธศาสตร์ ฯ ออกพื้นที่พอดี ก็วางแผนประสานอำเภอทุ่งสงว่านิเทศงานที่สำนักงานครึ่งวันเช้า ภาคบ่ายเข้าไปถอดบทเรียน เพื่อเรียนรู้กระบวนการการถอดบทเรียนด้วยกัน และได้เรียนรู้ แนวคิด หลักคิดต่าง ๆ ของชุมชนคนเก่งที่ว่าไว้นั้น เพื่อได้องค์ความรู้ที่ดี ๆ จากชุมชนแห่งนี้ไปถ่ายทอดให้ชุมชนอื่น ๆ ได้ด้วย
ผมโทร.หาน้องสิทธิวุฒิ เพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะว่าได้รับมอบจากเพื่อนร่วมงานให้ทำหน้าที่คุณอำนวยในครั้งนี้ทันที แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่สามารถออกแบบกระบวนการได้ในขณะที่ได้รับข้อมูลนั้น ๆ ก็เกิดหวั่น ๆ เหมือนกันว่าจะทำได้ดีขนาดไหน เพราะครั้งนี้มี "คุณสังเกตุ" หลายคน รู้สึกเครียดขึ้นมานิดหน่อย เพราะเพื่อนต้องการเรียนรู้กระบวนการ จึงคิดว่าเอาเหมือนที่เคยปฏิบัติคือไปดูบริบท แล้วขับเคลื่อนกระบวนการไปเลยตามบรรยายกาศที่ควรจะเป็น แต่ก็เตรียมอย่างอื่นให้พร้อม คือกระดาษฟาง กระดาษกาว ปากกาเขียน เมื่อกิจกรรมภาคเช้าจบลง กินข้าวเที่ยงด้วยกันแล้ว ก็ออกเดินทางโดยการนำของน้องชะอุ่ม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่รับฝากให้ช่วยทำหน้าที่จากน้องสิทธิวุฒิให้ช่วยดำเนินการแทน เพราะตนเองติดภาระต้องเดินทางไปกรุงเทพ ฯ ด่วน มีเจ้าหน้าที่ท่านอื่น ๆ ของสำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งสงเดินทางไปร่วมเรียนรู้ด้วยกันเพื่อสังเกตุการณ์
การเดินทางเข้าไปในสวนยางลึกพอสมควร เมื่อถึงที่หมายได้มีคนรุ่น ๆ (ทางใต้จะถือว่ายังไม่ใช่วัยผู้ใหญ่) เดินออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายินดียิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกับกุลีกุจอให้การต้อนรับในหลาย ๆ ด้าน ผมก็พยามบอกว่าไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากนัก สบาย ๆ แล้วนั่งคุยกัน ที่นี่มีป้ายสำหรับประชุมสมาชิกอยู่ก็ให้น้องนวพร สุขอนันต์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่ไปด้วยกัน และทำหน้าเป็นคุณลิขิตในวันนี้ ปิดกระดาษฟางเตรียมไว้บนกระดาน ทราบจากประธานกลุ่ม(รูปซ้ายพูดไมค์) ว่านัดไว้ทุกคนพร้อมกันบ่ายสองโมง
ถึงเวลานัดหมายประธานก็เริ่มพูดต้อนรับและเล่าเรื่อง ผมจึงขอโทษเขาและหารือว่าขอให้เราทุกคนได้ทำความรู้จักกันก่อน ว่าต้อนนี้มีใครบ้างและก็ถือโอกาสถอดหมวกของทุกคน(ตำแหน่งทั้งเจ้าหน้าที่และของชุมชน) วางไว้บนโต๊ะเพื่อความเท่าเทียมในวันนี้แต่หลังจากเลิกวงเรียนรู้แล้วค่อยเอาคืน ซึ่งทุกคนก็ไม่มีใครอิดออดที่จะแนะนำตัวเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ แล้วก็เริ่มเดินกระบวนการเวทีด้วยคำถามย้อนอดีตก่อนมาถึงวันนี้จุดนี้ ความเจ็บความปวดที่เคยได้รับ
เรื่องเล่าเร้าพลังวันนี้ โดยประธานเป็นผู้เริ่มและมีเพื่อน ๆ ในกลุ่มช่วยกันเสริมว่า เริ่มที่ความกดดันทางสังคม ที่ชุมชนตรงนี้ขาดการเอาใจใส่เหลียวแลจากผู้ที่ควรจะดำเนินการรับผิดชอบในการการพัฒนาช่วยเหลือ แม้ชุมชนจะพยามให้ช่วยเหลือแต่ก็ถูกเมินเฉยตลอด และเมื่อใดก็ตามที่คิดจะช่วยก็ช่วยแบบไม่ถูกใจชาวบ้าน แถมทำให้ทรัพยากรเสียหาย ผิดไปจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ในความที่ทุกคนรักหวงแผ่นดินบ้านเกิดหวงแหนทรัพยากร ก็พบปะพูดคุยกันเรื่อยๆ และถือ(ฉวย)โอกาสสร้างแนวร่วมความคิดในขณะที่ออกจัดเวทีประชาธิไตย เพื่อร่วมกันทำความดี ช่วยเหลือตัวเองสร้างความเข้าใจผู้มีแนวคิดเดียวกัน
เริ่มนำประสบการณ์จากที่เคยทำแผนชุมชนมาเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจเรียนรู้ตัวเอง และจัดทำแผนชุมชนสร้างความเข้าใจในธรรมชาติของคนที่จะอยู่ร่วมกัน ความรับผิดชอบร่วม การรู้หน้าที่การแบ่งหน้าที่ การรู้จักอนุรักษ์ทรัพยากร ที่สำคัญก็คือ การผูกใจเข้าด้วยกัน มองเห็นการเสียเปรียบการถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงเป็นเหตุให้คิดพึ่งพาตนเอง เริ่มจากเล็กไปใหญ่ทำจากข้างในขยายออกไปเรื่อย ๆ สร้างเครือข่าย เรียนรู้ร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกันอยู่บนฐานของความเป็นธรรมชาติ ความเป็นจริง ความเข้าใจ และจริงใจ
พวกเราแค่เริ่มมารู้จักครั้งแรก ชุมชนแห่งนี้ "กลุ่มเกษตรผสมผสานกระโสม" มีภูมิปัญญาที่ฝังลึกให้เรียนรู้ได้อีกมากมาย วันนี้เป้าหมายที่มาเพื่อเรียนรู้เรื่องการรวมกลุ่มน้ำยางสด เทคนิคการเทียบเคียง น้ำหนักน้ำยางสดกับการคิดน้ำหนักแห้ง แต่เมื่อมาเรียนรู้แล้วในหลายเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการและสมาชิกมีแนวคิด หลักคิดที่หลากหลาย จึงแตกประเด็นให้น่าติดตามอีกต่อไป รวมถึงมองเห็นและน่าทึ่งมาก ว่าความต้องการของชุมชนที่นี่ ไม่พูดถึงเรื่องเงินที่ชุมชนต้องการ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ข้อมูลข่าวสาร ชุมชนทิ้งท้ายว่าที่อยากให้ทีมของพวกเราที่ไปเยือนช่วยเหลือคือ องค์ความรู้เรื่อง "หมูหลุม" เพื่อพัฒนาอาชีพของชุมชนอีกต่อไป คุณนิพนธ์ ได้ให้ข้อมูลเท่าที่ให้ได้ในวันนี้ส่วนวันหน้าจะจัดหาให้ตามที่ต้องการโดยเร็วเพื่อการสนับสนุนให้ชุมชนคนทำดีได้ทำดีกันต่อไปอย่างยั่งยืน
เป็นชุมชนที่น่าเรียนรู้จริงค่ะ
ขอบคุณมาก
ชุมชนเข้มแข็ง + การเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน
ชื่นชมผู้มีส่วนร่วมสร้างความดีงามนี้ ค่ะ
สวัสดีครับ
เรียน
จากการได้สัมผัส กลุ่มนี้มีความเข้มแข็งทางด้านเงินทุนด้วย คือมีกลุ่มออมทรัพย์เป็นฐานด้วย และในเรื่องของกลุ่มยางถูกเอาเปรียบมาตลอดในเรื่องน้ำหนัก ก็เลยจัดการกันเงในกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนต้องอ่านค่าน้ำหนักยางเป็น ซึ่งจะได้หลีกเลี่ยงความหวาดระแวงต่อกันไม่ให้เกิดข้อสงสัยว่าถูกโกงหรือเปล่า เพราะรู้เท่ากันตำราเดียวกัน
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่นำมาถ่ายทอดนะคะ
เป็นประโยชน์มากค่ะ จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ
สวัสดี ครับ ดร. ทิพวัลย์ สีจันทร์
ขอบคุณมากครับที่มาเยี่ยม อยากให้ช่วยเติมเต็มด้วยนะครับ
อ่านแล้วได้ความรู้มากเหมือนกันคะ ได้รู้การทำงานของนักวิชาการเกษตร เขียนบรรยายการทำงานได้ดีมากคะ ว่าง ๆ จะแวะมาเยียมอีกนะคะ