ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

กินซาลาเปาไส้น้ำซุป


Gourmet&Cuisine (January 2009)

 

คนไทยรู้จักซาลาเปามานานมาก  ถึงกับมีปริศนาคำทายว่า “อะไรเอ่ยอยู่บนกระดาษ?”

ลักษณะที่เป็นก้อนๆ  รูปร่างกลม  ทำจากแผ่นแป้งห่อหุ้มไส้ต่างๆ อาทิ หมูสับ หมูแดง ถั่วดำ ถั่วแดง  ครีม  ฯลฯ  ทำให้ซาลาเปาจัดว่าเป็นอาหารประเภทกินง่าย  สามารถพกพาติดตัวเป็นเสบียงเวลาเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก  ใช้มือหยิบกินได้สบาย   ไม่เลอะเทอะ

ซาลาเปาที่ทำขายกันอยู่   มีให้เลือกทั้งแบบทำสดออกมาเสิร์ฟ และทำสุกมาแล้วอุ่นอีกครั้งด้วยการนึ่งก่อนเสิร์ฟ   แม้ว่าธรรมชาติของซาลาเปาจะเป็นอาหารอร่อยเมื่อกินร้อนๆ    แต่ซาลาเปาที่ทำดีๆ มีแป้งนุ่มๆ นั้น แม้จะซื้อมาตอนร้อนๆ  แต่กว่าจะได้กินก็เย็นซะแล้วนั้น   ยังกินได้อร่อยเช่นกัน 

เดี๋ยวนี้  ไส้ของซาลาเปามีการพัฒนาขึ้นมาเป็น “ของเหลว”   ทำให้วิถีกินซาลาเปาต้องเปลี่ยนไป 

ซาลาเปานี้ชื่อว่า “เสี่ยวหลงเปา” (Xiaolongpao)

เสี่ยวหลงเปาเป็นซาลาเปาทำสดออกมาเสิร์ฟ  ก้อนขนาดพอคำ  แต่คีบใส่ปากทั้งคำไม่ได้  ใช้มือหยิบกินก็ไม่ได้  เพราะร้อนค่ะ ร้อนมาก

ร้อนขนาดคนที่ว่าแน่ในเรื่อง “กินของร้อน”  ก็ไม่กล้าคีบหรือหยิบ เสี่ยวหลงเปาเข้าปากเมื่อพนักงานเสิร์ฟนำมาวางตรงหน้า

ทั้งนี้ก็เพราะภายในซาลาเปาบรรจุไส้พร้อมน้ำซุปร้อนจัด   ขนาดที่ทำได้ปากพองได้ทันทีที่สัมผัส

แต่ถ้าขืนรอให้ซาลาเปาแบบนี้เย็นลงซะก่อนจึงจะกิน   ก็เสียรสชาติความเป็นเสี่ยวหลงเปาไปจนหมด  อย่ากินซะดีกว่า   

ดังนั้น เมื่อพนักงานเสิร์ฟวางถาดเสี่ยวหลงเปาตรงหน้า  วิถีกินซาลาเปาแบบนี้ จึงแตกต่างจากซาลาเปาแบบดั้งเดิม   

·        เริ่มจากมือหนึ่งถือตะเกียบ  อีกมือถือช้อนกระเบื้อง

·        ใช้ตะเกียบคีบเสี่ยวหลงเปามาใส่ในช้อนกระเบื้อง  

·        ใช้ปากกัดแป้งให้เป็นช่องเล็ก  หรือถ้ากลัวริมฝีปากพองก็ใช้ปลายตะเกียบเจาะเป็นรูเล็กๆ

·        ค่อยๆ ดูดน้ำซุปแบบจิบทีละนิดๆ จนหมด 

·        ใช้ตะเกียบคีบซาเลาเปาที่อยู่ในช้อนไปจิ้มน้ำซอสส่งเข้าปาก 

·        คีบขิงอ่อนซอยส่งตามเข้าปากไป  

·        เคี้ยวทุกอย่างพร้อมๆ กัน 

แบบนี้ก็จะได้รสชาติอย่างครบถ้วน!

ร้านที่ฉันไปชิมเสี่ยวหลงเปามานั้นชื่อว่า Din Tai Fung อยู่ที่ไต้หวันค่ะ  นอกจากเสี่ยวหลงเปาแล้ว ร้านนี้มีอาหารอร่อยอีกหลายอย่าง  ตอนนี้ขยายกิจการออกไประดับนานาชาติด้วย  มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย  สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา   เกียรติประวัติความอร่อยคือ นิวยอร์คไทมส์จัดให้เป็น 1 ใน 10 ร้านอาหารชั้นยอดของโลกเมื่อปีค.ศ. 1993 

ซาลาเปาแบบนี้เพิ่งเป็นที่นิยมในเมืองไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง  และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อมีร้านขายเสี่ยวหลงเปามาเปิดสาขาตามศูนย์การค้าต่างๆ   

ถ้ามีโอกาสไปกินซาลาเปาไส้น้ำซุปนี้เมื่อใด  ก็อย่าลืมวิถีกินที่บอกไว้นะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 239946เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 “เสี่ยวหลงเปา” (Xiaolongpao) นี่ชอบมากค่ะ แต่บางที โดนลวกปากไปเหมือนกัน

ท่าทางแซ้บ แซบ ครับ ท่านป้าเจี้ยบ

“เสี่ยวหลงเปา” (Xiaolongpao)小笼包 ต้องมากอนที่เซี่ยงไฮ้นะค่ะ..

ลูกละ สามหยวน (สิบห้าบาทไทย) เข่งหนึ่ง ประมาณ 18 หยาวน

อร่อยมาก ๆ ๆ ถ้าลูกใหญ่ก็ใช้หลอดดูด ดูด..อิอิ..ที่ 豫园

สวัสดีค่ะ เป็นแฟนหนังสือป้าเจี๊ยบค่ะ ครัวหวานบ้านป้าเจี๊ยบ ลองทำทุกสูตรแล้วอร่อยค่ะไปหาตามร้านหนังสือก็จะให้เค้าหาว่ามีหนังสือเล่มอื่นที่ป้าเจี๊ยบเขียนอีกหรือเปล่า ก็ไม่มี เมื่อวานก็เพิ่งทำบลูเบอรี่ชีสพายแบบไม่มีเตาอบ เพราะว่ายังไม่มีเตาอบค่ะ ตอนนี้กำลังหาอาชีพเสริมจะขายซาลาเปาค่ะ แล้วอยากได้สูตรไส้หมูสับ ครีมและอื่นๆที่เกี่ยวกับสุขภาพค่ะ อยากรบกวนถามป้าเจี๊ยบมากที่สุด เพราะมั่นใจว่าจะได้สูตรที่สามารถทำขายได้ รบกวนป้าเจี๊ยบจริงๆนะคะ

ป้าเจี๊ยบ กรุณา forward mail มาที่ [email protected] ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณกนกพร ดีใจที่ได้รู้จักแฟนหนังสือครัวหวานนะคะ หนังสือที่เกี่ยวกับอาหารอีกเล่มชื่อ คุกกี้ป้าเจี๊ยบค่ะ ของซีเอ็ด

ป้าเจี๊ยบยังไม่เคยทำซาละเปาสักที แต่ทำขนมจีบขนาดยักษ์กิน และมักจะใช้หมูสับที่ปรุงรสเรียบร้อยแล้วทำไส้ ซึ่งซื้อจากซุปเปอร์มาเก็ตค่ะ นำมาผสมกับหน่อไม้บ้าง กระหล่ำปลีบ้าง หรืออะไรที่สมาชิกครอบครัวชอบกิน ปรุงรสเพิ่มอีกนิดหน่อยด้วยซีอิ้วขาว เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบกินน้ำปลา ทำทีไรก็กินกันได้ดีทุกที ...

จะทำอะไรขายก็ลองคิดถึงวัตถุดิบที่จะใช้ก่อนนะคะ อะไรคือสิ่งที่เราหาได้ง่าย ดี ราคาไม่ถูกกลไกตลาดบีบมากจนเกินไปจนกระทั่งพอขาดตลาด หรือราคาขึ้นพรวดพราด คนทำขายก็แย่ นึกรายการออกแล้วค่อยมาคิดกันว่าจะเอาพวกนี้แหละมาทำอะไรได้บ้างที่ลูกค้าจะติดใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท