บทสัมภาษณ์ “Spiritual Spa” จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ 2 - 8 กุมภา 52


       เพิ่งกลับมาจากสมุยเดี๋ยวนี้เองครับ รีบนำบทสัมภาษณ์มาลงให้อ่านตามที่ได้สัญญาไว้ก่อนไป ต้องให้เครดิต คุณอภินันท์  บุญเรืองพะเนา สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ขอขอบคุณอีกทีครับ . . .

ถามย้อนหลังนิดหนึ่งครับว่า อะไรที่ทำให้อาจารย์หันมาสนใจในสิ่งที่โอโช่นำเสนอถึงขนาดเข้าไปแปลผลงานของเขามาแล้วถึง 7 เล่ม?

คือจริงๆ ผมเรียนจบมาทางวิศวฯนะ เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนก็ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ แต่พอได้ทำงาน เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า เรื่องของคนนี่ เรารู้น้อยมาก ทั้งๆ ที่เราก็ทำงานด้านการฝึกอบรมคน ด้านการเทรนนนิ่ง แต่เอาเข้าจริงๆ ผมว่าเรื่องฝึกอบรมนี่มันเป็นเพียงแค่ผิวๆ มันเหมือนกับว่า ถ้าเราให้ความรู้ ก็ให้ความรู้แบบ...เราบรรยาย พูดออกไป แต่คนฟังเขาจะเรียนรู้หรือไม่ เราไม่ค่อยจะมั่นใจ ตั้งแต่ตอนนั้นก็เริ่มสงสัยเรื่องคน เริ่มศึกษาเรื่องคน ก็จะอ่านหนังสือพวกจิตวิทยาบ้าง

แต่ผมก็สนใจอ่านหนังสือธรรมะมานานแล้วนะ อย่างหนังสือของท่านพุทธทาสก็อ่าน ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี แต่ตอนนั้นก็อ่านแบบคนอายุ 20 ต้นๆ น่ะ คืออ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เรียกว่าไป เล่นของหนัก เกินสติปัญญาตัวเอง อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เลยห่างๆ ธรรมะออกไป จนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกแล้วมาทำงานเรื่องคน เรื่องฝึกอบรม ก็เลยเริ่มหันมาอ่านหนังสือธรรมะอีกครั้ง แล้วก็อ่านเรื่อยมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่อ่านๆ ไป เราก็รู้สึกนะว่า ทำไม ชีวิตมันไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็ยังโกรธง่ายอยู่เหมือนเดิม อย่างขับรถไป เจอใครขับรถไม่ดี หรือว่ามีกระทบกระทั่งกับภรรยากับลูก ก็รู้สึกว่า ธรรมะมันไม่เห็นเป็นอย่างว่าเลย ไม่เห็นทำให้เราเย็นลงเลย

ตอนนั้น ตั้งคำถามกับตัวเองหรือเปล่าว่า เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น?

ผมว่าผมรู้เรื่องธรรมะนะ อย่างใครจะให้พูดเรื่องธรรมะนี่ สบายเลย แต่ตอนหลัง พอผมได้มาอ่านโอโช่นี่ เราถึงรู้ไงว่า ที่เราพูดไปนี่ก็เพียงแค่..เอาธรรมะไปไว้ที่หัว แล้วก็ถ่ายทอดออกมา แต่มันไม่ได้หล่อหลอมไปในตัว คือตัวเรายังไม่ได้เป็นอย่างนั้น ตัวเรายังไม่ได้เข้าใจ ผมเคยได้ยินคำพูดของใครไม่รู้ เขาพูดเหมือนกับว่า การเรียนธรรมะ จะเรียนแบบอ่านหรือฟังอย่างเดียว ไม่ได้หรอก มันต้องปฏิบัติ นั่นเป็นครั้งแรกนะที่ผมเริ่มรู้ มันก็เหมือนเราเรียนหนังสือ แต่เราไม่เคยเข้าห้องทดลองเลย อย่างผมเรียนวิศวฯนี่ นอกจากฟังบรรยาย เราต้องเข้าห้องทดลองด้วยนะถึงจะเข้าใจอะไรๆ แจ่มแจ้ง ก็เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า อ๋อ ธรรมะที่เราอ่านๆ อยู่นี่ ก็เหมือนกับฟังอาจารย์บรรยายนั่นแหละ แต่ไม่เคยปฏิบัติเลย เราก็เลยลองมองหาที่ปฏิบัติ

เทียบเคียงกับสิ่งที่อาจารย์เคยเจอมา มันน่าสังเกตนะครับว่า เดี๋ยวนี้ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะมีคนสนใจธรรมะกันมากขึ้น หนังสือขายดีอันดับต้นๆ ก็เป็นหนังสือธรรมะ แต่ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าสังคมของเราก็ไม่ได้เย็นลงเลย อาจารย์มองว่าเพราะอะไร?

ส่วนหนึ่ง ผมว่า บางที เราก็ทำกันเป็นแฟชั่น แล้วเวลาเราพูด เรารู้สึกว่าเราเป็นคนดี แต่ดีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างไรก็ดี ผมว่าการที่มีคนไปปฏิบัติธรรมเยอะๆ นี่ ดีกว่าไม่มีนะ แล้วผมมองว่า ในร้อยคนที่ไปก็น่าจะมีสัก 4-5 คนที่น่าจะเข้าใจธรรมะจริงๆ ขึ้นมาได้บ้าง ก็ดีกว่าไม่มีคนสนใจเลย แต่ว่ามันเป็นกระแสซะเยอะเลยไง คือไปปฏิบัติธรรมเพียงเพื่อจะเอามาคุยกับคนอื่นได้ แต่อันนี้ ผมว่าก็อย่าเพิ่งไปหงุดหงิดพวกเขานะ เพราะยังไง ผมว่าก็ยังดีกว่าไม่ไปเลย

แต่ทีนี้ ถ้าถามว่า ผู้คนจะเป็นคนดีกันไปหมดหรือยัง ผมว่ามันก็ยังเป็นเพียงการปฏิบัติธรรมแบบติดรูปแบบ ติดเปลือกอยู่ เพราะฉะนั้น อย่าไปผูกติดกับรูปแบบ มองรูปแบบเป็นเพียงเทคนิค หรือเป็นเรือเพียงเพื่อให้เราข้ามฝั่ง ให้เราสามารถทำอะไรได้เท่านั้นเอง แก่นแท้ของการปฏิบัติจริงๆ ก็คือการตื่นรู้ ส่วนจะใช้วิธีดูกาย เดินจงกรม อะไรก็ว่ากันไป แต่หลักการของมันก็คือ การกำหนดรู้

แล้ววิธีปฏิบัติแบบ สปาอารมณ์ ล่ะครับ เป็นยังไง?

อุปกรณ์หลักๆ ของการทำสปาอารมณ์ ก็คือ สติ นั่นคือทำยังไงให้เราตื่นรู้ ก็ต้องพยายาม...อืมมม..อันที่จริง ผมว่า ไม่จำเป็นต้อง พยายาม เลยนะ คำพูดพวกนี้ต้องระวัง เพราะยิ่งไปพยายาม มันยิ่งจะผิด มันต้องตื่นรู้แบบธรรมชาติ แบบสบายๆ ถ้าเราตั้งใจมากๆ อันนี้ก็เริ่มไม่ใช่แล้ว เพราะตั้งใจมาก ก็จะทำให้เคร่งเครียด คือมันเหมือนมันตึงไปข้าง

แต่ถ้าจะบอกว่า นั่งไปเลย สบายๆ หลับไปเลยก็ได้ อันนี้ก็ไม่ใช่อีก ไม่มีประโยชน์ หรือว่า เราจะบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ความคิดเยอะใช่มั้ย ก็ดูความคิดไป แต่การดูความคิดนี่ อาจจะทำให้เราหลุดเข้าไปอยู่ในความคิด ซึ่งก็คือการหลงทางอีกแบบหนึ่ง โอโช่บอกไว้ว่า การดูความคิดก็เหมือนกับการเราดูรถวิ่งบนถนน ถ้าเรากระโดดลงไปบนถนนเมื่อไหร่ เข้าไปนั่งในรถเลย อย่างงี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น จุดที่เราต้องฝึกก็คือ ทำยังไง เราจะไม่ตึงเกินไป หรือว่าไม่หย่อนเกินไป ซึ่งก็คือ ทางสายกลางอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ 

จริงๆ แล้ว สปาอารมณ์ คืออะไร คือการจัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองใช่ไหม?

คำถามนี้ดีครับ เพราะพอเราพูดว่า จัดการกับสภาวะอารมณ์ ผมขีดเส้นใต้คำว่า จัดการ ไว้เลยนะ เพราะอย่างที่บอกว่า เราไม่ได้ไป จัดการ คำว่าจัดการแปลว่าอะไร อย่างสมมติว่าถ้าผมเกิดความโกรธขึ้นมา แล้วผมบอกตัวเองว่า ไม่ได้เว้ย ผมเป็นคนสนใจเรื่องจิตวิญญาณ ผมมาโกรธให้คนอื่นเห็นไม่ได้ ถ้าอย่างงี้ ผม ข่ม มันไว้แล้ว เพราะความคิดมันบอกไงว่า เฮ้ย ถ้าโกรธ มันไม่ดีนะ อันนี้ จัดการแบบนี้ไม่ใช่แล้ว มันเหมือนกับการพยายามไปคอนโทรล บังคับ ควบคุม

ถามว่า แล้วคำว่า จัดการ หมายถึงอะไร ถ้าจัดการในแนวของสปาอารมณ์นะ แปลว่า ดู, เฝ้าดู หรืออย่างในหนังสือเล่มนี้ ผมใช้คำว่า สังเกตการณ์ เพราะในฉบับภาษาอังกฤษ เขาใช้คำว่า Witness (เป็นพยาน) และ Observe (เฝ้าสังเกต) เพราะฉะนั้น ขอให้เราทำเหมือนกับการทำ Observe อย่าไปควบคุมมัน เพราะถ้าเราไปควบคุมมันไว้เรื่อยๆ ในหนังสือพูดไว้ตอนหนึ่งน่าสนใจมากว่า เมื่อเราควบคุมมัน มันก็จะลงไปอยู่ในห้องใต้ดิน...ห้องใต้ดินก็คือ จิตใำต้สำนึก เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า ตัวนี้แหละคือตัวอันตราย เพราะตั้งแต่เราเล็กจนโต เราถูกกดทับด้วยอะไรๆ เยอะแยะมากมาย แล้ววันหนึ่ง เราอาจจะระเบิดใส่คนอื่น ผมว่าสังคมมันยุ่งตรงนี้แหละ ยุ่งตรงที่มันขัดแย้ง มันรอจุดระเบิด จากการที่ทุกๆ คนถูกกดทับไว้ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ตรงนี้น่ากลัวนะ ทางออกที่โอโช่บอกไว้ก็คือว่า ถ้าโกรธก็โกรธไปเลยสิ แล้วเฝ้าดูไป ซึ่งถ้าเราเฝ้าดูมันไป สังเกตมันไป เราคงไม่ไปทำอะไรที่มันร้ายแรงหรอก

ช่วงนี้ สังคมไทยดูเหมือนจะหงุดหงิดง่ายและตึงเครียดในหลายๆ เรื่อง อาจารย์คิดว่า สปาอารมณ์ จะช่วยอะไรได้บ้างไหม?

ในหนังสือสปาอารมณ์นี่พูดเหมือนกับที่กฤษณะมูรติ (นักปราชญ์ชาวอินเดีย) นะครับว่า ถ้าเราปรารถนาดี อยากให้สังคมสงบสุข ต้องกลับมาที่ตัวเรา คือ สังคมจะไม่มีทางสงบสุขได้เลย ถ้าข้างในตัวเรายังมีสงครามอยู่ ฉะนั้น มันเหมือนกับว่าให้เราหันกลับเข้ามาสู่ตัวเอง แน่นอนว่า เราปรารถนาดีกับสังคม องค์กร หน่วยงาน บุคคล อยากให้มันมีความเอื้ออาทร ปรองดอง สมานฉันท์ เราพูดไปเหอะ แต่ถ้าตัวเรายังไม่สงบ มันก็ไม่มีผลอะไรหรอก จริงๆ เราปรารถนาดีนะ แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาสังคมจริงๆ

ผมว่าสิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนก็คือ เราอยู่ในโลกของปัญหา มันย่อมมีเรื่องให้หงุดหงิดอยู่แล้วล่ะ ผมว่า เอาเข้าจริงๆ ต่อให้เราอยู่ในโลกนี้คนเดียว เดี๋ยวเราก็หงุดหงิดตัวเราเองอยู่ดีนั่นแหละ ดังนั้น มันมีความหงุดหงิดอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้ต้องมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เวลาเราพูดว่า ความหงุดหงิด นี่ เราจะรู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ดีเว้ย และเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกแบบนี้ขึ้นมา แสดงว่าเรายังถูกความคิดครอบอยู่ เพราะไอ้ตัวที่จะชี้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี คือความคิดทั้งนั้นเลย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่...(หยุดคิด) เหมือนที่โอโช่เขาพูดไว้ว่า ดอกกุหลาบ สีสวย แต่คุณไม่ชอบหนามของมัน แต่กุหลาบกับหนามนี่มันมาด้วยกันนะ นึกออกมั้ย เพราะฉะนั้น ความหงุดหงิดกับความชื่นบาน มันก็มาด้วยกัน มันจะชื่นบานตลอดเวลาได้ไงล่ะ

อย่างทางเต๋าเขาก็บอกว่า มีหยินมีหยาง ถ้ามีตัวเดียวนี่ เครื่องหมายไท่ชี้ (สัญลักษณ์ของหยิน-หยาง) มันไม่หมุนแน่นอน แต่เพราะมันมีขั้วที่ตรงกันข้ามกันนี่แหละ มันถึงหมุนได้ แต่ถ้าเราดูที่ระดับนึง เราจะรู้สึกว่าอันนี้มันดีมันเลว ชาย-หญิง ขาว-ดำ ถามว่ามันผิดมั้ยที่มองแบบนี้ ก็ไม่ผิด แต่เมื่อใดก็ตามที่เราก้าวพ้นจากการแบ่งแยกดี-เลว ขาว-ดำ เราจะเห็นมันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราก้าวข้ามความเป็นคู่ ความเป็นสอง ไปสู่สภาวะแบบที่ฝรั่งเขาเรียกกันและกำลังฮิตมากในตอนนี้ก็คือ Oneness (ความเป็นหนึ่งเดียว) คือการเห็นว่าทุกๆ อย่างมันเป็นหนึ่งเดียว ทุกๆ อย่างมันเชื่อมโยงถึงกันหมด

ส่วนที่ถามว่า เราจะทำยังไงกับความหงุดหงิด ในหนังสือบอกไว้ว่า มันเหมือนกับมีคนถือรีโมทอยู่ เขากดปุ๊บ ทำให้เราหงุดหงิดได้ เช่น เขาอาจจะมาพูดไม่ดีกับเรา ถ้าเราโกรธตอบ มันก็ไม่ต่างกับการที่เขามีรีโมทคอนโทรลอยู่อันหนึ่ง แล้วกดปุ่มให้เราโกรธได้ ถามว่าแล้วคุณอยากตกเป็นทาสของเค้าเหรอ จริงๆ เรื่องแบบนี้ผมว่าเรารู้กันแล้วนะว่าควรทำยังไง ทางพุทธก็สอนมาตลอด แต่ทำไมเรายังปฏิบัติกันไม่ได้ 

อาจารย์มองว่า เป็นเพราะอะไรครับ?

ผมว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะวิธีการสอนด้วยนะ เพราะว่าถ้าวิธีการนี้ได้ผล ป่านนี้ คนไทยคงจะบรรลุกันไปหมดแล้ว หรือไม่มีเรื่องร้ายๆ อย่างที่เราเห็นกันเช่นทุกวันนี้ มันเลยน่าตั้งคำถามว่า วิธีการแบบที่เราใช้กันอยู่นี้มันได้ผลหรือเปล่า เปลี่ยนวิธีการกันดีมั้ย อันนี้ ถามกันเล่นๆ นะครับ (หัวเราะ) มีทางเลือกมั้ย ขนาดแพทย์ก็ยังมีแพทย์ทางเลือกเลย การปฏิบัติธรรมก็น่าจะมีทางเลือกได้เหมือนกัน เวลาพูดเรื่องทางเลือก ถ้าเป็นคนที่ยึดติดกับรูปแบบมากๆ นี่ ก็จะไม่แฮปปี้กับสิ่งที่ผมพูดเลยนะ ผมเพียงแค่รู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องไปเกร็งกับรูปแบบมาก เลิกติดดีติดไม่ดี ใครก็ตามที่ปฏิบัติธรรมแล้วกลับมาที่ทำงาน แล้วมองเห็นคนอื่นเลวหมดเลย ตัวเองดีอยู่คนเดียว ก็ผิดแล้วครับ . . .

คอยติดตามอ่านบันทึกการฝึกภาวนาตามแบบของ osho ที่ผมไปฝึกมาจากเกาะสมุย ได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป มีบันทึกไว้หลายตอนครับ

หมายเลขบันทึก: 239924เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

มาเก็บตก ความรู้ ค่ะ ...

ตอนแรกก็งง ๆ กับสปาอารมณ์ค่ะ แต่พออ่านแล้ว มีความรู้สึกว่า คุ้นๆ กับ การจัดการ ที่เคยอ่านของท่านกฤษณะฯ และพออ.สรุปให้

ต้องพยายาม ฝึกจิต มอง ดู เห็น ใช่ไหมคะ จะติดตามอ่านต่อค่ะ ท่านอ. ไม่เหนื่อยเลยนะคะ กลับมาก็เขียนบันทึก ขอบพระคุณค่ะ

มาเรียนรู้ค่ะ

สปาอารมณ์ค่ะ 

ครูต้อยคงต้องค่อยๆทำไปทีละเล็กทีละน้อยนะคะ

สวัสดีครับ อาจารย์

ชอบมากครับกับที่อาจารย์กล่าวถึง

"การปฏิบัติธรรมทางเลือก"

เพราะผมเอง ส่วนตัวก็ชอบ

"การแพทย์แบบทางเลือก" อยู่แล้ว
และส่วนใหญ่การแพทย์แนวนี้
ก็มักจะมีแนวคิดแบบองค์รวม

ผมคิดว่า "การปฎิบัติธรรมแบบทางเลือก" ที่อาจารย์กำลังจะสื่อ
น่าจะมีนัยยะของความเป็น "องค์รวม"
อยู่ด้วยใช่ไหมครับ

เป็นการปฏิบัติธรรม ที่ไม่ได้แยกขาดจากชีวิตจริง

เป็นการปฏิบัติธรรม ที่ยอมรับ
และเปิดกว้างต่อทุกๆ ด้าน
ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะมืด
หรือสว่าง สวยงามหรือน่าเกลียด

ว่าแต่...เมื่อไหร่อาจารย์จะเปิด
สำนัก "ณ์" เสียทีละครับ
ผมจะได้มาลองใช้บริการบ้าง
หามานานแล้วครับ

:)

ตอบคุณณภัทร๙ ก่อนนะครับว่า "สปาอารมณ์" นั้นเป็นเรื่องที่ "ต่างคนต่างทำ" แต่สามารถนำเทคนิคต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันได้ ผมว่า "Community" เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเรียนรู้เรื่องนี้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าพูดเรื่อง "กัลยาณมิตร" นั่นแหละครับ

ผมก็ทำอย่าง krutoi ว่าแหละครับ บางครั้งก็ทำได้ดี บางครั้งก็ "ล้มลุกคลุกคลาน" แต่ต้องทำมันไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาก็คือ "อย่าไปต่อว่าตัวเอง" ตรงนี้เป็นข้อเสียของผม ต้องหัดชม หัดรักตัวเองให้มากขึ้น ถ้าเรารักตัวเองไม่ได้ แล้วเราจะไปรักคนอื่นได้อย่างไร? นั่นคือคำแนะนำที่ผมได้รับมาครับ

คุณ poo ตามอ่านและคุยกันไปเรื่อยๆ นะครับ ผมว่า่เราน่าจะ "คลื่น" ใกล้เคียงกัน วันนี้จะนำสองบันทึกแรกที่สมุยมาลงไว้ อดใจรออีกนิดนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท