ตอนที่ 69 ครูติดแผ่นดินข้าวชัยนาทแนะนำทำวัคซินข้าว


สามารถป้องกันโรคต่างๆ ของข้าวได้ดี ในขณะที่เพื่อนเกษตรกรทำนาพบกับปัญหาโรคขอบใบแห้ง

การทำนาข้าวเกษตรกรมักจะพบปัญหากับโรคของข้าวอันเกิดจากเชื้อราเช่นโรคกาบใบแห้ง โรคนี้จะรุนแรง ลักษณะแผล สีเขียวปนเทาของแผลมีสีน้ำตาลไหม้ขนาด 1-4 x 2-10 ม.ม. ปรากฏตามกาบใบ ตรงใกล้ระดับน้ำ แผลจะขยาย ใหญ่ จนมีขนาดไม่จำกัด และ ลุกลามขยายขึ้นใบข้าว และกาบหุ้มรวงข้าว โรคไหม้ มีอาการเป็นแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา สีเทาอยู่ตรงกลางแผลขนาดแตกต่างกันไป จุดแผลนี้สามารถขยายแผลลุกลามจนแผลติดกัน กระจายทั่วไปในกรณีที่โรครุนแรง กล้าข้าวจะแห้งและฟุบตายทั้งกอ อาการคล้ายถูกไฟไหม และอาจเกิดกับกาบใบ และคอรวงทำให้ข้าวรีบและรวงหักเสียหาย ในส่วนของโรคขอบใบแห้ง ซึ่งเกิดจากเชื้อบักเตรี Xanthomonas campestris pv. oryzae (Uyeda S lshiyama) Dye สามารถแพร่ระบาดและติดต่อได้รวดเร็ว เนื่องจากน้ำท่วมและการระบายน้ำไม่ดี ทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายต้นข้าวได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดบาดแผลที่ใบและราก  นอกจากนี้โรคจะแพร่กระจายโดยน้ำค้าง น้ำชลประทาน น้ำฝนและลมแรง โรคของข้าวดังกล่าวมา  การใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันและกำจัดเป็นทางเลือกที่เกษตรกรมักจะนำมาใช้เพื่อการรักษามิให้ผลผลิตเสียหายจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตตามที่มุ่งหวัง  ส่งผลให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงมากเกินไป เมื่อจำหน่ายผลผลิตที่ได้แล้วถ้าหักค่าต้นทุนแล้วอาจพบว่าขาดทุนหรือได้เพียงค่าแรงงานที่ได้ลงทุนไปแล้วนั่นเอง  สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทได้คัดเลือกครูติดแผ่นดิน(ข้าว) ในพื้นที่อำเภอเมืองชัยนาท สรรคบุรี และหันคาขึ้น  พร้อมทั้งได้จัดเสวนาเพื่อการวางแผนการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนความรู้การผลิตข้าว  ซึ่งในการนี้ผู้เขียนได้เข้าร่วมในทุกเวทีและได้ความรู้ที่หลากหลาย แต่สำหรับฉบับนี้ขอนำความรู้เกี่ยวกับการทำวัคซินข้าวของครูติดแผ่นดินของสำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี  โดยเข้าไปศึกษาการดำเนินงานของนางวรรณา  อยู่ปราง บ้านเลขที่ 34/1  ม.10 ต.บางขุด  อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

นางวรรณา  อยู่ปราง  กล่าวว่า ได้ร่วมเรียนรู้การผลิตข้าวและการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกับ พ.จ.ท.เฉลียว  น้อยแสง  ซึ่งเมื่อพบปัญหาได้ทดสอบและแสวงหาความรู้ใหม่ๆ  ก่อนที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเสมอ  เช่นการใช้สารสกัดสมุนไพร  ซึ่งไม่เพียงป้องกันเท่านั้นแต่สามารถรักษาได้เช่นเมื่อฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาได้ทำนาข้าวจำนวน 50 ไร่เกิดการระบาดของโรคขอบใบแห้งได้นำสารสกัดสมุนไพรจากเปลือกมังคุด ขมิ้นชัน ผสมกับน้ำด่างจากขี้เถ้า สามารถรักษาได้ จึงทำวัคซินข้าวด้วยการฉีดพ้นสารสกัดดังกล่าวตั้งแต่อายุข้าวยังน้อยเพื่อการป้องกัน เมื่อทำแล้วพบว่าสามารถป้องกันโรคต่างๆ ของข้าวได้ดี ในขณะที่เพื่อนเกษตรกรทำนาพบกับปัญหาโรคขอบใบแห้ง

การสกัดสารสมุนไพร โดยนำเปลือกมังคุดแห้งบดละเอียด  2  ขีด แอลกอฮอล์เช็ดแผล 1 ขวด(450 ซี.ซี.) น้ำยาล้างจาน 10 ซีซี  หมักในขวดแก้วหรือพลาสติก และสารสกัดจากขมิ้นชัน  โดยนำขมิ้นชันบดละเอียด 2 ขีด แอลกอฮอล์เช็ดแผล 1 ขวด(450 ซี.ซี.) และน้ำยาล้างจาน 10 ซี.ซี.หมักในขวดแก้วหรือพลาสติก ทั้ง 2 ชนิด  เมื่อหมักสารสกัดจากเปลือกมังคุด และขมิ้นชันครบ 7 วันแล้ว นำมากรองเอาผงออก เก็บแยกไว้เพื่อพร้อมนำมาใช้ ในส่วนของน้ำด่างจากขี้เถ้าจะต้องใช้ขี้เถ้าจากไม้จริงจำนวน 2   ขีด น้ำเปล่า   1  ลิตร คนให้ละลายตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอนจะได้น้ำใส เก็บไว้สำหรับใช้ร่วมกับสารสกัดสมุนไพรเพื่อให้เกิดการดูดซึมได้ดีขึ้น

การนำมาใช้จะใช้สารสกัดเปลือกมังคุด 10 ซีซี  สารสกัดขมิ้นชัน  10 ซีซี  น้ำด่างจากขี้เถ้า 20  ซีซี  ต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร ฉีดพ้นให้ทั่วนาตั้งแต่ข้าวอายุ 15 วัน และฉีดพ้นตามอาการที่เป็น หรือฉีดพ่นในช่วงมีหมอกลงจัด จะสามารถช่วยป้องกันได้ 100 %  สามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้  50% ส่งผลให้ปัจจุบันมีต้นทุนการผลิต 2,000 บาทต่อไร่ ผลผลิตข้าว 80-100 ถังต่อไร่

 

นายรังสรรค์  กองเงิน  เกษตรจังหวัดชัยนาท  กล่าวว่า นองจากการป้องกัน-กำจัดด้วยสารสมุนไพรดังกล่าวแล้วนั้น  ขอให้เกษตรกรปฏิบัติ ดังนี้  หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ  ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป  ไม่ควรปลูกข้าวหนาแน่นเกินไป และอย่าให้ระดับน้ำในนาสูงเกินควร  ไม่ควรระบายน้ำออกจากแปลงที่เป็นโรคสู่แปลงนาอื่น เพราะเชื้อแบคทีเรียสามารถระบาดได้ทางน้ำ อีกทั้งเมื่อเกิดโรคขอบใบแห้งแล้วไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในแปลงที่เป็นโรค   การป้องกันโรคและแมลงแบบผสมผสานจะสามารถลดต้นทุนการผลิต การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม สุขภาพของผู้บริโภคและผู้ผลิต  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ในวัน เวลาราชการ

 

หมายเลขบันทึก: 239915เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เป็นความรู้ที่น่าสนใจมากครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอสูตรวัคซีนข้าว เอาไปบอกต่อนะครับ

ดีจังเลยค่ะ เพราะเท่าที่เจอเกษตรกรจะมีปัญหาเรื่องใช้สารเคมี

แล้วมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ด้วยนะคะ ...

มิน่าล่ะคะ เห็นภาพนาข้าวที่นี่ งามเขียวขจี ... ขอบคุณค่ะ

  • ขอนำองค์ความรู้เผยแพร่ต่อนะครับ
  • น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวนาในจังหวัดอื่น
  • ขอบคุณมากครับ

 

  • วัคซีนนี้ดีมากเลยนะคะ นอกจากเป็นการลดต้นทุนแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ขอบคุณที่นำเรื่องดี ๆ เช่นนี้มาเล่าสู่กันฟังให้คะ

กำลังติดตามผลงานของคุณชัด ครับ

ขอให้กำลังใจในการทำงานดีๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับความรุ้จะได้นำไปใช้บ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท