การบริหารงานวิชาการ


กลยุทธ์การปฎิรูปการเรียนการสอน

กลยุทธ์การบริหารงานวิชาการ:รูปแบบการสอนใหม่

                 จุดมุ่งหมายการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา  ดังนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้ดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้เป็นคนไทยที่มีคุณภาพ  โครงการที่สำคัญคือโครงการครูต้นแบบในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีครูต้นแบบจำนวนทั้งสิ้น ๕๘๖ คน ครูเครือข่ายของครูต้นแบบจำนวน ๘,๘๔๘ คน รวมครูต้นแบบและครูเครือข่ายทั้งสิ้น ๙,๔๓๔ คน กลุ่มครูดังกล่าวได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนกระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ ครูกลุ่มนี้มีภารกิจสำคัญ คือพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ผลการดำเนินงานโครงการครูต้นแบบทำให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ด้านรูปแบบการเรียนสอนที่ได้จากการปฏิบัติของครู   จำนวน  ๑๕ รูปแบบ ซึ่งมีความหลากหลายมาก ดังนั้น สำนักงานฯ จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำรูปแบบการเรียนรู้ของครูต้นแบบมาวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีความชัดเจนเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาสำนักงานฯ ได้คัดเลือกรูปแบบการเรียนรู้ จำนวน ๙ รูปแบบมาวิจัยและพัฒนา นำไปทดลองในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๙๐ แห่งทั่วประเทศ  ซึ่งมีความสอดคล้องกับมาตรา 22  การจัด

การศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาจามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และมาตรา 24 (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติ่ม (ฉบับที่2) พ.ศ.2545  หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา ที่เน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิด  การฝึกทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย  การฝึกปฏิบัติจริง และ

การประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการป้องกันและแก้ปัญหา  โดยสำนักงานฯ สนับสนุนให้ครูต้นแบบ จำนวน

90 คน จากทุกภูมิภาควิจัยและพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้จากสถาบันครุศึกษา ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวพบว่า  แนวทางการจัดการเรียนรู้ทั้ง   9  แนวทางสามารถใช้ได้ผลดีผลการเรียนรู้ของนักเรียนสูงขึ้น 

                แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง  9  แนวทางนี้ มิใช่เป็นแนวทางที่ตายตัว  ผู้สอนสามารถปรับประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของตน  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้ผู้สอนพิจารณาเพื่อพัฒนาตามความถนัดและความสนใจ  แต่ละแนวทางการจัดการเรียนรู้สามารถผสมผสานให้สอดคล้องกับบริบทของสาระการเรียนรู้  หรือสถานการณ์ในชั้นเรียนได้  แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง  9  ดังกล่าว ข้างต้น ประกอบด้วย  

                1. การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้

                การใช้แหล่งเรียนรู้มีความสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนเพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากสภาพจริง การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้จะเกี่ยวข้องกับบุคคล สถานที่ ธรรมชาติ หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งผู้เรียน ผู้สอนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้หรือเรื่องที่สนใจได้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ชุมชนและธรรมชาติเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่เราสามารถค้นพบความรู้ได้ไม่จบ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  ลักษณะเด่นของการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้มีดังนี้

 

                1.1  ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ค้นคว้าหารความรู้ด้วยตนเอง

                1.2  ผู้เรียนผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะ

                      ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และทักษะกระบวนการต่าง ๆ

                           1.3  ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสังเกตการณ์เก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การตีความและ                                             การสรุปความ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

                1.4  ผู้เรียนได้ประเมินผลการทำงานด้วยตนเอง

                1.5  ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้ได้

                1.6  ผู้สอนเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน

                2. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการพหุปัญญา  มีลักษณะเด่นดังนี้

                                การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในลักษณะเชื่อมดยงความสัมพันธ์ระหว่างสาระการเรียนรู้และความสามารถทางการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนตามทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์เนอร์ (Howard Gardner) ซึ่งจำแนกไว้ 8 ด้าน ได้แก่ ด้านวาจา / ภาษา / ด้านดนตรี / จังหวะ ด้านตรรกะ / คณิตศาสตร์ ด้านทัศนสัมพันธ์ / มิติสัมพันธ์ ด้านร่างกาย /การเคลื่อนไหว ด้านธรรมชาติ ด้านการรู้จักตนเอง และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมุ่นเน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแก้ปัญหารวมถึงการสร้างผลงานและเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างมีความสุขและยั่งยืน 

                3. การจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์และที่เน้นการปฏิบัติ  มีลักษณะเด่นดังนี้

                                    3.1 ผู้เรียนได้มีโอกาสรับประสบการณ์ แล้วได้รับการกระตุ้นให้สะท้อนสิ่งต่าง ๆ ที่ได้

                                  จากประสบการณ์ออกมาเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เจตคติใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ

                           3.2 ใช้ทรัพยากรทั้ง 4 ด้าน คือ เวลา สถานที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสื่อการสอน เป็น

                                 ตัวเชื่อมโยงให้ผู้เรียนก้าวสู่การเรียนรู้โลกรอบตัว

                           3.3 ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความคิด ประสบการ ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ในเวลา  

                                 เดียวกัน จนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

                           3.4 ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดและประสบการณ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

                4. การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  มีลักษณะเด่นดังนี้

                การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวีการต่าง ๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจขอตนเองหรือของกลุ่มเป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง   การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน

ได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด ทั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจอยากรู้อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตาง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่งเรียนรู้เบื้องต้น ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้ที่ผู้เรียนได้มาไม่จำเป็นต้องตรงกับตำรา แต่ผู้สอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม จากแหล่งเรียนรู้ และปรับปรุงความรู้ที่ได้ให้สมบูรณ์

                5. การเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์  มีลักษณะเด่นดังนี้

                                5.1  ผู้เรียนมีความคิดที่อิสระ

        5.2  ไม่มีรูปแบบตายตัว

        5.3  ใช้ได้ทุกโอกาสทุกเวลา

        5.4  ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง

        5.5  มีการบูรณาการในตัวเอง

        5.6  มีความยืดหยุ่นคล่องตัวสูง

        5.7  เปิดทางเลือกให้ผู้เรียนหาคำตอบที่หลากหลาย

        5.8  ชื่อรูปแบบมีนัยเชิงบวก ท้าทาย กระตือรือร้น

        5.9  ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในการคิดที่สันติสุข

        5.10  ผู้เรียนสร้างชิ้นงานผลงานสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่เป็นรูปธรรม

        5.11  เชื่อมโยงความคิดที่เป็นระบบอย่างมีขั้นตอนจากง่ายไปยากและใกล้ตัว

                ไปไกลตัว

        5.12  นำไปจัดการเรียนรู้ได้กับทุกกลุ่มสาระและสามารถเชื่อมโยงได้กับรูปแบบการ

                เรียนรู้อื่น ๆ

                6. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้   มีลักษณะเด่นดังนี้

                การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้มีลักษณะเด่นคือ การให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและความสำคัญของความรู้ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงความรู้สร้างความรู้ด้วยตนเองผู้เรียนสังเกตสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้แล้วค้นคว้าแสวงหาความรู้เพิ่ม เชื่อมดยงกับความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม ผนวกกับความรู้ใหม่ จนสร้างสรรค์เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ กล่าวโดยสรุปเป็นการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง ค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง จนค้นพบความรู้และรู้จักสิ่งที่ค้นพบ เรียนรู้วิเคราะห์ต่อจนรู้จริง รู้ลึกซึ่งว่าสิ่งนั้นคืออะไรมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร การเรียนรู้แบบนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถในการคิด พร้อมทั้งฝึกทักษะทางสังคมที่ดี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

                7. การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน  มีลักษณะเด่นดังนี้

                การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากปัญหา

ที่เกิดขึ้นโดยสร้างความรู้จากกระบวนการทำงานกลุ่ม   เพื่อแก้ปัญหาหรือสถานการณ์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและมีความสำคัญต่อผู้เรียน ตัวปัญหาจะเป็นจัดตั้งต้นของกระบวนการเรียนรู้และเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยเหตุผลและการสืบค้นหาข้อมูลเพื่อเข้าใจกลไกของตัวปัญหาของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา การเรียนรู้แบบนี้ มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการสร้างองค์ความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยการแก้ปัญหาอย่างมีความหมายต่อผู้เรียน

                8. การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นดังนี้

                การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นคือผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม มีชิ้นงานที่เป็นรูปธรรม ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อน ได้พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา และตระหนักรู้ในปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สามารถใช้ทักษะการคิดแก้ปัญหาที่พบ การจัดกรเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหามีความสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมากเพราะเป็นการเรียนรู้จากปัญหาของชีวิตและมีความหมายต่อผู้เรียน ผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเอง จากสถานการณ์หรือปัญหาที่น่าสนใจท้าทายให้คิดกระบวนการเรียนรู้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การจักการเรียนรู้ใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น บทบาทสมมติ โครงงานการสืบสวย สอบสวน การศึกษานอกสถานที่ การเรียนรู้รูปแบบนี้จะกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น พร้อมกับการเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ สร้างนิสัยใฝ่รู้รักการค้นคว้าหาความรู้และฝึกนิสัยให้เป็นคนมีเหตุผล และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

                9. การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถาม หมวกความคิด  6 ใบ 

มีลักษณะเด่นดังนี้

                การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้คำถาม เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาการคิดของผู้เรียน

ให้มีความสามารถด้านทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ จุดเน้นคือการกระตุ้นผู้เรียนให้สามารถคิดและตั้งคำถามกระตุ้นให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ และคิดหาคำตอบที่ถูกต้อง คำถามมีส่วนสำคัญที่จะจุดประกายให้ผู้เรียนฉุกคิด เกิดข้อสงสัย ใคร่รู้เพื่อแสวงหาคำตอบ และความรู้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การใช้คำถามจึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเป็น คิดได้ การใช้คำถามเพื่อให้เกิดกระบวนการคิดมีหลากหลาย ในที่นี้จอนำเสนอการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ (Six Thinking Hats)

                ลักษณะเด่นของการใช้คำถามหมวกความคิด  6  ใบ คือ การใช้สีหมวกได้แก่ หมวกสีขาว หมวกสีแง หมวกสีเหลือง หมวกสีดำ หมวกสีเขียว และหมวกสีฟ้า เป็นกรอบแนวทางในการตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบ ผู้เรียนสามารถค้นหาคำตอบจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างรอบด้าน แลได้แสดงบทบาทการคิดในแง่มุมตามสีของหมวก สีของหมวกแต่ละใบจะมีความหมายที่บอกให้ทราบว่าผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนคิดไปทางใด ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                อนึ่ง หากท่านผู้อ่านบทความนี้มีความสนใจในรายละเอียดและเนื้อหาอย่างละเอียดของวิธีการสอนทั้ง  9  รูปแบบ ดังกล่าวข้างต้น  สามารถสืบค้นได้จาก website สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ดังนี้  

                1. http://www.onec.go.th.

                2. http://db.onec.go.th/publication/get_book.php?sub_book=3&name_sub=การเรียนรู้.

 

เอกสารอ้างอิง

 

ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์  (2535) . การบริหารงานวิชาการ.กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์สหมิตรออฟเซท.

ภิญโญ  สาธร (2523) . หลักการบริหารการศึกษา.กรุงเทพฯ :  สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช.

สงวน สุทธิเลิศอรุณ (2535) . การบริหารการศึกษา.กรุงเทพฯ :  สำนักพิมพ์อักษรบัณฑิต.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2550). แนวทางการกระจายอำนาจการบริหารและ

                การจัดการศึกษาให้คณะกรรมการ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  และสถานศึกษา ตาม   กฎกระทรวง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย   จำกัด.

อุทัย  ธรรมเตโช (2531) . หลักบริหารการศึกษา.กรุงเทพฯ : เจ้าพระยาการพิมพ์.

EW Smith (1961). The Educators Encyclopedia. New Jersey : Prentice Hall.

http://www.onec.go.th.

http://db.onec.go.th/publication/get_book.php?sub_book=3&name_sub=การเรียนรู้.

http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/snamcn/Kanyamon_Indusuta/

                Chapter2.pdf.

หมายเลขบันทึก: 239709เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2009 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท